คนของแผ่นดิน


ต้นแบบของนักพัฒนา..ผู้เรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด

คนไทยกระหึ่มโลก ปราชญ์ชาวบ้าน "ประยงค์ รณรงค์" ชาวไม้เรียง นครศรีธรรมราช คว้ารางวัล "แมกไซไซ" เผยผลงานเป็นผู้นำที่ทำให้ชุมชนรู้จักการเรียนรู้และค้นหาทางออกด้วยการพึ่งตนเอง เริ่มต้นด้วยการร่างแผนแม่บทยางพารา ก่อนพัฒนาต้นแบบโรงงานแปรรูปยางของชุมชนด้วยทุนของตนเองเป็นแห่งแรกในประเทศไทย ประธานมูลนิธิหมู่บ้าน ชูเป็นตัวอย่างการเดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การประกาศผลรางวัลแมกไซไซ ของมูลนิธิรามอน แมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวานนี้ (2 ส.ค.) ปรากฏว่ามีคนไทยได้รับรางวัลด้วย 1 คน คือ นายประยงค์ รณรงค์ อายุ 63 ปี ชาวบ้านจาก ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช

โดย นายประยงค์ แม้จะจบการศึกษาเพียงแค่ชั้น ป.4 แต่เขาได้เรียนต่อในมหาวิทยาลัยชีวิต จนได้รับการยอมรับจากชาวไม้เรียง จ.นครศรีธรรมราช และชุมชนทั่วประเทศว่าเป็น "ผู้นำทางปัญญา" ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้และค้นหาทางออกเพื่อให้พึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่นั่งรอความช่วยเหลือจากภาครัฐเพียงอย่างเดียว

ดร.เสรี พงศ์พิศ ประธานมูลนิธิหมู่บ้าน กล่าวว่า นายประยงค์เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เป็น "นักเรียนรู้" ที่เรียนไม่รู้จบ ค้นหาคำตอบ ค้นหาทางออกของปัญหาต่างๆ โดยไม่รอสูตรสำเร็จหรือคำตอบสำเร็จรูปจากที่ไหน ทั้งยังมีบทบาทชวนผู้นำและชาวบ้านที่ไม้เรียงหาคำตอบพร้อมกัน พร้อมกับค้นคิดหา "นวัตกรรมทางสังคม" ที่เหมาะสมกับชุมชนตลอดมา

ทั้งนี้ บทบาทของ นายประยงค์ จะไม่ใช้เงินหรืออำนาจในการเป็นผู้นำ แต่จะใช้ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ การสั่งสมข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นความรู้ เอาความรู้ไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผล ทำให้ชีวิตดีขึ้น

"เขาไม่ใช่ผู้นำประเภทสั่งการหรือเดินนำหน้า แต่เป็นเพื่อนคู่คิด มิตรยามยากที่เดินไปกับชุมชน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ รวมทั้งเป็นต้นคิดของการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยการวางแผน การดำเนินการทุกขั้นตอนจากชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน" ดร.เสรี กล่าว

ดร.เสรี เล่าต่อว่า ผลงานของนายประยงค์ เริ่มต้นจากการทำ "แผนแม่บทยางพาราไทย" กับผู้นำชาวสวนยางนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2539 และทำ "แผนแม่บทชุมชน" ในเวลาต่อมา ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบทางความคิดและแนวทางปฏิบัติให้รัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษานำไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน กำหนดให้ทุกตำบลมี "แผนแม่บทชุมชน" ภายใน 2-3 ปีมานี้

นอกจากนั้น นายประยงค์ ยังเป็นต้นแบบหนึ่งของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งหมายถึงการจัดการ "ทุน" ของชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งทุนในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะเงิน แต่รวมถึงทรัพยากร ผลผลิต ความรู้ภูมิปัญญา และทุนทางสังคมด้วย โดยที่ไม้เรียง มีวิสาหกิจชุมชนอยู่หลายกิจกรรมที่เกี่ยวโยงและเกื้อกูลกัน ทำให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ วิสาหกิจชุมชนเป็นผลของการทำข้อมูลและทำแผนแม่บทชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง

"ประยงค์ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาต้นแบบโรงงานแปรรูปยางของชุมชนตำบลไม้เรียง ถือเป็นชุมชนแรกในประเทศไทยที่สร้างโรงงานแปรรูปยางด้วยทุนของตนเองเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว และส่งขายต่างประเทศเป็นรายแรกของ จ.นครศรีธรรมราชด้วย นอกจากนี้ยังมีส่วนร่วมในการร่าง พ.ร.บ.วิสาหกิจชุมชน ซึ่งน่าจะผ่านสภาในสมัยประชุมหน้านี้ โดยกฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน"

"ประยงค์ยังเป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นตนเอง ทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นจริง มีรูปธรรมที่จับต้องได้ มีพื้นฐานมั่นคงและพัฒนาทั้ง 3 ระดับ คือ พึ่งตนเองระดับครอบครัว พึ่งพาอาศัยกันระดับชุมชน และเครือข่าย และนำผลผลิตบางตัวออกไปสู่ตลาดภายนอกเมื่อเห็นว่าสามารถแข่งขันได้" ดร.เสรี กล่าว

อนึ่ง ปัจจุบัน นายประยงค์มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาศูนย์การเรียนรู้ของ ต.ไม้เรียง เป็นกรรมการมูลนิธิหมู่บ้าน และกรรมการสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังเคยได้รับรางวัลคนดีศรีสังคม เมื่อปี 2537 และยังได้รับปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขารัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วย

หมายเลขบันทึก: 131257เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2007 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 21:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท