BAR : บทความที่ 2 อ่านก่อนเข้าร่วม “มหกรรม KM ภูมิภาค” ที่ มน.


         อ้างถึงบันทึก "BAR : บทความอ่านก่อนเข้าร่วม “มหกรรม KM ภูมิภาค” ที่ มน." นี่เป็นอีกบทความหนึ่งครับ ที่ผมขอแนะนำให้อ่านมาก่อนเข้าร่วมงานนี้ เป็นบทความของท่านอาจารย์หมอประเวศ (ศ.นพ.ประเวศ วะสี) ดังข้างล่างนี้ครับ 

**********************************************************************
คุณธรรมนำการพัฒนา
“ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม”

ประเวศ  วะสี


ความมุ่งมั่นร่วมกัน

         คนไทยทั้งปวงล้วนมีความปรารถนาอย่างเดียวกัน คือ ต้องการอยู่ในสังคมที่ดีงามและมีความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน สังคมที่ดีงามและอำนวยประโยชน์สุขร่วมกันต้องเป็นสังคมที่มีจิตสำนึกทางคุณธรรมและจริยธรรมสูง สังคมที่เอาแต่เงินเป็นตัวตั้งโดยขาดจิตสำนึกทางคุณธรรมและจริยธรรมจะนำไปสู่ความเสื่อมเสียทางศีลธรรมอย่างหนัก ความขัดแย้ง ความรุนแรง และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ คนไทยควรมีความมุ่งมั่นร่วมกันที่จะสร้างสังคมที่มีคุณธรรมนำการพัฒนา เพื่อความสุขความเจริญอย่างแท้จริง


ความมุ่งมั่นร่วมกัน

(๑) หลักแผ่นดิน
         สังคมจะพัฒนาไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขไม่ได้ถ้าปราศจากพื้นฐานทางคุณธรรมจริยธรรมพระปฐมบรมราชโองการที่ว่า
         
“เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม
                               เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”

         ควรจะเป็นหลักแผ่นดิน ว่าแผ่นดินจะต้องมีธรรมหรือความถูกต้อง ประโยชน์สุขหรือความร่มเย็นเป็นสุขจึงจะเกิดขึ้นได้จริง
ทุกภาคส่วนของสังคมไทยจึงความสร้างจิตสำนึกทางคุณธรรม จริยธรรม และขับเคลื่อนให้คุณธรรมจริยธรรมเป็นพลังของการพัฒนาทุกประเภท รัฐบาลมีเจตจำนงแน่วแน่ที่จะทำให้คุณธรรมนำการพัฒนาเป็นระเบียบวาระแห่งชาติ พร้อมด้วยนโยบายและยุทธศาสตร์

(๒) สังคมคุณธรรม
         สังคมคุณธรรมควรจะประกอบด้วยหลักการอย่างน้อย ๘ ประการ ดังต่อไปนี้
                  (๑) เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน
                  (๒) มีสัมมาชีพเต็มพื้นที่และเศรษฐกิจพอเพียง
                  (๓) อนุรักษ์ความหลากหลายทางวัฒนธรรม อนุรักษ์และใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
                  (๔) เคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน
                  (๕) มีความเป็นธรรมทางสังคม
                  (๖) มีสันติภาพ สามารถใช้สันติวิธีในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง
                  (๗) มีการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
                  (๘) มีความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่นและประชาสังคม

(๓) คุณธรรม
         ประกอบด้วยคุณธรรมอย่างน้อย ๘ ประการคือ
                  (๑) ความซื่อสัตย์ สุจริต
                  (๒) ความมีน้ำใจ ความไม่ทอดทิ้งกัน ความมีจิตสาธารณะรับผิดชอบต่อส่วนรวม
                  (๓) มีความขยันขันแข็ง อดทน อดกลั้น พึ่งตนเองได้ ไม่มัวเมาในอบายมุข
                  (๔) มีสัมมาชีพ มีความพอเพียง
                  (๕) มีความเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคน สามารถรวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างเสมอภาค
                  (๖) อนุรักษ์วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ มีการใช้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
                  (๗) มีความยุติธรรมและแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
                  (๘) มีการพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

(๔) กุญแจอยู่ที่การเอาคนและพื้นที่เป็นตัวตั้ง
         ปัญหาของการพัฒนาที่แล้วมาอยู่ที่การเอาวัตถุ เทคนิค และหน่วยงานเป็นตัวตั้ง ไม่ได้เอาคนและพื้นที่เป็นตัวตั้ง เช่น ทางการเกษตรก็เอาผลิตผลการเกษตรเป็นตัวตั้งไม่ใช่เกษตรกร วัดที่เอาศาสนาวัตถุเป็นตัวตั้งไม่ใช่พระ การศึกษาก็เอาเทคนิคการสอนเป็นตัวตั้งไม่ใช่ผู้เรียน แพทย์ก็เอาโรคเป็นตัวตั้งไม่ใช่คน การพัฒนาเศรษฐกิจก็เอาวัตถุหรือเงินเป็นตัวตั้งไม่ใช่ความสุขความเจริญของคน
การพัฒนาอย่างบูรณาการไม่แยกส่วนคือ หลักการสำคัญของการพัฒนาไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุข การพัฒนาโดยเอากรมเป็นตัวตั้งไม่สามารถพัฒนาอย่างบูรณาการได้ เพราะกรมมีลักษณะเป็นแท่งเป็นเรื่อง ๆ เช่น กรมข้าว กรมดิน กรมน้ำ ฯลฯ ต้องเอาพื้นที่ เช่น ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด เป็นตัวตั้ง และกรมเป็นตัวสนับสนุน

(๕) ดรรชนีวัดความสุข
         เราต้องการความร่มเย็นเป็นสุข แต่กลับไปใช้การวัดความเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) เป็นเครื่องวัดการพัฒนา ซึ่งทำให้เกิดการพัฒนาอย่างแยกส่วนและเสียสมดุลอย่างรุนแรง ควรสร้างและใช้ดรรชนีวัดความสุข ซึ่งจะวัดความเป็นสังคมคุณธรรมดังกล่าวในข้อ (๒)

(๖) ระเบียบวาระแห่งชาติ
         รัฐบาลประกาศเรื่องคุณธรรมนำการพัฒนาเป็นวาระแห่งชาติ ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม ถือปฏิบัติที่จะส่งเสริมให้เกิดคุณธรรมจริยธรรมเป็นพื้นฐานของการพัฒนาทุกด้าน และมีการประเมินว่าได้มีการปฏิบัติตามระเบียบวาระแห่งชาตินี้มากน้อยเพียงใด และทำรายงานประชาชาติเรื่องคุณธรรมจริยธรรม


ยุทธศาสตร์ ๖ ประการ
เพื่อสร้างสังคมคุณธรรม

         ยุทธศาสตร์เพื่อสร้างคุณธรรมพื้นฐานในสังคม ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ ๖ ประการ ดังภาพที่ ๑ อันประกอบด้วย

ภาพที่ ๑ ยุทธศาสตร์ ๖ ประการเพื่อสร้างสังคมคุณธรรม

๑. ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด
๒. ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม
๓. ยุทธศาสตร์การศึกษาที่คุณธรรมนำความรู้
๔. ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งขององค์กรทางศาสนา
๕. ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์
๖. ยุทธศาสตร์การสื่อสารสร้างสรรค์เพื่อขยายความดีให้เต็มแผ่นดิน
ซึ่งขยายความในแต่ละยุทธศาสตร์ ดังนี้

(๑) ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนา
อย่างบูรณาการทั้งจังหวัด

         (เรื่องนี้มีเอกสารเป็นรายละเอียดต่างหาก) ในทุกจังหวัดมีความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนทั้งรัฐ ท้องถิ่น ชุมชน และประชาคม ส่งเสริมการพัฒนาอย่างบูรณาการที่มีเศรษฐกิจพอเพียงเป็นรากฐานโดยเน้นการมีสัมมาชีพเต็มพื้นที่ การมีสัมมาชีพเต็มที่เป็นรากฐานของสังคมคุณธรรมและความอยู่เย็นเป็นสุข ควรมีการจัดสรรการใช้ที่ดินและเทคโนโลยีที่เหมาะสมให้คนจำนวนมากที่สุดมีเศรษฐกิจพอเพียงและมั่นคง สนับสนุนความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่น และประชาสังคมให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างบูรณาการ

         ความสำเร็จจะอยู่ที่ความร่วมมือระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัด องค์กรปกครองท้องถิ่นและประชาคมจังหวัด โดยมีการวิจัยและการจัดการความรู้เป็นตัวขับเคลื่อน

         กระทรวงมหาดไทยร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ ด้วยความสนับสนุนของกระทรวงสาธารณสุขและเครือข่ายองค์กรทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)

(๒) ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น
และประชาสังคม

         ยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์เพื่อจัดความสัมพันธ์ใหม่ในสังคม ในสังคมหรือองค์กรใดที่มีความสัมพันธ์ในแนวดิ่งระหว่างผู้มีอำนาจข้างบนกับผู้ไม่มีอำนาจข้างล่างจะอ่อนแอ ไม่มีพลังที่จะเผชิญกับความซับซ้อนทางสังคมปัจจุบัน ทำให้ประชาธิปไตยและศีลธรรมเป็นไปไม่ได้ ความสัมพันธ์ในแนวราบมีพื้นฐานอยู่ที่การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีความเสมอภาค และเข้ามารวมตัวร่วมคิดร่วมทำอย่างเท่าเทียมกัน สังคมที่มีความสัมพันธ์ทางราบมากเรียกว่ามีความเป็นประชาสังคม ความเป็นประชาสังคมทำให้เศรษฐกิจดี การเมืองดี และศีลธรรมดี ถ้าไม่มีความเป็นประชาสังคมการที่หวังจะเห็นสังคมมีศีลธรรมเป็นไปไม่ได้เลย และไม่มีประชาธิปไตยที่ไหนที่เป็นไปได้โดยปราศจากความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น

         ยุทธศาสตร์ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่นและประชาสังคม เป็นยุทธศาสตร์สังคมที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นเครื่องมือสร้างเสริมประชาธิปไตย เศรษฐกิจพอเพียง การอนุรักษ์วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ความยุติธรรมชุมชนและสันติวี ระบบสุขภาพชุมชน การพัฒนาจิตใจและสิ่งดีงามอื่น ๆ

         กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรเป็นเจ้าภาพหลักในการทำยุทธศาสตร์นี้

(๓) ยุทธศาสตร์การศึกษาที่คุณธรรมนำความรู้

         การศึกษาต่าง ๆ มักเอาความรู้นำโดยไม่มีปัญญาตาม ความรู้ไม่มีพลังพอที่จะต้านทานอำนาจของความไม่ดีได้ ความรู้จึงถูกนำไปใช้ในเรื่องไม่ดีต่าง ๆ หรือถูกบ่งการด้วยความไม่ดี สังคมและโลกจึงวิกฤตเพราะการศึกษาแบบนี้ การพัฒนาจึงควรใช้ความดีหรือคุณธรรมนำแล้วตามด้วยความรู้ แท้ที่จริงความดีหรือคุณธรรมคือปัญญา ความรู้กับปัญญาต่างกัน ความรู้อาจจะรู้อะไรเป็นเรื่อง ๆ และมักจะไม่มีจริยธรรมกำกับ แต่ปัญญาหมายถึง รู้ทั้งหมดซึ่งรวมถึงรู้ตัวเองด้วย การรู้ทั้งหมดและรู้ตัวเองทำให้สามารถจิตความสัมพันธ์ระหว่างตนกับผู้อื่นและสิ่งอื่นอย่างถูกต้อง ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องคือจริยธรรม เมื่อพูดถึงปัญญาจะมีจริยธรรมอยู่ด้วยเสมอ ในขณะที่ความรู้ไม่แน่ว่ามีจริยธรรมอยู่ด้วย

         ยุทธศาสตร์การศึกษาที่คุณธรรมนำความรู้จึงสำคัญยิ่ง
         ในยุทธศาสตร์นี้ ควรลดการเรียนแบบท่องวิชาลง แต่เพิ่มการเรียนรู้ในชีวิตจริงปฏิบัติจริง ชีวิตจริงปฏิบัติจริงหรือวิถีชีวิตร่วมกันคือ วัฒนธรรม มนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุดในฐานวัฒนธรรม ในฐานวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตเป็นที่รวมของทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นแก่ชีวิต เช่น การทำมาหากินที่สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกัน การจัดการการใช้ทรัพยากรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน ความยุติธรรม ชุมชน การไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง ขนบธรรมเนียมประเพณี และศาสนธรรม เป็นต้น การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม เอาชีวิตและการศึกษามาอยู่ที่เดียวกัน ไม่ใช่แยกส่วนอย่างการศึกษาปัจจุบันว่าชีวิตก็อย่างหนึ่ง การศึกษาก็อย่างหนึ่ง โดยแยกไปเอาวิชาเป็นตัวตั้งไม่ได้เอาชีวิตเป็นตัวตั้ง

         ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาวิเคราะห์สังเคราะห์สิ่งที่เรียนรู้ในฐานวัฒนธรรมให้เป็นปัญญาที่สูงขึ้น แล้วนำปัญญากลับมาไปใช้ในชีวิตจริงและปฏิบัติจริงอีก วงจรความรู้จากการปฏิบัติและการสังเคราะห์เป็นปัญญาที่สูงขึ้นแล้ววนกลับเอาไปใช้อีก แต่ละรอบจะทำให้ทั้งการปฏิบัติดีขึ้นและความรู้ที่ได้ดีขึ้น นี้คือการใช้วัฒนธรรมเป็นฐานและวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ กระบวนการเรียนรู้นี้จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ชุมชนเข้มแข็ง และประชาสังคม รวมทั้งการพัฒนาคุณธรรม

         มหาวิทยาลัยควรจะสนับสนุนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจพอเพียงและการพัฒนาอย่างบูรณาการทั้งจังหวัด ในรูปแบบหนึ่งมหาวิทยาลัยต่อหนึ่งจังหวัด ควรส่งเสริมจิตตปัญญาศึกษาในการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท รวมทั้งในสังคมโดยทั่วไป เพราะช่วยให้เกิดความสุข ความดี และความสำเร็จ

         ในระบบการศึกษาควรทำแผนที่คนดีโดยค้นคว้าหาคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในแผ่นดิน ถ้าการศึกษาค้นคว้าหาคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเหล่านี้ แล้วนำมาสื่อสารเรียนรู้กันจะขยายความดีให้เกิดขึ้นเต็มแผ่นดิน

         กระทรวงศึกษาธิการควรจะเป็นแกนในการสร้างและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้

(๔) ยุทธศาสตร์ความเข้มแข็งขององค์กรทางศาสนา

         องค์กรทางศาสนาเป็นทรัพยากรอันมีค่ามหาศาลของแผ่นดิน ทั้งประเทศมีวัดอยู่ประมาณ ๓๐,๐๐๐ วัด มีมัสยิดหลายพันแห่ง และองค์กรทางศาสนาคริสต์และศาสนาอื่น ๆ อีกจำนวนหนึ่ง แม้ไม่มากเท่าวัดและมัสยิด องค์กรทางศาสนาเคยเป็นศูนย์กลางของชุมชนที่มีบทบาททั้งทางสังคม ทางวัฒนธรรม ทางจิตใจ และทางการศึกษา การพัฒนาสมัยใหม่ได้ทอดทิ้งองค์กรทางศาสนาไป

         ในยุทธศาสตร์คุณธรรมนำการพัฒนา ควรส่งเสริมความเข้มแข็งขององค์กรทางศาสนาให้มีบทบาทอย่างเหมาะสมในสังคมสมัยใหม่ ปัญหาของคนสมัยใหม่ที่สำคัญคือ ความเครียด ถ้าส่งเสริมการจัดการวัดให้เป็นที่สะอาด ร่มรื่น มีอาจารย์สอนกัมมัฏฐาน วัดจะช่วยให้เกิดสุขภาวะทางจิตและการพัฒนาจิตใจอย่างมาก นอกจากนั้น ขณะนี้มีผู้สูงอายุที่เหงาอยู่กับบ้านจำนวนมากเพราะลูกหลานไม่ได้อยู่บ้านเหมือนสมัยก่อน หากชุมชนจัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุที่วัด เช่น มีการบรรยายธรรมและมีกิจกรรมร่วมกัน จะเป็นยาอายุวัฒนะอย่างดีและช่วยผ่อนเบาภาระของลูกหลานไปได้มาก เช้าก็พาพ่อแม่ปู่ย่าตายายไปวัด เย็นก็มารับกลับ ดังนี้เป็นต้น

         พระที่วัดอาจวิจัยค้นคว้าหาผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในชุมชนแล้วนำมาสื่อสารกัน เช่นเดียวกับที่โรงเรียนอาจจะทำก็จะเป็นเครื่องให้ขยายความดีให้เต็มแผ่นดิน

         สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติ กรมการศาสนา ศูนย์คุณธรรม สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ชุมชนท้องถิ่น ควรจะรับผิดชอบ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ อาจส่งเสริมให้มีเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อศาสนาเข้ามาร่วมส่งเสริมการจัดการขององค์กรทางศาสนา

(๕) ยุทธศาสตร์ระบบบริการสุขภาพที่มีหัวใจ
ของความเป็นมนุษย์

         ระบบบริการสุขภาพเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทุกคนตั้งแต่ครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน ถ้ามีการจัดระบบบริการและพัฒนาจิตสำนึกของบุคลากรสาธารณสุขให้บริการที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ได้ ระบบบริการสุขภาพก็จะเป็นเครื่องมือส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมอันยิ่งใหญ่

         นอกจากนั้น หากโรงพยาบาลชุมชนเข้มแข็งร่วมกับชุมชนเข้มแข็งจะสามารถสถาปนาระบบสุขภาพชุมชนอันกว้างใหญ่ไพศาล อำนวยประโยชน์สุขให้มหาชนชาวสยามอย่างไพศาล
 กระทรวงสาธารณสุข และองค์กรสุขภาพต่าง ๆ ควรรับผิดชอบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้

(๖) ยุทธศาสตร์การสื่อสารสร้างสรรค์
เพื่อขยายความดีให้เต็มแผ่นดิน

         ในแต่ละพื้นที่มีความดีอยู่แล้วโดยไม่มีใครรู้เห็น ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเหล่านี้ อาจเป็นชาวบ้าน ครู พระ ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ทนายความ สื่อมวลชน หรือองค์กร เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล บริษัท ฯลฯ หากมีการทำแผนที่คนดีในทุกพื้นที่โดยโรงเรียน โดยวัด โดยโรงพยาบาล โดยชุมชน ท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นใด แล้วนำพาสื่อสารกันให้รู้ในวงกว้าง จะสามารถทำความดีขยายตัวเต็มแผ่นดิน

         ยุทธศาสตร์นี้กำหนดให้สื่อสารมวลชนของรัฐ นำเรื่องราวของการทำความดีมาสื่อสารกันอย่างกว้างขวางเป็นประจำ

         ควรออก พรบ.องค์การสื่อสารสาธารณะที่เป็นอิสระจากอำนาจรัฐและอำนาจเงิน สามารถสื่อสารทั้งทางวิทยุ โทรทัศน์ สิ่งพิมพ์ อินเตอร์เนต และส่งเสริมการสื่อสารชุมชน ให้คนไทยรู้ความจริงโดยทั่วถึง รับรู้ความดี ความงามที่มีในแผ่นดิน และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ ประเทศจะเกิดความถูกต้องดีงามโดยรวดเร็ว

         รมต.สำนักนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสื่อสารมวลชนของรัฐ ควรรับผิดชอบยุทธศาสตร์นี้

         เท่าที่กล่าวมาทั้ง ๖ ยุทธศาสตร์ เป็นเพียงการฉายตัวอย่างอย่างย่นย่อ เมื่อมีการทำยุทธศาสตร์จริงสามารถลงรายละเอียดและเพิ่มเติมได้อีกมาก


กลไกขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม

         นอกเหนือไปจากการที่แต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้องจะมีคณะทำงานยุทธศาสตร์ของตัวเองแล้ว กลไกขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ อาจประกอบด้วย

         (๑) คณะทำงานยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม ประกอบด้วยนักยุทธศาสตร์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำงานเต็มเวลา ประสานความเข้าใจที่ถูกต้องในหมู่บุคคลและองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมดขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงส่งเสริมการจัดการการวิจัยและการจัดการความรู้ที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์และประสานให้เกิดการปฏิบัติในพื้นที่

         (๒) คณะกรรมการอำนวยการนโยบายและยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนภาคประชาสังคมและภาควิชาการ โดยมีคณะทำงานยุทธศาสตร์เป็นเลขานุการ คณะกรรมการนี้อาจประชุมประมาณเดือนละหนึ่งครั้ง

         (๓) พิจารณาออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี เรื่องนโยบายและยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของผู้ปฏิบัติทั้งหมด

         (๔) สร้างโครงสร้างที่สามารถขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่รัฐบาลนี้มีอายุไม่นาน แต่ยุทธศาสตร์สังคมคุณธรรม เป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนเป็นระยะยาว รัฐบาลในอนาคตอาจมีความสนใจแตกต่างกันไป ควรพิจารณาสร้างโครงสร้างที่มีพลังที่จะช่วยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์นี้ต่อไปอย่างยั่งยืน

**********************************************************************
 

         วิบูลย์ วัฒนาธร

 

หมายเลขบันทึก: 129282เขียนเมื่อ 18 กันยายน 2007 12:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท