ภูมิปัญญาท้องถิ่นล้านนาในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ


ระบบเหมืองฝาย
ระบบเหมืองฝาย

                ภูมิประเทศโดยทั่วไปของภาคเหนือเป็นพื้นที่ภูเขาสลับที่ราบ เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าวต้องอาศัยสองฝั่งแม่น้ำเป็นที่ทำกิน ซึ่งในหน้าแล้งแม่น้ำมักจะลดระดับหรือแห้งลง เกษตรกรจึงหาวิธีแก้ไขให้มีน้ำให้เพียงพอสำหรับการทำกสิกรรม โดยกั้นให้แม่น้ำมีระดับสูงขึ้น เอ่อเข้าสู่ลำเหมืองที่กั้นแม่น้ำดังกล่าวเรียกว่า ฝาย” (เขื่อน) เมื่อน้ำเข้าลำเหมืองใหญ่แล้วต้องกั้นกระแสน้ำเข้าสู่ไร่นาของเกษตรกรอีกทอดหนึ่ง ที่กั้นลำเหมืองใหญ่นี้เรียกว่า แตเพื่อแบ่งน้ำเข้าสู่ไร่นาของราษฎร เมื่อกระแสน้ำแยกจากลำเหมืองใหญ่เข้าสู่ลำเหมืองเล็ก จะมีคันกั้นน้ำล้นแบ่งเข้าที่นาแต่ละเจ้าของ คันกั้นน้ำนี้เรียกว่า ปุมน้ำจะล้นปุมไปสู่ไร่นาแปลงอื่นๆ ต่อไป ส่วนในที่นาแต่ละเจ้าจะมีทางระบายน้ำไปสู่แปลงต่อๆ ไป  โดยทำช่องที่คันนา ช่องคันนาที่ระบายน้ำนี้เรียกว่า ต๊างส่วนการปิด เปิดน้ำเข้าต๊างเรียกว่า ข่างเมื่อข่างน้ำเจ้านาเต็มแปลงแล้วจะให้น้ำไหลเข้าสู่แปลงอื่นๆ เรียกว่า ยอยหลังจากน้ำเข้าเต็มทุกแปลงแล้ว ก็จะกักน้ำไว้เพื่อพืชผลได้ใช้น้ำ หลังจากพืชผลใกล้จะเก็บเกี่ยวแล้ว เกษตรกรก็จำทำการปล่อยน้ำลงในเหมืองเรียกว่า การลดน้ำ

             ฝาย  การสร้างผายเป็นผะหญา (ปัญญา) อันชาญฉลาดของคนล้านนา ที่ใช้การสังเกตระดับน้ำที่ขึ้นลงในฤดูต่าง ๆ เช่นฤดูฝนน้ำมักจะไหลหลากน้ำในแม่น้ำลำคลองต่างๆ จึงมีระดับน้ำสูง หรือบางครั้งก็จะท่วมล้นตลิ่งก่อให้พืชผลทางการเกษตรหรือบ้านเรือนอาศัยของผู้คนได้รับความเสียหาย หรือเมื่อยามหน้าแล้งระดับน้ำในแม่น้ำลำคลองต่างๆ ต่างลดระดับหรือแห้งเหือดหายไปหมด ไม่มีน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร อุปโภคหรือบริโภค คนโบราณจึงแก้ไขโดยนำไม้ไผ่จำนวนมากเสี้ยมโคนให้แหลมแล้วตอกเรียงกันเป็นแนวขวางลำน้ำเป็นตับ ซ้อนสลับเหลื่อมกันไปมาขวางลำน้ำ ไม้ที่ใช้ตอกนี้เรียกว่า หลักฝายมีความกว้างประมาณ 1.50 เมตร อุปกรณ์ที่ใช้ตอกหลักฝายจะใช้ค้อนขนาดใหญ่ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก มีด้ามยาวคล้ายด้ามขวาน ค้อนชนิดนี้เรียกว่า ค้อนหน้าแหว้น” (แหว้นหมายถึงกลม) เพราะหน้าแหว้นนี้เองทำให้ตีหัวหลักได้แม่นยำกระแทกหลักฝายตอกลงพื้นดินใต้น้ำได้ง่ายและลงลึก ทำให้มั่นคงและแข็งแรง หลังจากนั้นก็จะนำก้อนหินมาทำทำนบกันตลิ่งที่หัวฝายเชื่อมกับตลิ่งบนฝั่งน้ำกันน้ำเซาะตลิ่งพังเมื่อสร้างฝายเสร็จ จากนั้นจะช่วยกันสร้างหอฝีฝายข้างๆลำน้ำ การเลี้ยงผีฝาย การเลี้ยงผีฝายเป็นอุบายที่แยบยล ที่ทำให้ชาวบ้านมาร่วมกันรักษาฝาย เพราะคำว่าผีในที่นี้คือคุณความดี หรือประโยชน์ของฝายนั่นเอง การที่ทุกคนร่วมกันได้มาร่วมการเลี้ยงผีฝาย คือการเข้ามาร่วมพบปะสังสรรค์ พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ช่วยกันดูแลซ่อมแซมรักษาฝาย เช่นฝายที่เสียหายในปีที่ผ่านมาก็จะช่วยกันซ่อมแซม ขุดลอกเหมืองฝายที่ตื้นเขิน และช่วยกันแผ้วถางวัชพืชต่างๆ เพื่อให้ลำคลองหรือเหมือง  คงสภาพดีอยู่เสมอ  การเลี้ยงผีฝายมักจะทำเมื่อสิ้นสุดฤดูการทำนา ผู้คนในชุมชนนัดแนะวันและจะห่อข้าว และนำข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนใส่สวยมารวมกันที่หอผีฝาย พร้อมกับเก็บเงินชื้อวัวแถ่ว (โคหนุ่ม) 1 ตัวมาฆ่าเช่นสังเวยผีฝายถึงเวลาเลี้ยงผี แก่ฝายจะลงขัน (กล่าวเชิญ) ผีฝายมารับเครื่องเซ่นสังเวยแล้วจุดธูปเทียน หลังจากนั้นจะรอจนธูปเทียนดับถือว่าผีฝายกินเครื่องเซ่นสังเวยเสร็จแล้ว ผู้คนจะนำห่อข้าวมาร่วมกันกิน พร้อมกับนำวัวไปทำลาบหรืออาหารต่างๆกินร่วมกัน เหลือจากนั้นก็จะแบ่งเนื้อให้ทุกคนที่มาร่วมงานนำกลับไปทำอาหารที่บ้าน ในขณะที่อยู่รวมกันนั้นก็จะพากันพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ร่วมกันคิดซ่อมแซมเหมืองฝายให้คงสภาพใช้งานได้ดีตลอดไป ผีฝายจึงถือว่าเป็นเครื่องมือหรือกลไกที่สำคัญเป็นจุดให้คนมารวมกลุ่มพัฒนาฝาย  แก่ฝายแก่ฝายเป็นผู้กำกับดูแลรักษาและเป็นผู้นำในการรักษาฝาย แก่ฝายมีหน้าที่กำหนดเกณฑ์ให้ชาวบ้านนำหลักฝาย เครื่องเซ่นสังเวย ตลอดจนนัดหมายวันเวลาในการบำรุงซ่อมแซมเหมืองฝายในแต่ละปี แก่ฝายต้องเป็นคนที่เข้มแข็งไม่กลัวคน เพราะขณะที่ตีฝายอาจมีคนเอาเปรียบคนอื่น แอบนอนหลับตามร่มไม้ แก่ฝายบางคนต้องส่งข่าวให้แก่ชาวไร่ ชาวนาจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องมีผู้ช่วยแบ่งเบาภาระที่หนักอึ้ง ผู้ช่วยแก่ฝายมักจะเรียกว่า ล่ามฝายล่ามฝายมีหน้าที่นำข่าวสารจากแก่ฝายไปบอกกล่าวหัวหน้าชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน จากนั้นในแต่ละหมู่บ้านจึงจะนำข่าวสารไปบอกแก่สมาชิกในหมู่บ้านของตนอีกต่อหนึ่ง เช่นนัดหมายวันเวลาการซ่อมแซมเหมืองฝาย นัดหมายเลี้ยงผีฝายเป็นต้น เหมืองฝายแต่และแห่งบางครั้งครอบคลุมพื้นที่จำนวนหลายๆ หมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านจะเลือกตัวแทนหรือหัวหน้าขึ้นมาเป็นผู้ประสานงานกับแก่ฝาย หากมีกรณีพิพาทในเรื่องน้ำ หัวหน้าแต่ละหมู่บ้านจะเป็นผู้ตัดสิน หากตกลงกันไม่ได้ก็จะนำเรื่องให้แก่ฝายดำเนินการ แต แต  คือทำนบกั้นน้ำในลำเหมืองใหญ่ เป็นการแบ่งส่วนน้ำเข้าเหมืองเล็ก อีกส่วนหนึ่งจะล้นท่วมแตไหลต่อไปในลำเหมืองใหญ่ เมื่อถึงสถานที่ใหม่จะแบ่งน้ำอีกคนก็จะทำแตขึ้นอีกจุดหนึ่ง ทำดังนี้เป็นช่วงๆ ดังนั้นในลำเหมืองใหญ่ๆ จะมีแตหลายแต คั่นเป็นแห่งๆ ตลอดสายน้ำ

                การสร้างแต คนจะรวมกันเป็นกลุ่มขนาดเล็ก เฉพาะเจ้าของไร่ หรือเจ้าของนาที่จะใช้น้ำบริเวณนั้น เช่นแตปู่หมื่นแสดงว่านายหมื่นเป็นหัวหน้า เพราะน้ำจากลำเหมืองจะเข้าสู่นานายหมื่นก่อน และจะไหลต่อไปยังนาของอีก 4 – 5 คน แล้วแต่กรณีไป ดังนั้นผู้คนในกลุ่มนี้ต้องให้นายหมื่นเป็นหัวหน้า คนกลุ่มนี้จะรักษาแตของพวกตนให้มั่นคงดังนั้น แต แต่ละแห่งจะมีชื่อให้เป็นที่จดจำไม่เหมือนกัน

            ปุม

ปุมคือคันทดน้ำในลำเหมืองขนาดเล็กมาก เป็นคันดินที่มีช่องให้น้ำผ่านได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งน้ำจะไหลเข้าไร่ นา ดังนั้นผู้คนที่จะทำปุม หรือสร้างปุม ก็จะมีเพียงเจ้าของนาที่อยู่ใกล้ชิดกัน และใช้น้ำร่วมกันเท่านั้น
หมายเลขบันทึก: 131343เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2007 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท