ธรรมะในเศรษฐกิจพอเพียง


โยนิโสมนสิการ
ธรรมะในเศรษฐกิจพอเพียง

พอเพียงภิวัตน์ : พิพัฒน์ ยอดพฤติการ  กรุงเทพธุรกิจ  วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2550

ความใคร่รู้ประการหนึ่งสำหรับบุคคลที่สนใจศึกษาเรื่องปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ คำถามที่ว่า ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น มีความสัมพันธ์กับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามากน้อยเพียงใด ซึ่งหากจะตอบอย่างผู้ที่ยังไม่ได้ทำการศึกษาค้นคว้าหรือใช้วิธีคาดเดาเบื้องต้น ก็จะได้คำตอบว่า ต้องมีความเกี่ยวข้องกันไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอนบทความนี้ จะขอหยิบยกหลักพุทธธรรมที่สำคัญ ได้แก่ มัชฌิมาปฏิปทา โยนิโสมนสิการ และอัปปมาทธรรม มาสำรวจเปรียบเทียบกับคุณลักษณะที่สำคัญในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกัน เพื่อค้นหาว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างกันมากน้อยเพียงใดหลักธรรมข้อแรก คือ มัชฌิมาปฏิปทา เป็นการประมวลหลักความประพฤติปฏิบัติ หรือระบบจริยธรรมทั้งหมดในพระพุทธศาสนา ที่เป็นอริยสัจข้อสุดท้าย คือ มรรค เป็นคำสอนภาคปฏิบัติ ที่จะช่วยให้การดำเนินสู่จุดหมายตามแนวทาง ของกระบวนธรรมที่รู้เข้าใจแล้วนั้น เป็นผลสำเร็จขึ้นมาในชีวิตจริง หรือเป็นวิธีการใช้กฎเกณฑ์แห่งกระบวนการของธรรมชาติ ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตจนถึงที่สุดมัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งประกอบด้วย องค์ประกอบ 8 อย่าง ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การกระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ และจิตมั่นชอบ เป็นส่วนประกอบของทางสายเดียว ต้องอาศัยซึ่งกันและกัน ทั้งระดับศีล สมาธิ และปัญญา มิใช่ทาง 8 ทาง หรือหลักการที่นำมาปฏิบัติให้เสร็จสิ้นไปทีละข้อต่างหากจากกันหลักธรรมข้อที่สอง คือ โยนิโสมนสิการ หมายถึง การใช้ความคิดถูกวิธี คือ การกระทำในใจโดยแยบคาย พยายามทำความเข้าใจสิ่งทั้งหลายด้วยความคิดพิจารณาสืบค้นถึงต้นเค้า สาวหาเหตุผลจนตลอดสายแยกแยะออกพิเคราะห์ดูด้วยปัญญาที่คิดเป็นระเบียบ และโดยอุบายวิธีให้เข้าใจสิ่งนั้นๆ หรือปัญหานั้นๆ ตามสภาวะและตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย โยนิโสมนสิการเป็นองค์ธรรมในกระบวนการพัฒนาปัญญา ซึ่งเป็นเป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาจิต และเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาทิฐิ ทั้งนี้ โยนิโสมนสิการยากที่จะเกิดได้ในตนเองจากการฝึกฝนแต่เพียงอย่างเดียว เพราะอาจจะได้รับข้อมูลหรือข้อมูลที่มีอยู่ รวมทั้งที่หามาได้จากการค้นคว้าด้วยตัวเองไม่เพียงพอ การมีกัลยาณมิตรจึงเป็นปัจจัยหนุนช่วยที่สำคัญ และถ้าได้กัลยาณมิตรที่เป็นผู้ที่มีความรอบรู้และมีความหวังดีอย่างแท้จริง ก็จะยิ่งช่วยให้โยนิโสมนสิการทำงานได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น จึงอาจจะกล่าวได้ว่า กัลยาณมิตรเป็นเงื่อนไขที่จำเป็นแต่ยังไม่พอเพียงโยนิโสมนสิการ ถูกจัดว่าเป็นระดับของการพัฒนาปัญญาในขั้นที่อยู่เหนือศรัทธา เพราะเป็นขั้นที่ใช้ความคิดของตนเองอย่างเป็นอิสระ ถือเป็นการใช้ปัจจัยภายใน ที่เป็นแกนหรือปัจจัยหลักในกระบวนการพัฒนาปัญญาหลักธรรมข้อที่สาม คือ อัปปมาทะ หรือความไม่ประมาท หมายถึง ความเป็นอยู่อย่างไม่ขาดสติ หรือความเพียรที่มีสติเป็นเครื่องเร่งเร้าและควบคุม ได้แก่ การดำเนินชีวิตโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับความประพฤติปฏิบัติ และการกระทำทุกอย่าง มีความระมัดระวังตัว ไม่ยอมถลำไปในทางเสื่อม แต่ไม่ยอมพลาดโอกาสสำหรับความดีงาม และความอันจะต้องรับผิดชอบ ไม่ยอมปล่อยปละละเลย การทำการด้วยความมุ่งมั่นและจริงจัง รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไปอัปปมาทะ จัดเป็นปัจจัยภายในเช่นเดียวกับโยนิโสมนสิการ ต่างกันตรงที่ว่าโยนิโสมนสิการเป็นองค์ธรรมในระดับปัญญา เป็นอุปกรณ์สำหรับใช้ทำการพัฒนาปัญญา ในขณะที่อัปปมาทะเป็นองค์ธรรมในระดับสมาธิ เป็นตัวควบคุมเร่งเร้าให้มีการใช้อุปกรณ์นั้นอย่างรุดหน้าเรื่อยไป อัปปมาทะจึงจัดเป็นองค์ธรรมเหตุที่เกื้อหนุนให้เกิดองค์ธรรมในระดับสมาธิหากพิจารณาหลักธรรมทั้งสามประกอบกัน จะพบว่า มัชฌิมาปฏิปทาหรือทางสายกลาง คือ องค์ประกอบในฐานะที่เป็นวิธีการ หรือหนทางของการพัฒนาตน (เปรียบเหมือนเส้นทาง) เป็นเรื่องของข้อปฏิบัติอันพอดีที่จะนำไปสู่จุดหมาย ปลอดจากปัญหา ไม่ข้องแวะกับที่สุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง มีความเกี่ยวเนื่องกับคุณลักษณะแรกของความพอเพียง คือ ความพอประมาณขณะที่โยนิโสมนสิการ คือ องค์ประกอบในฐานะที่เป็นเครื่องอำนวยสนับสนุนการพัฒนาตน (เปรียบเหมือนเครื่องยนต์) เป็นเรื่องของความคิดพิจารณาสืบสาวหาเหตุผลจนตลอดสายให้เห็นกิจกรรมต่างๆ ตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดคุณลักษณะที่สองของความพอเพียง คือ ความมีเหตุผลส่วนอัปปมาทธรรม คือ องค์ประกอบในฐานะที่เป็นเครื่องกำกับการพัฒนาตน (เปรียบเหมือนพวงมาลัย) เป็นเรื่องของการดำเนินกิจกรรมโดยมีสติเป็นเครื่องกำกับ ไม่ให้ตกต่ำและเสื่อมถอย มีการกระทำอย่างระมัดระวังตัว รอบคอบและรุดหน้าเรื่อยไป เป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เกิดคุณลักษณะที่สามของความพอเพียง คือ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีนอกจากที่หลักพุทธธรรมและคุณลักษณะของความพอเพียงในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสามส่วน จะมีความคล้ายคลึงกันจนแยกไม่ออกแล้ว ส่วนที่เป็นเงื่อนไขความรู้และคุณธรรมในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนั้น แท้ที่จริงคือ ปัจจัยซึ่งทำหน้าที่เป็นสาเหตุให้การกระทำหรือพฤติกรรมให้เป็นไปอย่างถูกต้องดีงาม หรือเรียกว่าเป็น "สัมมา" กระบวนการที่เปรียบได้กับองค์ธรรมฝ่ายสมาธิและองค์ธรรมฝ่ายปัญญาในมัชฌิมาปฏิปทานั่นเอง

คอลัมน์พอเพียงภิวัตน์ มีประจำทุกวันอังคาร : เวทีสำหรับการนำเสนอประเด็นและมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง : ติดตามความคิด บทสัมภาษณ์ และบทความอื่นๆ ได้ที่ pipat.com

คำสำคัญ (Tags): #โยนิโสมนสิการ
หมายเลขบันทึก: 133056เขียนเมื่อ 29 กันยายน 2007 19:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 12:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ

เข้าใจแจ่มแจ้งดีแท้ กำลังเขียนบทความเรื่องนี้อยู่พอดี ขอบคุณมากๆ และยินดีที่รู้จักค่ะ

ดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดีดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท