ตม3


กฎหมายคุ้มครองเด็ก(ต่อ)

ตม(๓)          

                                                                                     อัยการชาวเกาะ

            คราวที่แล้วเราพูดกันถึงเรื่องคำจำกัดความพอหอมปากหอมคอ คราวนี้เราก็จะมาว่าถึงการเลี้ยงลูกกันต่อ ในละครเรื่องตมนั้น แรกๆพิพัฒน์กับเจนนี่ ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก เพราะพิพัฒน์ก็พยายามทำงานเพื่อครอบครัว แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ส่วนเจนนี่ก็ไม่ค่อยมีจิตใจห่วงลูก เพราะถือว่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กไว้แล้ว ตัวเองชอบช้อปปิ้งพอสามีออกจากบ้านก็จัดการออกไปนอกบ้านทันทีเหมือนกัน ลูกก็เลยเติบโตมากับพี่เลี้ยงซึ่งเด็กรู้ว่าพี่เลี้ยงอยู่ในฐานะต่ำต้อยกว่าตน สามารถบังคับข่มเหงเอาได้ เริ่มมีนิสัยก้าวร้าวเอาแต่ใจตัวเอง พูดจาเสียงแข็งกระด้างไม่สุภาพ ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่มีแต่ในละครแต่มันเป็นเรื่องจริงของสังคมยุคปัจจุบัน แล้วกฎหมายฉบับนี้จะช่วยได้อย่างไร

            กฎหมายคุ้มครองเด็กบอกว่า ผู้ปกครองต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎกระทรวงและต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ในภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ การเคารพผู้ใหญ่ การพูดจาสุภาพเรียบร้อย มันเรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทย แล้วถ้าผู้ปกครองไม่ปฏิบัติล่ะ  ผมก็ไม่เห็นว่ากฎหมายเอาโทษผู้ปกครองตรงไหน

          ยังจำได้ไหมครับที่ผมบอกว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่เขียนขึ้นมาบังคับลงโทษผู้ปกครองหรือบิดามารดาที่เลี้ยงลูกมาแล้วก่อให้เกิดปัญหากับสังคม แต่เขียนขึ้นมาเพื่อให้ร่วมด้วยช่วยกันเลี้ยงดูเด็กให้เป็นคนดี แต่ถ้ามันไม่ใช่เรื่องพวกนี้ล่ะ ลองมาดูเรื่องนี้ซิครับ คราวนี้มีโทษสมใจอยากแล้วครับ

            ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการ ดังต่อไปนี้

(๑)   กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(๒)  จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิตหรือรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

(๓)   บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด

(๔)  โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว

(๕)  บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทานหรือการกระทำผิดหรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก

(๖)  ใช้ จ้าง หรือวาน เด็กให้ทำงานหรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อการพัฒนาของเด็ก

(๗) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬาหรือให้กระทำการใดเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโตหรือพัฒนาการของเด็กหรือมีลักษณะอันเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

(๘)  ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานการค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า

(๙)  บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด

(๑๐) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็กเว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งมีโทษตามกฎหมายอื่นที่หนักกว่าก็ให้ลงโทษตามกฎหมายนั้น

            บังเอิญว่าในละครเรื่องตมนี้ไม่มีการกระทำดังกล่าวข้างต้นกับมิกให้เห็น จึงไม่มีตัวอย่างในละครมาให้ดู แต่มีตัวอย่างจากคดีที่เกิดขึ้นจริง เช่น เอาเด็กจากเขมรมาบังคับให้ไปขายดอกไม้หรือหมากฝรั่งในเวลากลางคืนเกือบสว่าง ถ้าหารายได้ไม่ครบตามกำหนดจะต้องถูกตี หรือบังคับให้เป็นขอทาน บางทีน่ากลัวถึงขนาดสับมือเด็กทิ้งเพื่อให้ดูน่าสงสารจะได้ขอทานได้เงินเยอะๆ ซึ่งจะเกี่ยวพันกับความผิดตาม (๑)(๕)(๖)(๗),บางทีพ่อแม่เล่นการพนันพาลูกเข้าอยู่ในบ่อน  แม่จะเข้าห้องน้ำก็ให้ลูกถือไพ่แทน หรือไม่ก็เล่นกันคนละขาไปเลย ซึ่งจะเป็นความผิดตาม (๘),หรือขายเหล้า,บุหรี่ให้เด็ก ซึ่งผิดตาม (๑๐),ให้เด็กทำงานในสถานประกอบการแต่ให้ทำทั้งวันทั้งคืนมีเวลาพักผ่อนคนละ ๓ ชั่วโมง อย่างนี้เป็นต้น  การกระทำอย่างนี้ (ข้อ (๑)-(๑๐))มีโทษจำคุกไม่เกินสามเดือนหรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

         ทุกวันนี้ แม้จะมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาใช้บังคับ แต่เมืองไทยเรามีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย กฎหมายใดมีโทษเล็กน้อยนักกฎหมายหรือผู้ปฏิบัติงานด้านกฎหมายมักไม่ค่อยให้ความสนใจเพราะถือว่ามันเป็นเรื่องเล็กน้อย ผมสอนน้องอัยการทุกคนว่าเรื่องเล็กน้อยนี่แหละที่จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ที่เขาเรียกว่าตายน้ำตื้น  เพราะฉะนั้นเราจึงต้องรอบคอบในการใช้กฎหมายและใช้อย่างจริงจัง ถ้าเราต้องการให้สังคมเราดี เราในฐานะผู้รักษากฎหมายก็ต้องใช้กฎหมายให้เป็นประโยชน์แก่สังคม อย่าใช้กฎหมายเพียงเพื่อรักษาตัวกฎหมาย

             พอเราคุยกันถึงเรื่องการเลี้ยงดูเด็กผมก็อดนึกถึงตอนผมเป็นเด็กนักเรียนผู้ชายในโรงเรียนที่มีชื่อเป็นผู้หญิง คือโรงเรียนสตรีภูเก็ต ตอนนั้นมีอาจารย์ใหญ่ชื่อเย็นจิต ณ ตะกั่วทุ่ง ขณะเขียนบทความนี้ท่านมีอายุ ๘๕ ปีแล้ว ความจำยังดี เวลาไปเยี่ยมท่าน ท่านจะไม่ยอมพักผ่อนจะนั่งคุยนั่งเล่าเรื่องราวต่างๆในอดีตให้ผมฟัง บางครั้งนาน ๓ ๔ ชั่วโมง แม้แต่หลานท่านเองยังแซวว่าผมเป็นหลานคนโปรด

             ที่พูดเรื่องนี้ เพราะเมื่อผมมองย้อนไปในอดีตผมรู้สึกว่า การไปโรงเรียนสมัยพวกเราไปโรงเรียนนั้นเรามองโรงเรียนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ควรเคารพ แม้เราจะซนแต่เราก็ไม่ใช้โรงเรียนเป็นสถานเสพสุขทางเพศ เราไม่ใช้โรงเรียนเป็นสถานที่เสพยาเสพติดเว้นแต่บุหรี่ซึ่งมีบ้าง เราเคารพครูเพราะครูเป็นบุคคลที่ควรบูชา   และยังจำความรู้สึกได้ว่าคนเป็นครูสมัยก่อน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับจ้างสอน แต่ท่านเป็นพ่อแม่คนที่สองที่ช่วยปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับลูกศิษย์เหมือนเด็กเหล่านั้นเป็นลูกเป็นหลาน ท่านจะสอนให้เรารู้จักคิดวิเคราะห์ รู้จักกิริยามารยาทที่ดี ท่านจะเข้าใจวัยรุ่นกฎระเบียบของโรงเรียนจะมีผ่อนปรนบ้างแต่ไม่น่าเกลียด เช่น นักเรียนชายซึ่งเป็นนักเรียนชั้น ม.ปลาย จะไว้ผมยาวได้นิดหน่อย พอหวีได้เราก็พอใจแล้ว นักเรียนหญิง ม.ต้นต้องผมสั้นแค่ติ่งหูหรือเลยติ่งหูไม่เกิน ๑ นิ้ว นักเรียนหญิง ม.ปลาย ไว้ยาวกว่านั้นได้นิดหน่อย เพราะท่านเข้าใจว่าวัยรุ่นเป็นวัยของการเข้าสู่ความเป็นผู้ใหญ่ เด็กเริ่มมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง

           สมัยนั้นครูสามารถลงโทษโดยการตีนักเรียนที่กระทำผิดได้ แต่ผมเห็นเพื่อนถูกตีเพียงไม่เกินสองครั้งตลอดระยะเวลา ๒ ปีที่เรียนที่นี่  ผิดกับปัจจุบันที่เราบอกว่าเราต้องคำนึงถึงสิทธิเด็กครูจะตีเด็กนักเรียนไม่ได้ แต่สิ่งผมเห็นในฐานะกรรมการสถานศึกษา ในฐานะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษา ในฐานะอัยการที่ทำหน้าที่คดีเยาวชนและครอบครัวโดยเฉพาะ กลับเห็นพฤติกรรมเด็กในสังคม เด็กที่ขาดไร้ระเบียบวินัยมากขึ้น เด็กไม่เคารพครูหรือผู้ที่มีวัยสูงกว่า เด็กที่คิดที่กระทำโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนหรือปลอดภัยของผู้อื่น เพราะสังคมเราปลูกฝังให้เด็กรู้จักสิทธิ แต่สังคมเราไม่เน้นให้เด็กรู้จักหน้าที่หรือสำนึกในหน้าที่หรือละเลยถ้าเด็กไม่ทำตามหน้าที่ แต่ถ้าเมื่อไรที่เด็กถูกครูลงโทษ เด็กและผู้ปกครองจะรู้ขึ้นมาทันทีว่าเขามีสิทธิอะไรบ้าง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่ผิดอย่างมาก และครูอาจารย์ในยุคปัจจุบันก็เบื่อที่จะไปจ้ำจี้จำไชลูกศิษย์เพราะเด็กไม่กลัวและไม่เกรงครูบางครั้งก็ยังด่าแม่ครูเสียอีกถ้าไปสอนไปเตือน ถ้าครูทนไม่ได้ลงโทษตีเด็กก็จะมีเรื่องทันทีและครูก็จะกลายเป็นผู้ผิดจะต้องถูกลงโทษ แล้วจะมีครูดีที่ไหนกล้าไปเตือนไปสอนเด็ก ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยว่าทำไมครูดีๆจึงขอออกจากราชการก่อนเกษียณ

             ผมพูดถึงเรื่องครู เพราะอยากจะบอกผู้อ่านว่าเวลาลูกของท่านมีปัญหา ท่านอย่าโยนความรับผิดไปให้ครูฝ่ายเดียว ท่านต้องถามตัวเองด้วยว่าท่านเลี้ยงลูกดีจริงหรือเปล่า ท่านสอนลูกให้ดูแลตัวเองดูแลจิตใจตัวเองรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองหรือเปล่า และเมื่อลูกท่านไปโรงเรียน ท่านยอมให้ครูแตะ (แตะนะครับไม่ใช่เตะ) ลูกของท่านหรือเปล่า แต่ขณะเดียวกันผมก็ยังเห็นว่าครูมีหน้าที่ต้องดูและเอาใจใส่นักเรียนเหมือนลูกเช่นกัน  ถ้าเด็กในสังคมกำลังถลำไปสู่ที่ต่ำ ทั้งพ่อแม่และครูต้องช่วยกันดึงเขาขึ้นมา ถ้าลูกของท่านตกลงไปสู่ที่ต่ำแล้ว ครูแตะลูกท่านไม่ได้เขาก็ช่วยดึงไม่ได้ อย่าโทษว่าเพราะครู เพราะท่านก็มีส่วนที่ทำให้ลูกเป็นอย่างนั้น  จำเอาไว้....อย่าโทษแต่คนอื่น!

หมายเลขบันทึก: 130457เขียนเมื่อ 21 กันยายน 2007 21:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • สวัสดีค่ะแวะมาทักทายค่ะ
  • อยากทราบว่าถ้าคนที่ทำแท้งมีความผิดทางกฎหมายอย่างไรคะ
  • มาเยี่ยมบล็อกณัฐบ้างนะคะ
  • http://gotoknow.org/blog/nutjung-282532

ขอบคุณครับที่แวะมาทักทาย

กฎหมายบอกว่า "หญิงใดทำให้ตนเองแท้งลูกหรือยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" ครับ

จะแวะไปเยี่ยมครับ

ครูเป็นบุคคลที่ควรบูชา และยังจำความรู้สึกได้ว่าคนเป็นครูสมัยก่อน ไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับจ้างสอน แต่ท่านเป็นพ่อแม่คนที่สองที่ช่วยปลูกฝังสิ่งดีงามให้กับลูกศิษย์เหมือนเด็กเหล่านั้นเป็นลูกเป็นหลาน

คำว่า "ครูเป็นพ่อแม่คนที่สอง" แล้วนึกถึงคำถามของลูกชาย เขาถามว่าทำไมครูจึงเป็นพ่อแม่คนที่สอง อ้อยอธิบายให้เขาฟังอย่างที่ท่านอัยการอธิบายในบรรทัดต่อมา ผลปรากฏลูกชาย ให้ความเห็นว่า เขาคิดว่าครูเป็นพ่อแม่คนที่สองไม่ได้ เพราะครูชอบยืนเท้าเอวแล้วตะโกนๆ หนวกหู อูยว์.... แม่เลยอึ้ง เหอๆๆ

แสดงว่าคุณแม่พูดเพราะ..ฮ่าๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท