ประเด็นปัญหาคุณภาพน้ำในคลองตากวน จังหวัดระยอง อุตสาหกรรมคือวายร้าย หรือเป็นเพียงแค่แพะรับบาป?


ปัญหาคุณภาพน้ำคลองตากวน จังหวัดระยอง

คลองตากวน จัดเป็นร่องน้ำขนาดเล็ก มีขนาดความกว้างของร่องน้ำเฉลี่ย ๑๕ เมตร ความยาวตลอดร่องน้ำ ๔ กิโลเมตร และความลึกเฉลี่ย ๑.๒ เมตร ตั้งอยู่ในเขตตำบลมาบตาพุด อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ซึ่งเกิดจากการรวมกันของคลองห้วยใหญ่ และคลองน้ำหูโดยมีคลองชากหมากเล็ก และคลองยายห้อยไหลมาบรรจบด้วย ซึ่งคลองห้วยใหญ่นั้นยังประกอบด้วยคลองสาขาอีก ได้แก่ คลองหลอด คลองห้วยพร้าว และคลองน้ำชา โดยคลองสาขาเหล่านี้มีเส้นทางการไหลของน้ำที่ผ่านแหล่งชุมชน โดยมีปลายคลองติดกับทะเลอ่าวไทย ประเด็นปัญหาคุณภาพน้ำภายในคลองตากวนที่ปรากฏเป็นสีแดงส้ม และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใกล้เคียง รวมถึงชาวบ้านบริเวณดังกล่าว เริ่มปรากฎให้เห็นได้เป็นระยะเวลากว่า ๒ ปีแล้ว โดยในช่วงหน้าแล้งปี ๒๕๕๐ ที่ผ่านมา ปรากฏการณ์ดังกล่าวภายในคลองตากวนก็ได้เริ่มพ่นพิษกระจายสู่สังคมในระดับประเทศ จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่หน่วยงานจากหลายๆ ส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชนให้ความสนใจ และต้องการค้นหาต้นเหตุของปรากฏการณ์ดังกล่าวภายในคลองตากวน

บทสรุปของปรากฎการณ์น้ำในคลองตากวนเป็นสีแดงส้ม หลายๆหน่วยงานที่ได้ลงทำการศึกษาให้ความเห็นตรงกันว่าไม่ได้เกิดจากผลของพืชน้ำ แต่เป็นเพราะโลหะหนักจำพวก เหล็กออกไซด์ ที่มีปริมาณสูงปนเปื้อนอยู่ภายในน้ำ จนทำให้น้ำภายในคลองตากวนเกิดเป็นสีแดงส้มอย่างที่เห็น แล้วโลหะหนักดังกล่าวเกิดการปนเปื้อนลงในคลองดังกล่าวได้อย่างไร ? ประเด็นสาเหตุการปนเปื้อนดังกล่าวได้รับการสรุปไปในทิศทางว่าน่าจะเกิดจากการกระทำของโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในละแวกดังกล่าวบางโรงงานอุตสาหกรรม โดยโรงงานอุตสาหกรรมที่กล่าวนั้นมีกิจกรรมการดำเนินงานของกระบวนการผลิตเกี่ยวข้องกับโลหะหนักจำพวกเหล็ก และมีการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของการจัดการขยะของเสียอันตราย จนทำให้เกิดการปนเปื้อนของโลหะหนักชนิดดังกล่าวจำนวนมากลงในคลองตากวน

                พุทธโธ พุทธธัง อุตสาหกรรมกลายเป็นวายร้ายตัวดีที่ทำลายสภาพระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อมอีกแล้ว !!! เมื่อมองดูผิวเผินถึงบทสรุปของสาเหตุปัญหาการปนเปื้อนโลหะหนักจำพวกเหล็กจนทำให้น้ำภายในคลองตากวนเปลี่ยนเป็นสีแดงส้มว่าเกิดจากอุตสาหกรรม น่าจะเป็นคำตอบที่หลายๆ ฝ่ายให้ความเห็นว่าเป็นประเด็นที่น่าจะมีน้ำหนักมากที่สุด ด้วยเพราะภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมในบ้านเราหลายๆ อุตสาหกรรมที่ดำเนินกิจการอยู่นั้น ชาวบ้านมองว่าระบบการควบคุมดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมยังไม่ได้มาตรฐานดีเท่าที่ควรจะเป็น ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ได้มีโอกาสลงไปสัมผัส และศึกษาเบื้องต้นถึงสาเหตุของการเปลี่ยนสีของน้ำเป็นสีแดงส้มภายในคลองตากวน ก็เลยอยากที่จะตั้งประเด็นข้อสังเกตถึงสาเหตุดังกล่าวไว้ เพียงเพื่ออยากให้อีกหลายๆคนที่สนใจศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ลองเปลี่ยนมุมมองของการมองเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่มองเพียงแค่จุดเล็กๆเพียงจุดเดียว ให้เป็นมุมมองในภาพใหญ่ขึ้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งประเด็นที่ผมตั้งข้อสังเกตไว้ข้างต้นพอสรุปได้ดังนี้

ประเด็นข้อสังเกตแรกเป็นประเด็นข้อสังเกตเกี่ยวกับที่มาของสีน้ำซึ่งมีลักษณะเป็นสีแดงส้ม ซึ่งหลายหน่วยงานที่มีโอกาสได้ลงทำการศึกษาให้ความเห็นที่ตรงกันว่าเกิดจากโลหะหนักจำพวก เหล็กออกไซด์ ซึ่งในความคิดของผมเองคิดว่าน่าจะเกิดจากโลหะหนักดังกล่าวจริง แต่ทว่าข้อสรุปถึงลักษณะน้ำที่มีลักษณะเป็นสีแดงส้มว่าเป็นเพราะโลหะหนักจำพวกเหล็ก ดูจะไม่จบเพียงสั้นๆแค่นี้ครับ ด้วยเพราะโลหะหนักชนิดดังกล่าวนี้สามารถแปรเปลี่ยนเลขออกซิเดชันได้ตามสภาพแวดล้อมที่โลหะชนิดนี้อยู่ กล่าวคือ ในสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นภาวะรีดักชัน (สภาพแวดล้อมนี้ได้แก่ สภาวะที่มีลักษณะกรด เป็นต้น) โลหะเหล็กจะมีเลขออกซิเดชันเป็น Fe+2 หรือที่เรียกในภาษานักเคมีว่าเป็น เฟอรัสไอออน และในสภาพแวดล้อมที่มีลักษณะเป็นภาวะออกซิเดชัน (สภาวะที่มีออกซิเจน เป็นต้น) โลหะเหล็กก็จะมีเลขออกซิเดชันที่เปลี่ยนแปลงไปเป็น Fe+3 หรือ เฟอริกไอออน โดยทั่วไปรูปแบบเฟอรัสไอออนของเหล็ก มักจะไม่ค่อยมีความเสถียร โดยหากเกิดการสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ เฟอรัสไอออนดังกล่าวก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นเฟอริกไอออน ซึ่งเป็นสภาวะที่เหล็กเกิดความเสถียรมากที่สุดของโลหะเหล็กได้โดยง่าย โดยจะอยู่ในรูปแบบของสารประกอบที่เรียกว่า เหล็กออกไซด์ที่มีสีเป็นสีน้ำตาลแดง (ชาวบ้านเรียกกันง่ายๆว่าเกิดสนิมเหล็กนั่นเองครับ)

โลหะเหล็กที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานเหล็กนั้น แน่นอนครับว่าต้องเป็นเหล็กที่อยู่ในรูปของ Fe+3 ที่มีความเสถียร แต่เหล็กออกไซด์ที่อยู่ภายในคลองตากวนเป็นเหล็กที่เกิดจากเศษโลหะเหล็กที่ได้จากกระบวนการผลิตของโรงงานเหล็กหรือเปล่า อันนี้ต้องพิจารณาให้ดีครับ อย่าลืมนะครับว่าในธรรมชาติก็มีโลหะเหล็กแต่เป็นโลหะเหล็กที่อยู่ในธรรมชาติจะอยู่ในรูปของ Fe+2 กระจายอยู่ตามผิวดิน และใต้พื้นดินอยู่แล้ว ยิ่งถ้าหลักฐานทางธรณีวิทยาของพื้นที่ดังกล่าวมีต้นกำเนิดของหินที่เกี่ยวข้องกับโลหะเหล็กด้วยแล้วละก็ โลหะเหล็กที่อยู่ในรูป Fe+2 ก็จะมีปนกระจายอยู่ตามพื้นที่ดังกล่าวอย่างแน่นอน ซึ่งรูปแบบของเหล็ก Fe+2 สามารถเปลี่ยนไปอยู่ในรูปของเหล็ก Fe+3 ที่เสถียรกว่าได้โดยง่ายอย่างที่ผมได้กล่าวข้างต้นมาแล้ว นั่นหมายความได้ว่าข้อสังเกตถึงที่มาของเหล็กออกไซด์ไม่น่าจะมาจากแหล่งเดียวคือโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเหล็กครับ (ฟันธง!!!) อีกทั้งยิ่งถ้าเป็นเหล็กที่ได้จากอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ในรูปเหล็ก Fe+3 เมื่อตกลงในลำน้ำแล้วการพัดพาไปสู่ปลายคลองตากวนต้องอาศัยเวลาการกัดเซาะ และแรงพัดพาที่มากพอสมควรครับ โลหะเหล็กที่ละลายอยู่ในกรดเสื่อมสภาพจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตเหล็ก (ซึ่งจะอยู่ในภาวะเหล็ก Fe+2) มีความเป็นไปได้ครับ แต่อย่าลืมว่าภาวะกรดเมื่อเทลงในลำน้ำจะเจือจาง เมื่อสัมผัสกับออกซิเจนจะเปลี่ยนตัวเองเป็นเหล็ก Fe+3 ได้ง่ายซึ่งก็จะกลายเป็นตะกอนทับถมในบริเวณเดียว ต้องอาศัยการพัดพาและกัดเซาะอย่างที่กล่าวไว้เหมือนกันครับ (สนับสนุนประเด็นข้อสังเกตนี้ได้จากการพบลักษณะสีน้ำเป็นสีแดงส้มแค่เพียงถึงประตูกันน้ำเท่านั้น เหนือขึ้นไปพบน้อยมาก) ประเด็นข้อสังเกตที่สองคือ ประเด็นลักษณะทางธรณี และปฐพีวิทยาของพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งจะมีความเชื่อมโยงสอดคล้องกับประเด็นของปริมาณโลหะเหล็ก Fe+2 ที่กระจายตัวอยู่ในสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ ในกรณีที่ลักษณะทางธรณีวิทยาของพื้นที่ดังกล่าวในอดีตที่ผ่านมามีหินที่เป็นต้นกำเนิดของโลหะเหล็กอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว หินซึ่งต่อมาจะสลายตัวกลายเป็นดินก็ไม่น่าแปลกครับว่าดินในบริเวณดังกล่าวน่าจะมีโลหะเหล็ก Fe+2 ปนเปื้อนกระจายอยู่ภายในพื้นที่ ซึ่งถ้าประกอบกับลักษณะทางปฐพีวิทยาของพื้นที่ดังกล่าวด้วยแล้ว โดยถ้าพบว่าลักษณะของดินมีความเป็นกรดสูง (ลักษณะของภาวะรีดักชัน) ด้วยแล้วละก็ โลหะเหล็ก Fe+2 ก็สามารถอยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนรูปตัวเองไปเป็นโลหะ Fe+3 อย่างแน่นอน

ประเด็นข้อสังเกตประการที่สามที่ผมคิดว่าน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาคุณภาพน้ำภายในคลองตากวน คือประเด็นของจำนวนประชากรภายในพื้นที่ ประเด็นข้อสังเกตนี้ถือว่าเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับประเด็นที่หนึ่ง และสองที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ พื้นที่ดังกล่าวถูกจัดว่าเป็นพื้นที่สีทองสำหรับชาวบ้านอย่างแน่นอนครับ เนื่องด้วยมีอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ที่สามารถทำรายได้เป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ สามารถดึงให้ค่า GPP ของจังหวัดขึ้นไปติดหนึ่งในสามของจังหวัดที่มีค่า GPP สูงสุดของประเทศไทยได้ มีอุตสาหกรรมที่ทำเงินที่ไหน ไม่ต้องคิดมากครับ ประชาชนก็จะหลั่งไหลเข้าไปในพื้นที่นั้น เพื่อทำงานหาเงิน จำนวนประชากรในพื้นที่จากการสำรวจของภาครัฐนั้นมีปริมาณไม่สูงมากครับ ประมาณ ๓๐,๐๐๐ ถึง ๔๐,๐๐๐ คน แต่ประชากรแฝงที่มาจากพื้นที่อื่นๆ เคยมีการประมาณการณ์กันไว้ว่ามีสูงมากถึง ๑๐๐,๐๐๐ คน มีประชาชนหลั่งไหลเข้าพื้นที่มาก การเปลี่ยนพื้นที่เดิมเพื่อการอยู่อาศัย และการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ก็ย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวครับ ยิ่งมีการใช้ประโยชน์พื้นที่มากขึ้นเท่าไร ก็เหมือนมนุษย์เราไปรบกวนระบบธรรมชาติที่มีอยู่เดิมมากขึ้นเท่านั้นละครับ โลหะต่างๆ ที่เคยอยู่อย่างสงบภายในธรรมชาติ พอเริ่มถูกรบกวนเพิ่มมากขึ้นก็จะปนเปื้อน ปะปนเข้ามาสู่วงจรการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างแน่นอน โลหะเหล็ก Fe+2 ซึ่งเคยอยู่ได้ในธรรมชาติ เมื่อถูกรบกวนจากการใช้ประโยชน์ของที่ดินของมนุษย์เพื่อการก่อสร้าง การขุดบ่อน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภค และบริโภค เจ้าโลหะหนักตัวนี้มันก็จะหลุดออกมาจากสถานที่ที่มันเคยอยู่ ยิ่งด้วยถ้าภาวะที่อยู่ใหม่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยแล้ว (ภาวะที่มีออกซิเจน หรือภาวะออกซิเดชัน) โลหะเหล็ก Fe+2 ก็จะเปลี่ยนรูปตัวเองไปเป็นโลหะเหล็ก Fe+3 ที่อยู่ในรูปของออกไซด์ ซึ่งมีสีน้ำตาลเข้มได้โดยง่ายอย่างไม่ต้องสงสัยครับ ประเด็นนี้พอจะสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนจากสถานการณ์การปนเปื้อนของโลหะเหล็กในบ่อน้ำบาดาลของชาวบ้านโดยรอบพื้นที่ดังกล่าวเมื่อสองสามปีที่ผ่านมาครับ

ประเด็นข้อสังเกตสุดท้ายที่ผมคิดว่ามีความเชื่อมโยงสอดคล้องกับประเด็นทั้งสามที่กล่าวข้างต้น ก็คือประเด็นความสัมพันธ์ของคลองต่างๆ ในพื้นที่ที่เชื่อมโยงสู่คลองตากวน อย่าลืมนะครับว่าคลองตากวนเป็นคลองเล็กๆที่อยู่ปลายสุดก่อนออกทะเลอ่าวไทย มองย้อมขึ้นไปจะเห็นว่ามีหลายๆคลองที่เชื่อมโยง ก่อนจะไหลมาบรรจบเป็นคลองตากวน คลองต่างๆข้างบนนั้นโดยส่วนใหญ่ไหลผ่านเขตชุมชนครับ ต่างจากคลองอีกเส้นหนึ่ง (คลองชากหมาก) ซึ่งจะไหลผ่านผ่ากลางนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด น้ำเสียที่อาจจะมีการหลุดลอดปล่อยออกจากโรงงานภายในนิคมอุตสาหกรรม มีโอกาสน้อยมาครับที่จะส่งผลกระทบถึงเส้นทางน้ำที่ไหลมายังคลองตากวน เนื่องด้วยเพราะไม่มีความเชื่อมโยงกันนั่นเองครับ (คลองชากหมากเล็กที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างคลองชากหมากกับคลองห้วยใหญ่ก่อนสู่คลองตากวน แท้จริงแล้วคลองชากหมากเล็กเป็นคลองที่มีปลายคลองตันครับ ไม่ได้เชื่อมกับคลองชากหมากใหญ่แล้ว) กลับมาสู่ประเด็นคลองที่มีความเชื่อมโยงกับคลองตากวนที่อยู่ด้านบนที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นครับ การที่คลองต่างๆไหลผ่านชุมชน (ซึ่งก็มีโรงงานที่อยู่นอกนิคมฯตั้งอยู่ในบริเวณคลองด้วย) กิจกรรมอันเกิดจากชาวบ้าน และโรงงานอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่โดยรอบคลองดังกล่าวย่อมส่งผลถึงปัญหาคุณภาพน้ำในคลองตากวนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ ประเด็นการรบกวนของมนุษย์ผมกล่าวไว้ในประเด็นข้อสังเกตที่สามแล้ว บวกกับการรบกวนที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมที่มีส่วนไม่แพ้กัน ยิ่งถ้าโรงงานที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวไม่ปฎิบัติตามมาตรฐาน ปล่อยน้ำเสียที่ไม่ได้คุณภาพลงมาในคลองแล้ว สุดท้ายผลที่เกิดขึ้นก็จะไปแสดงอยู่ที่คลองตากวนซึ่งเป็นคลองปลายสุดอย่างแน่นอนครับ

ท้ายสุดผมอยากสรุปประเด็นปัญหาคุณภาพน้ำภายในคลองตากวนอย่างนี้ครับ ประเด็นข้อสังเกตที่น่าจะมีผลทำให้น้ำภายในคลองตากวนเกิดเป็นสีแดงส้มนั้น น่าจะเกิดขึ้นจากหลายๆ สาเหตุประกอบกัน ทุกสาเหตุน่าจะมีส่วนทำให้คุณภาพน้ำในคลองตากวนแย่ลง และส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์เรานี่แหละครับที่ไปรบกวนธรรมชาติ ไม่ใช่เพียงแต่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเดียวที่เป็นตัวการทำลาย เพราะแท้จริงแล้วอุตสาหกรรมเป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นที่อาจจะเร่งให้ผลกระทบที่เกิดจากการรบกวนธรรมชาติของมนุษย์เห็นเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น ผมอยากให้มองว่าผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันไม่ได้เกิดเพียงเพราะใครคนใดคนหนึ่ง หรือภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งครับ หากแต่มนุษย์ยังไม่รู้จักพอเพียงที่จะดำรงชีวิตด้วยการไม่รบกวนธรรมชาติมากเกินไปกว่าที่ธรรมชาติจะแบกรับไว้ได้ ปัญหามลพิษก็ย่อมจะเกิดและย้อนกลับมาทำร้ายมนุษย์ในที่สุดครับ

ท่านที่สนใจอยากดูรูปประกอบด้วยผมจะนำเอาไปโหลดไว้ที่เวปไซด์ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม www.en.mahidol.ac.th/EI ครับ

(ข้อความที่ปรากฎอยู่ในเอกสารบทความฉบับนี้ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว โดยที่ผู้อื่นไม่จำเป็นต้องมีความคิดเห็นที่เหมือนกัน)

หมายเลขบันทึก: 127376เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2007 15:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ระบบนิเวศวิทยา ซึ่งเป็นสมดุลของธรรมชาติ ทุกวันนี้ได้ถูกทำลายลงไปเพราะความมักง่ายเป็น เห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการโรงงานที่ มักจะไม่ยอมทำระบบน้ำเสียของตนให้อยู่ในสภาพที่ดี โดยทางบริษัทเราเป้นผู้สร้าง และควบคุมระบบน้ำเสีย เองได้พยายามเข้าไปตรวจ และขอทำวิเคราะห์น้ำ ในหลายๆโรงงานพบว่าส่วนใหญ่เนื่องจากทางกฎหมาย ไม่เข้มงวดในเรื่องดังกล่าว ลูกค้าที่เป็นโรงงานของเราก็ได้ ย่อหย่อนลงไป ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องมลพิษเท่าไหร่

ทางบริษัท ที่ได้ทำการแก้ไขระบบน้ำเสียก็เหนื่อยที่จะคุยกับลูกค้าที่ขี้งก กับการลงทุนด้านสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดมลพิษ  มีบางบริษัทรู้ว่าน้ำที่ตนเองปล่อยไม่ได้มาตราฐาน ก็ได้แต่ เพิ่มการสุ่มวิเคราะห์จนกว่าจะได้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนด  แล้วก้ไม่มาแก้ไขปรับปรุงที่ระบบ

บริษัท tedco .CO,LTD

รับปรึกษา จัดสร้าง ระบบบำบัดน้ำเสีย

ติดต่อ คุณบัณฑิต 085-072-9731

 

เห็นด้วยกับอาจารย์เป็นอย่างยิ่ง

น้ำทิ้งจากบ้านเรือน SME อู่ซ่อมรถ ธุรกิจขนาดเล็กนอกนิคม ไม่ได้รับการบำบัดเลย เททิ้งโครมๆ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท