โกหก..
แม้จะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย
ก็อาจมีผลกระทบที่ไม่คาดหวังตามมา
ถ้าสวรรค์มีจริงและรู้ทุกอย่างที่เกิดขึ้นกับเรา
เมื่อใดที่เราพูดโกหก
เราก็น่าจะถูกลงโทษให้จมูกยื่นยาวออกมาทุกครั้งเหมือนพินอคคิโอ
แต่ความจริงก็คือ
เวลาโกหกไม่มีใครมาลงโทษเราโดยตรง
และน้อยคนนักที่จะมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่โกหก
ส่วนใหญ่จะทำเพื่อรักษาน้ำใจของบุคคลอื่น
ไม่อยากทำร้ายความรู้สึก
หรือเพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก
การโกหก แม้จะเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย
ก็อาจมีผลกระทบที่ไม่คาดหวังตามมา
และผลที่ว่านี้สามารถสร้างความเดือดร้อนได้มากกว่าการบอกความจริง
เมื่อคุณไม่สามารถที่จะแก้ไขเรื่องที่โกหกไปแล้วให้เกิดความถูกต้องได้
คุณก็จำต้องสร้างเรื่องโกหกต่อไปอีก
เพื่อให้สิ่งที่พูดไปแล้วดูน่าเชื่อถือ ตรงนี้แหละที่ยาก
เซอร์วอลเตอร์ สกอต
นักประพันธ์ที่ฉันชื่นชมพูดถึงการโกหกได้ถูกใจนัก เธอว่า “O
What a tangled web we weave. When first we practise to
deceive” การโกหกที่เราคิดว่า “ไร้อันตราย”
จึงสามารถสร้างผลกระทบที่คาดไม่ถึง หรือความวุ่นวายแบบลูกโซ่
หรือแบบโยงใยพัวพันเป็นเขาวงกตได้
เมื่อจำแนกการโกหกของคนเราออกเป็นรูปแบบต่างๆ จะพบว่ามีดังนี้
และเราทุกคนต้องเคยทำมาแล้วอย่างน้อยก็แบบหนึ่ง...
ถ้าไม่โกหกตัวเอง?!?
โกหกแบบแก้ตัว
ลักษณะนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากที่สุดในภาวะการทำงาน
โกหกเพื่ออธิบายว่าทำไมงานจึงไม่เสร็จตามเวลาที่กำหนด
หรือเกิดในสังคม เมื่อต้องการบอกปฏิเสธการเชิญชวน
หรือหนีภาระความผูกพันต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใด
กรณีที่ไม่ถือว่าหนักหนาสาหัสนักคือ
การโกหกเพื่อให้ตนเองดูดีในสายตาคนอื่น แต่ที่สาหัสคือ
การโกหกในที่ทำงานซึ่งแสดงถึงการขาดความรับผิดชอบ
ต้องการหลีกเลี่ยงการถูกว่ากล่าว หรือ ต่อว่า
หากเกิดความผิดพลาดในสถานการณ์การทำงาน
ไม่มีใครต้องการคำแก้ตัว
ยิ่งถ้าคำแก้ตัวนั้นถูกจับได้ว่าเป็นเรื่องโกหก
บุคคลนั้นก็จะไม่ได้รับความไว้วางใจอีกต่อไป
และถูกมองว่าไร้เสมรรถภาพ
ความผิดพลาดเป็นเรื่องที่มักแก้ไขได้
แต่เราไม่มีทางที่จะแก้ไขความรู้สึกของบุคคลอื่นที่มองว่าเราเป็นคนที่ชอบโกหกเพื่อเอาตัวรอดจากปัญหา
โกหกแบบเบนเรื่อง
การโกหกแบบนี้คล้ายกับแบบแรก
เพียงแต่แทนที่จะอ้างโน่นอ้างนี่ เช่น รถติด ไฟไหม้ ฯลฯ
เป็นการโยนความผิดไปให้สิ่งอื่นหรือบุคคลอื่นที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่
คนที่เป็นแบบนี้คือพวกที่กลัวและขาดความมั่นใจในตัวเอง
ไม่เชื่อว่าจะมีใครได้รับโอกาสครั้งที่สองเพื่อแก้ไขความผิด
ดังนั้นแทนที่จะยอมรับความผิด ก็ใช้การโกหกแทน
การแอบอ้างเอาความคิด
ผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตนก็ถือว่าอยู่ในกลุ่มนี้
บางคนรับคำยกย่องชมเชยในสิ่งที่ตนเองไม่สมควรจะได้รับ
โดยโกหกตนเองว่าเหมาะสมที่จะได้
เลือกที่จะไม่แก้ไขความเข้าใจผิดนั้นโดยทำเฉย
ปล่อยให้คนอื่นคิดว่าจริง
โกหกแบบสร้างภาพลวงตา
บางครั้งเราเปลี่ยนข้อเท็จจริงบางอย่างไปจากเดิมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี
ให้ผู้อื่นประทับใจ
การโกหกแบบนี้มักจะเกี่ยวกับสิ่งที่เราเองขาดความมั่นใจอยู่เดิม อาทิ
อายุ น้ำหนัก การศึกษา เงินเดือน ตำแหน่งการงาน ฯลฯ
คนที่โกหกในลักษณะเช่นนี้จะเหมือนติดกับ
ดิ้นไม่หลุด เพราะต้องโกหกต่อเนื่อง
การแก้ไขที่ดีคือบอกความจริงไปซะ
ตัดเส้นใยของการโกหกให้ขาดสะบั้นลง
เพื่อนแท้จริงไม่เลิกคบกันเพราะเราเกิดเป็นลูกคนขับสามล้อ
หรือเรียนจบโรงเรียนวัดหรอก แต่ถ้าจะมีคนคิดอย่างนั้น
เรายังจะคบเป็นเพื่อนอีกหรือ?
โกหกโดยปิดบังข้อมูลบางส่วน
แบบนี้เกิดขึ้นมากในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เพื่อบิดบังความจริงที่จะทำให้เราไม่ได้ทำงานนั้น
หรือการบอกความจริงไม่หมดเมื่อมีคนถาม
จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด
หรือทำให้อีกฝ่ายสรุปไปเองในลักษณะที่ไม่ใช่ความเป็นจริง
การโกหกเช่นนี้อาจทำร้ายหรือเป็นอันตรายกับคนอื่นที่รับข้อมูลแล้วไปตีความแบบผิดๆ
หรือรับรู้ข้อมูลไม่ครบ นอกจากนี้
การไม่บอกความจริงเมื่อมีคนโทษว่าเป็นความผิดของอีกคนหนึ่ง
ทั้งๆที่เป็นความผิดของเรา ก็ถือว่าเป็นการโกหกด้วยเช่นกัน
แม้ว่าจะไม่พูดอะไร
โกหกแบบบริสุทธิ์
โกหกด้วยการพูดให้ผู้อื่นรู้สึกดีเมื่อเรื่องจริงเป็นสิ่งที่ทำร้ายจิตใจ
นักจิตวิทยาเห็นด้วยว่า การโกหกแบบบริสุทธิ์ ซึ่งมีคำเรียกเฉพาะว่า
โกหกสีขาว (white liar) บางกรณีก็เป็นสิ่งดี
เนื่องจากการพูดความจริงบางครั้งก็เป็นการทำร้ายจิตใจผู้อื่น
แต่หลายคนก็อยากได้ฟังความเห็นที่เป็นจริง
แม้ว่าจะเจ็บปวดในใจ
การโกหก ไม่ว่าจะขาว เทา
หรือดำ มีผลกระทบต่อจิตใจทั้งสิ้น
ดังนั้นการได้สารภาพว่าโกหก
จึงเป็นความเจ็บปวดที่นำไปสู่ความสบายใจ
การโกหกเป็นกระบวนการที่ดูดพลังสมองและทักษะของคนเราไปใช้อย่างไม่ถูกทาง โดยต้องอาศัยพลังงานทางอารมณ์ปริมาณมาก
เอาพลังนี้ไปใช้สร้างสรรค์และพัฒนาชีวิตของเราเองโดยยึดนโยบายอยู่กับความจริงน่าจะดีกว่า จริงมั๊ย?!?