พิธีขึ้นเฮือนใหม่ล้านนา


ขึ้นเฮือนใหม่ล้านนา

ขึ้นเฮือนใหม่ล้านนา

ความเป็นมา 

       เรื่องราวเกี่ยวกับ พิธีกรรม ความเชื่อ เรื่องการปลูกเรือนล้านนา ลักษณะที่ดินสำหรับปลูกบ้านเรือน  ฤกษ์ยามสำหรับปลูกเรือน ตลอดจนการขึ้นเรือนใหม่ ชาวล้านนาได้ให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้เป็นอันมาก มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ซึ่งปรากฏอยู่ทั้งในตำรา และการเล่าสืบต่อกัน รวมถึงการปฏิบัติเป็นประเพณีสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัย ปู่ ย่า ตา ยาย

 วัตถุประสงค์

พิธีกรรม ความเชื่อ เกี่ยวกับการปลูกเรือนล้านนาเหล่านี้ ถือเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของล้านนาที่ทรงคุณค่ายิ่ง  ผู้เขียนได้รวบรวมจากตำรา และการสอบถามจากผู้รู้ ผู้เฒ่า ผู้แก่ และหวังที่จะฝากองค์ความรู้นี้ไว้กับแผ่นดินล้านนา และปรารถนาให้เป็นมรดกตกทอดไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไปได้ศึกษาค้นคว้า หรือแม้แต่นำไปยึดถือปฏิบัติตามก็มิได้ถือว่าล้าสมัยแต่อย่างใด เพราะบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความเป็นสิริมงคล ความเจริญก้าวหน้า และความมั่นคงปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นเรื่องที่คนทุกยุคทุกสมัยล้วนต้องคำนึงถึง

องค์ความรู้เรื่อง   การขึ้นเฮือนใหม่ล้านนา

การขึ้นเฮือนใหม่ล้านนา หรือการขึ้นบ้านใหม่ เป็นพิธีกรรมที่ถือเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะเข้าอาศัยในเรือนหลังใหม่ เรื่องนี้ชาวล้านนาถือเป็นเรื่องใหญ่มาก กิจกรรมเชิงพิธีกรรมจึงค่อนข้างละเอียดและซับซ้อนพอสมควรดังจะได้กล่าวถึงเป็นลำดับไป                                                                                                    

                เริ่มแรก ต้องหาฤกษ์ยามหรือวันดีสำหรับขึ้นบ้านใหม่  ซึ่งมีวิธีหาหลายตำรา ในที่นี้จะเสนอวิธีที่เป็นที่นิยมยึดถือกันอยู่ อย่างน้อยก็หาให้ได้วันดี และหลีกเลี่ยงวันเสีย

วันดี วันเสีย

                วันดีที่นิยมกันมากคือวัน ฟ้าตี่แสง การหาให้เอาตัวเลขจุลศักราชปีนั้นตั้ง เอา 108 หาร เศษเท่าไร เอาเศษนั้นตั้ง บวกด้วยเกณฑ์เดือน บวกด้วยดิถีวัน เอา 5 คูณ  ลบด้วย 7 และหารด้วย 9  เศษเท่าไรเป็นวัน ฟ้าตี่แสง

                ถ้าเศษ 4,5,6,2 ตำราว่า  ถึงยากไร้ก็จะได้ดี กระทำการใดก็สำเร็จทุกประการ

                ถ้าเศษ 1,3,7,8,0 ตำราว่า ภายหลังจะตกต่ำเป็นขี้ข้า ถึงเป็นขุนเจ้าฟ้าก็หาความสุขสบายไม่ได้

                สำหรับเกณฑ์เดือน ให้ถือเอาเดือนตามวิธีนับของล้านนาเท่านั้น กล่าวคือ ล้านนาจะนับเร็วกว่าภาคกลางไปสองเดือน เกณฑ์เดือนที่ว่าจะเริ่ม เกณฑ์  1 ที่เดือน 8 และเกณฑ์ 2 ที่เดือน 9 เป็นลำดับไป ส่วนดิถีวันก็ได้จากการนับตามจันทรคติดังนี้   วัน ขึ้น 1 ค่ำ   คือดิถี 1 ....................    จนถึงขึ้น 15   ค่ำ   คือ ดิถี 15   และ วันแรม 1 ค่ำ   คือ ดิถี 16  ...........จนถึงแรม 15 ค่ำ  คือ  ดิถี  30   เมื่อคำณวนได้วันดีแล้ว ท่านให้ตรวจดูว่าตรงกับวันเสียหรือไม่ วันเสียที่ชาวล้านนายึดถือกันอยู่คือ   เดือน เกี๋ยง ห้า เก้า               ระวิ จันทัง         เสียวันอาทิตย์ กับวันจันทร์

                เดือน ยี่ หก สิบ                     อังคารัง              เสียวันอังคาร

                เดือน สาม เจ็ด สิบเอ็ด        โสรีคุรุ             เสียวันเสาร์กับวันพฤหัสบดี

                เดือน สี่ แปด สิบสอง          สุกโขพุธา         เสียวันศุกร์และวันพุธ

ยามดี ยามเสีย

            การขึ้นบ้านใหม่ เมื่อหาได้วันดีแล้วอาจยังไม่เพียงพอ คงต้องหายามดี หลีกเลี่ยงยามเสีย ด้วย  การหาฤกษ์ยามให้ดี ย่อมเป็นสิริมงคล เพิ่มความมั่นใจ ในการอยู่อาศัยของทุกคน เมื่อทุกคนมั่นใจความ

                ยามดี   ในแต่ละวันจะมียามดีต่างกัน ตามตำราที่ชื่อ ยามชนะวัน ซึ่งกล่าวไว้ว่า

                                วันอาทิตย์              ยามจักใกล้เที่ยง      ยามจักใกล้ค่ำ ดีนักแล

                                วันจันทร์               ยามงาย(สาย)          ยามจักใกล้ค่ำ ดีนักแล

                                วันอังคาร              ยามบ่าย ดีแล        

                                วันพุธ                    ยามจักใกล้เที่ยง      ยาม บ่าย ดีนัก

                                วันพฤหัสบดี        ยามใกล้เที่ยง            ยามค่ำ ดีนักแล

                                วันศุกร์                   ยามเที่ยง ดีนักแล

                                วันเสาร์ที่            ยามบ่าย  ดีนักแล

                           (หมายเหตุ  ยามบ่าย  =   ตั้งแต่   13.30  -  15.00 น.)  

ยามเสีย

                                วันอาทิตย์              เสียยามเที่ยง

                                วันจันทร์               เสียยามแตรต่ำ (เวลา 15.00 16.30)

                                วันอังคาร              เสียยามงาย (สาย)

                                วันพุธ                    เสียยามตูดจ๊าย (เวลา 12.00 13.30)

                                วันพฤหัสบดี        เสียยามป้าดลงแลง (13.30 18.00,

                                วันศุกร์                   เสียยามแตรจักใกล้เที่ยง

                                วันเสาร์                  เสียยามเที่ยง กับยามแลง (เย็น)

 ยามราหูเต้น

                                นอกจากยามเสียแล้วยังมีทิศทางในการหันหน้าสำหรับเข้าบ้านใหม่ ซึ่งมียามเป็นสิ่งกำหนด โดยตำราที่ชื่อ ยามราหูเต้น บอกว่า ขึ้นเฮือนใหม่ อย่าได้เบ่นหน้า(หันหน้า) ไปจับทางที่ราหูเต้นไป...

                                ยามเช้า                   เต้นไปทิศตะวันออกเฉียงใต้

                                ยามสายถึงเที่ยง    เต้นไปทิศเหนือ

                                ยามเที่ยงถึงบ่าย    เต้นไปทิศตะวันออกเฉียงใต้

                                ยามใกล้ค่ำดึงค่ำ   เต้นไปทิศตะวันตก

                                ยามค่ำถึงสี่ทุ่ม       เต้นไปทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

                                ยามสี่ทุ่มถึงเที่ยงคืน     เต้นไปทิศใต้

                                ยามเที่ยงคืนถึงเช้ามืด   เต้นไปทิศตะวันตกเฉียงเหนือ

                                ยามรุ่งเช้า              เต้นไปทิศตะวันออก

                ดังนั้น หากจะเข้าบ้านใหม่ยามไหน ก็ให้หลีกเลี่ยงการหันห้าไปในทิศที่ตำราท่านกล่าว  ก็เชื่อว่าจะเป็นมงคลต่อตนเองและครอบครัวตลอดไป

 

ขึ้นท้าวทั้งสี่

            ก่อนจะมีงานขึ้นบ้านใหม่ ตามความเชื่อของชาวล้านนา ต้องทำพิธี ขึ้นท้าวทั้งสี่ ก่อน โดยเชื่อว่าเป็นการป้องกันภัยอันตรายต่าง ๆ และเพื่อความเป็นสิริมงคล สำหรับความหมายของพิธีนั้น เป็นการบูชาท้าวทั้งสี่อันเป็นมหาเทพผู้สอดส่องดูผู้ประกอบการกุศล ทั้งยังช่วยป้องกันภัยและอำนวยความสุขความเจริญแก่มนุษย์อีกด้วย  ท้าวทั้งสี่ที่ว่า ประกอบด้วย

                1. ท้าวกุเวระ         ผู้รักษาโลกทิศเหนือ

                2. ท้าวธตรฐะ       ผู้รักษาโลกทิศตะวันออก

                3. ท้าววิรุฬหกะ    ผู้รักษาโลกทิศใต้

                4. ท้าววิรุปักขะ     ผู้รักษาโลกทิศตะวันตก

                นอกจากนี้ ยังถือเป็นการบูชาพระอินทร์ ผู้ควบคุมท้าวทั้งสี่ และนางธรณี ผู้เป็นสักขีพยาน รู้ถึงการ หยาดน้ำ หรือกรวดน้ำทำบุญของมนุษย์ ดังนั้น จึงมีกระบะเครื่องพิธีถึง 6 ชุด สิ่งที่จะต้องเตรียมเครื่องใช้ในพิธีได้แก่

1.       ปราสาท  คือแท่นวางเครื่องสังเวย          

2.       สะตวง คือกระบะ ทำด้วยกาบกล้วย ขนาดความกว้างประมาณ 1 คืบ จำนวน 6 อัน ขนาดประมาณ 1 ศอก จำนวน 1 อัน แต่ละสะตวงให้บรรจุ ข้าวปลา อาหาร หมาก เมื่ยง พลู บุหรี่ ดอกไม้  ธูป เทียน อย่างละ 4 ทุกสะตวง

3.       ช่อ คือธงสามเหลี่ยมขนาดเล็ก สีเขียว ขาว เทา เหลือ แดง ดำ อย่างละ 4 สำหรับปักสะตวงบูชาเทพแต่ละองค์

4.       ฉัตร คือ ร่มเล็กสำหรับบูชาเฉพาะพระอินทร์

5.       น้ำส้มป่อย 1 ขัน

เมื่อเตรียมของดังกล่าวแล้ว ให้จัดเตรียมเครื่องขันครู อันเป็นเครื่องคำนับครูของอาจารย์ผู้ประกอบ                      

พิธี ซึ่งประกอบด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เงิน 12 บาท เครื่องใช้อื่น ๆ ประกอบตามควร

                เวลาที่ทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่นั้น อาจทำก่อนงานโดยทอดระยะเวลาพอควร เช่น หากจะมีงานในตอนเช้าตรู่ ก็จะทำพิธีตอนเย็นของวันก่อนหน้างาน หากจะมีงานในตอนสายหรือกลางวัน ก็จะประกอบพิธิในตอนเช้าของวันนั้น

 

การถอนตีนเสา

                การถอน เป็นพิธีสวดมนต์เพื่อถอดถอนสิ่งอัปมงคล ให้หลุดออก การดำเนินการสร้างบ้านเรือนตั้งแต่ต้นมาโดยลำดับ อาจมีสิ่งอัปมงคลตกค้างอยู่ในตัวอาคาร จึงต้องมีการถอดถอน โดยกำหนดเอาโคนเสา  5 จด ได้แก่เสาที่อยู่ทั้งสี่มุมบ้าน และเสากลางบ้าน ผู้สวดมนต์ในพิธี คือพระสงฆ์ 5 รูป  โดยนิมนต์ พระสงฆ์ ประจำที่รูปละจุด เริ่มต้นด้วยพระสงฆ์องค์ประธานจะยกขันตั้ง เป็นการบูชาครูก่อน จากนั้นพระสงฆ์จะสวดมนต์ถอดถอน แล้วถากเอาเศษเสาเรือนหรือเศษดินใส่สะตวง สุดท้ายจะเอาน้ำส้มป่อยประพรหมสะตวงเป็นการดับเทียนไปด้วย จากนั้นนำเอาสะตวงทั้งหมดไปไว้นอกบริเวณบ้าน (การถอนนี้ บางแห่งพบว่า มีพระสงฆ์ 4 รูป สวดถอนทีละจุด จนครบ 5 จุดด้วย)

         เมื่อเสร็จจากการถอน พระสงฆ์จะกลับมานั่งในที่ที่เจ้าภาพจัดไว้ เจ้าภาพอาจถวายจตุปัจจัย หากไม่มีพิธีอื่นที่ต่อเนื่องอีก     ถ้ามีพิธีอื่นเช่น สืบชาตา ก็อาจถวายภายหลังได้

          การถอนตีนเสา บางแห่งนิยมทำพิธีในค่ำของวันเตรียมงาน (วันดา) บางท้องที่ก็นิยมทำในวันขึ้นบ้านใหม่ อย่างไรก็ตามพิธีนี้ถือเป็นพิธีที่ทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกสบายใจในส่วนที่ว่าเรือนหลังใหม่ที่จะเข้าอยู่อาศัยเป็นเรือนที่ปราศจากเสนียดจัญไร

แฮก(แรก)ขึ้นเฮือนใหม่

                การขึ้นเรือนใหม่หรือเข้าสู่บ้านใหม่อย่างเป็นทางการจะมีพิธีแรกขึ้นพิธีนี้ เจ้าภาพจะจัดเตรียม พระพุทธรูป หม้อ ไหสำหรับนึ่งข้าวที่เรียก ปู่ดำย่าดำเครื่องนอนต่าง ๆ (ยกเว้นมุ้ง) ข้าวเปลือก ข้าวสาร พืชผล ประเภท ฟัก แฟง ถั่ว งา ตั้งขบวนอยู่พร้อมและหาคนที่มีชื่อที่เป็นมงคล เช่น ดี แก้ว แสง เงิน ทอง  คำ เจริญ รุ่งโรจน์ จรัส มงคล เป็นต้น ให้เข้าร่วมขบวนด้วย ที่สำคัญคือต้องมีสิ่งของที่จะนำขึ้นก่อนหรือมีข้อปฏิบัติบางประการเอาเคล็ด  ซึ่งตำราบางตำราให้ดูตามวันที่ขึ้น บางตำราให้ดูตามทิศทางของบันได  ท่านได้ว่าไว้ดังนี้

ขึ้นตามวัน

               ขึ้นวันอาทิตย์        ให้เอาข้าวเปลือก ข้าสาร เบี้ย 60 ตัว(ล้างน้ำให้สะอาด) ผู้หญิงขึ้นก่อน  หรือไม่ก็เจ้าเรือนกินข้าว 3 คำ ก่อนขึ้น

                ขึ้นวันจันทร์         ให้เอาของหอม เสื้อผ้าใหม่ ข้าวสาร และผู้ชายขึ้นก่อน

                ขึ้นวันอังคาร        ให้เอาน้ำใส่หม้อใส่ไห แมว หอก ดาบ ขึ้นก่อน

                ขึ้นวันพุธ              ให้เอาข้าวเปลือก ข้าวสาร ผ้าใหม่ ผ้าขาว ขึ้นก่อน

                ขึ้นวันพฤหัสบดี  ให้เอาดอกไม้หอม ของหอมใส่ขัน(พาน) ไม้ประกบใบลาน

              ขึ้นวันศุกร์         ให้เอาดอกไม้สีขาว ข้าวสาร แก้วแหวนแสนสิ่ง (ถุงบรรจุเครื่องประดับ)  ถุงขนัน (ถุงบรรจุเครื่องรางของขลัง)

              ขึ้นวันเสาร์        ให้เอาก้อนหิน มุย (ขวาน) เหล็ก ผ้ากำมะหยี่ ลูกหน้อย(ทารก) ขึ้นก่อน หรือไม่ก็ตริเครียดหื้อเมีย คือทำเป็นเคืองภรรยาแล้วจึงขึ้น

    ขึ้นตามทิศทางบันได

                ทิศตะวันออก               ให้เอาพระพุทธรูปใส่พาน หนังสือ คัมภีร์ เงิน ทอง เสื้อผ้าใหม่ ขึ้นก่อน              

                 ทิศตะวันออกเฉียงใต้  ให้เอาแมว เชือกวัวเชือกควายเสื้อผ้าใหม่ขึ้นก่อน

                ทิศใต้                                     ให้เอาแมว ฟักเขียว ขึ้นก่อน

                ทิศตะวันตกเฉียงใต้            ให้เอาหนุ่มสาว ข้าวสารขึ้นก่อน

                ทิศตะวันตก                          ให้เอา หนุ่มสาว ผ้าเหลือง ทอง ขึ้นก่อน

                ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ      ให้เอา เหล็ก เหล้า แมว น้ำ ขึ้นก่อน

                ทิศเหนือ                                ให้เอาหนุ่มสาว ผู้หญิง แม่หม้าย หญิงมีครรภ์ เงิน ทองคำ ขึ้นก่อน

                ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ    ให้เอาน้ำนม ผ้าขาว เสื้อผ้าใหม่ ขึ้นก่อน

                สิ่งที่กล่าวมา อาจเลือกเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือได้ทั้งหมดยิ่งเป็นการดี เมื่อได้ฤกษ์แล้วให้จัดคนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่มีชื่อเป็นมงคล ไปยืนดักรออยู่ที่เชิงบันได ส่วนขบวนที่เตรียมแห่แหนเคลื่อนสู่บันไดทางขึ้น และเมื่อไปถึงจะมีการทักทายกับกลุ่มที่ดักรออยู่ที่เชิงบันได ด้วยคำพูดที่เป็นมงคล ดังตัวอย่าง

                กลุ่มเชิงบันได          เปิ้นจะไปไหนกั๋นนี่ นั่นอ้ายดี พี่แก้ว ป้าทอง ลุงเงิน ป้าคำก็มาตวย

                กลุ่มในขบวน           เออ พี่รวย อ้ายโรจน์ ลุงมั่น ป้าดี มาเยียะหยังนี่  ข้าเขานี้มาหาบหามเอา   เงินคำก่ำแก้ว แห่แหนมา จะขึ้นอยู่เฮือนฮ่มแก้วหอคำนี้ก่า

                กลุ่มเชิงบันได       เอ่อแต๊ เฮือนฮ่มแก้วหลังนี้ ไผได้อยู่ก็มูลมั่ง ไผได้นั่งก็มีข้าวของ ไผได้ นอนก็มีเงินคำไหลหลั่งเต๊า อยู่เต๊อะ ขึ้นเต๊อะเจ้า

                กลุ่มเชิงบันได       ระวังเน่อ ระวังเน่อ ขั้นไดจะหัก ข้าวของเงินคำมีนัก ล้ำไป ระวังเน่อ ๆ

                ขณะที่ขบวนเคลื่อนขึ้นบันไดนั้น ทุกคนที่อยู่ในบริเวณนั้นจะพากันสวดมนต์บท พุทโธมังคะละ โดยพร้อมเพรียงกัน   ทันทีที่จบบทสวดมนต์ ให้ทุกคนเปล่งเสียงดัง ๆ พร้อมกัน ว่า ไชโย  3  ครั้ง จากนั้นนำเอาสิ่งของต่าง ๆ ไปไว้ในที่อันสมควร เช่นเอาพระพุทธรูปไปไว้บนหิ้งพระ เครื่องนอนไปไว้ในห้องนอน และหม้อไห ฟักแฟง ไว้ในห้องครัว เป็นต้น

                เฉพาะสิ่งของที่นำขึ้นบางครั้ง เจ้าเรือนจัดเตรียมไม่ทัน ก็อาจใช้เครื่องในพิธีกรรมสืบชาตา (ในกรณีที่มีการสืบชาตาด้วย) เช่น หม้อเงิน หม้อทอง หน่อมะพร้าว หน่อหมาก เสื้อใหม่ หมอนใหม่ ฯลฯ แห่ขบวนขึ้นบ้าน ถือว่าทดแทนกันได้  พิธีแฮกขึ้นเฮือนใหม่นี้ ถือเป็นพิธีสำคัญที่ชาวล้านนาถือปฏิบัติมาช้านาน ปัจจุบันอาจลืมเลือนกันไปบ้าง  หากจะย้อนกลับนำเอามาใช้อีก ก็มิใช่เรื่องยุ่งยากหรือสร้างความลำบากแต่ประการใด

การสืบชาตา

                พิธีกรรมอย่างหนึ่ง ที่เป็นที่นิยมให้มี

คำสำคัญ (Tags): #no tag
หมายเลขบันทึก: 131606เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 15:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:39 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีมากครับ มีข้อมูลครบ มีเหตุผล ความเชื่อ

ดีมากเลยค่ะ พิธีสำคัญและดีควรจะมีสืบต่อไปตราบนาน ขอบคุณมากค่ะครบถ้วนมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท