รัสนิยายสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย " วิธีสอน "


วิชา ท ๔๐๒๑๖ รัสนิยายสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย

ช่วงนี้คุณๆ คงเห็นเรื่องสั้นที่นำเสนอกันบ้างแล้วนะคะ  เป็นผลงานของนักเรียนชั้น ม. ๕ กลุ่มเพิ่มเติม วิชา ท ๔๐๒๑๖ รัสนิยายสื่อสร้างสรรค์สังคมไทย  ชื่อวิชายาวไปหน่อย แต่ได้ผลค่ะ   ความคิดรวบยอดของวิชานี้คือเรื่องเล่าสั้น ๆ สื่อสร้างสรรค์สังคมไทย   เนื้อหาโดยรวมเป็นเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ สิ่งแวดล้อม หรือคุณธรรมที่สื่อแนวปฏิบัติตามหลักปรัชญาของสังคมเศรษฐกิจพอเพียง   เด็ก ๆ ช่วยกันสร้างสรรค์ผลงานอย่างมากมากมาย  เลือกอ่านและวิจารณ์ได้เลยนะคะ  พวกเขารออยู่ค่ะ 

คราวนี้ก็มาถึงวิธีสอนค่ะ  ใช้ทฤษฎีการเรียนรู้ตามทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยการสร้างสรรค์ผลงาน  และจัดกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้ทักษะ การอ่าน ฟัง ดู พูด คิด วิเคราะห์ สื่อความ เขียน  และสร้างสรรค์ผลงาน  ไม่ยากเลย บอกเป็นข้อ ๆ นะคะ

๑. เรียนรู้เรื่องการใช้ถ้อยคำ  แล้วฝึกเขียนเล่าเรื่องโดยใช้ภาพการ์ตูนจากผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน  แล้วครูกำหนดหัวเรื่องให้นะคะ เพื่อสะดวกในการตรวจเนื้อเรื่อง เช่น ให้เล่าเกี่ยวกับโรงเรียนของเรา งานนี้ให้หลากหลายรูปหน่อยนะคะ เพื่อให้เด็ก ๆ เลือก  และต้องเขียนจบในตอนเดียวนะคะ  ลองดูซิคะ  แล้วครูจะรู้อะไรเกี่ยวกับโรงเรียนของตนจากเด็ก ๆ ค่ะ

๒. เรียนรู้เรื่องการนำเสนอความคิดต่อ ภาพ เหตุการณ์ ฯ โดยฝึกเชื่อมโยงความคิดก่อน แล้วต่อด้วยแผนภาพความคิดโครงเรื่องการเขียนแสดงความคิด จากนั้นสร้างสรรค์ผลงานด้วยหัวข้อเรื่องคุณคิดอย่างไร  โดยนีกเรียนเขียนแสดงความคิดต่อภาพ เหตุการณ์ ต่าง ๆ จากภาพที่เลือก คนละประมาณ ๕ ภาพ

๓. เรียนรู้เรื่องการทำหนังสือนิทานมีภาพประกอบเป็นการ์ตูน แล้วสร้างสรรค์ผลงาน คนละ ๑ เล่ม ความยาว ๔ - ๕ หน้ากระดาษ เอ ๕ ( เอ๔ พับครึ่ง ) งานนี้ให้อิสระในการใช้ภาพนะคะ จะคัดลอก ย่อขยาย หรือใช้ภาพสำเร็จรูปก็ได้

๔.  ฝึกเขียนขยายความจากหนังสือนิทานมีภาพประกอบเป็นการ์ตูนซึ่งเป็นผลงานของตนเอง  ให้เขาเขียนขยายความโดยเก็บรายละเอียดในแต่ละแผ่นภาพให้มากที่สุด  งานนี้นักเรียนจะทำได้ดีเพราะเขารู้ว่าภาพแต่ละภาพที่เขาบรรจุไว้ในหนังสือนิทานนั้น เขามีจุดประสงค์อย่างไรบ้าง  ต้องแนะนำเด็กนะคะว่าอย่าออกจากเค้าโครงของเรื่องเดิม

๕. เรียนรู้เรื่องการเขียนเรื่องสั้น  เลือกเรื่องสั้นที่มีเค้าโครงเรื่อง และแนวคิดตลอดจนวิธีการนำเสนอแบบง่าย ๆ แล้วนำมาพินิจและวิเคราะห์องค์ประกอบ  ลักษณะและคุณค่าของเรื่องสั้น จากนั้นให้นักเรียนฝึกวางโครงเรื่อง ฝึกสร้างเรื่อง ฝึกสร้างตัวละคร ฝึกสร้างฉาก  และฝึกเขียนให้เป็นเรื่องราว ( งานนี้คุณครูต้องขยันอ่านและแนะนำเด็ก ๆ บ่อย ๆ นะคะ  แรก ๆ เขาไม่อยากให้เราเห็นผลงาน ต้องค่อย ชมก่อนแล้วจึงติหรือแนะนำทีหลังนะคะ และอย่าลืมนำผลงานของนักเขียนที่มีระดับ  และงานเขียนที่ได้รับรางวัลมาให้นักเรียนได้ศึกษากันบ้าง เพื่อเป็นแรงจูงใจให้เขาสร้างสรรค์ผลงาน )

๖. ครูพรรณา ใช้แรงจูงใจว่าขอให้เราสร้างผลงานของเราให้ได้ก่อน ดี ไม่ดี ว่ากันทีหลัง  เพราะถ้าเร่าสร้างได้เราภูมิใจในระดับหนึ่งก่อน จากนั้นจึงปรับปรุงให้ดีขึ้น  ไม่มีใคทำอะไรได้โดยไม่ต้องปรับปรุง

๗. อีกอย่างที่ลืมไม่ได้นะคะ เมื่อสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นต้องมี ชั่วโมงแห่งการร่วมชื่นชม วิพากษ์ วิจารณ์ เพื่อประเมินค่าของผลงานและให้เด็กๆ ได้นำไปปรับปรุงเพื่อขอคะแนนเพิ่ม  ซึ่งงานนี้เด็ก ๆ เขาดูของเพื่อนแล้วเขาสามารถประเมินตนเองได้เลยนะคะ

หมายเลขบันทึก: 131838เขียนเมื่อ 26 กันยายน 2007 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท