ตี๋ตระกูลซ่ง(ตอน ๒)


การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมทำอย่างไร

ตี๋ตระกูลซ่ง(๒)

อัยการชาวเกาะ

 

                เราปูพื้นเรื่องราวของตี๋ตระกูลซ่งมาแล้ว จึงขอนำเข้าสู่ข้อกฎหมายที่น่าสนใจ ในเรื่องนี้อาฟ่งและเจิน ได้ขอรับอาไช้เป็นลูกบุญธรรม พาไปเลี้ยงที่ฮ่องกงเพราะอาฟ่งเป็นนักธุรกิจชาวฮ่องกง  ความจริงแล้วอาเน้ยไม่ได้ต้องการยกลูกให้อาเจินเลย เพราะตัวรักลูกมาก แต่เคี้ยงมองเห็นความจำเป็นที่ต้องให้ลูกไปอยู่กับตระกูลที่มีฐานะดี ลูกจะได้สบาย ตนก็จะได้ลดภาระลง กับทั้งจะได้มีเงินมารักษาแม่ มองในแง่นี้ไม่มีใครผิดหรอกครับ ลูกใครใครก็รัก แต่จะมีวิธีการรักลูกอย่างไรก็แล้วแต่ละครอบครัวจะคิดตัดสินใจ การยกลูกให้คนอื่นด้วยเจตนาจะให้ลูกได้ดีไม่ลำบากเพราะขณะนั้นครอบครัวอยู่ในฐานะย่ำแย่ คนเป็นพ่อแม่ไม่ผิดหรอกครับ เพราะเป็นเจตนาดี แต่ถ้ายกลูกให้คนอื่นเพราะหวังจะได้เงินมาใช้จ่าย มันก็น่าจะไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องดูอีกว่าใช้เป็นค่าอะไร ถ้าเอามากินเหล้าเมายา มันก็ควรจะถูกประนาม ใช่ไหมครับ แต่จำเป็นต้องเอามารักษาบุพการี และมองดูแล้วลูกก็จะไม่ลำบากแถมยังมีอนาคตดี คิดบวกลบคูณหารแล้ว ผมก็เชื่อว่าเขาทำถูกอยู่ดี ทีพูดเรื่องนี้ก่อนก็เพื่อให้คนที่ถูกพ่อแม่ยกให้คนอื่นอย่าได้คิดอาฆาตบุพการีที่ทำอย่างนั้น เพราะในขณะนั้นเขาอาจมีเหตุผลจำเป็นต้องตัดสินใจ คงต้องมาคำนวณดูอีกทีว่า ขณะที่บุพการีเรายกเราให้คนอื่นนั้น ฐานะทางบ้านเดิมเราเป็นอย่างไร ฐานะทางบ้านใหม่เป็นอย่างไร ปัจจุบันนี้เป็นอย่างไร แต่ผมบอกได้อย่างหนึ่งว่า ลูกใครใครก็รักครับ..

การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ถ้าจะให้ถูกต้องตามกฎหมายก็ต้องไปจดทะเบียน และรับได้ทั้งบิดาและมารดาใหม่ หรือจะรับเพียงคนใดคนหนึ่งก็ได้ แต่บิดามารดาเก่าต้องให้ความยินยอม ถ้าติดตามมาให้ความยินยอมไม่ได้ เพราะทิ้งลูกเอาไว้ในโรงพยาบาล หรือสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือไปฝากเขาเลี้ยงแล้วหลบหนีไปไม่มาดูลูกเลย แถมไม่มีใครรู้ว่าบิดามารดาเป็นใคร หรือรู้แต่ไม่สามารถติดตามหาได้ ทางออกมีอยู่แล้วครับ ก็ไปยื่นคำร้องที่ศาลขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมแทนการให้ความยินยอมของบิดามารดาก็ได้ครับ   ถ้าอยากได้บริการที่ดีจากรัฐ โดยไม่ต้องเสียค่าว่าความก็ตรงไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดทุกแห่ง    เพราะเขาจะมีสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดนั้นๆให้บริการ ครับ ไอ้เรื่องที่ผมว่ามานี่มันเป็นข้อกฎหมายครับ เรามาดูข้อกฎหมายกันสักหน่อยไหมครับ

เขาบอกว่า       "การรับบุตรบุญธรรมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะเบียนตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้จะเป็นบุตรบุญธรรมนั้นเป็นผู้เยาว์ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก่อน " 

              อีกมาตราหนึ่งเขาบอกว่า  "การรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความยินยอมของบิดาและมารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม ในกรณีที่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งตายหรือถูกถอนอำนาจปกครองต้องได้รับความยินยอมของมารดาหรือบิดาซึ่งยังมีอำนาจปกครอง             ถ้าไม่มีผู้มีอำนาจให้ความยินยอมดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หรือมีแต่บิดาหรือมารดาคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนไม่สามารถแสดงเจตนาให้ความยินยอมได้หรือไม่ให้ความยินยอมและการไม่ให้ความยินยอมนั้นปราศจากเหตุผลอันสมควรและเป็นปฏิปักษ์ต่อสุขภาพ ความเจริญหรือสวัสดิภาพของผู้เยาว์ มารดาหรือบิดาหรือผู้ประสงค์จะขอรับบุตรบุญธรรมหรืออัยการจะร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมตามวรรคหนึ่งก็ได้ "

                ในระเบียบของกรมประชาสงเคราะห์ เขาบอกว่าถ้าจะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม และผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมไม่ใช่ญาติของเด็กหรือไม่ใช่ผู้ปกครองของเด็ก จะต้องทดลองเลี้ยงเด็กก่อนมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน เพื่อดูว่าผู้ขอรับเด็กมีความเหมาะสมที่จะเลี้ยงดูเด็กได้หรือไม่ ผมดูว่าหลักการเขาดีครับ แต่ถ้าแม่เด็กเอาลูกมาฝากเลี้ยง เช่น แม่เป็นหญิงบริการ แล้วหายไป คนรับเลี้ยงก็เลี้ยงมาจนกระทั่งเด็กครบเกณฑ์เข้าโรงเรียน เลี้ยงมา ๖-๗ ปี ยังต้องทดลองเลี้ยงอีกหรือ มันทะแม่งยังไงอยู่นา....

                ส่วนในกรณีเป็นผู้ปกครองของเด็ก ก็รับเด็กไปเลี้ยงได้เลยโดยไม่ต้องทดลองเลี้ยง แต่คำว่าผู้ปกครองมันเป็น จะได (ภาษาเหนือครับ เดี๋ยวหาว่าผมพิมพ์ผิด)ถ้าตีความว่าคนที่จะได้รับประโยชน์ตามระเบียบนี้เป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย ก็ต้องดูข้อกฎหมายประกอบ เขาบอกว่า

       "บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้             ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่วนตามมาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ศาลจะตั้งผู้ปกครองในส่วนที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองนั้นก็ได้ หรือในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินตามมาตรา 1582 วรรคสอง ศาลจะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินก็ได้"

             ผู้ปกครองตามที่ว่ามาข้างต้นนั้น กฎหมายเขาบอกว่า  "ให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง"  เห็นไหมครับว่ากฎหมายเขาเขียนให้อัยการเป็นผู้ร้องขอตั้งผู้ปกครองก็ได้ เพราะฉะนั้นท่านก็มีสิทธิใช้บริการตรงนี้จากอัยการได้ฟรีครับ ไม่ต้องเสียค่าว่าความ ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลที่ต้องจ่ายเองครับ อ๋อ เชิญที่สำนักงานอัยการทุกแห่งทั่วประเทศครับ

           เห็นไหมครับว่า ถ้าเราตีความว่าผู้ปกครองที่รับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดยไม่ต้องทดลองเลี้ยงต้องเป็นผู้ปกครองตามกฎหมาย ก็ต้องขอให้ศาลตั้งคนรับเลี้ยงเป็นผู้ปกครอง มันก็ยุ่งยากอีกนั่นแหละชาวบ้านเขารำคาญกับความมากเรื่องของกฎหมาย มันน่าจะตีความว่าเป็นผู้ปกครองตามความเป็นจริงจะได้สอดรับกับความจริงที่เขาได้เลี้ยงดูเด็กมาตั้งแต่เล็ก  ผมไม่โทษเจ้าหน้าที่หรอกครับ เพราะที่ผมเขียนวิพากย์วิจารณ์เป็นการมองในด้านของความยุ่งยากของชาวบ้าน แต่ในระบบราชการมันก็ต้องมีการตรวจสอบเพราะถ้าตีความแบบผมว่าเกิดเขาไม่ใช่ผู้ปกครองที่แท้จริง แต่เป็นแก๊งค์ลักเด็กมาจะทำอย่างไร  ซึ่งความจริงเขาก็มีคณะกรรมการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมระดับจังหวัดเพื่อคอยตรวจสอบอยู่ด้วยอีกขั้นตอนหนึ่งแล้ว ก็น่าจะใช้คณะกรรมการชุดนี้ให้เป็นประโยชน์และมติของคณะกรรมการชุดนี้ก็น่าจะเป็นมติที่ศาลรับฟังได้ เช่นรับฟังได้ว่า คนที่ขอรับเด็กเป็นบุตรได้เป็นผู้เลี้ยงดูให้การอบรมสั่งสอนเด็กเหมือนเป็นผู้ปกครอง และเมื่อผ่านกระบวนการทางศาล(ในกรณีที่บิดามารดาไม่มาให้ความยินยอม) ก็ให้เขาจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมได้เลย

                การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ต้องทำความเข้าใจกันก่อนนะครับเดี๋ยวหาว่าผมไม่เตือน ถ้าท่านรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อท่านถึงแก่ความตาย บุตรบุญธรรมจะได้รับมรดกของท่านเหมือนเขาเป็นลูกที่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ  กฎหมายเขาว่า

      "บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้น ให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้ "

               แต่ถ้าบุตรบุญธรรมตาย ท่านไม่ได้แม้แต่บาทเดียวนะครับ คนที่มีสิทธิรับมรดกของเขาคือพ่อแม่ที่แท้จริงและชอบด้วยกฎหมายของเขาเท่านั้น อย่างง(อ่านว่าอย่า-งง ครับ ไม่ใช่อย่าง-งอ ฮิฮิ)เพราะกฎหมายเขาบอกว่า "การรับบุตรบุญธรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรมในฐานะทายาทโดยธรรมเพราะเหตุการรับบุตรบุญธรรมนั้น"

ถ้าไม่อยากให้ลูกบุญธรรมได้รับมรดกของท่านก็อาจต้องเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์สินของท่านให้เฉพาะลูกแท้ๆของท่าน หรือหากท่านรักลูกบุญธรรมมากเกรงว่าพอท่านตายไปลูกแท้ๆของท่านจะไม่แบ่งทรัพย์สินให้ลูกบุญธรรม ท่านก็อาจเขียนพินัยกรรมยกทรัพย์บางส่วนให้ก็ได้เช่นกัน

                คนที่ยกลูกให้เป็นลูกบุญธรรมของคนอื่น หัวใจมีแต่ความเจ็บปวด ดูอย่างกิมเน้ยซิครับ คิดถึงลูกก็เอารูปลูกตอนยังเล็กมาดู อยากเห็นหน้าลูก ชีวิตไม่มีความสุข  ผมเห็นลูกหลายคนในสังคมรอบข้างที่รู้ว่าแม่แท้ๆเป็นใคร แต่ไม่รู้สึกใยดี เพราะในใจคิดว่าแม่ไม่รักจึงยกให้คนอื่น อยากให้ดูละครเรื่องนี้ ผมยังชอบการเตือนสติให้คิดตอนที่เจินมาพูดเพื่อจะขออาไช้ไปเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เพราะกิมเน้ยไม่รู้จะให้อาไช้ร่ำเรียนสูงๆได้อย่างไร ต่อให้ฉลาดแค่ไหนถ้าไม่มีเงินส่งเสียโอกาสที่ลูกจะได้เรียนสูงแทบจะไม่มี เจินบอกว่า ทุกข์ของวันข้างหน้าก็เก็บเอาไว้เป็นทุกข์ของวันข้างหน้าเถอะเจ๊ เป็นการเตือนสติให้คิดถึงปัจจุบัน อย่าเพิ่งไปคิดเรื่องร้ายในอนาคตที่มันยังมาไม่ถึง ถ้าคิดเรื่องร้ายในอนาคตชีวิตเราจะมีความสุขได้อย่างไร คิดดีมีสุข คิดทุกข์สุขไม่ได้ มีใครจำได้ไหมว่าเป็นสุภาษิตของประเทศไหน ฮิฮิ จำได้ก็เก่งแล้ว เพราะ...ผมคิดขึ้นเอง.....ฮ่าฮ่า
หมายเลขบันทึก: 130573เขียนเมื่อ 22 กันยายน 2007 10:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 08:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท