การที่ทีม KM ของคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ตัดสินใจเริ่มต้นจัดการความรู้จากการพัฒนา competency ของบุคลากร เกิดจากปัจจัยหลายประการ ประการที่ 1 เราคิดว่า หากเริ่มโดยทำให้บุคลากรทุกคนมีความรู้สึกว่าการจัดการความรู้จะทำให้ตนเองเก่งขึ้น มีความรู้มากขึ้น ก็น่าจะทำให้เกิดความอยากมีส่วนร่วมมากขึ้น ประการที่ 2 คือ การพัฒนา core competency ของบุคลากรตามแนวทางที่กำหนดไว้ จะทำให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ learning organization ได้ง่าย และประการที่ 3 การพัฒนา competency จะสามารถทำให้เราเริ่มกิจกรรม KM ได้ทันที
กิจกรรม KM ชุดแรกที่จะเกิดขึ้น ในคณะแพทยศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ จะไม่ใช่กิจกรรมเปิดเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สร้างธารปัญญา เนื่องจากในปัจจุบัน เรายังไม่ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งพอ ในการเรียนรู้ร่วมกัน หากจัดกิจกรรมจับให้เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆที่มีความแตกต่างกันในเนื้องานหรือความคิดมานั่งเล่าให้คนอื่นฟังว่าตัวเองเก่งเรื่องไหนอย่างไร คนฟังที่มาจากหน่วยงานอื่น อาจจะรู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง ไม่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมแบบนี้ อาจจะจัดได้ เพียง 2-3 ครั้ง แล้วคงจะฝ่อไปเอง
จริงอยู่ที่เพื่อนผู้รู้หลายท่านได้แนะนำเราให้จัดกิจกรรมจัดการความรัก ก่อนกิจกรรมจัดการความรู้ แนะนำให้จัดกิจกรรม OD, walk rally เพื่อสร้างความรักและผูกพันให้เกิดขึ้นในกลุ่มบุคลากรเสียก่อน ซึ่งในคณะฯ ก็มีแผนจะทำกิจกรรม OD อยู่ แต่กว่าจะได้เริ่มกิจกรรม ก็ประมาณเดือน เม.ย. 49 กว่าจะถึงตอนนั้น เราน่าจะเริ่มกิจกรรมอื่นๆที่น่าจะทำได้ไปก่อน
กิจกรรม KM ชุดแรกที่น่าจะเริ่มได้เลย คือ กิจกรรมเติมเต็มความรู้ เนื่องจากประเมินแล้ว ในองค์กรของเรามีความรู้ประเภท Tacit หรือ Explicit น้อย ส่วนใหญ่เป็นแบบ Deficit(ไม่รู้ รู้ครึ่งๆกลางๆ หรือใช้ความรู้เดิมที่ล้าสมัยไปแล้ว) กิจกรรมเติมเต็มความรู้ของเราจะเน้นเรื่องการ import ความรู้จากภายนอกเข้าสู่องค์กร เพื่อเพิ่ม core competency ในบุคลากรเสียก่อน
เรื่องแรกที่ได้ลงมือทำ คือ ออกแบบสอบถามเพื่อให้บุคลากรทุกคนประเมินตนเอง(self assessment) เสียก่อน ว่า ในหัวข้อ core competency 10 ข้อ นั้น แต่ละคนคิดว่าในขณะนี้ตนเองอยู่ในระดับไหน โดยในแบบสอบถาม นี้ กำหนดระดับความสามารถ ไว้ 5 ระดับ โดยเขียนเกณฑ์ความสามารถแต่ละระดับไว้ชัดเจนเพื่อให้เปรียบเทียบตนเองกับเกณฑ์ แล้วแจกแบบสอบถามให้บุคลากรทุกคนประเมินตนเองกลับมายังทีม ภายใน 1 สัปดาห์ นอกจากนั้นในแบบสอบถามนี้ยังถามความต้องการด้วยว่า หากท่านคิดว่าอยากพัฒนาความสามารถด้านในให้แนะนำว่า ควรจัดกิจกรรมอย่างไร ในหน้าสุดท้ายของแบบสอบถาม เป็นหน้าที่ให้ระบุความสามารถพิเศษที่ตนเองภูมิใจและอยากถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรอื่นด้วย เป็นการค้นหายอดฝีมือรอบแรก
ทีม KM คาดหวังว่า จากแบบสอบถามที่ตอบกลับมา จะทำให้เราวิเคราะห์สถานภาพ competency ของบุคลากรได้ และจะได้ทราบความเห็นและโอกาสในการจัดกิจกรรมอื่นๆต่อไป
"ในแบบสอบถามนี้ยังถามความต้องการด้วยว่า หากท่านคิดว่าอยากพัฒนาความสามารถด้านในให้แนะนำว่า ควรจัดกิจกรรมอย่างไร ในหน้าสุดท้ายของแบบสอบถาม เป็นหน้าที่ให้ระบุความสามารถพิเศษที่ตนเองภูมิใจและอยากถ่ายทอดความรู้ให้บุคลากรอื่นด้วย เป็นการค้นหายอดฝีมือรอบแรก"
เป็นแบบสอบถามทีสามารถเข้าถึงตัวบุคคลได้เร็วขึ้น แถมได้แนวคิกกลับมาอีก...เจ๋งนะคะ