การสังคมสงเคราะห์ผู้ป่วยยาเสพติดที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์


กลุ่มผู้ติดยาเสพติดนี้ก็นับว่าเป็นกลุ่มที่เป็นปัญหาของสังคมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ในขณะเดียวกันก็มีหญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดและต้องประสบกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

การสังคมสงเคราะห์ผู้ป่วยยาเสพติดที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์

จินตนา เทพดินินทร์ นักสังคมสงเคราะห์ 6ว.                              

                    การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ มิใช่ปรากฏการณ์ที่แปลกใหม่ในสังคมไทยและสังคมโลก  หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กับการดำรงอยู่ของสังคมไทยมาโดยตลอด  เพียงแต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นสิ่งที่สังคมไทยไม่อาจยอมรับได้  เพราะขัดต่อค่านิยมและวัฒนธรรมที่สังคมมีอยู่  ซึ่งปรากฏการณ์ที่สามารถสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ เช่น  การทำแท้ง  การทอดทิ้งเด็ก  การมอบเด็กให้เป็นบุตรบุญธรรม   รวมทั้งการขอเข้ารับความช่วยเหลือจากสถานสงเคราะห์  มูลนิธิ  ทั้งของภาครัฐและเอกชนที่ช่วยเหลือสตรีที่กำลังประสบกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์   อย่างไรก็ตามการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ไม่ว่าจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็ตาม  คนกลุ่มนี้กลับไม่สามารถเข้าถึงหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ หรือในขณะเดียวกันผู้ที่กำลังประสบกับปัญหาเองก็ขาดความรู้ ความเข้าใจในการเข้าถึงแหล่งทรัพยากรทางสังคม ไม่มีความพร้อมในการเลี้ยงดูบุตร  ไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวตนเอง  การถูกตีตราจากสังคม  ปัญหาการทอดทิ้งบุตร  ถึงแม้ว่าจะรับเลี้ยงบุตรไว้แต่ก็ประสบกับปัญหาการไม่มีวุฒิภาวะในการเป็นมารดาที่จะสามารถเลี้ยงดูบุตรให้มีพัฒนาการตามวัย  ทั้งนี้สถาบันธัญญารักษ์  ซึ่งเป็นหน่วยงานเฉพาะทางที่ให้การดูแล  บำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด  ซึ่งกลุ่มผู้ติดยาเสพติดนี้ก็นับว่าเป็นกลุ่มที่เป็นปัญหาของสังคมในระดับหนึ่งอยู่แล้ว  แต่ในขณะเดียวกันก็มีหญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดและต้องประสบกับปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ด้วย           

               ฉะนั้นนักสังคมสงเคราะห์  จึงมีบทบาทหน้าที่ในการแก้ไขและการป้องกันปัญหาทั้งด้านจิตใจอารมณ์  สังคมและเศรษฐกิจของผู้รับบริการ  ตลอดจนส่งเสริม  พัฒนาให้ผู้รับบริการสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมและชุมชนได้อย่างปกติสุข  จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยยาเสพติด  จึงต้องมีการดำเนินการแก้ไข  บำบัด  ป้องกันปัญหา  ตลอดจนการฟื้นฟูสมรรถภาพและพัฒนา  เพื่อผู้ป่วยเป็นคนที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี  อันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมและชุมชน

                ในส่วนของการบำบัดรักษาผู้ติดยาเพสติด  นักสังคมสงเคราะห์จะมีบทบาทหน้าที่ในการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยยาเสพติดโดยการนำวิชาการ  หลักการ  กระบวนการและวิธีการทางสังคมสงเคราะห์มาประยุกต์ใช้กับขั้นตอนต่างๆในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดดังต่อไปนี้  คือ

การวางแผนให้ความช่วยเหลือ  (Planning)

-  ให้การสนับสนุนผู้ป่วยทางด้านจิตใจ (Supportive)  ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยยังอยู่ในภาวะอารมณ์ซึมเศร้า สับสน วิตกกังวล และต้องการทำแท้งตลอดเวลา   และหาแนวทางการป้องกันการทำแท้งภายหลังที่ผู้ป่วยอยู่รับการบำบัดรักษาครบกำหนด (120 วัน)

-   การจัดหาทรัพยากรทางสังคม  (Social Resources Management) และประสานงานกับหน่วยงานอื่น (Agency) โดยการศึกษาจากข้อมูลข่าวสาร และการติดต่อสื่อสารกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำทรัพยากรทางสังคมมาใช้ให้บริการแก่ผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการต่างๆ ตามศักยภาพ และตามสิทธิ์ที่ตนพึงได้รับจากสังคม                                                     

การบำบัดทางสังคม(Social  Treatment)

                เป็นการแก้ไขปัญหาทางสังคม  เศรษฐกิจ  จิตใจให้แก่ผู้ป่วยทั้งแบบรายบุคคล  และแบบกลุ่มบำบัด  เพื่อเป็นการขจัดปัญหาทางสังคม  และสามารถทำหน้าที่ทางสังคมได้อย่างเหมาะสม  โดยการนำวิธีการทางสังคมสงเคราะห์เฉพาะรายมาดำเนินการคือ     

           1.  การช่วยเหลือทางสังคม  (Social  Intervention) โดยการประสานและจัดหาทรัพยากรทางสังคมเช่น               

 -  นักสังคมสงเคราะห์สอบถามข้อมูลจากแหล่งทรัพยากรต่างๆ  ได้แก่ บ้านเกร็ดตระการ  บ้านพักเด็กและครอบครัว  เป็นต้น  เรื่องเกณฑ์การรับบริการมีเกณฑ์อย่างไรและบริการต่างๆที่จัดให้อย่างไร  เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ป่วยภายหลังการจำหน่ายจากสถาบันธัญญารักษ์         

- เมื่อนักสังคมสงเคราะห์ได้รับการประสานงานจากพยาบาลประจำตึกเพื่อวางแผนการพาผู้ป่วยไปฝากครรภ์ นักสังคมสงเคราะห์มีบทบาทในการตรวจสอบข้อมูลสิทธิบัตรทองของผู้ป่วย  ประชาสัมพันธ์สิทธิบัตรทองให้แก่ผู้ป่วย เพื่อย้ายสิทธิมาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์ซึ่งอยู่ใกล้สถาบันธัญญารักษ์         

 -  ประสานงานกับเทศบาลเมืองรังสิต ในการคัดสำเนารูปหน้าผู้ป่วยและ ทร.14/1 เพื่อใช้เป็นเอกสารประกอบการย้ายสิทธิบัตรทองมาที่ รพ.ประชาธิปัตย์         

 - นำผู้ป่วยไปฝากครรภ์ตามแพทย์นัดที่โรงพยาบาลประชาธิปัตย์                   

-  หากผู้ป่วยตัดสินใจที่จะเข้ารับความช่วยเหลือที่จากแหล่งทรัพยากรทางสังคมที่นักสังคมสงเคราะห์ได้ให้ข้อมูลเพื่อประกอบตัดสินใจ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยอยู่รับการบำบัดรักษาจนครบโปรแกรมแล้ว จึงดำเนินการนำผู้ป่วยไปส่งที่แหล่งทรัพยากรทางสังคมเพื่อรอคลอดบุตรต่อไป

2.  ให้คำปรึกษาทางสังคม (Social Counseling) 

- ให้คำปรึกษาทั้งรายบุคคล และรายกลุ่ม โดยนักสังคมสงเคราะห์ให้ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งทรัพยากรทางสังคม และหากผู้ป่วยไม่ประสงค์ที่เลี้ยงดูบุตร ก็สามารถดำเนินการยกบุตรให้กับหน่วยงานได้

- นักสังคมสงเคราะห์ร่วมวางแผนกับผู้ป่วยในการติดต่อญาติ เพื่อแจ้งให้ญาติทราบถึงการตั้งครรภ์ของผู้ป่วย โดยสอบถามความสมัครใจของผู้ป่วยและความพร้อมที่จะเปิดเผยเรื่องการตั้งครรภ์ให้ญาติทราบ               

 3.  ให้การสนับสนุนทางด้านจิตใจ (Supportive)

เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลดความเครียด ความวิตกกังวลต่างๆ ระหว่างอยู่รับการบำบัดรักษา   มีการให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกและให้กำลังใจผู้ป่วยในการดูแลครรภ์ต่อไปและการยอมรับการตั้งครรภ์โดยผ่านกระบวนการสังคมสงเคราะห์รายบุคคลและรายกลุ่ม

การฟื้นฟูสมรรถภาพทางสังคม (Social   Rehabilitation)       

   เป็นการพัฒนาศักยภาพทางสังคมให้แก่ผู้ป่วย  โดยการให้คำปรึกษาทั้งรายบุคคล  และรายกลุ่มโดยผู้ป่วยได้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มทักษะทางสังคม  เพื่อเรียนรู้ความผิดพลาดในชีวิตจากประสบการณ์ของตนเอง  และเพื่อทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในจิตใจ  และสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆได้อย่างเหมาะสม   เรียนรู้การใช้ชิวิตอยู่ในสังคมได้โดยไม่รู้สึกแปลกแยกและเป็นส่วนหนึ่งในสังคม  ฟื้นฟูการสร้างสัมพันธภาพกับบิดา  เพื่อให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจในตัวเอง กับการออกไปใช้ชีวิตอยู่กับสังคมภายนอกสถานบำบัดต่อไปที่สำคัญนักสังคมสงเคราะห์มีบทบาทในการกระตุ้นให้ผู้ป่วยได้ตระหนักถึงการมีพฤติกรรมทางเพศที่เหมาะสม  รู้จักการยับยั้งชั่งใจ 

การติดตามและการประเมินผล(Follow up and Evaluation)               

 นักสังคมสงเคราะห์มีการติดตามและประเมินผลการให้บริการผู้ป่วยในแต่ละประเด็นปัญหาที่ให้บริการแก่ผู้ป่วยไป  เช่น           -  การประเมินผลผู้ป่วยหลังจากการเข้ารับคำปรึกษารายกลุ่มและรายบุคคล  เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถคลายความวิตกกังวล  ไม่มีอาการของภาวะซึมเศร้า  สามารถร่วมแสดงความคิดเห็น  และให้คำแนะนำเพื่อนสมาชิกในกลุ่มได้    อีกทั้งผู้ป่วยได้ตัดสินใจยอมรับการตั้งครรภ์ต่อไป                  -  ภายหลังการส่งผู้ป่วยเข้ารับความช่วยเหลือจากแหล่งทรัพยากรทางสังคมแล้ว นักสังคมสงเคราะห์ได้ติดตามสอบถามทางโทรศัพท์กับหน่วยงานที่ไปขอรับความช่วยเหลือ ทั้งนี้เนื่องจากช่วงระหว่างการรอคลอดบุตรผู้ป่วยยังต้องอยู่กับภาวะกดดัน บีบคั้น ทางอารมณ์และความรู้สึก เนื่องจากยังต้องตัดสินใจว่าเมื่อคลอดบุตรแล้วจะนำบุตรกลับไปเลี้ยงเอง หรือจะมอบให้แก่สถานสงเคราะห์ต่อไป   - นักสังคมสงเคราะห์ไปเยี่ยมผู้ป่วยยังหน่วยงานที่ขอรับความช่วยเหลือ  ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ  และให้ผู้ป่วยได้ตระหนักถึงความมีคุณค่าของตนเองที่มีต่อบุตรในครรภ์  และต่อครอบครัวต่อไป 

คำสำคัญ (Tags): #สังคมสงเคราะห์
หมายเลขบันทึก: 131266เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2007 16:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท