เทคนิคการเตรียมตัวไปสมัคงาน


กลุ่มจามจุรี

"จบเป็นบัณฑิตใหม่มาหมาดๆ เตรียมตัวหางานกันหรือยัง"

          หลายคนอาจได้งานทำแล้ว หลายคนก็อาจยังแบมือขอเงินพ่อแม่กินเที่ยวอยู่ แบบนี้มันน่ากุมขมับนัก แต่ละปีมีนิสิต นักศึกษาจบออกมาเป็นพันๆ คน ทำให้เกิดการชิงตำแหน่งเพื่อให้ได้งาน คนไหนมีเส้นมีสาย หรือจบออกมามีเกรดดีๆ บริษัทจองตัวเข้าทำงานก็ถือว่าโชคดีไป แต่คนที่ต้องขวนขวายหางานทำด้วยตัวเองอาจจะต้องเหนื่อยหน่อย เพราะต้องหาวิธีสร้าง "ความประทับใจ" ให้กับบริษัทที่จะทำ

          ใครที่กุมขมับอยู่อยากบอกว่างานนี้ไม่ยาก

          น.ส.ทิพวรรณ ศิริคูณ ผู้จัดการฝ่ายงานบริหารทรัพยากรบุคคลบริษัทเอไอเอส บอกว่า ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยในช่วงปี 1 เป็นช่วงเฟรชชี่ อาจจะรู้สึกเริงร่า เริ่มทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ พอขึ้นปี 2 ชีวิตเริ่มเปลี่ยน อาจตั้งใจเรียนขึ้น เริ่มเรียนหนักขึ้น ขึ้นปี 3 งานเยอะมากขึ้น ต้องตั้งใจเรียนเป็นหลายเท่า สุดท้ายปี 4 ชีวิตเริ่มเปลี่ยนขึ้นไปอีกก้าว เริ่มเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ใกล้เข้าสู่วัยทำงาน 
 
          "ในช่วงเป็นนักศึกษานอกจากตั้งใจเรียนอย่างเดียวแล้ว ต้องค้นหาสิ่งที่ตัวเองชอบด้วยว่าอยากทำงานด้านอะไร เมื่อรู้ตัวเองแล้ว ให้เตรียมตัวสมัครงาน เตรียมตัวสัมภาษณ์งาน เมื่อได้งานแล้วก็ต้องคิดด้วยว่าจะพัฒนาตัวเองอย่างไรต่อไป ที่ให้คิดก่อนเพราะบางคนเรียนจบเภสัชกรมาแต่กลับมาเป็นนักแต่งเพลง ซึ่งการเลือกงานไม่ได้อยู่ที่ความชอบอย่างเดียว มันอยู่ที่จังหวะและโอกาสด้วย"

          เชื่อว่านิสิต นักศึกษาที่เรียนมาบางคนอาจไม่ชอบในคณะที่ตนเองเรียนจริงๆ ก็ได้ ผู้จัดการฝ่ายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บอกว่า สิ่งที่เรียนมาช่วยในอาชีพได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่สำคัญคือ ต้องค้นหาตัวเองให้เจอว่าชอบอะไร แม้จะค้นหาตัวเองได้หลังเรียนจบก็ไม่สายเกินกว่าจะเรียนหาความรู้เพิ่มเติม มีคนมากมายที่เรียนมาแล้วไม่ใช่ในสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น

          "เมื่อรู้ว่าตัวเองชอบอะไรแล้ว ให้เตรียมตัวหางานด้วยการเปิดเว็บไซต์รับสมัครงานต่างๆ เพื่อหางานที่เหมาะสมกับตัวเองและศึกษาข้อมูลของบริษัทที่ไปสมัครงานว่าทำเกี่ยวกับด้านใด ถูกกฎหมายหรือไม่ ตำแหน่งงานมีหน้าที่อะไรบ้าง เมื่อได้สถานที่ทำงานแบบถูกใจแล้ว ให้เตรียมประวัติ ผลงานที่ผ่านมาของตัวเอง ใบเกรด รูปถ่าย และบุคคลที่สามารถอ้างอิงได้ เอกสารสำคัญต่างๆ"

          นอกจากนี้เครื่องแต่งกาย ทรงผมก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน ผู้จัดการฝ่ายงานบริหารทรัพยากรบุคคล บอกว่า อย่าแต่งตัวนิสิต นักศึกษาไปสมัครงาน แต่งตัวให้เรียบร้อย ผู้หญิงให้ใส่กระโปรง พร้อมทั้งรวบผมให้เรียบร้อย ที่สำคัญเตรียมปากกา ที่ลบคำผิดไปด้วย เพราะเวลากรอกใบสมัครเมื่อเขียนผิดจะได้ลบเรียบร้อย อย่าไปขีดฆ่า และอ่านรายละเอียดใบสมัครให้ครบ กรอกให้ละเอียดและถูกต้อง อย่าลืมเขียนคุณสมบัติพิเศษ กิจกรรมที่เคยร่วมทำ เขียนให้หมดเพื่อแสดงศักยภาพของตัวเอง

          แหม!! มีเทคนิคกรอกใบสมัครอย่างชัดเจนแบบนี้ ถึงเวลาที่ทางบริษัทเรียกสัมภาษณ์ วินาทีที่สำคัญที่ทุกคนต้องทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจ ผู้เชี่ยวชาญ บอกว่า อย่า "ตื่นเต้น" "ประหม่า" ให้ไปถึงที่หมายก่อนเวลานัดอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง เข้าห้องน้ำ อย่าให้เศษอาหารติดฟัน หวีผมให้เรียบร้อย พร้อมทั้งสำรวมกิริยามารยาท และอย่าคุยโทรศัพท์ระหว่างรอเรียกสัมภาษณ์ ให้ปิดเสียงไปเลย

          "อย่าทำท่าเลิ่กลั่กเมื่อถูกเรียกเข้าห้องสัมภาษณ์ ไหว้ผู้สัมภาษณ์ให้สวย สร้างบุคลิกให้น่าเชื่อถือ หากเกิดอาการประหม่าให้สูดลมหายใจเข้าลึกๆ เพื่อผ่อนคลาย บอกกับตัวเองในใจว่าต้องมั่นใจ ต้องทำให้ได้ ตอบทุกคำถามที่เป็นความจริง อย่าไปกลัว"

          ผ่านพ้นวิกฤตอันน่าตื่นเต้นไป แต่เมื่อได้ตอกบัตรเป็นพนักงานที่ต้องการแล้ว เมื่ออยู่ในองค์กรนั้นๆ การปฏิบัติตัวก็สำคัญเช่นกัน

          น.ส.ทิพวรรณบอกว่า วันแรกของการทำงาน นอนให้เร็ว อย่าตื่นสาย ไปทำงานให้ทันเวลา รู้จักสร้างความสัมพันธ์กับพี่ๆ ที่ทำงาน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ศึกษางานที่จะทำอย่านั่งว่างๆ และสิ่งที่จะสร้างความประทับใจให้กับที่ทำงาน คือ การประพฤติตัวให้ดี เมื่อได้งานที่ตนเองชอบก็ต้องรู้จักขวนขวาย หาความรู้เพิ่มเติม

          สุดท้ายที่ผู้จัดการฝ่ายงานบริหารทรัพยากรบุคคล ฝากไว้ว่า เมื่อได้ทำงานต้อง รักงาน รักเพื่อนร่วมงาน รักองค์กร จะได้ทำงานอย่างมีความสุข

          แม้บัณฑิตแต่ละปีจะจบกันมากมาย จนแย่งพื้นที่กันทำงาน ขออย่าท้อแท้ "พยายาม" ตัวเองต่อไป ที่สำคัญอย่าลืมค้นหา และพัฒนาตัวเองต่อไป

ถึงตอนนี้พวกเรายังเรียนไม่จบแต่ในอนาคตต้องจบแน่ ฉะนั้นนำไปทดลองปรับปรุงตนเองก็น่าจะดี เตรียมความพร้อมไว้ก่อนน่าจะได้เปรียบคนอื่นนะครับว่าม่ะ

กลุ่มจาจุรี ศูนย์เรียนรู้พญาแล จังหวัดชัยภูมิ

ที่มาของข้อมูล หนังสือพิมพ์มติชน

หมายเลขบันทึก: 132124เขียนเมื่อ 27 กันยายน 2007 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ดีครับ แวะมาเยี่ยม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท