หมอบ้านนอกไปนอก(17): ควบสามภารกิจ


ผู้นำกลุ่ม (Leader) ไม่ใช่ผู้ที่คอยสั่งให้กลุ่มทำตาม แต่เป็นผู้ที่นำกลุ่มไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน ช่วยนำกระบวนการและดูแลบรรยากาศกลุ่ม ความเห็นร่วม (Consensus) ไม่ใช่สิ่งเดียวกับประนีประนอม (Compromised) ความเห็นร่วมคือการเปลี่ยนการตัดสินใจโดยผ่านกระบวนการอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล (Changing your mind through discussion)

   วันนี้อังคารที่ 25 กันยายน ผมตื่นนอนตอนเช้าแล้วก็ได้คุยกับเพื่อนร่วมงานที่บ้านตากทางสไกป์ก็ได้ซักถามสารทุกข์สุกดิบกันไปแล้วก็กินข้าว แล้วก็เดินไปเรียนหนังสือ ประมาณสิบนาทีก็ถึงสถาบัน ตอนเช้าเรียนเรื่องการสื่อสารต่อกับอาจารย์มูนิค(Monique Van Dormael) กับอาจารย์มาแต็ง (Jean Maertens) เรียนสนุกเพราะเป็นการทำกิจกรรมกลุ่ม ตอนแรกให้แบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งถูกมอบหมายให้ทำกิจกรรมการอภิปรายกลุ่ม อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้สังเกตการณ์โดยอาจารย์พูดถึงบทบาทของสมาชิกกลุ่มตามวงล้อของลีรี่ (Leary’s wheel) ที่แบ่งวงกลมออกเป็น 8 ส่วน เวลาทำกิจกรรมกลุ่มให้สังเกตว่า สมาชิกกลุ่มแสดงออกแบบไหน ผมอยู่กลุ่มแรก ผมได้พูดประโยคเดียว หลังจากนั้นก็เงียบ พอเสร็จทำกลุ่ม 15 นาที อาจารย์ก็ให้ผู้สังเกตการณ์ (จับคู่กันหนึ่งต่อหนึ่งเลย) บอกว่าบทบาทของใครเป็นแบบไหน เป็นผู้จัดการ (Managerial) แข่งขัน (Competitive) แสดงบทบาทเด่น (Friendly dominant) ร่วมมือ (Cooperative) เงียบ ขี้อาย (Docile) แยกตัว (Self effacing) กบฏ (Rebellious) หรือก้าวร้าว (Antagonistic)

หลังจากนั้นก็ให้ผู้แสดงถามคำถามหรือข้อเสนอแนะ ผมได้เสนอไปว่า ผู้สังเกตการณ์จะจัดคนอยู่ในบทบาทใดโดยดูจากการพูดอย่างเดียวไม่ได้ ควรดูจากสีหน้า ท่าทาง การแสดงออกที่เป็นอวัจนภาษาด้วย อาจารย์ก็บอกว่าดีมาก เราต้องสังเกตทุกอย่างทั้งวัจนภาษา (Verbal) และอวัจนภาษา (Non-verbal) หลังจากนั้นก็ให้สลับกัน แต่คราวนี้กำหนดบทบาทให้สมาชิกกลุ่มแสดงแล้วให้กลุ่มผมสังเกตบ้าง เพื่อนคนหนึ่งพูดหลังจากแสดงเสร็จว่าเขาอึดอัดมาก ที่ต้องแสดงบทเงียบเพราะเขาชอบพูดชอบแสดงความคิดเห็นมากกว่า ตอนจบอาจารย์สรุปว่า สิ่งที่เราสังเกตเป็นบทบาท (Role) ในกลุ่มไม่ใช่ลักษณะนิสัย (Personality) ของแต่ละคน และผู้นำกลุ่ม (Leader) ไม่ใช่ผู้ที่คอยสั่งให้กลุ่มทำตาม แต่เป็นผู้ที่นำกลุ่มไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกัน ช่วยนำกระบวนการและดูแลบรรยากาศกลุ่ม

สองชั่วโมงหลัง เปลี่ยนกิจกรรมเป็นการแบ่งออกเป็นสามกลุ่มคือเอ บี ซี ให้ทำกิจกรรมกลุ่มโดยจำลองสถานการณ์ฉุกเฉิน (หลายคนคงเคยเล่นแล้ว) เป็นเรือถูกไฟไหม้และกำลังจะจมลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก มีเรือช่วยชีวิตที่รองรับทุกคนได้หมด แต่ให้เลือกเรียงลำดับความสำคัญของ 15 สิ่งว่าอะไรสำคัญมากที่สุดไปเรื่อยๆ ตอนแรกก็ให้แต่ละคนทำก่อนแล้วก็ให้ทำเป็นกลุ่ม ผมอยู่กลุ่มบี สมาชิกมีผม เลมม่า แพทริซ อามีน สุวรรณฤทธิ์และเอดวิน ผมทำหน้าที่ผู้นำกลุ่ม (Moderator) ก็ถามความเห็นของแต่ละคนจนเรียงได้ครบ 15 อันดับ ตอนแรกจะให้เหตุผลและเถียงกันมากหน่อย พอเวลาใกล้จะหมดก็เร็วขึ้นเรื่อยๆ

พอหมดเวลาทุกกลุ่มมารวมกันและให้เล่าบรรยากาศพร้อมอาจารย์ให้ข้อเสนอแนะ กลุ่มเอ ถกเถียงกันเยอะมาก ไม่ค่อยยอมกัน ไม่มีใครเป็นผู้นำกลุ่ม (กลุ่มนี้พอดูสมาชิกกลุ่มแล้วก็ร้องอ๋อครับ เพราะดาวสภาทั้งนั้นเลย) ส่วนกลุ่มซี มีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือเป้าหมายร่วมกันก่อนว่า จะใช้ความอยู่รอดเป็นความสำคัญอันดับแรกและการเข้าถึงฝั่งเป็นอันดับสอง มีการกำหนดผู้นำกลุ่ม อาจารย์สรุปว่ากลุ่มซีมีการทำกลุ่มที่มีประสิทธิภาพที่สุดมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน (Objective) กำหนดบทบาท (Role) กำหนดกระบวนการ (Procedure) และความสัมพันธ์ (Relation) ส่วนกลุ่มเอไม่มีเลย กลุ่มผมขาดการกำหนดวัตถุประสงค์ร่วมกัน และอาจารย์ได้สรุปว่า ยามฉุกเฉินต้องมีผู้นำหรือผู้ประสานงานเสมอ (Moderator หรือ Coordinator) และความเห็นร่วม (Consensus) ไม่ใช่สิ่งเดียวกับประนีประนอม (Compromised) ความเห็นร่วมคือการเปลี่ยนการตัดสินใจโดยผ่านกระบวนการอภิปรายด้วยเหตุด้วยผล (Changing your mind through discussion) ส่วนประนีประนอมก็เป็นการยอมๆหยวนๆกันไปเพื่อให้ได้ทันเวลาหรือแบ่งผลประโยชน์กันลงตัว

ช่วงบ่าย เป็นการนำเสนอผลงานกลุ่มเกี่ยวกับระบบบริการขั้นต้น (First Line Health Service) ของอาจารย์เวนเน็ต (Jean Van Der Vennet) กับอาจารย์ครีเอล (Bart Criel) กลุ่มแรกเสนอเรื่องของประเทศอินเดียโดยชามู กลุ่มสองเป็นกลุ่มผมเรื่องของแทนซาเนียโดยเกรซ และกลุ่มสามเรื่องของคาเมรูนโดยยาเน็ธ เมื่อวานเกรซถามผมว่าจะทำเพาเวอร์พอยท์ไหม ผมบอกไม่ต้องหรอกเน้นเนื้อหาดีกว่า เขียนแผ่นใสทำได้เร็วกว่า ที่จริงแล้วผมก็ขี้เกียจทำนั่นแหละ กลุ่มแรกก็แผ่นใส กลุ่มสามใช้เพาเวอร์พอยท์ ส่วนห้องของพี่เกษมแข่งกันทำเพาเวอร์พอยท์ทั้งสามกลุ่ม เอาจริงเอาจังกันมาก

ระบบของอินเดียงานสาธารณสุขเป็นเรื่องที่กำหนดโดยรัฐแต่ละรัฐที่เป็นการปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐบาลกลางไม่ได้มายุ่งเกี่ยวด้วย ของคาเมรูนมีกระทรวงสุขภาพเป็นผู้สนับสนุนและดูเชิงนโยบาย ในระดับท้องถิ่นมีอำเภอ (District) เป็นผู้บริหารจัดการ เป็นท้องถิ่น มีสาธารณสุขอำเภอ (District Health Officer) เป็นผู้บริหารจัดการดูแลทั้งโรงพยาบาลอำเภอและศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ (Promotion Health Center) ประจำตำบลหรือหมู่บ้าน

ส่วนของแทนซาเนีย มีระดับประเทศ ระดับเขต ระดับจังหวัดและอำเภอคล้ายๆของไทย การบริหารเบ็ดเสร็จในอำเภอที่ถือเป็นท้องถิ่น มีนายแพทย์สาธารณสุขอำเภอ (District Medical Officer) เป็นผู้บริหารสูงสุดร่วมกับทีมบริหาร (District Health Management Team) ดูแลทั้งโรงพยาบาลอำเภอและสถานีอนามัย (Health center) มีคณะกรรมการสาธารณสุขระดับอำเภอ (District Health Board) คอยกำกับเรื่องนโยบายและการส่งเสริมป้องกันโรคและมีคณะกรรมการสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (Village Health Committee) คอยกำกับดูแลนโยบายในระดับสถานีอนามัย การปกครองของอำเภอเป็นส่วนท้องถิ่นที่มีส่วนของนักการเมืองและข้าราชการประจำในลักษณะสภาอำเภอ สมาชิกสภามาจากตัวแทนแต่ละหมู่บ้าน

หลังจากนำเสนอและอภิปรายกันเสร็จก็แยกย้ายกันกลับบ้านพัก ผมเดินไปตามถนนก็มาคิดดูว่าชีวิตช่วงนี้สบายกว่าช่วงที่อยู่เมืองไทยมากเลย งานที่รับผิดชอบไม่ซับซ้อน มีรับผิดชอบเรื่องเรียนอย่างเดียว ไปให้ตรงเวลา พยายามไม่หลับเวลาเรียน มีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่ม ร่วมกิจกรรมกลุ่ม ก็เท่านั้น ที่เหลือก็ติดต่อพูดคุยกับครอบครัวและเพื่อนๆที่สนิทกัน เล่าสารทุกข์สุกดิบให้กันและกันฟัง ตบท้ายด้วยกำลังใจแก่กันและกัน

ชีวิตการทำงานในช่วงปีที่ผ่านมานั้น เป็นช่วงที่ผมมีเวลาว่างน้อยมาก เนื่องจากรับผิดขอบงานในหลายด้าน จากที่เป็นเฉพาะผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากที่มีเวลาทำงานในพื้นที่อย่างเต็มที่ ในฐานะผู้อำนวยการ ในฐานะผู้ปฏิบัติที่มีอำนาจเต็มในหน่วยงานของตนเอง แม้จะต้องรับบทบาทการเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่างๆ แต่ก็ไม่มากนักประมาณสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น การทำงานในโรงพยาบาลบ้านตากในฐานะผู้อำนวยการสามารถใช้อำนาจในหน้าที่ร่วมเป็นตัวขับเคลื่อนการทำงานได้ง่าย

เมื่อเมษายน 2549 ที่ผ่านมา ผมก็ได้เข้าไปรับตำแหน่งนายแพทย์ 8 ด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากและได้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตากอีกตำแหน่งหนึ่ง ทำให้ผมได้ขยับไปทำหน้าที่อีกด้านหนึ่งที่เป็นรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ที่ต้องช่วยท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดดูแลงานสาธารณสุขในภาพรวมของจังหวัดตาก ทำให้เห็นภาพของงานสาธารณสุขกว้างขึ้น ซึ่งจังหวัดตากเอง มีความแตกต่างกันของงานสาธารณสุขด้วยความต่างของพื้นที่ที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฟากคือฝั่งตะวันออก (ด้านหน้าทิวเขาถนนธงชัย) ที่มี 4 อำเภอคือเมืองตาก บ้านตาก สามเงา วังเจ้า  สภาพต่างๆก็คล้ายๆกับงานที่บ้านตาก ในขณะที่อีกฝั่งหนึ่งคือฝั่งตะวันตก (ด้านหลังทิวเขาถนนธงชัย) มี 5 อำเภอคือแม่สอด แม่ระมาด พบพระ ท่าสองยางและอุ้มผาง ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นที่สูง อากาศหนาวเย็น ประชากรเป็นชาวไทยภูเขาที่มีความแตกต่างด้านภาษา วัฒนธรรมความเป็นอยู่ อีกทั้งแรงงานต่างด้าวจำนวนมากกว่า 200,000 คน ที่เข้ามาตามแนวชายแดนไทย-พม่าที่ยาวที่สุดของไทยในเขตจังหวัดตากถึง 560 กิโลเมตร มาพร้อมกับปัญหาหลายด้านโดยเฉพาะปัญหาทางด้านสาธารณสุข การทำงานจึงต้องเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานและNGOs ต่างชาติ ที่มีวิธีการทำงานและภาษาที่แตกต่างกัน จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างมาก 

ผมได้รับมอบหมายให้ดูโรงพยาบาลชุมชนและสาธารณสุขอำเภอทุกแห่ง งานควบคุมโรค งานประกันสุขภาพ งานกิจการพิเศษ (ดูแลเรื่องต่างด้าวโดยเฉพาะ) และรักษาราชการแทนกรณีที่ท่าน นพ. สสจ.ตากไม่อยู่ และดูแลโครงการพิเศษเช่นกองทุนโลก งานของTUC สิ่งที่ผมได้พบก็คือหลายเรื่องผมไม่รู้มาก่อนเลยทั้งๆที่อยู่ตากมาเกือบ 10 ปี ปัญหาสุขภาพชายแดนมีเรื่องให้ทำมาก ต้องคุยและประสานงานกับชาวต่างชาติ และในพื้นที่จังหวัดตากต้องดูแลศูนย์ลี้ภัยสงครามถึง 3 แห่ง จาก 7 แห่งทั้งประเทศ ใน 3 อำเภอคือค่ายแม่หละที่ท่าสองยาง ค่ายนุโพที่อุ้มผางและค่ายอุ้มเปี้ยมที่พบพระ แม้จะไม่ได้เข้าไปดูแลค่ายเหล่านี้โดยตรง แต่หากเกิดโรคติดต่อสำคัญหรือการระบาดขึ้นมา เราก็ต้องเข้าไปดูแลให้เขาสามารถควบคุมป้องกันโรคไว้ได้

การทำงานสาธารณสุขต่างด้าวในพื้นที่จังหวัดตาก จึงเกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมาหลายอย่าง มีรูปแบบการทำงานที่หลากหลายเช่น การดูแลสุขภาพต่างด้าวในพื้นที่เขตเมืองที่มีแรงงานต่างด้าวแออัดในโรงงานหรือสถานประกอบการณ์ การดุแลในพื้นที่เกษตรกรรมที่มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากหรือการดูแลในพื้นที่ห่างไกล มีการจัดตั้งสถานสุขภาพชุมชนต่างด้าว (Health post) จังตั้งศูนย์มาลาเรียชุมชน (Malaria post)มีพนักงานสุขภาพชุมชนต่างด้าว (พสช.) อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว (อสต.)  เป็นต้น

พอเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ผมได้เข้าไปช่วยงานเป็นคณะทำงานสนับสนุนวิชาการ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการทำงานการเมือง เป็นงานเชิงนโยบาย เป็นทีมที่อยู่เบื้องหลังทำงานวิชาการเชิงนโยบาย ซึ่งก็เป็นงานที่ท้าทายอย่างมากเช่นกัน ผมใช้เวลาทำงานที่ตากประมาณ 2-3 วันและที่กระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 2-3 วัน สลับกันไป บางครั้งก็ทำงานอยู่ในสำนักงานที่กระทรวงฯ บางครั้งได้ติดตามรัฐมนตรีไปตรวจเยี่ยมงานในที่ต่างๆ ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้งานในภาพกว้างอย่างมาก ในขณะที่ยังคงเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลและรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตากอยู่ด้วย รวมทั้งการสอนนิสิตแพทย์ของศูนย์แพทย์ตากกับมหาวิทยาลัยนเรศวรและต้องไปบรรยายให้หน่วยงานต่างๆไปพร้อมกัน ซึ่งบ่อยครั้งที่ต้องปฏิเสธการบรรยายเนื่องจากไม่สามารถจัดเวลาไปได้และต้องขออภัยหน่วยงานที่ได้เชิญผมไปบรรยายแล้วผมได้ตอบปฏิเสธไป ในเวลา 5 วันราชการ จึงหมดไปกับภาระงานเหล่านี้ มีเวลา 2 วันในช่วงเสาร์-อาทิตย์ที่ได้อยู่กับครอบครัว

การทำงานในโรงพยาบาลบ้านตาก ในฐานะผู้อำนวยการ เป็นผู้มีอำนาจสั่งการโดยตรง เป็นผู้ปฏิบัติในระดับอำเภอ ดูแลประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบในฐานะผู้ปฏิบัติโดยตรง ถือเป็นการทำงานแถวหน้า  การทำงานที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตาก ในฐานะรองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตาก ที่ทำงานในระดับจังหวัด ระดับที่คอยติดตามและเชื่อมโยงงานจากระดับนโยบายของกระทรวงเชื่อมสู่การปฏิบัติในระดับพื้นที่ ถือเป็นการทำงานแถวสอง ในขณะที่การทำงานที่กระทรวงสาธารณสุข เป็นทีมวิชาการที่ช่วยสนับสนุนงานเชิงนโยบาย อยู่เบื้องหลัง ถือเป็นการทำงานแถวหลัง

เป็นการทำงานที่เดินทางไกลทุกสัปดาห์ จากบ้านตากไปสนามบินสุโขทัย 140 กิโลเมตร หรือไปสนามบินพิษณุโลก 180 กิโลเมตร ต้องอาศัยนั่งหลับไปในรถ พร้อมๆกับเปิดเทปฝึกภาษาอังกฤษไปด้วย แต่คนที่ฟังเทปมากที่สุดน่าจะเป็นพี่สมชาย สุริวงศ์ คนขับรถให้ผมเพราะผมหลับเป็นส่วนใหญ่

นับเป็นเรื่องโชคดียิ่ง ที่ทำงานใน 3 ระดับ ในเวลาเดียวกัน ทำให้เห็นภาพงานสาธารณสุขของประเทศในระดับต่างๆได้ค่อนข้างชัดเจนขึ้นมาก เป็นประสบการณ์สำคัญที่ได้พกติดตัวมาด้วยเพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆนั้นเรียน MPH: HSMP 2007-2008 ในจำนวน 23 ประเทศ ทั้งจากเอเชีย แอฟริกา อเมริกาใต้และยุโรป ซึ่งน่าจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ของเพื่อนๆกลับไปได้มาก แต่ก็ยังติดอุปสรรคเรื่องภาษาอังกฤษที่สำเนียงแตกต่างกันมาก

ก่อนจบคืนนี้ มีเนื้อเพลงไพเราะๆ ที่ภรรยาดาวน์โหลดส่งมาให้ฟังทางอีเมล์ ฟังแล้วได้ความรู้สึกที่ดีมาก ชื่อเพลง "Take Me to your Heart" ลองหามาฟังนะครับ

Hiding from The Rain and Snow Trying to forget but I won't let go

Looking at a crowded street  Listening to my own heart beat

So many people all around the world  Tell me where do I find

someone like you girl  [Chorus:]

Take me to your heart take me to your soul  Give me your hand

before I'm old  Show me what love is - haven't got a clue

Show me that wonders can be true  They say nothing lasts

forever  We're only here today Love is now or never Bring me far

away Take me to your heart take me to your soul

Give me your hand and hold me Show me what love is - be my

guiding star It's easy take me to your heart  Standing on a

mountain high Looking at the moon through a clear blue sky

I should go and see some friends  But they don't really

comprehend  Don't need too much talking without saying anything

All I need is someone who makes me wanna sing  [Chorus:]

Take me to your heart take me to your soul 

Give me your hand before I'm old

พิเชฐ  บัญญัติ, 25 กันยายน 2550,
หมายเลขบันทึก: 132055เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2007 23:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับน้องนก

            พี่ได้คลิ๊กเข้าไปฟังแล้วทั้งสองเพลง เพลงแรกฟังบ่อยเพราะภรรยาส่งไปให้ ส่วนเพลงที่สองก็เพิ่งได้ฟังวันนี้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท