มหาวิทยาลัยนเรศวรกับโอกาสการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ


             นับถึงวันนี้  (16 ก.ย. 50)  มีมหาวิทยาลัยในกำกับเพิ่มขึ้นอีก 3 แห่งแล้ว ดังนี้

             1. ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)  ผ่านร่างเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2550  ด้วยมติ 141 ต่อ 4 เสียง

             2. ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สนช. ผ่านร่างฯ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 ด้วยมติ 114 ต่อ 1 เสียง

             3. ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยทักษิณ  สนช. ผ่านร่างฯ เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 ด้วยมติ  98 ต่อ 3 เสียง

            ส่วนร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยบูรพา  ไม่แน่ว่าอาจจะเข้าวาระการพิจารณาวันที่ 19 กันยายน 2550 นี้ก็ได้คงต้องคอยดูต่อไป

           ผมมีโอกาสได้ไปประชุมประจำปีของที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2550 ได้ฟัง รมว.ศึกษาธิการ (ศ.ดร.วิจิตร  ศรีสอ้าน) บรรยายพิเศษและได้ตอบคำถามเกี่ยวกับความคืบหน้าของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ  มีข้อมูลเพิ่มเติมจากที่เขียนบางส่วนข้างต้นดังนี้

           1. ร่าง พ.ร.บ. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ยังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. จึงยังไม่สามารถบรรจุวาระ 2 และ 3 ได้

           2. ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวร  ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง  ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว  หากร่าง พ.ร.บ. 5 ฉบับข้างต้นผ่านเรยบร้อยแล้ว  รวมทั้งไม่มีปัญหาการคัดค้านจาก 3 มหาวิทยาลัย คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง  รัฐบาลจะนำเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ถ้าเป็นไปได้คือระหว่างเดือนตุลาคมถึงธันวาคม 2550 (รัฐบาลนี้) ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งอื่นๆ คงไม่สามารถเสนอกฏหมายได้แล้ว

          รมว.ศึกษาธิการ ได้ให้ข้อมูลว่า เหตุที่ร่างมหาวิทยาลัยในกำกับผ่านโดยราบรื่นก็เพราะได้เขียนกฏหมายอุดช่องโหว่ และข้อห่วงใยของผู้คัดค้านไว้หมดแล้ว เช่น

         1. เรื่องการดำรงตำแหน่งของอธิการบดีที่ห้ามเกิน 2 วาระ ให้นับวาระต่อเนื่องเพื่อป้องกันการสืบทอดอำนาจ

         2. เรื่องการกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องสนับสนุนนิสิต นักศึกษาที่ยากจนให้สำเร็จปริญญาตรี

         3. เรื่องให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสนับสนุนมหาวิทยาลัยอย่างเพียงพอต่อการบริหารงานเพื่อไม่ให้มหาวิทยาลัยต้องไปขึ้นค่าเล่าเรียน

         ผมไปร่วมประชุมสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์  แห่งประเทศไทย  ที่มหาวิทยาลัยบูรพา  เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 อยากเห็นข้อมูลตามที่ รมว.ศึกษาธิการเล่าให้ฟังในลักษณะเป็นกฏหมาย  จึงขอสำเนาร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยบูรพาจากรองอธิการบดีฝ่ายบริหาร (รศ.๙รี  มณีศรี) ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์เป็นอย่างดี  จึงขอนำมาขยายความครับ

        1. เรื่องการดำรงตำแหน่งของอธิการบดี  เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลดังนี้

                 มาตรา 72 ให้ผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2533 อยู้ในวันที่ พ.ร.บ. นี้ใช้ข้อบังคับคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนครบวาระ

                 มาตรา 73 ภายใต้ข้อบังคับมาตรา 27 และมาตรา 34 วรรคสอง  การนับวาระการดำรงตำแหน่งของอธิการบดี และหัวหน้าส่วนงานตามมาตรา 9(3) และ (4) ให้นับรวมวาระการดำรงตำแหน่งตาม พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยบูรพา พ.ศ. 2533 ด้วย

         2. เรื่องการกำหนดให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนนิสิต นักศึกษา เขียนไว้ดังนี้

                มาตรา 14/1 มหาวิทยาลัยต้องส่งเสริมและสนับสนุนผู้ที่มหาวิทยาลัยรับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย และนิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างแท้จริงให้มีโอกาสเรียนจนสำเร็จปริญญาตรี

         3. เรื่องให้มหาวิทยาลัยจัดสรรงบประมาณเขียนไว้ดังนี้

               มาตรา 14 วรรคสองและวรรคสาม

               เงินอุดหนุนทั่วไปตาม (1) นั้น รัฐบาลพึงจัดสรรให้แก่มหาวิทยาลัยโดยตรงเป็นจำนวนที่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการการพัฒนามหาวิทยาลัย  เพื่อการประกันคุณภาพการศึกษา

              ในกรณีที่รัฐบาลได้ปรับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดให้แก่ข้าราชการ ให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปเพิ่มเติมให้แก่มหาวิทยาลัยในสัดส่วนเดียวกันเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้พนักงานมหาวิทยาลยด้วย

               เข้าใจว่าหากร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยนเรศวรได้เข้าวาระการพิจารณาของ สนช. ก็คงมีการแก้ไข อุดช่องโหว่ และข้อห่วงใยของผู้คัดค้านเช่นเดียวกับร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับแห่งอื่นๆ เหมือนกัน   

หมายเลขบันทึก: 128737เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2007 13:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท