ธนาคารเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำกรมประมง


กรมประมงได้จัดตั้งธนาคารเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อรวบรวมเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ และรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์ปลา โดยเก็บในรูปของน้ำเชื้อแช่แข็ง และดีเอ็นเอ

ธนาคารเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำกรมประมง

          นายสิทธิ บุณยรัตผลิน อธิบดีกรมประมง แถลงว่า กรมประมงได้จัดตั้งธนาคารเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำ โดยอยู่ในความรับผิดชอบของ สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำ จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีนายสมชาติ สุขวงศ์ เป็นผู้อำนวยการสถาบัน วัตถุประสงค์ ในการจัดตั้ง เพื่อรวบรวมเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำเศรษฐกิจ สัตว์น้ำใกล้สูญพันธุ์ และรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์ปลา โดยเก็บในรูปของน้ำเชื้อแช่แข็ง และดีเอ็นเอ อธิบดีกรมประมงกล่าวว่าต่อไปว่า ขณะนี้ธนาคารเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำกรมประมงได้เก็บเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำในรูปของน้ำเชื้อแช่แข็งไว้ 7 ชนิด 26 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลาตะเพียน ปลาดุกอุย ดุกยักษ์ ปลานิลแดง นิลดำ ปลาไน และปลาหมอไทย ประโยชน์ของการเก็บเชื้อพันธุ์ สัตว์น้ำ ทำให้สามารถคัดสายพันธุ์ปลาที่ดีไว้ได้ โดยการเก็บน้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์ที่มีสุขภาพแข็งแรง นอกจากนี้ยังช่วยในการเพาะพันธุ์สัตว์น้ำ เช่น แม่ปลามีไข่แก่พร้อมผสมพันธุ์แต่พ่อพันธุ์น้ำเชื้อไม่สมบูรณ์ ในกรณีนี้สามารถนำน้ำเชื้อจากธนาคารเชื้อพันธุ์มาช่วยในการผสมพันธุ์ได้ การดำเนินงานด้านธนาคารเชื้อพันธุ์ยังช่วยป้องกันการสูญพันธุ์ของสัตว์น้ำ เช่น พันธุ์ปลาบึก และปลายี่สกไทย ซึ่งนับวันจะลดน้อยถอยลง นอกจากนี้ การพัฒนาทางด้านการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ นับเป็นสาเหตุหนึ่งของการทำลายพันธุ์ดั้งเดิมในแหล่งธรรมชาติ เช่น การนำพันธุ์ต่างถิ่นเข้ามาสู่แหล่งธรรมชาติ และการผสมข้ามระหว่างสัตว์น้ำต่างชนิดหรือต่างสายพันธุ์ เป็นสาเหตุสำคัญทำให้พันธุ์ ดั้งเดิมในธรรมชาตินั้นมีปริมาณลดน้อยลง เช่น ปลาดุกบิ๊กอุยซึ่งเกิดจากผสมพันธุ์ระหว่างปลาดุกยักษ์กับปลาดุกอุย น่าจะเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้พันธุ์ปลาดุกด้านซึ่งในอดีตเคยเป็นปลาเศรษฐกิจที่มีปริมาณมากในธรรมชาติของภูมิภาคนี้….

      แต่ปัจจุบันลดน้อยลงจนแทบจะหาพันธุ์ไม่ได้ในธรรมชาติ ดังนั้นการดำเนินงานด้านธนาคารเชื้อพันธุ์จะช่วยดำรง รักษาสายพันธุ์แท้ของสัตว์น้ำที่มีปัญหาในทำนองเดียวกันนี้ไว้ได้ นอกจากนี้ธนาคารเชื้อพันธุ์ยังจัดเก็บรักษาเชื้อพันธุ์ของสัตว์น้ำในแหล่ง ต่าง ๆ แยกจากกันตามพื้นที่ เพราะสัตว์น้ำชนิดเดียวกันแต่อยู่ต่างพื้นที่อาจมีพันธุกรรมที่แตกต่างซึ่งกันและกัน ความแตกต่างหรือความ หลากหลายทางพันธุกรรมนี้ คือ องค์ประกอบหนึ่งที่เป็นส่วนสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพ อธิบดีกรมประมงกล่าวในตอนท้ายว่า สถาบันวิจัยและพัฒนาพันธุกรรมสัตว์น้ำเร่งพัฒนางานด้านธนาคารเชื้อพันธุ์สัตว์น้ำ นอกจากเพิ่มชนิดพันธุ์ของน้ำเชื้อที่จะเก็บรักษาแล้วยังพัฒนาการเก็บรักษาน้ำเชื้อในรูปแช่แข็งให้เก็บรักษาได้นานขึ้น ขณะนี้ระยะเวลาที่ สามารถเก็บรักษาได้นานสูงสุดประมาณ 500 วันขึ้นไป สถาบันฯ กำลังเร่งพัฒนาให้มีความพร้อมทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพของ น้ำเชื้อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้งานในอนาคต โดยเฉพาะในสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์แต่มีศักยภาพสูงที่จะเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ สำคัญในอนาคตอย่างเช่น ปลาบึก และปลายี่สกไทย

 

ที่มาจาก  http://www.fisheries.go.th/pr/bank1.HTM

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 13299เขียนเมื่อ 25 มกราคม 2006 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 11:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท