เริ่มต้นที่ตอนจบ โดย หนูดี


สองคำถามที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะเสียดายที่สุด หากเราตายไปโดยไม่ได้ทำอะไร .. เราจะเสียดายที่สุด หากเราไม่ได้ใช้เวลากับใคร
                   มีคนชอบถามหนูดีว่า จะใช้สมองอย่างไรถึงจะคุ้มค่า  จะใช้ชีวิต ใช้เวลาอย่างไรถึงจะถือว่าสมองของเราไม่ได้สูญเปล่า    ด้วยความที่หนูดีเรียนมาด้านสมองและทำงานเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพ  จึงถูกถามในเรื่องนี้เป็นประจำ และก็เป็นคำถามที่ทำให้หนูดีสนุกมากที่จะตอบเสมอ  เพราะคำถามชนิดนี้ มีคำตอบได้มากมาย ไม่เคยตายตัว  ใครตอบก็ไม่มีวันซ้ำกัน                 วันนี้ลองมาฟังนักวิจัยด้านสมองตอบคำถามนี้ดูกันเล่น ๆ ไหมคะ

                สมัยที่หนูดีเรียนอยู่ที่อเมริกา  เคยถูกให้ทำแบบฝึกหัดหนึ่งซึ่งเปลี่ยนแปลงชีวิตหนูดีไปตลอดกาลเลย  คือ  เกม เริ่มต้นที่ตอนจบ

                เกมนี้เล่นไม่ยาก แต่ใช้เวลาพอสมควร  แม้เพียงหลับตา ก็ทำให้ร้องไห้ได้   เพราะเป็นเกมที่ทำให้เราได้ย้อนหลังกลับไปมองชีวิต   ไม่ใช่แต่ต้นจนอวสาน แต่ว่ามองจากอวสาน มาตอนต้น                  ถ้าพูดเปรียบเทียบเป็นภาษานักธุรกิจก็ต้องบอกว่า  Begin with the end in mind.  ก็คือ การเริ่มต้นมาจากการมองเห็นภาพตอนจบ หรือสัมฤทธิผลของเรื่อง

                เกมนี้เริ่มที่  หนูดีจะขอให้ผู้อ่าน ลองหาเวลาเงียบ ๆ อยู่กับตัวเอง ในตอนที่เราไม่มีเรื่องรีบร้อนอันใดต้องไปทำ  แล้วให้นั่งลง  หลับตาจินตนาการภาพตัวเรา  ตอนอายุสักแปดสิบ  

โดยให้สมมติว่า  เราจะต้องตายตอนอายุสักแปดสิบ   และตอนนั้น เราเจ็บป่วย นอนอยู่บนเตียง   หลังจากนั้น ให้เราลองจินตนาการ ย้อนกลับไปมองทั้งชีวิตของเราว่า ที่ผ่านมา เราได้ใช้มันไปอย่างไรบ้าง  เราใช้เวลาของเราทำอะไรไป  เราวิ่งตามอะไร  เราวุ่นวายกับอะไร  เรารักใคร เราไม่รักใคร  ความสุข ความทุกข์ของเราเป็นผลจากอะไร            แต่สองคำถามที่สำคัญที่สุดก็คือ เราจะเสียดายที่สุด หากเราตายไปโดยไม่ได้ทำอะไร ..  เราจะเสียดายที่สุด หากเราไม่ได้ใช้เวลากับใคร

                หากเราตอบคำถามเหล่านี้ได้อย่างกระจ่างชัด   ก็จะมีเวลาบางช่วงที่เราจะไม่ใช้ไปอย่างที่เราใช้อยู่  จะมีกิจการบางกิจการ ที่เราไม่เลือกจะก่อตั้ง   มีเพื่อนบางคนที่เราอาจจะเลิกคบ   มีเงินบางก้อนที่เราจะปฏิเสธไม่รับสารพัดของสิ่งที่จะเกิดขึ้น    

                ถ้าเรามีเวลาถอยออกมาจากชีวิต แล้วย้อนกลับไปมองเหมือนกับว่า เรากำลังดูหนังวิดีโอชีวิตของคนอื่นอยู่ แล้วก็วิจารณ์ว่าเขาคนนั้นตอนยังมีชีวิตอยู่ น่าจะทำอะไรที่ควรทำ

                ทั้งหมดนี้ เป็นเทคนิคที่ง่ายดายและลึกซึ้ง   เมื่อหนูดีลองทำแล้ว   เป็นประโยชน์อย่างยิ่งถึงขั้นหนูดีเปลี่ยนอาชีพ  เปลี่ยนชีวิต   เพราะจากที่เคยคิดอย่างเด็กอายุยี่สิบ  หนูดีกระโดดข้ามไปคิดแบบแปดสิบได้ ตอนนี้เลยเหมือนย้อนกลับมาใช้ชีวิตรอบสอง  โดยอายุยังไม่ครบสามสิบเลย  เหมือนมีสองชีวิตเลยค่ะ

                เมื่อก่อนหนูดีเคยคิดว่า  ความสำเร็จในชีวิตก็เหมือนกับการหาของใส่กล่อง คนเก่งกว่าก็ใช้เวลาเป็น ใช้ชีวิตคุ้ม  ก็หาของมาใส่กล่องได้เร็วและมากกว่าคนอื่น   แต่อีกปัจจัยที่ทำให้กล่องเต็มได้ ที่หนูดีไม่เคยคิดมาก่อนจะเล่นเกมนี้ก็คือ แค่เราเปลี่ยนขนาดกล่องให้เล็กลงซะ มันก็เต็มได้โดยไม่ยากเย็นเลย

                ดังนั้น การใช้สมองให้เต็มที่ คุ้มค่า เพื่อให้ชีวิตมีสุขได้ครบด้านและง่ายดาย น่าจะอยู่ที่ศักยภาพในการถอยออกมาแล้วมองชีวิตจากมุมห่างออกไปอีกหน่อย มองย้อนกลับจากวันสุดท้ายของชีวิตก็เป็นความท้าทายที่น่าสนุกอีกแบบหนึ่ง   มันเปลี่ยนชีวิตหนูดีมาแล้ว  ในทางที่ดีขึ้นอย่างมหัศจรรย์  ด้วยคำถามง่าย ๆ  ไม่กี่คำถาม  

             แล้ววันนี้  ท่านคิดว่า ชีวิตนี้ ไม่ได้ทำอะไรแล้วจะเสียดายที่สุดคะ   และไม่ได้ใช้เวลากับใครแล้วจะเสียดายที่สุดคะ

 

บทความ ของ วนิษา เรซ ผู้เชี่ยวชาญอัจฉริยภาพปริญญาโท จากฮาร์วาร์ด

หมายเลขบันทึก: 131461เขียนเมื่อ 25 กันยายน 2007 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ

เข้ามาเรียนรู้ ขอบคุณนะค่ะที่แบ่งปัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท