ปูแสม


วงจรชีวิตของปูแสม

 

              ปูแสม (Salt March Crab)

                                                                      โดย สุวรรณา  จิตร์สิงห์
                                                                      นักวิชาการศึกษา 8ว.   
 
          
 
             หลายสิบปีที่ผ่านมาพื้นที่ป่าชายเลน ชายฝั่งทะเลของไทยถูกบุกรุกทำลายลงอย่างมาก  อันเป็นผลพวงมาจากการขยายตัวของประชากร หลายจังหวัดที่มีพื้นที่ชายฝั่งทะเลเช่น จังหวัดสมุทรสาคร  สมุทรสงคราม จันทบุรี ตราด ประจวบคีรีขันธ์ฯลฯ มีการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ที่ไม่เหมาะสมกับสภาพดิน ได้แก่นำพื้นที่เขตป่าชายเลนไปถมที่แล้วสร้างหมู่บ้านจัดสรร  ขุดบ่อทำนากุ้ง  สร้างโรงงานอุตสาหกรรม หรือถมพื้นที่เพื่อทำการเกษตร-ปศุสัตว์ นอกจากนั้นประชาชนในชุมชนพื้นที่เขตป่าชายเลน ยังปล่อยน้ำเสีย ขยะจากครัวเรือน สารเคมีและขยะจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งล้วนเป็นมลพิษ จนทำให้พืชและสัตว์ที่ดำรงชีวิตในบริเวณป่าชายเลนลดจำนวนลงอย่างน่าเป็นห่วง  โดยเฉพาะปูแสม (mud crab หรือ salt march crab ) ซึ่งดำรงชีวิตอยู่ในป่าชายเลนที่มีน้ำทะเลขึ้นลงตามธรรมชาติ  ลดจำนวนลงอย่างน่าตกใจบางพื้นที่ที่เคยพบเห็นชุกชุมก็ลดจำนวนลงหรือหายไป นอกจากนั้นคนไทยมีวัฒนธรรมกินปูเกือบทุกชนิดจึงนิยมจับปูแสมกินเป็นอาหารทั้งสดและดองเค็ม และไม่เคยมีใครคิดจะทำฟาร์มเพาะเลี้ยงปูแสมเช่นการเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่หรือปลา พวกมันจึงลดจำนวนลงอย่างน่าเป็นห่วง ว่าในอนาคตอาจสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทย  
 

ลักษณะทั่วไปของปูแสม 

 

                                     

           ปูแสมมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Sesarma (Sesarma) mederi (H. milne –Edwards) เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ในไฟลั่มอาร์โทรปอด (Arthropods) ซุปเปอร์คลาสครัสเตเชีย(Crustacea) วงค์เดคาปอด(Decapod)หมายถึงสัตว์ที่มีส่วนหัวและอกติดเป็นส่วนเดียวกัน ส่วนท้ายเรียกว่าท้อง มีเปลือกหุ้มป้องกันอันตราย มีขาสิบขา ขาคู่แรกมีขนาดใหญ่เรียกว่าก้ามปู  อาศัยอยู่ในบริเวณน้ำกร่อยที่มีน้ำทะเลขึ้น-ลง เช่นป่าแสม-โกงกาง  ป่าจาก ป่าลำพู จัดเป็นปูที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ และคุณค่าต่อระบบนิเวศเป็นอย่างยิ่ง         ปูแสมเป็นสัตว์จำพวกที่มีระยางค์เป็นข้อปล้อง  ลำตัวมีสีดำอมม่วงก้ามมีสีม่วงเข้ม  กระดองเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีขนาดแตกต่างกันตามวัย  ปูแสมเพศผู้จะมีสีสันสดใส และตัวโตกว่าเพศเมีย  
 

 รูปู :บ้านของปู   

                                               
 
          เนื่องจากปูแสมอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีน้ำทะเลขึ้นลง มันเลือกที่จะมีชีวิตในป่าชายเลนที่คลื่นลมสงบ  ดังนั้นมันจึงสร้างบ้านที่เป็นรู  มักขุดรูอยู่ในบริเวณที่น้ำขึ้นน้ำลงท่วมถึง  ดินโคลนปนทราย  ลักษณะของรูปูแสมนั้นแตกต่างจากรูปูก้ามดาบและรูปลาตีนในบริเวณเดียวกัน  เราสามารถแยกแยะได้โดยรูของปูแสมมีขนาดกว้างประมาณ  4 – 7 เซนติเมตร ปากหลุมที่ขุดจะมีกองดิน  อุจจาระและรอยเล็บเท้า  ปูแต่ละตัวจะมีบ้านของตัวเอง และออกหากินจะไม่ไกลจากรูมากนัก หากตกใจก็จะวิ่งลงรูเพื่อหลบภัยได้ทันท่วงที ตอนวิ่งลงรูมันจะถอยหลังลงแล้วชูก้ามเบ่งกันท่าไว้ ไม่มีตัวไหนวิ่งเอาหัวลงไปก่อน   สีของลำตัวจะกลมกลืนกับสภาพแวดล้อมบางครั้งมีโคลนติดตามลำตัว  รูปแบบของรูของปูแสมนั้น ในงานวิจัยของผู้เขียนเคยขุดรูดูพบว่า มีหลายรูปแบบ เช่น เป็นรูปตัวไอ( I shape) ตัวแอล (L shape) ตัวยู( U shape) หากเป็นตัวไอจะมีทางเข้าออกทางเดียว หากเป็น L และ U  จะมีทางเข้าออกสองทาง  ความลึกก็ขึ้นอยู่กับพื้นที่ เท่าที่ลองขุดดูลึก ระหว่าง 50 เซนติเมตร –165 เซนติเมตร มีความลาดเอียง 30 – 80 องศา  

 
ปูแสมกินอะไรเป็นอาหาร
          ปูแสมกินอาหารตามพื้นดินเลนอาจเป็นซากพืชซากสัตว์ที่ตาย  ใบไม้สด และกินดินทรายเพื่อช่วยบดย่อยอาหาร  ลักษณะท่วงท่าการกินอาหารของปูแสมนั้นจะค่อยๆกินไม่รีบร้อนโดยใช้ก้ามหยิบอาหารป้อนเข้าปาก ผู้เขียนเคยสังเกตพบว่ามันป้อนเฉลี่ย 15 – 25 ครั้งต่อนาที มันใช้ก้ามทั้งสองข้างหยิบอาหารป้อนเข้าปากที่มีระยางค์หลายคู่ช่วย  มักออกหากินในเวลากลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบภัยอยู่ในรูรอจนมืดจึงออกมาเต็มบริเวณ  ในช่วงข้างขึ้นหรือข้างแรม 1 –2 ค่ำปูจะออกมามากหลังน้ำขึ้นปริ่มรูปู   
 
  การผสมพันธุ์- วางไข่     
          วิธีการดูความแตกต่างของปูแสมตัวผู้และปูแสมตัวเมีย เมื่อพลิกกระดองปูให้ดูด้านท้องหากเป็นตัวเมียตะปิ้งใหญ่  ตัวผู้ตะปิ้งเล็ก  เมื่อถึงฤดูกาลผสมพันธุ์ปูแสมจะมีการผสมพันธุ์แบบภายใน(internal fertilization)  ผิดกับสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ผสมพันธุ์แบบภายนอก   แม่ปูจะเลี้ยงไข่ที่ได้รับการผสมพันธุ์แล้ว ไว้ภายในตัว  จนกระทั่งไข่แก่ มันจึงจะปล่อยฟองไข่ออกมาเก็บไว้ที่ตะปิ้งใต้ท้อง บริเวณหน้าอก  แม่ปูจะคอยดูแลทำความสะอาดไข่อยู่เสมอ โดยการพัดโบกตลอดเวลาเพื่อให้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงไข่ที่มีสีเหลืองเข้ม  หากไข่ใบใดเสียจะมีสีดำ  รังหนึ่งๆจะมีไข่ประมาณ 12,000 – 82,000 ฟอง -  เมื่อวันเวลาผ่านไปประมาณ 14 –15วันหลังจากนั้น แม่ปูก็จะปล่อยไข่ ซึ่งมี 2 ช่วง ช่วงแรกเดือน เมษายนกรกฎาคม และช่วงที่ 2 กันยายนพฤศจิกายน   ช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เรียกว่า ปูชะไข่” (hatching)  หลังจากน้ำทะเลขึ้นสูงสุดและเมื่อน้ำทะเลเริ่มลงปูก็จะเคลื่อนกองทัพลงไปในน้ำแล้วชะไข่ให้ลอยออกสู่ปากแม่น้ำและออกสู่ทะเลต่อไป 
 
  อยากรู้ลูกไปไหน      
          ไข่แก่ลอยออกสู่ทะเลบ้างตกเป็นอาหารของสัตว์น้ำอื่นๆ  ช่วงนี้เรียกว่าแพลงค์ตอนสัตว์  มันจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างหลายครั้งจนกระทั่ง14-15วัน จะพัฒนาเป็นลูกปูขนาดเล็กและว่ายตามกระแสน้ำทะเลในช่วงน้ำขึ้นกลับเข้าฝั่ง เมื่อถึงป่าชายเลนมันก็จะลงเกาะพื้นคืบคลานขึ้นมาหากินเช่นเดียวกับพ่อแม่ของมัน   สีสันของลูกปูนั้นกลมกลืนเหมือนกับโคลนเลนมากและมีขนาดเล็กเกือบเท่าเมล็ดพริกไทย ทำให้มันปลอดภัยจากผู้ล่า เช่นนก กิ้งก่า ลิงแสม มันจะอาศัยหากินจนกระทั่งเติบโตและเป็นปูตัวโตเต็มวัยที่พร้อมจะผสมพันธุ์และขยายเผ่าพันธุ์ต่อไปเฉกเช่นบรรพบุรุษของมัน 
 

    ต่อสู้เพื่อเป็นใหญ่

        ปูแสมตัวผู้มักจะต่อสู้กันให้เห็นเสมอ มีสาเหตุอยู่หลายประการ อย่างแรกคือต้องการแสดงอาณาเขตหรือการเป็นเจ้าของพื้นที่    อีกประการหนึ่งเพื่อแย่งชิงตัวเมีย  มันจะใช้ก้ามหนีบทำร้ายกันจนก้ามหรือขาหักหรือหลุด ฝ่ายที่แพ้ก็จะหนีไป   หรือตายและตกเป็นอาหารของตัวอื่นๆไป 
 
  ก้ามและขาหลุดจะเป็นไอ้ด้วนไหม
      ปูแสมมีความสามารถพิเศษในการงอกอวัยวะส่วนที่หลุดให้งอกใหม่ได้คล้ายๆกับสัตว์พวกจิ้งจก   ดังนั้นมันก็จะงอกระยางค์ใหม่ได้ในเวลาต่อมา  
 

  ทำไมเรียกปูนิ่ม

       ปูแสมจะมีการลอกคราบเช่นเดียวกับปูอื่นๆ เพื่อให้มันขยายตัวโตขึ้นโดยสลัดกระดองเก่าทิ้งไป  ช่วงที่กระดองใหม่ใหม่ยังไม่แข็ง ปูจะมีลำตัวอ่อนนิ่มเรียกว่าปูนิ่มซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ปูอ่อนแอและอาจตกเป็นเหยื่อได้ง่าย 
 

  ทำไมเข้าตาปูจึงเช็ดตา        

          ปูแสมจะเอาน้ำที่พ่นออกมาจากปากใช้ก้ามเช็ดน้ำนั้นแล้วนำไปถูที่ตา  จะทำซ้ำๆหลายๆครั้งจนกระทั่งมันสามารถมองเห็น 
          เราได้รู้เรื่องปูแสมไปบ้างแล้วคงจะมองเห็นแล้วว่าปูแสมนั้นพร้อมที่จะสูญพันธุ์ตลอดเวลาหากสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนเพราะวงจรชีวิตของมันขึ้นอยู่กับน้ำกร่อย  ป่าชายเลน  แหล่งอาหาร  คนไทยเราจับปูแสมกินกันมากจนทำให้ประชากรของปูแสมลดลงอย่างน่าตกใจเมื่อก่อนแถวจังหวัดสมุทรสาคร  จ.สมุทรสงคราม  จ.สมุทรปราการ มีปูแสมมากแต่ปัจจุบันนี้แทบจะหาไม่เจอ จะเจอแต่ปูที่คนไม่กินกันคือปูก้ามดาบ   อยากจะฝากข้อคิดไว้ว่าควรหยุดจับปูสักระยะโดยปล่อยให้แม่ปูได้วางไข่บ้างในช่วงฤดูกาลวางไข่ของเขา    ควรเหลือพื้นที่ป่าชายเลนไว้ให้เป็นบ้านของเขาบ้าง  เพื่อพวกเราจะได้มีปูแสมไว้เป็นอาหารกันต่อไปนานๆ 
 
  เอกสารอ้างอิง :  วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาเบื้องต้นเกี่ยวกับพฤติกรรมบางประการและระบบนิเวศของปูแสม  Sesarma (sesarma) mederi.  โดย สุวรรณา จิตรสิงห์,มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
 
 
  **** สงวนลิขสิทธิ์****
คำสำคัญ (Tags): #ปู
หมายเลขบันทึก: 129357เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2007 14:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
ขอคุงงับ กำลัง หารายงาย เรื่องนี้อยู่แย้ย

สวัสดีค่ะ หนูเปงคนชอบปูมั๊กม๊ากมากคร้า ชอบเวบนี้มากเยยนะค่ะ

วันนั้ เปงวัน valantine day อิอิ หุหุ ส่ายชุดดำปราชดคนร๊ากกานคร้า อิอิ มาเม้นให้บ่อยๆนะค่ะ อิอิเปงคนชอบปู

เวรจริงๆคนแสดงความคิดเห็นเว็บนี้ ใช้ภาษาอะไร วิบัติหมด ถ้าเขียนให้ดีๆมันไม่เท่ตรงไหน

ดีจัง กามลางหายุ่เลย ไจนะค่ะ

สวัสดีอยากคุยด้วยจัง

ฮิ ฮิ ชอบกินปูดอง มากๆ

อยากทราบเรื่องชีวิตของสัตว์และต้นไม้แถบบริเวณป่าชา่ยเลน สามารถหาข้อมูลไดที่ไหนบ้าง โดยเฉพาะเรื่องวัฎจักรของสัตว์และต้นไม้ ขอแค่ตัวอย่าง 3-4 คะ

ณัฐพงศ์ เเสงพูนทรัพย์

หว้า~~~ สงวนลิขสิทธิ์ซะงั้น

คือ ผมขอเอาข้อมูลไปเผยเเพร่ได้มั้ยครับ

ผมจะเอาไปทำเว็บไซต์ครับ

ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่สามารถเข้าใช้blog ของตัวเองได้เลย ทั้ง ยูสเซอร์ และพาสเวอร์ค ถูกล๊อคไว้หมด เป็นมานานแล้ว

ช่วยแก้ไขด้วย อยากส่งบทความดีๆมาลงบล๊อคของตัวเองก็ทำไม่ได้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท