การบริหารจัดการเพื่อช่วยเหลืออุทกภัยอำเภอหล่มเก่า


น้ำป่าไหลหลาก น้ำใจไหลหลัง คนไทยไม่ทิ้งกัน

1.  การอำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจังหวัดเพชรบูรณ์

     1.1  จัดตั้งศูนย์อำนวยการและคณะกรรมการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย  อำเภอหล่มเก่า จากการที่จังหวัดเพชรบูรณ์ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาภัยจากอุทกภัย วาตภัย และโคลนถล่มจังหวัดเพชรบูรณ์ ขึ้น ณ ศาลากลางจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยมีนายต่อพงษ์ อ่ำพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ และได้มีคำสั่งจังหวัดเพชรบูรณ์  ที่ 1235 / 2550  ลงวันที่  11  กันยายน  2550 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อำเภอหล่มเก่า เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย อำเภอหล่มเก่าเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ  โดยแต่งตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ขึ้นจำนวน 18 ฝ่าย  ดังนี้

            (1)  ฝ่ายค้นหาผู้สูญหาย มีนายอำเภอหล่มเก่า เป็นประธาน

            (2) ฝ่ายจัดอาหาร น้ำดื่ม ให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

            (3)  ฝ่ายซ่อมแซมเส้นทางคมนาคม มีทางหลวงชนบทจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

            (4) ฝ่ายรับบริจาคเงิน สิ่งของ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย มีนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นประธาน

            (5) ฝ่ายรักษาพยาบาลทางร่างกายและจิตใจ มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

            (6)  ฝ่ายสูบน้ำ และระบายน้ำ มี ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเพชรบูรณ์  เป็นประธาน 

            (7)  ฝ่ายติดต่อสื่อสาร มีผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรอำเภอหล่มเก่า เป็นประธาน

            (8)  ฝ่ายช่วยเหลือฉุกเฉินเร่งด่วน มีนายอำเภอหล่มเก่าเป็นประธาน

            (9)  ฝ่ายรักษาความปลอดภัย มีผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

            (10) ฝ่ายทำความสะอาดบ้านเรือนและปรับปรุงภูมิทัศน์ มีนายอำเภอหล่มเก่า เป็นประธาน

          (11) ฝ่ายที่พักอาศัยให้กับผู้ประสบภัย มีหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

          (12)  ฝ่ายซ่อมแซมอุปกรณ์ เครื่องไฟฟ้า และเครื่องมือการเกษตร  มีผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

          (13)  ฝ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้านแรงงาน มีแรงงานจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

          (14) ฝ่ายช่วยเหลือด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และประมง มีเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

          (15)  ฝ่ายสำรวจความเสียหายสถานที่ราชการ โรงเรียน วัด และสถานที่ราชการอื่นๆ   มีปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

          (16)  ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มีประชาสัมพันธ์จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

          (17)  ฝ่ายประสานงาน มีปลัดจังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นประธาน

         (18) ฝ่ายติดตามผล มีหัวหน้าสำนักงานจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นประธาน

     1.2  กำหนดให้มีหน่วยงานด้านอำนวยการและประสานงาน ประกอบด้วย 

           (1) สำนักงานจังหวัดเพชรบูรณ์

           (2) ที่ทำการปกครองจังหวัดเพชรบูรณ์

           (3) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพชรบูรณ์

           (4) ที่ทำการปกครองอำเภอหล่มเก่า

           (5) สถานีตำรวจภูธรอำเภอหล่มเก่า

           (6) ศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยตำบลนาซำ อำเภอหล่มเก่า   

    1.3 เปิดบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาเพชรบูรณ์ ชื่อบัญชี เงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยจังหวัดเพชรบูรณ์เลขที่บัญชี 614-0-39369-8  ประกาศประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบเพื่อร่วมบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัย

    1.4 จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ประกาศให้ 6 ตำบลของอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ทั้งด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งจังหวัดกำลังดำเนินการสำรวจความเสียหายและพิจารณาให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน       พ.ศ. 2546 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 ต่อไป         

2.  แนวทางการป้องกันแก้ไข 

    2.1  วิเคราะห์สถานการณ์และสาเหตุ

           จากการวิเคราะห์สถานการณ์และสาเหตุของน้ำป่าไหลหลาก ประมวลได้ว่าเกิดจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้น้ำบริเวณห้วยทิพย์ ห้วยน้ำพุง ในเขาสามหมื่น ซึ่งอยู่ใกล้กับพื้นที่ ตำบลโป่ง อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ประกอบกับสภาพแวดล้อมของป่าต้นน้ำถูกทำลายลงไปมากทำให้ความสามารถในการดูดซับน้ำลดลง จึงทำให้น้ำไหลทะลักบ่าลงมาจากภูเขาซึ่งมีระดับความชันของพื้นที่สูง ทำให้สายน้ำมีความรวดเร็วและรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก

     2.2  ข้อมูลด้านที่ดินและการใช้ที่ดิน

            พื้นที่บ้านหนองใหญ่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมที่ได้มาจากป่าเสื่อมโทรม ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าโคกซำซาง สำหรับพื้นที่บ้านแก่งโตนไม่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หากยังไม่ออกเอกสารสิทธิใดๆ ถือว่ายังเป็นพื้นที่ป่า ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ซึ่งปัจจุบันมีการออกโฉนดที่ดินไปแล้วบางส่วน

     2.3  แนวทางการป้องกันและแก้ไขสำหรับในระยะยาว

            จังหวัดเพชรบูรณ์ได้ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน สำหรับการป้องกันแก้ไข ดังนี้

           2.3.1 การติดตั้งซูเปอร์เรดาห์ ตรวจวัดกลุ่มเมฆฝน ของกรมอุตุนิยมวิทยาในลุ่มน้ำป่าสัก เพื่อให้รับทราบสถานการณ์ปริมาณน้ำฝนสำหรับเตรียมรับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที

           2.3.2 เร่งรัดดำเนินการฝึกอบรมมิสเตอร์เตือนภัยให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ และจัดตั้งหน่วยหรือชุดปฏิบัติการรับผิดชอบการเตือนภัยโดยตรง ให้มีหน้าที่รับผิดชอบเฝ้าระวังในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

           2.3.3 การฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อม เร่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำในพื้นที่ให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการเร่งก่อสร้างฝายต้นน้ำลำธารในพื้นที่ลำน้ำให้มาก และดูแลบำรุงรักษาเพื่อให้เกิดการเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ผิวดินอันเป็นการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในอนาคต

           2.3.4 ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรลดการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เช่น ข้าวโพด ในพื้นที่ภูเขา หันมาปลูกไม้ยืนต้น ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในเรื่องไม้สามอย่างประโยชน์สี่อย่าง อย่างเป็นรูปธรรม ประชาชนต้องยึดหลักแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำรงชีวิต และทำการเกษตรอย่างเหมาะสม ไม่เน้นการขยายพื้นที่เพาะปลูก เน้นการเกษตรผสมผสาน

          2.3.5 ประชาชนในพื้นที่จะต้องปรับตัวให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเหมาะสม โดยติดตามข้อมูลข่าวสารของทางราชการอย่างใกล้ชิด และร่วมเฝ้าระวังภัยในฤดูน้ำหลาก ทั้งนี้จะต้องมีการฝึกฝนซักซ้อมการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง

          2.3.6 ปลูกจิตสำนึกให้เด็กและเยาวชนตระหนักถึงความสำคัญของผืนป่า เพื่อลดการทำลายป่าไม้ อันจะทำให้ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา 

          2.3.7  ส่งเสริมและให้ความรู้แก่ประชาชนด้านการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เช่น ในพื้นที่ลาดชันควรปลูกป่าหรือไม้ยืนต้นและในพื้นที่ราบหรือลาดเอียงเล็กน้อย สามารถไถพรวนปลูก  พืชไร่ได้ 

คำสำคัญ (Tags): #น้ำท่วม
หมายเลขบันทึก: 131360เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2007 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2018 09:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
จากชาวบ้าน แก่งโตน

ถึงผู้รับผิดชอบทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นเวลา3ปีแล้วครับที่เกิดอุทกภัยที่หมู่บ้าน แก่งโตน จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีใครเข้ามารับผิดชอบในเรื่งของ สะพานที่ขาด ท่านคงไม่รู้ใช่ไหมครับว่าชาวบ้านลำบากแค่ไหนสำหรับการเดินทางสัญจรไปมาหากันและการคมนาคมในหมู่บ้าน ข้อร้องเถอะครับอย่ามัวแต่นิ่งเฉยอยู่เลยครับ ขอให้ช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ให้หน่อยครับ...(จากเสียงของคนในหมู่บ้าน ลำบากจริงๆๆๆๆๆครับ ...)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท