สตรีไทยในมุมมองด้านสุขภาพ


สตรีไทยในมุมมองด้านสุขภาพ

                    สำนักงานสถิติแห่งชาติได้จัดทำบทความเกี่ยวกับสตรีไทยในมุมมองด้านสุขภาพ เนื่องในวันสตรีไทย ซึ่งตรงกับวันที่ 1 สิงหาคม ของทุกปี โดยรวบรวมข้อมูลจากโครงการสำรวจต่างๆ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีเนื้อหาที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงภาวะสุขภาพของสตรี อันเป็นการฉายภาพโดยรวมเพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการวางแผนงานพัฒนาสตรีเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยในอนาคต

1. ลักษณะทางประชากร สตรีไทยมีสัดส่วนของการเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) สูงกว่าชายอย่างชัดเจน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10.8 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 11.6 ในปี 2549 ขณะที่ชายสูงอายุเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยจากร้อยละ 9.1 ในปี 2546 เป็นร้อยละ 9.6 ในปี 2549

2. สถานะสุขภาพ ปัญหาสำคัญของการก้าวเข้าสู่การเป็นประชากรสูงอายุ (Aging Population) คือ ปัญหาด้านสุขภาพ ดังนั้นภาวะสุขภาพจึงเป็นประเด็นสำคัญที่สตรีควรตระหนัก และควรมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ของตนเอง ให้สามารถพึ่งตนเองได้ จากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการพบว่า สตรีมีอัตราการเจ็บป่วยสูงกว่าชายมาโดยตลอด แต่ก็มีแนวโน้มลดลง โดยส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ รองลงมาคือ เจ็บป่วยด้วยโรคระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ สตรีป่วยเป็นโรคเรื้อรัง/โรคประจำตัวสูงกว่าชาย แต่ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน

  การตายของมารดาจากการคลอดบุตรเป็นตัวชี้วัดสุขภาพที่สำคัญของประชากรในด้านการให้บริการอนามัยมารดา และถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายของแผนพัฒนาสาธารณสุขในทุกแผน ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขพบว่า อัตราตายของมารดาจากการคลอดบุตรมีแนวโน้มลดลงจาก 14.7 คนต่อเด็กเกิดมีชีพ 100,000 คน ในปี 2545 เหลือ 12.2 คนต่อเด็กเกิดมีชีพ 100,000 คนในปี 2548 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสิทธิด้านการอนามัยเจริญพันธุ์ของสตรีได้รับความสนใจ และสตรีตั้งครรภ์ได้รับการดูแลเอาใจใส่มากขึ้น

3 พฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ พฤติกรรมการดูแลสุขภาพนับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการเจ็บป่วยและภาระโรค หากมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพแล้วย่อมส่งผลต่อภาวะสุขภาพด้วยเช่นกัน ซึ่งพฤติกรรมเกี่ยวกับการสูบบุหรี่และการดื่มสุรานับเป็นตัวชี้วัดภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพได้ดีในระดับหนึ่ง ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรมีแนวโน้มลดลง สำหรับอายุเฉลี่ยที่lเริ่มสูบบุหรี่พบว่า สตรีเริ่มสูบบุหรี่เมื่ออายุ 22 ปีในปี 2544 เพิ่มเป็นอายุ 23 ปีในปี 2549 ขณะที่ชายเริ่มสูบบุหรี่ที่อายุน้อยกว่าและคงที่ คือ 18 ปี สำหรับปริมาณบุหรี่ที่สูบต่อวันกลับพบว่าสตรีมีแนวโน้มสูบบุหรี่ในปริมาณที่มากกว่าชาย โดยในปี 2544 สตรีสูบบุหรี่เฉลี่ยต่อวันประมาณ 9 มวน เพิ่มขึ้นเป็น 11 มวนในปี 2549 ขณะที่ชายสูบบุหรี่เฉลี่ยต่อวันลดลงจากประมาณ 11 มวนในปี 2544 เหลือ 9 มวนในปี 2549

             การดื่มสุราเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบในหลายๆ ด้าน ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แม้สตรีจะมีการดื่มสุราน้อยกว่าชาย แต่กลับมีแนวโน้มในการดื่มสุราเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน (อายุ 15-24 ปี) ที่มีการดื่มสุราเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากร้อยละ 4.6 ในปี 2544 เป็นร้อยละ 5.6 ในปี 2549 ขณะที่กลุ่มอายุอื่นมีแนวโน้มลดลง   

4 สวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาล โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านับว่ามีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือในเรื่องของสวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาลให้กับประชากรส่วนใหญ่

การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่ามากกว่าร้อยละ 90 ของประชากรทั้งสองเพศได้รับสวัสดิการด้านค่ารักษาพยาบาล สตรีมีความแตกต่างของการได้รับสวัสดิการฯ เปรียบเทียบกับชายไม่มากนัก ซึ่งสวัสดิการฯ ที่ได้รับส่วนใหญ่เป็นประเภทบัตรประกันสุขภาพ

 สรุป  ภาวะสุขภาพของสตรีไทยโดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดี สตรีส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ แม้จะยังไม่สามารถครอบคลุมสตรีได้ทั้งหมด แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรดำเนินการในด้านต่างๆ เพื่อให้สตรีสามารถเข้าถึงบริการทางด้านสุขภาพได้อย่างเสมอภาค และทั่วหน้ากัน การจะบรรลุเป้าหมายเพื่อให้สตรีสามารถเข้าถึงบริการต่างๆ ได้มากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริการสุขภาพได้นั้น สิ่งที่สำคัญคือสตรีควรตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาตนเอง และใช้ศักยภาพอย่างเต็มเพื่อเป็นการสร้างความภาคภูมิใจ และนำไปสู่การยอมรับจากสังคม และสามารถพึ่งตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขตลอดทุกช่วงอายุ

คำสำคัญ (Tags): #สตรีไทย#สุขภาพ
หมายเลขบันทึก: 123823เขียนเมื่อ 31 สิงหาคม 2007 16:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท