เยี่ยมบ้าน


ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน

                 การเยี่ยมบ้านนักเรียนเป็นกิจกรรมในระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน  โดยโรงเรียนมอบหมายให้ครูประจำชั้นออกเยี่ยมบ้านนักเรียนทุกคน     ในการออกเยี่ยมบ้านปีการศึกษา  2550  นี้  ครูประจำชั้นห้อง 2/2 และ 2/3   เราวางแผนร่วมกัน  คือออกเยี่ยมพร้อมกัน   ครู  4  คน  ไปรถยนต์คันเดียวกัน  มีนักเรียนที่ต้องไปเยี่ยมบ้านรวมแล้ว  92  คน   ซึ่งแต่ละคนก็กระจายอยู่ตามตำบล หมู่บ้านต่าง ๆ   เราใช้เวลาในการเยี่ยมบ้านครั้งนี้  3  วันเต็ม    โดยใช้เวลาในวันเสาร์    เราเริ่มเดินทางประมาณสามโมงเช้า   สิ้นสุดประมาณ  6 โมงเย็น  บางวันถึง  2  ทุ่ม    การไปพบพูดคุยกับผู้ปกครองนักเรียนถึงที่บ้านนั้น ทำให้เรารู้จักนักเรียนของเรามากขึ้น  จากที่จำชื่อนักเรียนไม่ค่อยได้  ก็ทำให้จำได้และเป็นการจำได้อย่างแม่นยำ  เมื่อเห็นหน้าเขาที่โรงเรียน เราสามารถมองเห็นสภาพบ้านของเขา  สภาพความเป็นอยู่   บรรยากาศภายในบ้าน  เครื่องใช้ไม้สอย   สภาพแวดล้อม    ลักษณะของพ่อแม่ผู้ปกครอง  ตลอดจนความคิดเห็นของผู้ปกครอง   เราได้รู้จักเขามากขึ้น  บ้านของนักเรียนบางคนแทบจะเรียกว่าบ้านไม่ได้    เพราะสภาพไม่เหมาะที่จะเป็นที่อยู่อาศัย  หลายคนมีครอบครัวหย่าร้าง  พ่อแม่แต่งงานใหม่  มีลูกใหม่  ปล่อยให้เขาอยู่กับปู่ย่าตายายไปตามยถากรรม   บางคนพ่อแม่พิการ  เขาต้องดูแลหุงหาอาหาร   ไปหาปลาในคลอง  เก็บผักบุ้งในสระมาปรุงอาหารให้พ่อกับแม่  หนำซ้ำพี่สาวยังเอาลูกมาให้แม่เลี้ยงอีก  ซึ่งก็ไม่พ้นต้องเป็นหน้าที่ของเขาที่ต้องคอยดูแล    บางคนพ่อแม่ทิ้งไป  ตายายหาเลี้ยงด้วยการรับจ้างเหลาไม้เสียบปลา  ร้อยละ  5  บาท  วันหนึ่งสองคนตายายนั่งหลังขดหลังแข็งเหลาเต็มกำลัง  ได้ 700 กว่าอัน คิดเป็นเงินประมาณ  35  บาท  โถ!  แล้วจะอยู่ได้อย่างไร   การที่เรารู้จักเขา ทำให้เราเข้าใจเขามากขึ้น   เหตุที่เขาไม่ค่อยสนใจเรียน เพราะเขาเหน็ดเหนื่อยดิ้นรนต่อสู้ชีวิต เขามีเรื่องวุ่นวายอย่างมากจนไม่ได้ทำการบ้าน   ไม่ได้ทำงานที่ครูสั่ง   จากที่เคยขุ่นใจที่เขาไม่ส่งงาน  ครูก็จะค่อย ๆ พูดคุยถามเขา ถามถึงอาการของพ่อแม่เขา   เมื่อเขาหนีเรียนก็จะติดตามถามเหตุว่าเพราะอะไร  บางครั้งที่ครูคิดว่าเขาหนีเรียนนั้น   เพราะเขามีความจำเป็น  เพราะเขาจะไปซื้อแว่นตาให้แม่ซึ่งไปลอกต้อกระจก  จะออกจากโรงพยาบาลวันนี้  แม่จำเป็นต้องใส่แว่นตา  แต่ครูก็บอกเขานะว่าถ้าเขามีเหตุจำเป็นอย่างนี้ก็บอกครูหรือปรึกษาครูได้ อย่าคิดอะไรเองคนเดียว  เพราะถ้านักเรียนปรึกษาครู ครูช่วยได้อยู่แล้ว     และจากกการออกเยี่ยมบ้านนักเรียนเราสามารถจัดลำดับความจำเป็นพื้นฐานของนักเรียนแต่ละคนได้ว่านักเรียนคนใดควรช่วยเหลือ  และควรได้รับความช่วยเหลือในด้านใด      ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นครูมากขึ้น  

 

คำสำคัญ (Tags): #เข้าใจนักเรียน
หมายเลขบันทึก: 122563เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2007 23:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 14:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

การเยี่ยมบ้านนักเรียนทำให้ครูใกล้ชิดกับนักเรียนและผู้ปกครอง  การตำหนิและการลงโทษนักเรียนจึงมีเหตุผลมากขึ้น

แต่ก่อนนี้.. ที่เกณฑ์คัดเลือกนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย จะใช้อัตราส่วนของ GPAX สูงขึ้น สังคม สื่อ เครือข่ายผู้ปกครองออกมาต่อต้าน จนกระทั่งทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลว่า เกรด 3.50 ของโรงเรียนบ้านนอกอย่างเราๆ จะเอาไปตีค่าคะแนนเท่ากับ 3.50 ของโรงเรียนใหญ่ๆ ได้อย่างไร โรงเรียนบ้านนอกได้เกรดมาง่ายๆ แต่โรงเรียนเขากว่าจะได้แสนเข็ญ ไม่ยุติธรรม ไม่เป็นธรรม ...

โรงเรียนใหญ่ๆ มักมีนักเรียนที่ค่อนข้างพร้อม ครอบครัวพร้อม มีเงินเรียนกวดวิชา มีเงินซื้ออาหารที่ถูกสุขลักษณะ มีข้อแนะนำที่ดีๆจากผู้ปกครองซึ่งมีฐานะทางสังคมดี มีความรู้-ความเข้าใจ

ในขณะที่โรงเรียนอย่างเรา นักเรียนดูจะขัดสนไปหมด ขาดซึ่งความพร้อมไปเสียทุกอย่าง ทั้งที่บ้านอย่างที่ครูสุนันท์เล่า... และทั้งในโรงรียน ไม่มีเงินค่าอาหารกลางวัน ค่าเรียนพิเศษไม่ต้องพูดถึง บางทีเขาขาดแคลนมาตั้งแต่อยู่ในท้องแม่แล้ว ไม่มีเงินซื้อหารดีๆมาบำรุงบำเรอสมองๆของลูกๆ ไม่มีทั้งความรู้และเงินทอง พอออกมาจากท้องแม่ หลายๆคนต้องโตมากับปู่ย่าตายาย พ่อแม่อยู่ที่ไหน ไม่รู้จักหน้าค่าตา ครูคนใดเผลอไปถามถึง ก็หมายถึงน้ำตา..

อยากให้สังคม คนที่พร้อมๆ ครอบครัวที่พร้อม ได้มาเห็นเด็กอย่างที่เราเห็นบ้าง บางที่การคัดเลือกนักเรียนเพื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย อาจกระทำด้วยความเข้าอกเข้าใจมากขึ้น

เดี่ยวนี้เพื่อนครูเราทุกคนได้ไปเยี่ยมบ้านเด็กนักเรียนกันซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กในปกครองของตนเองแล้วมาเล่าสู่กันฟังทำให้เรารู้จักเด็กคนอื่นๆมากขึ้น การเยี่ยมบ้านเด็กมีเหตุการณ์ที่ประทับใจหลายอย่างที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง  เช่น ได้ไปเยี่ยมบ้านเด็กแถววังขี้เหล็กตอนขากลับออกมาทางบ้านแม่ระหันพอดีฝนตกบวกกับถนนลื่นทำให้มอเตอร์ไซด์ที่ขี่ไปล้มต้องตะโกนเรียก อ.ผสมพรที่ขี่นำหน้าไปให้กลับมาช่วย อดขำกับตัวเองไม่ได้เพราะล้มแบบไม่เป็นท่าเลย  อีกเรื่องหนึ่งที่ประทับใจมาก คือไปบ้าน ด.ช.อธิศักด์  ที่วังขี้เหล็ก อีกเหมือนกัน ปรากฎว่าไปตอนช่วงน้ำท่วมลูกศิษย์เมื่อครูไปบ้านก็พายเรือออกมารับบนถนน แต่ครูไม่กล้านั่งเรือขอคุยกับผู้ปกครองบนถนนก็แล้วกันการไปบ้านนักเรียนครูเราแต่ละคนคงมีเรื่องที่น่าประทับใจต่างกันก็นำมาเล่าสู่กันฟัง

 

              ในการเยี่ยมบ้านนักเรียนปีการศึกษานี้  มีความประทับใจหลายอย่าง   วันนั้นเป็นการเยี่ยมบ้านวันที่  3   หลังจากสอบถามเส้นทางไปจนถึงบ้านนักเรียนเวลาประมาณเที่ยงวัน     ปรากฏว่าผู้ปกครองนักเรียนไม่อยู่  ออกไปขายของ  พบนักเรียนอยู่บ้านคนเดียว    กำลังเดินจะเข้าบ้าน  ในมือมีถั่วฝักยาว  3-4 ฝัก  ถามได้ความว่ากำลังทำกับข้าวมื้อกลางวัน    เมื่อเข้าไปในบ้านเห็นหนังสือตำราอาหารวางอยู่ที่พื้นห้อง  มีรูปแกงป่าสีสันน่ากินมาก  ลองหยิบขึ้นมาดู พบว่าเป็นหนังสือที่นักเรียนยืมจากห้องสมุดของโรงเรียน     พอเข้าไปในครัว  เห็นว่าเตรียมอาหารค้างอยู่   ในครกมีน้ำพริกแกงซึ่งนักเรียนปรุงเอง  โขลกเอง  ครูลองดมดูกลิ่นหอมใช้ได้ทีเดียว บนเขียงเล็ก ๆ มีหมูที่หั่นไว้เรียบร้อยแล้ว    ที่รู้สึกประทับใจก็เพราะว่า  นักเรียนคนนี้เป็นนักเรียนชาย  และเป็นชายเต็มตัว  ไม่ได้กระตุ้งกระติ้งเลย    เห็นแล้วคิดถึงลูกชายตัวเอง   ถ้าอยู่บ้านคนเดียวแบบนี้คงฝากท้องกับร้านก๋วยเตี๋ยวใกล้บ้าน  หรือไม่ก็บบะหมี่ที่แม่มีไว้ในครัว

สวัสดีค่ะ คุณครูสุนันท์

กิจกรรมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จำเป็นและสำคัญที่สุดต่อการปฏิบัติหน้าที่คุณครูในโรงเรียนนอกเหนือจากการสอน ดังนั้นบทสรุปคือ "คุณครูมีหน้าที่นอกเหนือจากงานสอนแล้ว ต้องเป็นผู้ที่เข้าใจและเป็นผู้ให้โอกาสแก่นักเรียนโดยไม่มีข้อแม้อะไรเลย" ขอชื่นชม รวมทั้งสนับสนุนทุกๆการกระทำและประสบการณ์ในกิจกรรมดังกล่าวซึ่งคุณครูที่อยู่โรงเรียนใหญ่ๆในเมืองศิวิไลซ์ไม่ได้พบและโชคดีเหมือนพวกเราที่อยู่โรงเรียนบ้านนอก นับว่าคุ้มค่าที่สุดกับการที่ได้เป็นคุณครูค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท