หมอบ้านนอกไปนอก(18): เวชปฏิบัติส่วนตัว


คลินิกหมอ ไม่เหมือนร้านขายขนม คนไข้ที่จะมาหาเรา เขาตั้งใจตั้งแต่ที่บ้านแล้วว่าจะมาหาเรา คนไข้ที่ไปหาผมที่คลินิก เวลาเราแนะนำเรื่องการดูแลตัวเอง การกินยา เขาจะเชื่อและปฏิบัติตามดีมาก อาจเป็นเพราะว่า เขามีความเชื่อถือในตัวเราอยู่แล้ว ร่วมกับความรู้จักคุ้นเคย ไม่มีความซับซ้อนมากในระบบบริการ เวลาคุยอะไรเขาจึงให้ความเชื่อถือง่าย

   วันนี้พุธที่ 26 กันยายน ผมเดินไปเรียนเหมือนเดิม ระยาทางสัก300 เมตร จากบ้านพัก ผมใช้เวลาเดินไม่ถึงสิบนาที เรียนเรื่องบริการในโรงพยาบาลกับอาจารย์ฌอง ปิแอร์ อังเกอร์ เป็นการพูดถึงการทำงานเป็นทีมในโรงพยาบาล อาจารย์บอกว่าการทำงานเป็นทีมในโรงพยาบาลจำเป็นต้องมีหน่วยทำหน้าที่เฉพาะ บริการด่านแรกและทีมบริหารงาน สิ่งสำคัญของการทำงานเป็นทีมคือการมีข้อมูลข่าวสารที่ครบถ้วน (Full information) และอาจารย์พูดถึงองค์ประกอบขององค์การตามแนวคิดของมินซ์เบิร์กที่มีอยู่ 5 องค์ประกอบสำคัญคือผู้บริหารระดับสูง(Apex) หน่วยสนับสนุนทางเทคนิค (Techno-structure) หน่วยส่งกำลังบำรุง (Logistics) ผู้บริหารระดับกลาง (Middle line) และหน่วยปฏิบัติการ (Functional unit) โดยมีอีกส่วนที่อยู่เหนือผู้บริหารสูงสุดคือคณะกรรมการบริหาร (Board of Trustee)

อาจารย์ได้ให้ทั้งสองกลุ่มเลือกโรงพยาบาลที่สมาชิกกลุ่มทำงานอยู่มาช่วยกันวิเคราะห์ ผมก็เสนอไปเหมือนกัน แต่อาจารย์ตัดออกตอนหลังเนื่องจากต้องการโรงพยาบาลที่มีคณะกรรมการและกลุ่มเหนือได้เลือกโรงพยาบาลชุมชนของไทยไปแล้ว พอแยกกลุ่มใหญ่ ก็แบ่งกลุ่มเล็กเพื่อทำการวิเคราะห์ ผมอยู่กลุ่มโรงพยาบาลในฟิลิปปินส์ โดยมีเกรซเป็นเจ้าของเรื่อง มีคิอูล่ากับเอ็ดวินอีกสองคน พอคุยกันเสร็จก็หาคนนำเสนอ ผมก็เลยอาสาเป็นผู้นำเสนอเอง เพื่อนๆดูท่าทางตกใจว่าคนที่พูดอังกฤษไม่ค่อยได้อย่างผม กล้าเสนอตัวเอง ดูท่าทางคิอูล่าจะกังวลเรื่องเตรียมนำเสนอ ผมก็เลยบอกว่า ไม่ต้องห่วงผมจะทำให้ดีที่สุด(เท่าที่จะทำได้) แล้วผมก็แอบกระซิบกับเอ็ดวินว่า ดีที่สุดของผมอาจไม่ใช่ดีที่สุดของอาจารย์ก็ได้นะ แล้วก็ยิ้มๆกัน

อีกเรื่องหนึ่งเป็นของอาจารย์บาร์ท ครีเอล เป็นเรื่องของกรอบการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างVertical program กับ Horizontal program และเราควรจะบูรณาการVertical program ลงไปใน Horizontal program หรือไม่ โดยสรุปการแยกสองโปรแกรมนี้ดูจากระดับของความเป็นเฉพาะทางกับการทำหน้าที่หลายหน้าที่ของผู้ปฏิบัติงาน ความมากน้อยของการรวมอำนาจกับกระจายอำนาจของโครงสร้างการทำงานและความมากน้อยของความถี่ในการทำงาน (เป็นช่วงๆหรือตลอดเวลา) ในตอนท้ายอาจารย์ก็ไม่ได้บอกว่าควรตัดสินใจอย่างไรแต่ให้แนวทางว่าทำแล้วเป็นการเพิ่มคุณค่าที่ดีให้คนไข้หรือไม่ โดยดูความต้องการ ความเป็นไปได้และความเหมาะสมหรือโอกาสที่จะทำ

ในการเรียนทั้งสองส่วนนี้ อาจารย์มักจะพูดถึงเรื่องขององค์การภาครัฐที่ไม่หวังกำไร เป็นสิ่งที่ควรผลักดันให้ดีขึ้น เรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องที่จะมาทำกำไรกัน บางแห่งเป็นภาครัฐแต่ทำกำไร บางแห่งเป็นภาคเอกชนไม่ทำกำไร ก็มี ทำให้ผมนึกถึงช่วงหนึ่งที่ผมเองก็ได้มีการทำเวชปฏิบัติส่วนตัว (Private practice) เรียกง่ายๆว่าทำคลินิกส่วนตัวหรือทำร้าน นั่นเอง

ตอนผมใกล้จะเรียนจบแพทย์มักมีคนถามว่า จะเปิดคลินิกไหม ผมจะตอบว่าไม่แน่ใจ ยังบอกไม่ได้ อะไรที่ผมไม่มั่นใจว่าจะทำได้ ผมจะไม่รับปากเด็ดขาด กลัวเสียคำพูด เพราะคำพูดนี่ตอนพูดเราเป็นนายมัน แต่พูดไปแล้วมันเป็นนายเรา  ตอนจบแพทย์ใจก็ไม่ได้อยากทำคลินิก ตอนนั้นอยากทำงานในโรงพยาบาลอย่างเดียว ก็สมัครไปอยู่โรงพยาบาลงาว 1 ปี แล้วก็ไปอยู่ที่แม่พริกอีก 3 ปี ก็ไม่ได้เปิดคลินิก ตอนอยู่แม่พริกสามปีออกหมู่บ้านเกือบทุกหมู่บ้าน ร่วมกิจกรรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านเกือบทุกครั้ง ทุกหมู่บ้าน ออกหน่วยเคลื่อนที่ ร่วมกิจกรรมของกำนันผู้ใหญ่บ้านตลอด ประชุมกับส่วนราชการต่างๆและเล่นกีฬาเชื่อมสัมพันธ์กับหน่วยงานต่างๆบ่อยมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งไปจ่ายตลาดที่แม่พริก (ตลาดสดเล็กๆ อำเภอเล็กมากคล้ายหมู่บ้านมากกว่า) มีชาวบ้านที่ถือเป็นคหบดีของอำเภอ เข้ามาถามว่าอยู่ที่ไหน ขนาดเป็นหมอคนเดียวตั้งสองปี พอบอกว่าเป็นหมอใหญ่ที่แม่พริก เขาถามว่าเพิ่งมาเหรอ เขาไม่เคยไปใช้บริการที่โรงพยาบาลเลย เวลาตัวเขาหรือคนในครอบครัวไม่สบายจะไปคลินิกที่อำเภอเถินตลอด รู้จักหมอทั้งสามคนที่เปิดคลินิกที่เถิน ผมก็มาคิดว่า อยู่ตั้งนานแล้วแต่เข้าไม่ถึงชาวบ้านทุกกลุ่มเลย สู้หมอคลินิกต่างอำเภอก็ไม่ได้ คนในอำเภอแม่พริกรู้จักเกือบทุกคนเลย

พอย้ายมาอยู่บ้านตากตอนปี 2540 สภาพอำเภอต่างจากแม่พริกมาก อำเภอใหญ่กว่า ตำบลหมู่บ้านมากกว่า มีประชากรมากกว่าสามสี่เท่า คงยากที่จะออกทำความรู้จักชาวบ้าน ออกหมู่บ้านได้เหมือนตอนอยู่แม่พริก รวมทั้งสภาพเจ้าหน้าที่ก็ต่างกัน เจ้าหน้าที่แม่พริกเป็นน้องจบใหม่เพราะอยู่ไกล กลับบ้านลำบาก ส่วนใหญ่กลับเย็นวันศุกร์และมาเช้าวันจันทร์ ไม่มีครอบครัว ไม่มีภาระผูกพันมาก เวลาทำงานลุยไหนลุยนั่น เช้ายันค่ำไปด้วยกันได้ตลอด แต่ที่บ้านตาก ใกล้เมือง อาวุโสมากและมีครอบครัวเป็นส่วนใหญ่ เขาก็ต้องมีเวลาของครอบครัวเขาผมสภาพตัวอำเภอก็มีชุมชนหนาแน่นขึ้น ผมก็มาคิดว่าถ้าเปิดคลินิก เราก็ใช้เวลาตอนเย็นทำความรู้จักกับชาวบ้านอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยชอบมาโรงพยาบาลได้ ส่วนเวลาทำงานก็ตรวจที่โรงพยาบาล ร่วมกิจกรรมกับกลุ่มต่างๆตามปกติได้ ผมก็ปรึกษากับแฟนก็ตกลงใจร่วมกันว่าจะเปิดคลินิกส่วนตัวที่อำเภอบ้านตาก

ก่อนเปิดคลินิก ผมก็ไปคุยกับหมอประจินต์ เหล่าเที่ยง ที่เขาเปิดคลินิกอยู่ เขาให้คำแนะนำที่ดีมาก ทั้งเรื่องบริการที่จะต้องจัด เครื่องมือต่างๆ ร้านขายยาที่ซื้อได้ในราคาต้นทุนที่ไม่สูงมาก ผมก็มานั่งวางแผนว่าจะทำอะไรบ้าง โดยคิดว่า เริ่มต้นเล็กๆก็พอ ไม่ต้องลงทุนเรื่องร้าน เรื่องเครื่องไม้เครื่องมือมากนัก หากเบื่อ คิดจะปิดคลินิกก็จะได้ปิดได้ง่าย ผมเริ่มเปิดคลินิกด้วยเงินเริ่มต้นไม่ถึงแสนบาท หลังจากตกลงใจแน่นนอน วางแผนการแล้ว ก็เดินสำรวจตลาดหาบ้านเช่าเพื่อทำคลินิก ช่วงนั้นเป็นช่วงต้นปี 2540 หาบ้านยากมาก ที่บ้านตากมีถนนสายหลักที่ผ่านตัวตลาดและมีสะพานปูนข้ามน้ำปิงกับอีกสายหนึ่งจะคึกคักน้อยลงเป็นสายที่คู่ขนานกับสายแรก เดิมจะคึกคัก หลายปีก่อนย้ายสะพานไปถนนสายแรก ความคึกคักเลยลดลงไป ตอนแรกผมหาบ้านเช่าที่ถนนสายแรก แต่หายากและมีราคาแพง บ้านแคบ มาได้บ้านเช่าที่ตรงข้ามร้านลุงแก้ว โดยคำแนะนำของพี่นกหรือชนก พ่วงพีอภิชัย เป็นบ้านของวัชรี บ้านไม้สองชั้น เทียบกับตึกแถวเกือบสองคูหา ราคาไม่แพงนัก

เรื่องยาที่ใช้ในคลินิก ก็ซื้อจากร้านขายส่งหรือยี่ปั๊วเป็นส่วนใหญ่ สามารถไปเดินเลือกดูยา รูปลักษณ์ บรรจุภัณฑ์ได้ง่าย ซื้อไม่มากก็ได้ ราคาถูกกว่าซื้อจากผู้แทนยา แต่ต้องซื้อเงินสด ในขณะที่ซื้อกับผู้แทนยาต้องซื้อจำนวนมาก ราคาจะถูกและใช้เงินเชื่อได้ บางอย่างก็ซื้อจากผู้แทนเพราะไม่มีขายในร้านขายยา แต่บางอย่างก็ซื้อเพื่อการปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ได้รู้จักพูดคุยกัน การเลือกซื้อยามาใช้ในคลินิกนอกจากจะดูเรื่องคุณภาพ บริษัท ราคาแล้ว เรื่องลักษณะเม็ดยาหรือลักษณะน้ำยา กลิ่น สี ก็มีผลเหมือนกัน ยาบางตัวราคาถูก แต่กินยาก เด็กไม่ชอบ ยาบางตัวเม็ดใหญ่เกินไป คนไข้ไม่ชอบกลืนยาก บางบรรจุภัณฑ์เก็บยาก บางชนิดเป็นเม็ดธรรมดา บางชนิดเป็นเม็ดเคลือบ บางชนิดเป็นแคปซูล ยาน้ำก็มีทั้งชนิดเป็นขวดแก้วบรรจุเสร็จมาเลย บางอย่างก็เป็นแกลลอนให้เรามาบรรจุขวดพลาสติกเอง ก็แล้วแต่จะเลือก ทั้งสะดวกหมอและสะดวกคนไข้ ส่วนเรื่องวัคซีน ผมจะไม่นำมาใช้ที่คลินิกเพราะผมเป็นห่วงเรื่องการเก็บยาให้มีคุณภาพ เนื่องจากที่คลินิกไม่มีเครื่องปั่นไฟสำรองเหมือนโรงพยาบาลที่เมื่อไฟดับ เครื่องปั่นไปสำรองจะทำงานภายใน 5 นาที และไฟฟ้าจะดับบ่อยในช่วงฤดูฝน จากลมพัดกิ่งไม้หักพาดสายไฟ

ผมเปิดคลินิกเวลา 5 โมงเย็นถึง 2 ทุ่ม วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และเวลา 8.30 น. ถึง 12.00 น. วันเสาร์อาทิตย์ ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ก็เปิดตามวันปกติ ช่วงสี่ปีแรก จะไปคลินิกค่อนข้างตรงเวลา ไม่เคยไปก่อนห้าโมงเย็น เพราะกว่าจะเลิกวานที่โรงพยาบาลบ้านตากก็เกือบห้าโมงทุกวันอยู่แล้ว ผมไม่เปิดตอนเช้าเพราะผมไปทำงานบนโรงพยาบาลก่อนแปดโมงเช้าเป็นส่วนใหญ่ ช่วงแรกไม่ค่อยปิดคลินิกเพราะงานส่วนใหญ่อยู่ที่โรงพยาบาล กลับจากคลินิกก็อยู่ที่โรงพยาบาลหรือบ้านพัก ไม่ค่อยไปประชุมที่ต่างจังหวัดเพราะหมอไม่ค่อยพอ จะไปไหนก็ลำบาก ภาระงานที่โรงพยาบาลก็ต้องการการอยู่ดูแลอย่างใกล้ชิด มีการปรับขยายโรงพยาบาล มีภาระมากทั้งด้านบริการและด้านบริหาร ช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมาจะปิดคลินิกบ่อยมาก จากการไปเรียนปริญญาโทนิด้าช่วงศุกร์เสาร์อาทิตย์อยู่สองปีครึ่ง เริ่มมีการบรรยายต่างจังหวัด มีกิจกรรมนอกพื้นที่อำเภอมากขึ้น ก็ต้องปิดคลินิกบ่อยขึ้น

ตอนแรกที่เปิดคลินิกมีคลินิกแพทย์สองแห่งคือ ของผม กับของพี่ละลิ่ว ซึ่งเปิดมานานแล้ว อยู่ถนนคนละสายกัน (ตอนหลังมี 4 คลินิก) พอเปิดได้สักหนึ่งปี มีคนเสนอแนะผมว่า น่าจะย้ายไปอยู่ที่ถนนสายหลักเพราะผู้คนสัญจรผ่านไปผ่านมามาก เห็นคลินิกได้ง่าย แต่ผมก็ไม่อยากย้ายแล้ว และก็คิดว่า คลินิกหมอ ไม่เหมือนร้านขายขนม คนไข้ที่จะมาหาเรา เขาตั้งใจตั้งแต่ที่บ้านแล้วว่าจะมาหาเรา ประเภทขาจรมีไม่มากหรอก และคลินิกผมก็ช่วยสร้างความคึกคักให้ร้านค้าแถวๆนั้นด้วย จึงไม่ได้ย้าย

ช่วงเปิดคลินิกช่วงแรกๆ ผมกับภรรยาช่วยกันสองคน เปิดเดือนมิถุนายน 2540 ตอนนั้นน้องแคนยังเล็กเพิ่งเกิดได้สองเดือน เวลาไปคลินิกก็เอาน้องแคนไปด้วย พอตื่นนอนร้องไห้ หิวนม ภรรยาผมก็เข้าไปให้นมลูก พอเขาหลับก็ออกมาช่วยผมทำร้านต่อ เราทำกันเองเป็นส่วนใหญ่ ทั้งเตรียมยา ทำบัตร จัดยา ทำความสะอาดร้าน ภรรยาผมจะค้นบัตรคนไข้ได้เร็วกว่าผมมาก พอได้บัตรมาแล้วคนไข้ก็เข้าไปที่ห้องตรวจผมก็จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย วัดไข้ วัดความดันโลหิต ตรวจร่างกาย วินิจฉัย สั่งการรักษาและถ้ามีฉีดยา ก็ฉีดให้คนไข้เอง ส่วนภรรยาก็จะจัดยา อธิบายการใช้ยา เก็บเงิน พอปิดร้อนก็ช่วยกันทำความสะอาดเก็บกวาดร้านแล้วก็กลับบ้านมาทำกับข้าว กินข้าวเย็นกัน ตอนหลังน้องแคนเริ่มโตขึ้น เริ่มคลานก็จะต้องคอยดูแลมากขึ้น แม่ผมก็เลยมาช่วยดูแลให้ที่บ้านตากและก็ดูแลลูกให้มาตลอดทั้งสามคน พอมีน้องขิมก็ให้ภรรยาอยู่ดูแลลูก ผมขอพี่ชนกมาช่วยทำคลินิก พี่เขาดีมาก การฉีดยาเอง ทำให้ผมเรียนรู้การฉีดยาที่ทำให้คนไข้รู้สึกไม่เจ็บได้

คนไข้ที่มาคลินิกผมเฉลี่ยก็ไม่มากนักประมาณ 20-40 คนต่อวัน เป็นคนไข้ที่มาเป็นคนไข้ประจำเป็นส่วนใหญ่ ทั้งพ่อแม่ลูก ปู่ยาตายาย บางทีมาเป็นครอบครัว มาจากบ้านตาก สามเงา และที่แม่พริกก็ตามมารักษากับผมก็มี หลายคนดูแลเขาตั้งแต่เด็กเล็กๆจนโตเป็นวัยรุ่น ผมมีความรู้สึกว่า คนไข้ที่ไปหาผมที่คลินิก เวลาเราแนะนำเรื่องการดูแลตัวเอง การกินยา เขาจะเชื่อและปฏิบัติตามดีมาก อาจเป็นเพราะว่า เขามีความเชื่อถือในตัวเราอยู่แล้ว ร่วมกับความรู้จักคุ้นเคย ไม่มีความซับซ้อนมากในระบบบริการ เวลาคุยอะไรเขาจึงให้ความเชื่อถือง่าย ต่างกับที่โรงพยาบาลที่ในกระบวนการดูแลเขาต้องผ่านหลายคนหลายด่าน มีความซับซ้อนสูงกว่า การพูดคุย ความสนิทสนมจึงเกิดได้ยากกว่าก็เป็นได้

ที่คลินิกผมไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ถ้าคนไข้ต้องเจาะเลือด ตรวจแล็บ ผมก็จะให้คนไข้ไปตรวจที่โรงพยาบาลเลย ไม่เก็บเงินคนไข้ และตามไปดูผลให้ที่โรงพยาบาลหรือถ้ายุ่งมากก็ฝากแพทย์เวรช่วยดูแลรักษาต่อเลย ถ้าคนไข้จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผมก็จะเขียนใบส่งตัวไปให้นอนโรงพยาบาล โดยจะไม่ฉีดยาหรือให้ยาไปเพราะคนไข้จะได้ไม่ต้องจ่ายเงิน ยังไงก็ไปนอนโรงพยาบาลอยู่แล้ว

การทำเวชปฏิบัติในคลินิก ทำให้เราสามารถประเมินผลการรักษาของเราได้ง่าย รวมทั้งความพึงพอใจในการให้บริการด้วย คนไข้จะไม่มาหาเราอีกเลย ถ้าเขาไม่พึงพอใจและถ้าเขามาหาเรา ส่วนใหญ่เขาก็จะหายจากโรคหรืออาการที่เขาเป็น นอกจากเขาจะมาหาเราแล้ว เขายังพาญาติพี่น้อง คนรู้จักมาหาเราอีกด้วย ปัญหาอันหนึ่งที่ท้าทายมากคือการขอฉีดยา ซึ่งเจอเยอะมาก ผมจะให้คำอธิบายก่อน ถึงข้อดีข้อเสีย ลักษณะของโรค ว่าจำเป็นหรือไม่ เขาเผชิญกับปัญหาความเจ็บป่วย (Illness) เหล่านี้มานานแค่ไหน มากน้อยแค่ไหน ไปรักษาที่ไหนมาแล้วบ้าง การใช้หลักเกณฑ์ทางการแพทย์ตัดสินว่าให้ไม่ให้ ฉีดไม่ฉีดอย่างเดียว ผมคิดว่าไม่เพียงพอ หลายคนพออธิบายเขาก็เข้าใจ ไม่ฉีด แต่บางคนเขาไม่ใช่มาหาเราเป็นคนแรก เขารักษามาหลายครั้ง หลายที่แล้ว เขาทุกข์ทรมานกับอาการที่เขาเป็นมาก เช่น ปวดเข่าเหมือนกัน บางคนเพิ่งเป็น บางคนเป็นมาหกเดือน ความเจ็บป่วยของคนสองคนนี้จะไม่เท่ากัน แม้ว่าโรค (Disease) ในมุมมองของแพทย์จะเท่ากันก็ตาม แต่ถ้าความต้องการนั้น (Demand) เมื่อให้ไปแล้ว จะมีผลเสียได้ เราก็ต้องอธิบายนานหน่อย เช่น ปวดเข่าแล้วเคยไปซื้อหรือได้ยาสเตอรอยด์จากไหนมาก็ตาม มาขอซื้อ ขอฉีดสเตอรอยด์ อันนี้ถือว่าไม่จำเป็น (Need) เราก็ไม่ทำให้ พออธิบายผลเสียแล้ว เขาก็ยอมรับ แต่จะไปซื้อหรือฉีดที่ไหนต่อ อันนี้ผมก็ไม่ทราบได้

เรื่องการกำหนดราคาในการให้บริการ ต้องขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ไม่ใช่คิดเฉพาะค่ายาอย่างเดียว คงต้องดูด้วยว่าค่าใช้จ่ายอื่นๆที่มีทั้งเรื่องเครื่องมือ วัสดุอุปกรณ์ ผู้ช่วย ค่าเช่าบ้าน ดอกเบี้ย อื่นๆอีกทั้งค่าแรงหมอด้วย ดังนั้นบางแห่งถ้าค่าเช่าร้านแพง ค่าจ้างต่างๆแพงก็ทำให้ค่าบริการสูงไปด้วย บ้านเราไม่ได้แยกค่าตรวจและให้คำปรึกษาแพทย์ออกมาเป็นค่าใช้จ่ายที่เด่นชัด แต่ไปรวมอยู่กับค่ายา

ในต่างประเทศหลายแห่ง เช่นที่ผมไปดูที่ออสเตรเลีย เขาให้หมอคิดค่าตรวจรักษา เขาเรียกว่า Consultation แล้วเขียนใบสั่งยาให้คนไข้ไปซื้อจากโรงพยาบาลหรือร้านขายยา หมอไม่ต้องมียาอยู่ที่ร้าน และร้านขายยาก็ต้องมีเภสัชกรควบคุมคลอดเวลาที่เปิดทำการและห้ามขายยาโดยไม่มีใบสั่งแพทย์ มีคนไข้หลายคนมาคุยกับผมว่า มาหาผม รักษาหายแล้วคิดไม่แพงด้วย ผมก็คิดเอาเองว่า ผมก็คงคิดไม่แพง เพราะถูกแพงเป็นการตัดสินโดยความรู้สึกของผู้ป่วย ไม่ใช่จำนวนเงิน เช่น ถ้าคิด 200 บาทที่บ้านตาก อาจจะเรียกว่าแพง แต่ถ้าเป็นเมืองใหญ่ๆก็จะถูกมาก และคลินิกอาจอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่มีเงินสนับสนุนมาจากส่วนอื่นๆ

ผมเปิดคลินิกมาได้สิบปีพอดี พี่ๆเพื่อนๆ คนรู้จักหลายคนก็คิดไม่ถึงว่าผมเปิดคลินิก เพราะช่วงหลังๆผมไปโน่นไปนี่บ่อยมาก ดูแล้วเหมือนไม่ได้ทำคลินิก พอมาเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ที่ผ่านมา ผมทำงานที่กระทรวงด้วย ต้องเข้ากรุงเทพฯทุกสัปดาห์ ทำให้เวลาอยู่กับครอบครัวน้อยลง ก็เลยปรึกษากับภรรยาว่าน่าจะปิดคลินิก พอเดือนมีนาคม 2550 ผมก็ปิดคลินิกไปเลย ก็ถือว่าได้ประสบการณ์ชีวิตอีกแบบหนึ่ง

ทำคลินิกได้หกเดือน ชาวบ้านก็รู้จักกันทั้งอำเภอแล้ว เป็นการประชาสัมพันธ์ตัวเองได้อย่างดี พอเขามารักษากับเราแล้วหาย เขาก็บอกต่อๆกันไป ทำให้ได้รับการยอมรับในเรื่องการรักษาคนไข้ด้วย พอเขาไปโรงพยาบาลเขาเจอเราเขาก็ยอมรับและเชื่อเรามากขึ้น ส่งผลให้การทำงานด้านอื่นๆได้รับความร่วมมือมากขึ้นด้วย ก็เป็นประสบการณ์เล็กๆน้อยๆของหมอคนหนึ่งที่นำมาเล่าสู่กันฟังครับ

พิเชฐ  บัญญัติ

Verbond straat 52

2000 Antwerp, Belgium

26 กันยายน 2550

22.15 น. ( 03.15 น.เมืองไทย )

หมายเลขบันทึก: 132444เขียนเมื่อ 28 กันยายน 2007 00:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 10:34 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
เรียน ท่าน อาจารย์หมอพิเชฐ ตามมาเยี่ยมยาม กำลังจะมี มหกรรม KM ภูมิภาค ครับ เสียดายท่านไม่ได้อยู่ Show and Share ที่ ม.น ครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์JJ ขอบพระคุณครับที่ได้ช่วยส่งข่าว ก็เสียดายเหมือนกันที่ไม่ได้อยู่ร่วมงาน ก็จะรอเก็บบรรยากาษของงานผ่านทางgotoknowครับ

ฝากความคิดถึงให้อาจารย์JJด้วยครับ

สวัสดีครับอาจารย์

   อ่านเรื่องนี้แล้วรู้สึกดีและเข้าใจหลายอย่างมากครับ

 บางประเด็นก็ตรงกันครับ

  ตอนนี้ผมก็ทำร้านเหมือนกันครับ  จบมาได้3 ปี  แล้วมาทำปีที่4 ครับ

  รู้สึกว่าได้อะไรหลายอย่างที่มีคุณค่ามากๆครับ  ในการเปิดครับ

  อาจจะเหนื่อยหน่อยครับ..

  แต่ก็รู้สึกว่ามีความสุขนะครับ

 เพราะว่ามีเรื่องราวมากมาย  เป็นเหมือน รพ เล็กๆนะครับที่เราต้องบริหารจัดการทุกอย่าง

  มีเรื่องราวอีกมากมายครับ

ขอบพระคุณมากครับ

 ปล.กราบขอโทษอาจารย์ด้วยนะครับ  ที่เมลล์เรื่องราวไม่สบายใจมาหาท่าน

   ต้องขอบพระคุณมากๆครับ  ที่ให้กำลังใจและคำแนะนำครับ  ขอบคุณครับ

สวัสดีครับคุณkmsabai

           การทำคลินิกเหมือนเป็นโรงพยาบาลเล็กๆของเราจริงๆ เราอยากทำอะไร กำหนดได้เอง ไม่มีกฎเกณฑ์หยุมหยิม ทำได้อย่างที่เราอยากทำ เราต้องเรียนรู้หลายอย่าง ก็ให้มีความสุขจากการทำงานในคลินิกและในโรงพยาบาลนะครับ สร้างสมดุลย์ให้ได้และมีทั้งGive & Take

          มีเรื่องอะไรอยากคุย อยากแลกเปลี่ยนแบบเป็นการส่วนตัวแบบที่ทำอยู่ก็ยินดีมากครับ ไม่ได้ถือเป็นการรบกวน มีเวลาก็ตอบเร็ว พอยุ่งๆก็ตอบช้าไปหน่อยได้ครับ ในชีวิตการทำงานของผม มีคนคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ ให้กำลังใจหลายคน บ่อยครั้งที่เราอ่อนล้า ท้อ เราก็ต้องการคนที่ให้คำปรึกษาได้ ฟังเราพูด ถ้าผมสามารถช่วยเหลือรับฟังได้ ผมยินดีครับ ไม่ต้องเกรงใจครับ

เพียงแข เหมยเมืองแก้ว

สวัสดีค่ะ

Dr.เชษฐ์

ยังจำอ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ได้มั้ยคะ

เมื่อครั้งยังเป็นนักเรียนแพทย์ที่ สวนดอก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท