โรงเรียนทางเลือก


โรงเรียนทางเลือก แต่ใครหลายคนอาจเลือกไม่ได้

เห็นเด็ก ๆ เดินไปโรงเรียนแล้วก็อยากกลับไปเป็นเด็กอีก อยากจะเล่นสนุกแบบเขาบ้างอีกครั้ง ถ้าย้อยเวลากลับไปได้และเลือกได้อยากจะไปเรียนในโรงเรียนทางเลือกดูบ้าง โรงเรียนทางเลือกคืออะไรเหรอ คำนี้น่าจะเป็นคำใหม่ที่อีกหลาย ๆ คนไม่คุ้นเคย โรงเรียนทางเลือกเป็นโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนในแบบฉบับของตัวเอง มีจุดยืนแน่นอน ไม่เหมือนโรงเรียนทั่วไปในระบบ ในโรงเรียนทางเลือก เด็กได้เรียน ได้คิด ได้ทำในสิ่งที่สนุก (ในความคิดของผม) เลือกเรียนในประเด็นที่สนใจ ผมจะลองเล่าถึงโรงเรียนทางเลือกให้ฟัง เท่าที่พอจะนึกออก

รุ่งอรุณ http://www.roong-aroon.ac.th/ โรงเรียนการศึกษาแนวพุทธ อยู่ในสวน เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ จำได้ว่าข้างโรงเรียนเป็นสวนกล้วยไม้ กลางโรงเรียนมีสระน้ำใหญ่ มีอาคารเรียนเป็นเรือนทรงไทย ผมเคยไปเยี่ยมชมรุ่งอรุณสามครั้ง เมื่อหลายปีก่อนบังเอิญได้รู้จักกับคุณแม่ท่านหนึ่ง คุณแม่น้องเฟิร์น ตอนนั้นน้องเฟิร์นอยู่ชั้นเด็กเล็ก ผมมาร่วมงานวันหยดน้ำแห่งความรู้ วันนี้น่าจะเปรียบได้กับวันสอบไล่ แต่เด็ก ๆ ไม่ต้องนั่งโต๊ะทำข้อสอบหน้าตาคร่ำเคร่งเหมือนเช่นโรงเรียนในระบบ ในวันที่ผมไปเยี่ยมชม เด็ก ๆ นำเสนอผลงานที่ได้ศึกษามาตลอดภาคการศึกษาให้ผู้ปกครองที่มาร่วมงานฟัง วันนั้นได้ฟังการนำเสนอผลงานของเด็ก ๆ เกี่ยวกับการสกัดน้ำมันหอมระเหย และการทำสบู่ ดูเด็ก ๆ ทุกคนสนุกสนาน และภูมิใจกับผลงานของกลุ่มมาก จากที่ตั้งใจฟัง การเรียนรู้เกิดขึ้นจริง ๆ ผลการเรียนรู้ที่คาดหวังบรรลุทะลุผลครับ ผมชอบหนังสือที่ผลิตโดยฝ่ายตำราของโรงเรียนมาก ซื้อหาไว้แล้วหลายเล่ม เล่มโตสะใจถนัดมือเด็ก เช่น หมีนักดนตรี เป็นนิทานสำหรับอ่านประกอบการเรียนวิชาภาษาไทย เล่าเรื่องราวของเจ้าหมีนักดนตรีให้เด็กดีได้ฝึกการอ่านหนังสือและฝึกการอ่านคำที่ใช้สระอี พร้อมคำถามอะไรเอ่ยที่มีคำตอบเป็นสระอีให้ทายเล่นกันอย่างสนุกสนาน มีเกมเติมชื่อสัตวฺ์สระอี ฝึกวาดรูปหมี และสาระน่ารู้เรื่องหมี หมี เต็มพื้นที่ ขนาดผมยังชอบ เด็ก ๆ ก็คงชอบครับ หนังเล่มโตนี้มีหลายเล่มด้วยนะ หนังสืออีกเล่มที่มีอยู่ในมือ เล่มนี้ไม่ใหญ่เท่าเล่มหมี ชื่อว่า เรื่องเล่าของลุงมะขาม ของครูจิ๋มผู้แต่ง ผมเคยมาสมัครทำงานที่โรงเรียนด้วย แต่ยังไม่มีโอกาสเหมาะที่จะมาร่วมวงสนุกด้วย

โรงเรียนเพลินพัฒนา แค่ชื่อก็ดูดีแล้ว เรียนที่นี่คงจะเพลิดเพลินเจริญใจอย่างชื่อโรงเรียน โรงเรียนตั้งอยู่ที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ผมยังไม่เคยไปที่โรงเรียนนี้เพียงแต่ได้มีโอกาสมาร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับคุณครูและผู้บริหารของโรงเรียนเรื่องการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ให้สนุกก่อนที่โรงเรียนจะเปิดดำเนินการ ผมชอบแนวคิดของโรงเรียนนี้มาก เขาบอกว่า “ที่นี่มีการเรียนรู้ด้วยกระบวนการทางวัฒนธรรมผ่านวิถีการดำเนินชีวิตเพราะเด็กจะเป็นอย่างที่เราเป็น มากกว่าจะเป็นอย่างที่เราบอกให้เป็น” ภาษาสวยเชียว โรงเรียนนี้ใช้แนวทางพหุปัญญา (Multiple Intelligences) ของ Howard Gardner ขอเชิญแวะชมได้ที่ http://www.plearnpattana.com/

โรงเรียนล่าสุดที่ผมกำลังเกี่ยวข้องด้วยอีกโรงเรียนหนึ่ง คือ โรงเรียนดรุณสิกขาลัย http://e-school.kmutt.ac.th/ ตั้งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ที่นี่ดำเนินการสอนโดยใช้หลัก Constructionism ของ ซีมัวร์ แพเพิร์ต (Seymour Papert) แนวคิดนี้มีฐานมาจาก Constructivism ที่เชื่อว่าความรู้เป็นของใครของมัน เจ้าของความรู้ต้องสร้าง (construct) ความรู้ที่มีความหมายให้กับตัวเอง การเรียนรู้ไม่ใช่การถ่ายถอดความรู้จากอีกคนมาสู่อีกคน ความรู้ถ่ายทอดให้แก่กันไม่ได้ คนอื่นจะมาสร้างความรู้ให้เราไม่ได้ ความรู้ของคนอื่นเป็นเพียงข้อเท็จจริง (fact) เท่านั้น อยากแนะนำผู้ที่สนใจให้อ่านหนังสือ สนุก สุขใจ ได้ปัญญา CONSTRUCTIONISM ทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์ด้วยปัญญา ของ ไพโรจน์ ชินศิรประภา ผู้เขียนเล่าถึงโรงเรียนต่าง ๆ (รวมดรุณสิกขาลัยด้วย) ที่นำแนวคิด constructionism ไปเป็นแนวปฏิบัติ

อีกโรงเรียนที่ผมเคยไปเยี่ยมชมและประทับใจ โรงเรียนปัญโญทัย http://se-ed.net/panyotai/ ตั้งอยู่ที่เขตสายไหม กรุงเทพฯ โรงเรียนนี้ยึดหลักการศึกษาวอลดอร์ฟ (Waldorf Education) ซึ่งเน้น “การเข้าใจตัวเอง และเข้าใจพัฒนาการของเด็ก สร้างความมั่นใจ ว่าเราจะให้การศึกษาเพื่อ เขาจะพัฒนาไปสู่ทิศทางที่เรากล้าพูดได้ว่ามีความเหมาะสม” การศึกษาวอลดอร์ฟนี้ริเริ่มไว้โดยนักปรัชญา รูดอร์ฟ สไตเนอร์ (Rudolf Steiner)

โรงเรียนทางเลือกที่แนะนำมานี้มีข้อเด่นร่วมกันหลายประการ เช่น เด็กเป็นผู้ควบคุมการเรียนรู้ของตัวเอง สร้างความรู้ให้ตัวเองในเรื่องที่สนใจ เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านการเป็นผู้ลงมือกระทำจริง ทำในสิ่งที่มีความหมายเชื่อมโยงกับชีวิตของตัวเองและโลกที่อยู่ ครูเป็นผู้สนับสนุนและเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันกับเด็ก เรียนสบาย ๆ ไม่เน้นท่องจำ เด็กปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ในรูปแบบที่ต้องการ อัตราส่วนของครูต่อนักเรียนถือว่าน้อย ประมาณว่าครู 2 คน รับผิดชอบดูแลเด็ก 25 คน แล้วแบบนี้จะไม่ให้เรียนสนุกได้อย่างไร ผู้ปกครองที่สนใจและเชื่อมั่นในโรงเรียนทางเลือกแบบนี้โดยเฉพาะโรงเรียนที่แนะนำ ต้องขยันทำงานให้มากหน่อยเพราะค่าเรียนสูงกว่าโรงเรียนปกติหลายเท่า สำหรับโรงเรียนทางเลือกอื่น ๆ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังมีให้เลือกอีกหลายโรงเรียน ลองพิจารณากันเอง ขอแนะนำหนังสือ หนังสือ เกี่ยวก้อยพาลูก (หลาน) เข้าโรงเรียนทางเลือก ของผู้เขียน ครูไก่ต๊อก

Albert Einstein บอกไว้ว่า “I never teach my pupils, I only attempt to provide the conditions in which they can learn” ผมจึงคิดว่า โรงเรียนไหนก็คงไม่แตกต่าง ขอให้มีครูที่คิดแบบ Einstein ก็พอ

หมายเลขบันทึก: 129692เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2007 18:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:41 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท