หนอนอะไรที่ฉลาด


บทความพิเศษ หนอนอะไรที่ฉลาด

 วารสารราโมงสัมพันธ์    : หนอนอะไรที่ฉลาด

       

              

                      เมื่อปลายปีที่แล้ว   ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่ จังหวัดเชียงใหม่เป็นการนั่งเครื่องบินครั้งแรกในชีวิต   รู้สึกตื่นเต้นประหม่า กล้าๆ กลัวๆ เล็กน้อยเพราะไม่มั่นใจสภาพเครื่องบินที่ข้าพเจ้าต้องนั่งโดยสารรายนี้  ซึ่งเป็นสายการบินบริษัทหนึ่งที่ผู้คนรายได้ต่ำ แต่รสนิยมสูง มักชอบใช้บริการ กันมาก  ราคานั้นถูกกว่าบริษัทอื่น ใช่แล้ว.....ของไม่ดีมักจะคู่กับราคาถูก  ข้าพเจ้าต้องนั่งเฝ้าที่สนามบินเกือบ หกเจ็ดชั่วโมงกว่าจะได้บินขึ้นไป  ทางบริษัทได้แจ้งเลื่อนอย่างกะทันหัน  ข้าพเจ้านึกเดาในใจตลอดเวลาที่นั่งคอยอยู่  ซึ่งปกติมักจะด่าคนไม่ถนัดนัก      บางคนกล่าวว่าเวลานั้นเป็นเงินเป็นทอง   จริงเท็จยังไงไม่อาจทราบมันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจะใช้เวลาในรูปแบบใด  ถ้าเวลาว่างนั่งนินทาคนโน้นที คนนี้ที มันก็มีค่าเท่ากับการนินทา แต่ถ้าใช้เวลาไปกับเรื่องที่เป็นสาระ มันก็เกิดคุณค่ามากมายทันที

            ระหว่างที่นั่งรอนอนรอ เครื่องบินจะมารับ   ข้าพเจ้าได้สำรวจซอกมุมต่างๆของสนามบิน  เพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์เดินผ่านกลุ่มคนหลายๆกลุ่มมันก็งั้นๆแหละบ้างนอน บ้างคุยโม้  บ้างดูทีวี   บ้างเคี้ยวขนม  แต่ที่ข้าพเจ้ามาสะดุด คือ กลุ่มฝรั่งสามถึงสี่คนนั่งเงียบ ไม่ใช่พวกเขาเป็นใบ้ แต่พวกเขากำลังจดจ่ออยู่กับตัวอักษรที่บรรจุอยู่ในหนังสือขนาดเท่าพ๊อคเก็ตบุ้ค ทุกคนนั่งอ่านอย่างเมามัน  ราวกับว่าเขาได้เข้าไปอยู่ในโลกของเรื่องราว ในหนังสือนั้นไม่สนใจสิ่งรอบตัวเลย  ข้าพเจ้าประทับใจจริงๆผิดแผกจากคนไทยเราไม่ว่าที่สถานีรถไฟ คิวแท็กซี่ ท่าเรือ  ป้ายรถเมล์  น้อยนักที่คนไทยเราจะมีหนังสือเป็นเพื่อน ส่วนใหญ่ใช้สายตาลวนลามสาวๆ บ้างสำรวจค้นหาข้อบกพร่องของคนอื่นหรือไม่ก็บริหารปากด้วยการนินทา เคี้ยวขนมหรือไม่ก็เม้าท์โทรศัพท์  ข้าพเจ้าค่อนข้างจะเชื่อถึงแม้ไม่สนิทร้อยเปอร์เซ็นต์ว่า คนไทยนั้นไม่ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งคงจะต้องมีที่มาที่ไป  สามารถอธิบายได้ ข้าพเจ้าจะโทษใครดีล่ะ ถ้าไม่ใช่บรรพบุรุษของเราเหมือนที่ครูมัธยมชอบโทษครูประถม โทษครูอนุบาล แล้วครูอนุบาลก็โทษพ่อแม่ตระกูลของนักเรียนเป็นอย่างนี้มาตั้งนมนานแล้ว  แต่ที่แน่ๆในเรื่องการอ่านจะโทษคุณครูแน่นอน  แสดงว่างานนี้บริหารไม่เกี่ยว เอ๊ะชักไม่แน่ใจแล้วซี               การอ่านมีความจำเป็นในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตอย่างไร ?   ธอร์นไดค์ ( Thorndika)  ได้กล่าวว่าการอ่าน คือ ความคิดที่สามารถเข้าใจในเรื่องที่อ่านได้ดีย่อมนำไปสู่ความคิดที่ดี  เมื่อคนเราคิดดี การปฏิบัติหรือการกระทำก็จะดีไปด้วย  ฟรานซีส เบคอน(Franeis Bacon)  กล่าวว่า การอ่านทำให้คนเป็นคนที่สมบรูณ์  สแตรง(Strang) กล่าวว่า การอ่าน คือ ถนนแห่งความรู้ การศึกษาทุกอย่างต้องอาศัยการอ่าน  ท่าน นบีมูฮัมหมัด(ซล.) ศาสดาแห่ง ศาสนาอิสลามได้รับวะห์ยู(ญาณพิเศษ) จากพระผู้เป็นเจ้าครั้งแรกภายในถ้ำหิรอฺผ่านการถ่ายทอดของชาวเทวทูต ญิบริล(อศ.) ซึ่งได้กล่าวไว้ว่า สิ่งไหนที่ท่านนบีอ่าน เจ้าจงอ่าน...........เจ้าจงอ่าน โดยย้ำหลายๆครั้ง  ที่จะเป็นบทพิสูจน์แล้วว่า รากฐานที่สำคัญของการพัฒนาชีวิตจำเป็นต้องมีการอ่าน    ข้าพเจ้าแน่ใจว่า   ในเวลาหนึ่งวันนั้น  ครู  อาจารย์ทั้งหลายได้อ่านกี่บรรทัด   อ่านอะไรบ้าง?  และอ่านเป็นตัวอย่างให้นักเรียนได้ดูเป็นแบบอย่างบ้างมั้ย  หลายคนอดยิ้มไม่ได้   ยอมรับว่าตัวครูเองยังไม่ชอบการอ่านแล้วจะให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน อย่างไร  มันก็เหมือนแม่พยายามสอนให้ลุกเดินได้ตรง     เมื่อไม่มีการอ่าน  ความคิดก็ไม่มีการพัฒนาเกิดเป็นหมันอยู่อย่างนั้นทั้งปี   เขียนแล้ววกเข้าหาตัวเองจนได้   แฮ่ะ   แฮ่ะ..........ยอมรับแต่ไม่ทั้งหมด    ฉันน่ะวันๆวุ่นวายกับนักเรียนกับเอกสารกับบันทึกอะไรต่อมิอะไรจนโลกนี้มีแต่เอกสารเอกสารกองเต็มไปหมด จะมีเวลาไปอ่านที่ไหนกันกลับบ้านก็ไม่ว่าง ไหนลูกไหนสามี ไหนค่าแชร์         เป็นคำสารภาพตัวอย่างหนึ่งของครูไทยที่อยู่ในประเทศไทยเหมือนกัน  ข้าพเจ้าเองก็จนปัญญาจะชี้ทางออกระบบบรรยากาศภายในโรงเรียนมันไม่เอื้ออำนวยจริงๆ   เอาละ นั่นมันเป็นเรื่องของครู  ข้าพเจ้าคิดว่ามันน่าจะแก้ยาก เราควรหันมาสรรหากลวิธี รูปแบบหรือ กุศโลบายต่างๆ ให้นักเรียนใส่ใจและชอบอ่านดีกว่า  สิ่งใดที่เราชอบ สิ่งนั้นเราจะทำได้ดี เป็นโจทย์ข้อแรกเลย ทำอย่างไรให้นักเรียน เกิดความชอบหรือประทับใจในบริบทการอ่าน

สมัยเด็ก ข้าพเจ้าก็ไม่ชอบอ่านหนังสือเหมือนกันแต่ จำได้ว่ามาชอบอ่านเมื่อเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เล่มแรกที่ประทับใจมากคือ หนังสือเรื่องสั้น ฉันจึงมาหาความหมาย ของวิทยากร เชียงกูล ยังจำถึงทุกวันนี้ท่อนที่ว่า ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย  สุดท้ายได้กระดาษแผ่นเดียว   ต่อมาเรียนอยู่ชั้นปริญญาตรี ข้าพเจ้าชอบอ่านเรื่องสั้นเป็นชีวิตจิตใจ นั่นเป็นเพราะเกิดความประทับใจ ที่บ้านข้าพเจ้ามีเรื่องหลายเรื่องที่เก็บสะสมไว้ นั่นเป็นเป็นเพราะเกิดความประทับใจ ดังนั้นข้าพเจ้าตั้งสมมุติฐานได้เสมอว่า ความประทับใจ นำมาซึ่งความสนใจ  ความสนใจนำมาซึ่งการค้นหาเรื่องราวแม้ข้าพเจ้ามีความรู้แค่หางหางอึ่ง แต่จะพยายามแสดงทรรศนะออกมา รูปแบบหรือวิธีการที่จะทำให้นักเรียนหรือเด็กเกิดความสนใจ๑. เด็กวัย ๘-๑๒ ปี จะสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ การผจญภัย การต่อสู้ เรื่องมีจินตนาการกว้างไกลเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เด็กหญิงจะชอบการแต่งกายเสื้อผ้า การบ้านการเรือน ยังคงชอบเรื่องเกี่ยวกับเทวดา นางฟ้า ทั้งเด็กชายและหญิงจะชอบเหมือนๆกัน เช่น วรรณคดี นิทานที่เกี่ยวกับ เทพบุตร ชาดก และนิทานพื้นบ้าน เรื่องตลก การ์ตูนขำขัน หนังสือควรมีเรื่องและรูปเท่าๆกัน หรือรูปอาจจะลดน้อยลงก็ได้๒.  เด็กวัย ๑๒-๑๔ ปี เป็นเด็กก่อนวัยรุ่น ความสนใจในการอ่านจะต้องกว้างขวางมากขึ้น ชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ ชีวประวัติบุคคลสำคัญ กีฬา งานอดิเรก สัตว์ แมลงต่างๆ เรื่องท้องถิ่น ประเพณีพื้นบ้าน เด็กวัยนี้จะรู้จักวินิจฉัยการอ่าน หาข้อเท็จจริงมาพิสูจน์ รู้จักค้นคว้าเพิ่มเติมในสิ่งที่สงสัยและอยากรู้อยากเห็น  เด็กชายจะสนใจวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์  ดาราศาสตร์ การดลองต่างๆ เรื่องขมวดปมให้คิด การผจญภัยในอวกาศ ประวัติศาสตร์ เกมคอมพิวเตอร์     ส่วนเด็กหญิงยังคงสนใจเรื่องในรอบครัว เริ่มสนใจอ่านนวนิยายรัก ทั้งเด็กหญิงและเด็กชายต่างชอบเรื่องสัตว์ หนังสือควรมีเรื่อง มากกว่ารูป ส่วนมากชอบหนังสือฉบับกระเป๋า ชอบอ่านการ์ตูน๓. เด็กวัย ๑๕-๒๐ ปี (วัยรุ่น) สนใจเรื่องการแต่งกาย วิธีการเรียนให้เก่ง การจำ การเป็นคนเก่ง เด่น จิตวิทยาต่างๆ งานอดิเรก มารยาทสังคม ดารานักร้อง ละครภาพยนตร์ การวางตน การคบเพื่อน เพศตรงข้าม เด็กชายจะชอบเน้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กีฬา การผจญภัย ดนตรี ทั้งเด็กชายและหญิงชอบอ่านวารสารนิตยาสารและหนังสือการ์ตูนมาก

 วารสารราโมงสัมพันธ์   37

ทั้งหลายทั้งปวงที่ข้าพเจ้าได้ค้นคว้ามาให้รับรู้นี้ เป็นเพียงแค่กรอบกว้างๆ เราต้องสังเกตเด็กแต่ละคนมีรสนิยมหรือความชอบที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับบุคลิกหรือประสบการณ์ของแต่ละคนด้วย  แต่ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นในเรื่องการอ่านของเด็ก ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมาหาประเด็นเช่น การอ่านหนังสือไม่ออก ขี้เกียจ ไม่มีหนังสือ หรือมีหนังสือให้เลือกน้อย ไม่มีเวลาอ่าน ไม่มีที่อ่าน บรรยากาศไม่เอื้อให้อ่าน  อ่านช้า อ่านไม่เข้าใจ อ่านแล้วไม่เกิดประโยชน์ ไม่มีใครฝึกให้อ่าน มีปัญหาทางบ้าน ทางบ้านไม่ค่อยส่งเสริมวิธีการสอนของครู  ชอบดูโทรทัศน์ เล่นเกม และอื่นๆอีกมากมายที่เป็นรากเหง้าของปัญหา ฉะนั้นข้าพเจ้าคิดว่า โรงเรียนไม่สามารถปฏิเสธที่จะแก้ปัญหารากเหง้าหรือต้นตอของปัญหาเหล่านี้ได้  โรงเรียนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องระดมแนวคิดวิธีการ กิจกรรมที่หลากหลาย ในอันที่จะพยายามให้เด็กตระหนักและรักการอ่านให้ได้ การโยนภาระให้เฉพาะครูบรรณารักษ์และครูภาษาไทย ให้ทำงกๆอยู่คนเดียว มีนคงไม่ยุติธรรมแน่ ครั้นจะมอบให้ผู้บริหารดูจะโหดเกินไป เพราะบางครั้งท่านมีงานมากมาย เสียจนไม่มีเวลาหันมายิ้มให้กับครูน้อย  (ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมด้วยที่ล่วงละเมิด)การจัดเวลาว่างสักชั่วโมงหรือสองชั่วโมงให้นักเรียนได้เลือกอ่านหนังสือที่ตนเองชอบ น่าจะเป็นวิธีหนึ่งที่ข้าพเจ้าเชื่อวา อย่างน้อยเด็กจะได้อะไรบ้างนอกเหนือจาก สิ่งที่หลุดออกมาจากปากครู ภายใต้ห้องขังสี่เหลี่ยมกับบรรยากาศที่จำเจ
 
น่าลองดู.....ครับ พาหนังสือใส่ถุงใส่เข่ง ใส่ลัง หรือใส่อะไรก็ได้ เดินไปใต้ต้นไม้อันร่มรื่น มีออกซิเจนล้อมรอบ แล้วครูสนทนาเรื่องราวในหนังสือ พอเป็นตัวอย่างโดยสังเขป จากนั้นให้นักเรียนเลือกอ่านตามใจชอบ ทุกๆอย่างต้องใช้เวลาความอดทน ความต่อเนื่องนะครับ กรุงโรมมิได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด ก็ฉันนั้น คงจะมีนักเรียนหนึ่งคน สองคน สามคน... ที่กลายเป็นหนอนหนังสือโดยไม่รู้ตัว แล้วเราๆท่านๆที่เป็นครูบาอาจารย์ก็จะได้บุญโดยไม่มีกรรมมาบัง  เคยอ่านเจอในนิตยาสารมีการสำรวจพบว่าคนไทยนั้นอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละไม่เกินสามถึงสี่บรรทัดต่อปีต่อคน ได้รับรู้ข้อมลแบบนี้เศร้าใจครับ ประเทศชาติจะพัฒนาได้อย่างไรไม่อีกกี่ปีข้างหน้านี้เราจะเดินตามหลังประเทศเวียดนามอย่างแน่นอน ไม่มีใครเชื่อหากจะบอกว่าสาเหตุมันมาจากการอ่านหนังสือ          ตอนขากลับจากเชียงใหม่กระเป๋าเงินแฟบ แต่ของบนรถเต็ม เกือบจะไม่มีช่องว่างให้เดิน จนข้าพเจ้าอดสงสัยไม่ได้ว่าครูเรานั้นเวลาไปทัศนศึกษาคราวใดไปซื้อของหรือไปเที่ยวกันแน่ ฝรั่งเขาเดินชมถ่ายรูปแต่เรากลับต่อราคาสินค้า          เบื่ออ่านหรือยัง ?...................  คิดว่าคงจบลงเพียงเท่านี้ก่อน เพราะต้องรีบไปอ่านแฮรี่ พอตเตอร์ ให้จบเร็วๆ  หากการขีดเขียนของข้าพเจ้ามีข้อบกพร่อง ผิดพลาดตรงไหนโปรดอภัย ท้วงติงเสนอแนะด้วย ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่านผู้อ่านทุกท่าน                    ครูอับดุลรอซัค  ประเสริฐดำ

คำสำคัญ (Tags): #banramong#kmeduyala3
หมายเลขบันทึก: 128300เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2007 11:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูอับดุลรอซัค (กรวิทย์)ใช่เพื่อนผมที่ วค.นครฯ(เกษตร)หรือเปล่าครับ กลุ่ม 4 กกช้อย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท