หมอบ้านนอกไปนอก(19): ปล่อยวางภารกิจผู้อำนวยการ


อาจารย์หมอบุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ เคยสอนผมไว้เมื่อพบกันที่สนามบินพิษณุโลกว่า ทำความดี แต่อย่าติดความดี โรงพยาบาลหรือหน่วยงานใดๆก็ตามอยู่ได้เสมอ แม้ไม่มีเราก็ตาม ระบบจะเกิดการปรับตัวเพื่อหาสมดุลใหม่ในการอยู่รอด

  วันพฤหัสที่ 27 กันยายน ช่วงเช้าเรียนเรื่องการบริการของโรงพยาบาล (Hospital services) กับอาจารย์ฌอง ปิแอร์ อังเกอร์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการหลักสูตร การแบ่งเวลาเรียนในหลักสูตรที่ผมเรียนนี้แบ่งออกเป็นช่วงละ 2 ชั่วโมง คือช่วงแรก9.00-11.00 น. ช่วงที่สอง 11.15-13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวันเวลา 13.00-14.00 น. ช่วงบ่ายเริ่มจากช่วงแรก 14.00-16.00 น. และช่วงหลังจาก 16.15-18.00 น.ช่วงแรกนี้เป็นการนำเสนองานกลุ่มโดยผมรับอาสาเป็นผู้นำเสนอในกลุ่มเอง ผมนั่งทำสไลด์นำเสนอเองเสร็จเกือบเที่ยงคืน ผมนำเสนอเป็นกลุ่มที่สองในสามกลุ่ม ก็ถือว่าผ่านไปด้วยดี พอจบนำเสนอเพื่อนๆก็มาจับมือกันหลายคน ชมว่านำเสนอได้ดีมาก คงจะเห็นว่าผมไม่ค่อยพูดและพูดไม่เก่ง ทำได้แค่นี้ก็ดีแล้ว ก็คงจะให้กำลังใจกัน

เท่าที่สังเกตคนนำเสนอส่วนใหญ่จะหันหลังให้คนฟังเพราะต้องมองที่จอ ส่วนผมใช้ดูที่มอนิเตอร์ก็สามารถส่งสายตามองคนฟังได้สบายๆ พอมาวันนี้อาจารย์อีกท่านหนึ่งก็ให้ข้อเสนอแนะแก่เพื่อนๆในการนำเสนอ อย่างที่ผมทำ เวลานำเสนอผมจะคิดว่าเป็นการแสดงที่เราต้องทำให้ได้ ขึ้นอยู่กับตัวเราเองแล้ว ใครก็ช่วยเราไม่ได้ เราต้องพยายามเต็มที่

ช่วงที่สองเรียนเรื่องการบริการด่านแรก มีการแบ่งกลุ่มทำการวิเคราะห์เรื่องการจัดบริการว่าตรงกับความต้องการและความจำเป็นหรือไม่อย่างไรแล้วให้เตรียมนำเสนอในวันรุ่งขึ้น ช่วงที่สามเป็นการเรียนระบบบริการของโรงพยาบาลต่อเป็นการบรรยายที่มีการพูดถึงระบบสุขภาพแบบบูรณาการ ที่มีองค์ประกอบสำคัญ 5 ประการคือไม่ทำหน้าที่ทับซ้อนกัน ไม่มีส่วนขาดของการบริการ ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกทุกระดับ ข้อมูลข่าวสารควรจะติดตามไปกับคนไข้ด้วย และมีการจัดระบบบริการที่กระจายอำนาจการบริการ

ช่วงที่สี่ก็มาคุยเรื่องFirst line health service เพื่อวิเคราะห์ Demand, Supply, Need กันต่อว่ากิจกรรมในชุดบริการใดเป็นความจำเป็นที่แท้จริง (Felt needs) อะไรเป็นความต้องการของผู้รับบริการที่ไม่มีเหตุผล (Irrational Demands) อะไรเป็นความจำเป็นที่ผู้รับบริการต้องได้รับตามเหตุผลทางการแพทย์ (Needs) และสถานบริการด่านแรกจัดบริการอะไร (Supply) ให้ผู้รับบริการบ้าง

ผมรู้จักคำว่าความต้องการที่แท้จริง (Felt needs) ตั้งแต่เรียนหมออยู่ปีสองปีสาม จากอาจารย์หมอผจญ ที่สอนพวกเราทีมงานค่ายอาสาว่า เวลาไปสำรวจหมู่บ้านขอให้ได้ข้อมูลความต้องการที่แท้จริงของชาวบ้านมา อย่าไปเอาความอยาก (Want) ของชาวบ้าน ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในหมู่บ้านมาทำโครงการค่ายอาสา พอมาเรียนที่แอนท์เวิปก็เข้าใจมากขึ้นในเรื่องนี้ ตอนทำงานที่บ้านตากเวลาพูดเรื่องการทำคุณภาพและโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ เราจะต้องดูความต้องการของผู้รับบริการ (Customer requirements) ให้ครอบคลุม 3 ด้านคือ External needs จากตัวผู้รับบริการเอง ว่าเขาต้องการอะไร Internal needs จากตัวผู้ให้บริการที่เป็นวิชาชีพถือว่าเป็น professional needs และต้องดูความต้องการของโรงพยาบาลหรือทางนโยบายด้วยว่าต้องการอะไร เป็น Hospital needs หรือ Policy needs

ในหลักสูตรนี้อาจารย์บาร์ท ครีเอล เป็นผู้บรรยาย เรียกความต้องการรับบริการของผู้รับบริการว่าเป็น Demand ส่วนความจำเป็นในมุมมองของวิชาชีพผู้ให้บริการนั้น เขาเรียกว่า Need ถ้าDemand กับ Need ตรงกันถือว่าเป็น Felt need ถ้ามี Demand แต่ไม่เป็น Need แล้วมี Supply ให้ เรียกว่า Irrational demand เช่น เป็นไข้เป็นหวัดธรรมดา แต่ขอยาปฏิชีวนะ หมอก็จัดให้ทั้งที่ไม่จำเป็น เป็นต้น ถ้าไม่มี Demand แต่จัดให้ก็ถือเป็น Surprise แต่ต้องระวังว่ามี Demand และ Need ที่ตรงกันคือเป็น Felt needs แต่อัตราการมารับบริการของผู้รับบริการต่ำเช่น วางแผนครอบครัว ฉีดวัคซีน แบบนี้ไม่ใช่ว่าDemand ต่ำ แต่เกิดจากความไม่รู้ของผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการต้องให้ความรู้เขาหรือจูงใจให้เขาเกิด Demand ขึ้นมา

วันศุกร์ที่ 28 กันยายน ก็เป็นการนำเสนอในช่วงเช้า กลุ่มผมเสนอโดยโรติมี่ หลังจากนั้นก็มีการบรรยายของอาจารย์อังเกอร์ และของอาจารย์ครีเอลต่อจนจบทั้งวัน อาจารย์อังเกอร์พูดถึงเรื่องปัญหาการทำงานในโรงพยาบาล ภาระงานที่หนักของเจ้าหน้าที่และการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ อาจารย์ครีเอลก็พูดเรื่องเดิมต่อเพื่อเคลียร์ความเข้าใจ และพูดเรื่องชุดบริการขั้นต้นในสถานบริการด่านแรก เรื่องงานสาธารณสุขขั้นพื้นฐานและในตอนจบพูดว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะบูรณาการระบบบริการสุขภาพตามปกติกับการแพทย์พื้นบ้านเข้าด้วยกันเนื่องจากกรอบแนวคิดและหลักการแตกต่างกัน การบูรณาการ (Integration) การแพทย์พื้นบ้านลงไปในระบบบริการแบบปกติจะทำได้ยากแต่ควรให้เป็นลักษณะความร่วมมือกัน (Co-ordination) มากกว่า

ในความคิดของผม ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครีเอล ถ้าเราเอาบางส่วนของการแพทย์แผนไทยเข้ามาใส่ในการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้คุณค่าของแพทย์แผนไทยลดลงไป เพราะคนทั่วๆไปจะคิดว่า อ๋อการแพทย์แผนไทย มีแค่สมุนไพร แค่นวด แค่นี้เหรอ ดังนั้น คนที่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริงในหลักการก็จะเอาเฉพาะที่คิดว่าเข้าได้กับแนวคิดสมัยใหม่ไปใช้ ผมเห็นด้วยกับแนวทางของจีนที่สร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนออกมาต่างหากให้ประชาชนไปเลือกใช้บริการเองว่าจะไปแผนจีนหรือแผนปัจจุบัน ถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือกจริงๆ ไม่ใช่บังคับเลือก

การได้มาเรียนเรื่องของโรงพยาบาลอีกครั้ง ก็ทำให้คิดถึงตอนที่อยู่โรงพยาบาลมาอีก โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลบ้านตากที่มีความผูกพันมากที่สุดเพราะอยู่มานานถึงสิบปี ร่วมลุยงานกับทีมงานมาอย่างหนักตลอดกว่าจะมาเป็นโรงพยาบาลบ้านตากทุกวันนี้ พวกเราร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่ ทั้งคนที่มาอยู่เพียงแค่ปีสองปี หรือคนที่อยู่มานานหลายสิบปี ทำให้เข้าใจของความหมายของประโยคที่ว่า “ความสำเร็จเกิดจากทีม ความล้มเหลวเกิดจากผู้บริหาร”

ผมส่งมอบงานในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากให้คุณหมอสุวิชัย สุทธิมณีรัตน์ เมื่อ 19 มิถุนายน 2550 เพื่อเตรียมตัวมาเรียนที่เบลเยียม ก็เป็นการตัดสินใจที่ใช้เวลานานหลายเดือน การอยู่มานานผูกพัน ก็จะเกิดความห่วงใย วิตกกังวล แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจได้ อาจารย์หมอบุญเรียง ชูชัยแสงรัตน์ เคยสอนผมไว้เมื่อพบกันที่สนามบินพิษณุโลกว่า ทำความดี แต่อย่าติดความดี โรงพยาบาลหรือหน่วยงานใดๆก็ตามอยู่ได้เสมอ แม้ไม่มีเราก็ตาม ระบบจะเกิดการปรับตัวเพื่อหาสมดุลใหม่ในการอยู่รอด

ผมคุยกับพี่ๆหลายคนที่ย้ายโรงพยาบาลหลังจากที่อยู่มานานๆ พี่คนหนึ่งเล่าว่า พอพี่ออกมาน้องที่เป็นผอออต่อ ก็รื้อทุกอย่างหมดเลย อันนั้นก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่ดี ไม่มีอะไรดีสักอย่าง ทั้งๆที่พี่กับทีมงานทำกันมาอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านยอมรับ มีเงินบริจาคมาช่วยโรงพยาบาล มีกลุ่มต่างๆเข้ามาช่วย มาร่วมกิจกรรมกับโรงพยาบาล ตอนหลังก็หายไปหมด ผ่านไปหกเดือนโรงพยาบาลก็วุ่นวาย ทะเลาะกัน พี่ก็เครียดเหมือนกัน แต่ก็ไม่รู้จะเข้าไปยุ่งได้อย่างไร ก็ต้องปล่อยวางไป แต่สิ่งที่เห็นชัดอย่างหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่เห็นคุณค่าของเรามากขึ้น

พี่อีกคนก็เล่าว่า อยู่ที่โรงพยาบาลเก่ามาสิบปีเหมือนกัน พัฒนาตั้งแต่เป็นสิบเตียงเล็กๆมาเรื่อยๆ จัดระบบไว้ได้ดี เจ้าหน้าที่ที่เคยมีปัญหาก็จัดการให้กลายเป็นคนที่มีความสามารถทุ่มเทให้กับโรงพยาบาลได้ บางคนเปลี่ยนไม่ได้ก็คอยดูแลไม่ให้มีอำนาจมากเกินไปจนกระทบกับระบบในภาพรวมของโรงพยาบาล แต่พอพี่ออกมาแล้ว น้องก็ไปปรับเปลี่ยน ทำให้คนที่ไม่มีปัญหากลายเป็นมีปัญหาขึ้นมา คนที่เคยทำงานดีทุ่มเทให้กับโรงพยาบาลแต่ไม่ยอมซูฮกให้ก็ถูกกลั่นแกล้ง จนต้องลาออกไป ทำให้โรงพยาบาลเกิดจุดอ่อนขึ้นมาในระบบ มีการเล่นพรรคเล่นพวก ใครเข้าหาก็ได้ประโยชน์ ใครทำงานดีแต่ดื้อ มีความคิดเป็นของตนเอง ก็อยู่ลำบาก ช่วงแรกๆพี่เขาก็เครียดเพราะเจ้าหน้าที่จะโทรมาหา เล่าให้ฟังอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ก็ทำได้แค่สงสารเขาและก็ฟังแล้วก็ให้กำลังใจไป

พี่เขาก็พูดกับผมว่า พี่ก็มาคิดดูว่า จะมาให้น้องที่จบแค่ปีสองปีมาทำให้ได้เหมือนเราที่ทำมาเป็นสิบปีคงยาก และก็คงต้องเป็นคนเก่งมากๆ ที่จะเรียนรู้การบริหารในแง่มุมต่างๆได้ในเวลาอันรวดเร็ว กว่าเราจะทำได้ในระดับนี้ก็ต้องเรียนรู้มาหลายปี ลองผิดลองถูก พูดคุยซักถาม ปรึกษาหรือเรียนรู้จากด้านต่างๆมาตลอด ไอ้ที่จะมาคิดว่า วางระบบไว้ดีแล้ว มันจะอยู่ต่อเนื่อง เป็นไปได้ยากมาก เพราะมันเปลี่ยนไปตามผู้บริหาร ถ้าเขาไม่เอาแบบนี้ จะไปเอาอีกแบบหนึ่ง มันก็กระทบกับระบบไปแล้ว พี่ๆเขาก็ช่วยสอนให้ผมทำใจและปล่อยวาง อย่าวิตกกังวลเพราะมันอาจจะดีมากกว่าที่เราเคยทำมาก็ได้

ผมคิดว่า การทำงานให้สำเร็จได้ผลดี มันเกิดจากการจัดวางส่วนผสมที่ลงตัวของระบบ บทบาทภารกิจ หน้าที่ของคนแต่ละคนในองค์กรอย่างเหมาะสม โดยผู้อำนวยการเป็นตัวเชื่อมประสาน การวางตัวคนทำงานมีผลอย่างมาก ถ้าได้คนช่างพูด ช่างเอาหน้า ไม่ลงมือทำเอง มาเป็นคนใกล้ชิด ก็จะไม่เข้าใจความรู้สึกคนทำงานจริง คนที่เคยทุ่มเทจะถอยได้ แต่ถ้าได้กระตุ้นให้คนที่มีความสามารถได้ทำงานที่เขาถนัด ให้เกียรติเขา ยอมรับเขาแล้ว จะเห็นผลที่ดีมาก ไม่จำเป็นต้องไปดูที่วุฒิการศึกษา ไม่ต้องเอาปริญญามาเทียบกันเลย งานหลายอย่างหลายแห่งอาจจะเคยเจอครับ เวลารับลูกจ้าง บางคนจบคอมพิวเตอร์มา เอามาทำงานยังทำได้ไม่ดีเท่าบางคนที่ไม่จบคอมพิวเตอร์มาเลย เท่าที่ดูๆหลายโรงพยาบาลคนที่เก่งงานไอทีหลายแห่งไม่ได้จบคอมพิวเตอร์มาแต่อาศัยใจรัก หมั่นเรียนรู้ทุ่มเททำให้เขาเกิดความรู้ในตัว (Tacit knowledge) ออกมารับใช้หน่วยงานได้

ตอนส่งงาน มีการประชุมคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลผมก็ได้สรุปเรื่องราวต่างๆของโรงพยาบาลไว้หลายข้อ หลายหน้าในชื่อเรื่อง ขุมทรัพย์แห่งอดีต ลายแทงสู่อนาคต ฝากไว้ให้ผู้อำนวยการคนใหม่และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลบ้านตากได้อ่านกัน แต่ก็ไม่ทราบว่าจะอ่านกันสักกี่คน เมื่อ 17 สิงหาคม 2550 ทางโรงพยาบาลได้จัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีให้ผมที่ไปรับตำแหน่งที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากและได้รับทุนมาเรียนที่เบลเยียม ในงานวันนั้น ผมได้รับรู้ถึงมิตรภาพของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่มีต่อผมและต่อกันและกัน บรรยากาศในงานนั้นเป็นที่ประทับใจมาก สมกับคำว่า มิตรภาพที่ดี ลืมได้ยาก

บางทีการที่เราอยู่ด้วยกันนานๆ ตลอดเวลา ทำให้เกิดความคุ้นเคย จนกลายเป็นความเคยชิน ทำให้ไม่ค่อยจะถนอมน้ำใจกันเท่าไหร่ เพราะคิดเอาว่า คนกันเอง ไม่มีอะไร แต่ตอนที่จะแยกห่างกัน ไกลกัน เราจะหวนคิดถึงความสัมพันธ์ที่ดีที่มีให้กันและกันในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มาก สิ่งเหล่านี้ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนในครอบครัว พ่อ แม่ ภรรยา ลูก พี่น้อง เรามักละเลยความรู้สึกของเขา อยู่ด้วยกันกลับคุยกันน้อยกว่าอยู่ด้วยกัน ยิ้มให้คนแปลกหน้า มากกว่าคนในบ้าน เอาใจใส่ความรู้สึกของคนอื่นมากกว่าคนใกล้ชิด แต่พอมาอยู่ไกลกัน เราจะรู้สึกได้อย่างชัดเจนว่า สายสัมพันธ์และมิตรภาพเหล่านี้มีคุณค่ามากต่อการดำรงชีวิตของเรา และนี่ก็น่าจะเป็นสาเหตุของความคิดถึงบ้าน ความเหงา เมื่อต้องอยู่ไกลบ้าน

เคยมีคนกล่าวไว้ว่า ของสำคัญบางสิ่ง ตอนมีอยู่ไม่รู้ตัวว่ามี แต่พอขาดไปแล้วจะรู้ทันทีว่าสำคัญมาก ในเรื่องการบริหารงานก็มีปัจจัยแบบนี้ไม่น้อยเช่นกัน อาจารย์หมอผจญ วงษ์ตระหง่าน เคยสอนผมไว้ว่า “ถ้าเราบริหารคนด้วยใจของความเป็นมนุษย์ มองคนทุกคนในองค์กรเป็นคน ไม่ใช่เครื่องจักร เอาใจเขามาใส่ใจเรา เราจะไม่มีปัญหาในการบริหารงาน”

ตอนนี้ ทางโรงพยาบาลบ้านตาก ก็บริหารงานภายใต้ผู้บริหารคนใหม่ ทีมงานที่มีการจัดวางกันใหม่ จัดระบบหลายอย่างขึ้นใหม่ ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะเปลี่ยนไปในทางไหนก็แล้วแต่ว่า ทำอย่างไร ก็ขอส่งกำลังใจจากแดนไกลมาให้ชาวโรงพยาบาลบ้านตาก ได้ฝ่าฟันกับปัญหาอุปสรรคและพัฒนางานบริการเพื่อพี่น้องประชาชนกันต่อไปครับ

ผมขอจบบันทึกนี้ด้วย เพลงที่พวกเราชาวค่ายอาสาจะร้องกันทุกครั้งเวลามีงานรอบกองไฟในคืนก่อนจะกลับออกจากหมู่บ้านรวมทั้งตลลอดเวลาที่เรานั่งรถกลับมหาวิทยาลัยกัน คือเพลงคำสัญญา แนบเนื้อร้องฝากมาด้วยครับ

“ก่อนจากกัน ขอสัญญา ฝากประทับตรึงตรา จนกว่าจะพบกันใหม่ โบกมืออำลา สัญญาด้วยหัวใจ เพราะความรักติดตรึงห่วงใย ด้วยใจผูกพันมั่นคง ด้วยความดี นั้นฝังตรึง จากไปแล้วคำนึง ตรึงประทับดวงใจ อย่าได้ลืมเลือน สัญญากันไว้อย่างไร ขอให้เรามั่นคงจิตใจ ก้าวไปสรรค์สร้างความดี

โอ้เพื่อนเอ๋ย เคยร่วมสนุกกันมา แต่เวลา ต้องพาให้เราจากกัน ไม่นานหรอกหนา เราคงได้มาพบกัน ไม่มีสิ่งใดขวางกั้น เพราะเรามั่นในสัญญาหากแผ่นดิน ไม่ฝังกาย จะสุขจะทุกข์เพียงใด น้อมกายยิ้มสู่ฟันฝ่า ร้อยรัดดวงใจ มั่นในคำสัญญา สร้างสรรค์เพื่อมวลประชา นี่คือสัญญาของเรา”

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

28 กันยายน 2550

18.24 น. ( 23.24 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 132825เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2007 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 11:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีเจ้าค่ะ คุณน้าหมอ

         แวะมาเป็นกำลังใจให้เจ้าค่ะ ....สู้ๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ 

 รักษาสุขภาพด้วยนะเจ้าค่ะ คุณน้าหมอ -------> น้องจิ ^_^

สวัสดีครับน้องจิ

             ขอบคุณมากที่ส่งกำลังใจมาให้น้าหมอ ตอนนี้น้องจิอยู่มอหก อีกไม่กี่เดือนก็จะต้องเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ขออวยพรให้น้องจิได้เรียนในสาขาที่ตนเองชอบนะ

คุณครับ ผมอ่าบทความนี้แล้วก้อรู้สึกว่าสะดุด ตรงที่ว่า

ในความคิดของผม ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ครีเอล ถ้าเราเอาบางส่วนของการแพทย์แผนไทยเข้ามาใส่ในการแพทย์แผนปัจจุบัน ทำให้คุณค่าของแพทย์แผนไทยลดลงไป เพราะคนทั่วๆไปจะคิดว่า อ๋อการแพทย์แผนไทย มีแค่สมุนไพร แค่นวด แค่นี้เหรอ ดังนั้น คนที่ไม่มีความรู้อย่างแท้จริงในหลักการก็จะเอาเฉพาะที่คิดว่าเข้าได้กับแนว คิดสมัยใหม่ไปใช้ ผมเห็นด้วยกับแนวทางของจีนที่สร้างโรงพยาบาลแพทย์แผนจีนออกมาต่างหากให้ ประชาชนไปเลือกใช้บริการเองว่าจะไปแผนจีนหรือแผนปัจจุบัน ถือว่าเป็นการแพทย์ทางเลือกจริงๆ ไม่ใช่บังคับเลือก

เพราะผมกำลงัเรียนอยู่หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์ ที่ศิริราช

ซึ่งรู้สึกว่าจะมีคนรู้จักแพทย์แผนไทยแค่การนวด ส่วนสมุนไพรก้อไม่ค่อยเท่าไหร

มานรู้สึกแย่มากๆๆ

กดดันด้วย

สังคมมองเราแย่ๆๆ คุณหมอช่วยแนะนำหน่อยครับ ว่าจะทำอย่างไรดี

หรือคุณหมอช่วยปรับที่ระบบก้อได้นะครับ เพราะผมและเพื่อนๆๆถูกบังคับให้นวดจนนิ้วจะหักอยู่แล้ว อีกหน่อยคงเปงOAแน่เลย ขอบคุณครับบบบบบบบบบบ

ที่ศิริราช ถือเป็นต้นแบบสำคัญของการแพทย์แผนไทย ประยุกต์ คุณลองคุยกับทางอาจารย์ดูสิครับ เพราะในหลายๆพื้นที่ของประเทศก็คิดแบบนี้จริงๆ ซึ่งผมเองมีความรู้เรื่องแพทย์แผนไทยไม่มาก พอได้อ่านจากหนังสือตำรามาบ้าง แต่ทำให้ได้มีโอกาสทราบว่าการแพทย์แผนไทย ยังมีดีอีกเยอะที่คนไม่รู้

ผมจะพยายามคิดและหาวิธีครับว่าจะทำอย่างไรดี แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้หรือเปล่าครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท