การติดต่อญาติผู้ป่วยยาเสพติด


ในกระบวนการบำบัดรักษายาเสพติด สถานบำบัดอาจเป็นส่วนประกอบหนึ่งให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาปลอดภัยจากอาการทางยาเสพติด และมีแนวทางในการดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องใช้ยาเสพติด แต่องค์ประกอบที่สำคัญเป็นอย่างมากในการเลิกยาเสพติดก็คือ ผู้ป่วยและครอบครัว

การติดต่อญาติผู้ป่วยยาเสพติด   

 ปัญหายาเสพติดมักไม่ได้ส่งผลกระทบในเรื่องของยาเสพติดเพียงอย่างเดียว แต่มักส่งผลต่อปัญหาอื่นๆร่วมด้วย เช่น   ปัญหาสุขภาพ     ปัญหาด้านจิตใจ / อารมณ์      ปัญหาสังคม    เศรษฐกิจ  อาชีพการงาน  การเรียน   และปัญหาครอบครัว..........  การใช้ยาเสพติดส่งผลต่อพฤติกรรมทำให้เกิดพฤติกรรมเสพติด   เช่น   โกหก   ขโมย    การทำตัวเป็นคนไว้ใจไม่ ได้    ไม่ตรงไปตรงมา   ดังนั้นการใช้ยาเสพติดจึงส่งผลทำร้ายคนรอบข้างและคนที่รัก  ( บางครั้งอาจไม่ได้เป็นการทำร้ายร่างกาย  แต่ทำร้ายในเรื่องของความรู้สึกและจิตใจ  )    ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อ         สัมพันธภาพ   ในกระบวนการบำบัดรักษายาเสพติด   สถานบำบัดอาจเป็นส่วนประกอบหนึ่งให้ผู้ที่เข้ารับการบำบัดรักษาปลอดภัยจากอาการทางยาเสพติด และมีแนวทางในการดำเนินชีวิตโดยไม่ต้องใช้ยาเสพติด แต่องค์ประกอบที่สำคัญเป็นอย่างมากในการเลิกยาเสพติดก็คือ ผู้ป่วยและครอบครัว     เพราะครอบครัวเป็นหน่วยของสังคมที่เล็กที่สุด  มีความใกล้ชิดกับผู้ป่วย รับทราบ  เข้าใจปัญหาและเป็นผู้ได้รับผลกระทบต่อปัญหามากที่สุด  ดังนั้นในกระบวนการรักษาพยาบาลจะเน้นในเรื่องการมีส่วนร่วมของครอบครัวเป็นสำคัญ  แต่บางครั้งการติดต่อหรือเชิญญาติเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัดรักษาเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เนื่องจาก

ปัจจัยจากตัวผู้ป่วย

1.       ผู้ป่วยไม่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับญาติได้ เช่น จำชื่อ- สกุล     เบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ของญาติไม่ได้

2.       ผู้ป่วยมีปัญหาครอบครัวไม่ต้องการให้ติดต่อญาติ

3.       เมื่อญาติมาเยี่ยมผู้ป่วยมักร้องขอกลับบ้าน ส่งผลให้ญาติไม่อยากมาเยี่ยมที่สถานบำบัด                               

4.  ผู้ป่วยบางรายมีการกลับไปเสพยาซ้ำหลายครั้ง ส่งผลให้ญาติไม่ไว้วางใจ

ปัจจัยจากครอบครัว

1.       ครอบครัวไม่ยอมรับว่าเป็นญาติผู้ป่วย

2.       ครอบครัวมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในการติดต่อ เช่น เปลี่ยน

เบอร์โทรศัพท์ หรือให้เบอร์โทรศัพท์ผิดทำให้ไม่สามารถติดต่อได้

3.       ครอบครัวอ้างว่าไม่สามารถมาดูแลผู้ป่วยได้  เนื่องจากต้องประกอบอาชีพหรือยังไม่พร้อมที่จะดูแลผู้ป่วย

4.       ครอบครัวมีปัญหาอุปสรรคในการเดินทางมาที่สถานบำบัด เช่น ปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง   ปัญหาเรื่องสุขภาพของญาติ  เป็นต้น      

                          กลุ่มงานสังคมสงเคราะห์จึงมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการดำเนินการติดต่อญาติผู้ป่วยให้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการบำบัดรักษา  ในรายที่มีปัญหาอุปสรรคในการติดต่อญาติจึงจำเป็นต้องใช้วิธีการต่างๆในการดำเนินการ  เช่น  การรวบรวมข้อมูล    การสืบค้นข้อมูลต่างๆ การประสานทรัพยากรหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง   อาทิเช่น  สำนักงานเขต   องค์การบริหารส่วนตำบล   สถานีตำรวจ  กำนัน   ผู้ใหญ่บ้าน   ผู้บังคับบัญชา / นายจ้างของผู้ป่วย                                                          

                          จากประสบการณ์ในการทำงาน  มักพบปัญหาเรื่องการดำเนินการติดต่อญาติผู้ป่วยจำนวนมาก   ดังเช่นกรณีตัวอย่าง ....... ผู้ป่วยเป็นหญิงไทย  ถูกตำรวจส่งมาบำบัดรักษาอาการติดยาบ้าและสารระเหย  ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าผู้ป่วยมีอาการทางจิต   สับสน  พูดจาถามตอบไม่ตรงประเด็น   เดินอยู่ที่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิต 2 ตำรวจจึงนำตัวส่งมาบำบัดรักษาที่สถาบันธัญญารักษ์  ในช่วงแรกนักสังคมสงเคราะห์ได้ดำเนินการสัมภาษณ์ผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยยังมีอาการสับสน ให้ข้อมูลและชื่อญาติตนเองไม่ได้  จึงได้สืบค้นข้อมูลจากหลักฐานที่มีนั่นคือ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ป่วย  และสังเกตดูวันที่ออกบัตร  พบว่าผู้ป่วยเพิ่งจะทำบัตรประชาชนได้ประมาณ  1  เดือนก่อนถูกส่งตัวมาที่สถาบันธัญญารักษ์  เมื่อทราบว่าผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอยู่ที่ใดแล้ว จึงค้นหาข้อมูลทาง  Internet  เพื่อค้นหาหน่วยงานที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือในการดำเนินการติดต่อญาติผู้ป่วยได้   เราโชคดีที่พบข้อมูลชื่อสกุลและหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อของเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลที่ผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอยู่  จึงโทรศัพท์ประสานขอความร่วมมือให้ช่วยดำเนินการติดต่อญาติผู้ป่วยให้ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี หลังจากนั้นประมาณ 1-2 วันบิดาของผู้ป่วยได้ติดต่อกลับมาที่สถาบันธัญญารักษ์  นักสังคมสงเคราะห์จึงให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยและกระบวนการบำบัดรักษาให้ญาติทราบ   ญาติแจ้งว่าไม่สามารถเดินทางมาหาผู้ป่วยที่สถาบันธัญญารักษ์ได้เนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพ  มีอายุมาก และมีปัญหาด้านค่าใช้จ่ายในการเดินทาง จึงใช้วิธีการติดต่อทางโทรศัพท์ต่อมาเรื่อยๆ จนผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น  แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านเพื่อไปรักษาอาการทางจิตเวชอย่างต่อเนื่อง      แต่ญาติไม่สามารถเดินทางมารับผู้ป่วยได้  จึงประสานกับองค์การบริหารส่วนตำบลว่ามีหน่วยงานภายในท้องถิ่นหน่วยงานใดที่พอจะให้ความช่วยเหลือได้   ( เพราะบางจังหวัดจะมีหน่วยงานให้บริการ เช่น  มูลนิธิต่างๆ หรือเทศบาล จะมีรถพยาบาล ไว้บริการ  ) แต่ได้รับคำตอบว่าไม่มีหน่วยงานภายในจังหวัดหน่วยงานใดที่ให้บริการด้านนี้   นักสังคมสงเคราะห์จึงโทรศัพท์ประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานต่างๆ เช่น  กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการฯ , บ้านพักฉุกเฉิน , ศูนย์นเรนทร  , มูลนิธิต่างๆ , ตำรวจทางหลวง  แต่ก็ไม่มีหน่วยงานใดให้บริการส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนาซึ่งอยู่ในจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นักสังคมสงเคราะห์จึงได้ปรึกษาและวางแผนร่วมกับญาติผู้ป่วย ได้ข้อสรุปว่า.....นักสังคมสงเคราะห์จะดำเนินการประสานงานยานพาหนะพร้อมจัดเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยเหลือคนไข้ของสถาบันธัญญารักษ์พาผู้ป่วยไปส่งขึ้นรถทัวร์ที่สถานีขนส่ง พร้อมซื้อตั๋วเดินทาง ส่งผู้ป่วยขึ้นรถและประสานขอความร่วมมือจากพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารให้ดูแลผู้ป่วยในขณะที่เดินทาง พร้อมขอเบอร์โทรศัพท์พนักงานขับรถเพื่อติดต่อให้ญาติทราบ ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี หลังจากนั้นติดต่อให้ญาติทราบข้อมูล  เช่น เวลาที่รถออก   หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อพนักงานขับรถ   เป็นต้น เพื่อให้ญาติได้เตรียมไปรับตัวผู้ป่วยที่สถานีขนส่งได้ถูกต้อง ซึ่งเวลาผ่านไปประมาณ 12 ชั่วโมง นักสังคมสงเคราะห์ได้รับโทรศัพท์ติดต่อจากญาติผู้ป่วยรายดังกล่าว ว่าพบตัวผู้ป่วยและได้รับตัวกลับบ้านเรียบร้อยแล้ว                                 

                             การให้บริการทางสังคมสงเคราะห์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดหาและประสานความร่วมมือจากทรัพยากรที่มีอยู่ในสังคม เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัวให้ได้รับการดูแล แก้ไขปัญหาตรงตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ป่วย   และสามารถดำเนินการให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี.........ซึ่งการดำเนินการในครั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณทุกๆท่านที่มีส่วนเกี่ยวข้อง   ขอบคุณเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลที่ให้ความร่วมมือในการติดต่อญาติผู้ป่วย  ขอบคุณพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสารที่ช่วยดูแลผู้ป่วยขณะเดินทางกลับบ้าน  และที่สำคัญที่สุด ขอขอบคุณครอบครัวของผู้ป่วยที่ให้การยอมรับผู้ป่วยว่าเป็นส่วนหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ให้การดูแล ไม่ทอดทิ้ง สนับสนุนให้ผู้ป่วยหยุดการใช้สารเสพติดได้ต่อไป                                 

คำสำคัญ (Tags): #สังคมสงเคราะห์
หมายเลขบันทึก: 131256เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2007 16:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 มีนาคม 2012 14:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท