บทสรุปจากโครงการปฏิรูปหลักสูตรสำหรับโรงเรียนปอเนาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : กรณีประเทศไทย


แนวคิด 3I คือ International Islamization Integration น่าจะเเป็นแนวคิดที่น่าจะนำสังคมมุสลิมไปเผชิญหน้ากับสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ได้ดี

บทสรุปจากโครงการปฏิรูปหลักสูตรสำหรับโรงเรียนปอเนาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ : ประเทศไทย

Curriculum  Reform  for Pondok in Southeast Asia : Southern Thailand  Section (CRP-PROJECT)                 

                อัลหัมดูลิลลาฮฺจากจากที่มูลนิธิเพื่อพัฒนาการศึกษาโรงเรียนประทีปศาสน์ โดย ดร.สุรินทร์  พิศสุวรรณ ได้ลงนามร่วมกับมูลนิธิซาซากาว่า   ประเทศญี่ปุ่น  เพื่อให้ความช่วยเหลือในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเน้นไปที่กลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในประเทศไทย            

                ซึ่งในสัญญาดังกล่าวได้มีข้อตกลงให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามภายใต้กรอบ  3 ประการ  ดังนี้

               1.     เปิดวิสัยทัศน์ผู้บริหาร

               2.     พัฒนาหลักสูตร

              3.     พัฒนาบุคลากร

               จากกรอบความช่วยเหลือดังกล่าวได้นำไปสู่โครงการทัศนศึกษาเพื่อเปิดวิสัยทัศน์ให้แก่ผู้บริหารและงานวิชาการของโรงเรียนในเครือข่ายประมาณ 16 โรงเรียน    เพื่อนำไปสู่การพัฒนาหลักสูตรและการพัฒนาบุคลากรของโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามในเครือข่าย    

              โครงการนี้เริ้มต้นด้วยการส่งตัวแทนจำนวน 4  คน คือ อ.อับดุลสุโก   ดินอะ  , อ.ศักรินทร์  สุมาลี  อ.รอเซ็ด    บิลแหละแนะ   และอ.นัศรุดดีน    กาจิ   ไปสำรวจสถานศึกษาที่จะนำคณะไปดูงานที่รัฐกลันตัน และตรังกานู  ในวันที่ 3-5  และในวันที่ 29 ก.ค. 4 สิงหาคม ไปสำรวจที่ กัวลาลัมเปอร์และสิงค์โปร์  และได้นำผลการสำรวจมานำเสนอที่ประชุมของกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายที่ลีลารีสอร์ท  อ.เทพา  จ.สงขลา  ในวันที่  11  สิงหาคม  และได้นำนำผลสรุปดังกล่าวมากำหนดสถานที่เพื่อที่จะนำคณะใหญ่ไปศึกษาดูงาน  

                 วันที่ 3- 6  คณะผู้บริหารและฝ่ายวิชาการของโรงเรียนในกลุ่มเครือข่ายได้เดินทางไปประเทศมาเลเซีย  สิงคโปร์และเกาะบาตัม  ประเทศอินโดนีเซีย   ภายใต้ชื่อโครงการ CRP-PROJECT (Curriculum  Reform  for Pondok in Southeast Asia : Southern Thailand  Section)

                 จากกระบวนการเปิดวิสัยทัศน์ข้างต้นดังกล่าว   ผมซึ่งเป็นหนึ่งในคณะทำงานที่ได้ร่วมโครงการนี้มาตั้งแต่ต้นมีความเห็นว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อประชาชาติ (อุมมะฮฺ) นี้อย่างสูง    โดยเฉพาะเยาวชนมุสลิม   และโครงการนี้จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามไปสู่ทิศทางที่อัลลอฮฺทรงโปรดปรานมากยิ่งขึ้น   โครงการจะนำไปสู่การพัฒนาให้เยาวชนมุสลิมมีความเข้มแข็งขึ้น  และมีทักษะชีวิตที่จะเผชิญหน้ากับสังคมในยุคโลกาภิวัตน์ได้ (อินชาอัลลอฮฺ)

                    ผมในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะทำงานขอสรุปจากกระบวนการทั้งหมดที่พวกเราประมาณ 45 ชีวิตได้ร่วมกันศึกษาเรียนรู้ร่วมกัน   แชร์ความรู้   ความคิด  เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่  ดังนี้

                    จากกรอบความช่วยเหลือทั้ง 3 ข้อของมูนิธิซาซากาวา  และโจทก์ที่ ดร.สุรินทร์   พิศสุวรรณได้ตั้งให้กับคณะทำงานที่ไปศึกษาดูงานที่ประเทศสิงคโปร์ ว่า  ภายใต้กรอบความช่วยแหลือดังกล่าวเราจะแก้ปัญหาให้เยาวชนมุสลิมสามารถเผชิญหน้ากับสังคมโลกาภิวัตน์ได้อย่างไร  โดยดูต้นแบบจากมาเลเซียและสิงค์โปร์ที่เขาประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาดังกล่าว  ทำให้ผมได้นำโจทก์ข้างต้นไปคิดต่อ  ที่จะหาแนวทางที่จะนำเสนอต่อโครงการและสังคมมุสลิมต่อไป  

                    จากกระบวนการศึกษาดูงานภายใต้โครงการ CRP-PROJECT ผมได้ค้นพบแนวคิดหนึ่งที่ได้รับจาก International  Islamic University Malaysia (IIUM) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า UIA คือ แนวคิด 3I  ดังนี้

                    I : International  คือ  การทำให้ผู้บริหาร  ครูและนักเรียน  มีความคิด  มีวิธีคิด ที่เป็นสากล  มีทักษะชีวิตที่เป็นสากล คือ มีทักษะการใช้ภาษาต่างประเทศได้หลายภาษาโดยเฉพาะ ภาษาอาหรับ  ภาษาอังกฤษ และภาษามาเลย์  นอกจากนั้น  ผู้บริหาร  ครูและนักเรียนยังต้องมีทักษะด้าน IT อีกด้วย

                    I : Islamization คือ การทำให้ทุกมิติของชีวิตเป็นอิสลาม เช่น การทำให้ความคิด  วิธีคิด  และพฤติกรรมของมุสลิมเป็นอิสลาม (ซึ่งจะอธิบายเรื่อง Islamization ในอีกตอนหนึ่ง : อินชาอัลลอฮฺ)  โดยเฉพาะที่ต้องเน้นตรงนี้ ก็คือ Islamization  of knowledge หรือ  การทำให้ศาสตร์ทุกศาสตร์เป็นอิสลาม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม

                  I : Integration คือ  การนำเนื้อหาสาระวิชาที่มีความเกี่ยวข้องกันมาสัมพันธ์ให้เป็นเรื่องเดียวกัน  และจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในลักษณะที่เป็นองค์รวม  และสามารถนำความรู้ความเข้าใจไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ 

                ผมขอเรียกแนวคิด 3I นี้ว่า ทักษะชีวิตในการเผชิญหน้ากับสังคมในยุคโลกาภิวัฒน์

                 แนวคิด  ข้างต้นจึงควรเป็นแนวคิดหลักที่โครงการ CRP-PROJECT  ควรนำมาเป็นแนวทางหรือกรอบในการดำเนินงานต่อไป  ดังนั้นสำหรับกระผมจึงคิดต่อว่า  หลังจากการเดินทางเพื่อเปิดวิสัยทัศน์ในครั้งนี้  โครงการ CRP-PROJECT  ควรดำเนินงานต่อภายใต้กรอบแนวคิด 3I  ดังนี้

                    I : International  โครงการ CRP-PROJECT   ควรดำเนินการต่อ  ดังนี้         

                                - ส่งผู้บริหาร ครูและนักเรียนของโรงเรียนเครือข่ายเพื่อไปพัฒนาด้านทักษะภาษาอังกฤษและภาษาอาหรับที่ International  Islamic University Malaysia (IIUM) หรือ ที่โรงเรียน Islam adni ประเทศมาเลเซีย หรือ ที่โรงเรียนอัลอิรชาด ประเทศสิงคโปร์   เพื่อเป็นการพัฒนาความเป็นสากลให้กับบุคลากรของโรงเรียนในเครือข่าย  (ซึ่งเป็นความช่วยเหลือที่ IIUM  , sekolah Islam adni และ โรงเรียน al-Irshad ได้เสนอเสนอความช่วยเหลือให้แก่โครงการ CRP-PROJECT)    

          I : Islamization โครงการ CRP-PROJECT   ควรดำเนินการต่อ  ดังนี้         

                        - โครงการอบรมผู้บริหารของโรงเรียนเครือข่ายให้มีความคิด วิธีคิดและทักษะการคิดในการบริหารภายใต้กรอบแนวคิด Islamization เพื่อให้ผู้บริหารในกลุ่มโรงเรียนเครือข่ายมีแนวคิดที่เป็นหนึ่งเดียว              

                              - โครงการพัฒนาแบบเรียนภาคสามัญทั้ง 8 กลุ่มสาระ  ให้มีการบูรณาการอิสลาม  โดยให้วิชาวิทยาศาสตร์เป็นวิชานำร่อง วิชาภาษาอาหรับ  และภาษาอังกฤษ         

                       - โครงการค่ายบูรณาการ 4 กลุ่มสาระวิชา  โดยการบูรณาการกับศาสนาอิสลาม  ให้กับนักเรียนในกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย

                      I : Integration   โครงการ CRP-PROJECT   ควรดำเนินการต่อ  ดังนี้                

                               - โครงการบูรณาการโครงสร้างหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน 44 กับโครงสร้างหลักสูตรอิสลามศึกษาขั้นพื้นฐาน 46 ให้เป็นหลักสูตรเดียวกัน  ตามรูปแบบที่ได้ศึกษามาจาก YAYASAN ISLAM KELANTAN (YIK)         

                      - โครงการอบรมการจัดการเรียนรู้โดยการบูรณาการให้กับครูทุกกลุ่มสาระในกลุ่มโรงเรียนเครือข่าย

                      นอกจากนี้ทางโครงการยังต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายโครงการโดยการ

                              -          จัดให้มีกรรมการบริหารเครือข่ายที่ชัดเจน

                              -          เยี่ยมเยียนโรงเรียนเครือข่าย

                              -          มีกิจกรรมระหว่างโรงเรียนเครือข่ายทั้งในด้านวิชาการและนันทนาการ 

                สำหรับผมคิดว่า กรอบแนวคิด 3I น่าจะเป็นแนวคิดที่ดี  ที่จะพัฒนาเยาวชนมุสลิมและสังคมมุสลิมให้มีความสามารถในการดำรงชีวิตในยุคโลกาภิวัตน์ได้เป็นอย่างดี  อินชาอัลลอฮฺ  

หมายเหตุ   ทั้งหมดที่ได้กล่าวข้างต้น คือ ความคิดเห็นส่วนตัวที่กระผมได้รับจากโครงการนี้   มิได้เป็นมติที่ประชุม

                   

หมายเลขบันทึก: 126256เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2007 12:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 พฤษภาคม 2012 20:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขออนุญาตนำบล็อกเข้า Planet ของต้าค่ะ

อ่านแล้วครับ เป็น 3I ที่ชัดเจนและตรงประเด็นมากครับ

อัสลามมุอะลัยกุม 

น่าสนใจมากครับ ขอรายละเอียดโครงการเพิ่มเติมใหมครับ [email protected]

เอาไว้เป็นข้อมูลประกอบการทำวิทยาพนธ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท