ป้าเจี๊ยบ
น้อง พี่ อา ป้า ครู อาจารย์ คุณ นางสาว ดร. รศ. ฯลฯ รสสุคนธ์ โรส มกรมณี

On-line Food..อาหารตามสาย วัฒนธรรมการกินของคนรุ่นใหม่


จาก “อาหารออนไลน์” คอมลัมน์ Etiquette นิตยสาร Gourmet&Cuisine

        ใครที่เคยดูหนังเรื่อง The Net คงจำได้ว่านางเอกของเรื่องเป็นคนเก่งคอมพิเตอร์ แต่ไม่เก่งเรื่องสังคม  จึงไม่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีสักเท่าใด 

        เธอไม่ออกไปไหน อยู่แต่ในบ้าน นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์  ทำอาหารก็ไม่เป็น  ดังนั้นวิธีที่จะหาอาหารมากินก็ต้องสั่งจากร้านอาหารให้มาส่ง

        อาหารที่ว่านี่แหละที่ฉันหมายถึง อาหารออนไลน์ (on-line food)         
        คำว่าออนไลน์บ่งบอกว่าต้องเจรจาผ่านสาย  สายที่จะติดต่อได้มีอยู่ 2 ทางคือ  สายโทรศัพท์ ยกหู กดหมายเลข อีกทางคือ สายคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีสายอะไรต่อมิอะไรทำให้เชื่อมต่อกันทั่วโลกได้   ใช้เม้าส์คลิกเอาเอง

        การกินอาหารประเภทนี้  เป็นแบบที่เรียกว่าไร้มารยาทที่สุด  คือทำตามสบายได้ ปราศจากพิธีรีตองใดใด ยิ่งอยู่คนเดียวยิ่งทำอะไรหลุดแบบแผนสังคมได้สบาย 

       วิธีการสั่งอาหารทางโทรศัพท์นั้น  ควรบอกชื่อและที่อยู่ให้ชัดเจน  เพื่อสะดวกแก่คนที่จะมาส่ง   มีอะไรที่เป็นจุดสังเกตก็บอกไว้   ซ้ายขวาที่บอกไปก็ต้องแน่ใจว่าเห็นภาพตรงกัน  เพราะเคยมีคนบอกว่าเข้ามาแล้วเลี้ยวขวา  เพราะตนเองเข้าทางนี้ตลอด  ปรากฏเพื่อนมาอีกทาง  เลี้ยวขวาตามบอกก็เลยไม่ต้องเจอกัน  กว่าจะโทรติดต่ออีกก็เสียเวลาโดยใช่เหตุ  ฉะนั้นอธิบายให้ชัด 

        ต่อไปคือบอกสิ่งที่ต้องการ อาหารที่สั่งมีให้เลือกมากมาย  สั่งผิดก็ได้ของผิดมา  บอกให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร ไม่เอาอะไร  ซักไซ้ให้ละเอียดว่าเป็นอย่างที่ต้องการหรือไม่  ไม่รู้จักก็ให้พนักงานอธิบายว่าเป็นอย่างไร  มีส่วนผสมอะไร  เป็นอย่างที่เรากินได้ หรือกินแล้วแพ้หรือเปล่า           

        ถ้ามีสินค้าราคาพิเศษ  ก็ถามว่ามีอะไรบ้าง 
        บางร้านบริการส่งฟรี บางร้านคิดค่าส่ง บางร้าน
มีราคาขั้นต่ำที่ต้องสั่ง  ถ้าน้อยกว่านั้นไม่ส่ง 
       
คิดราคาของที่สั่งให้เรียบร้อยก่อนก็จะดี 
        เรื่อง
ทิปหรือไม่นั้น ตามปกติทางร้านคิดภาษีและค่าบริการบวกไปแล้วในราคาสินค้า ฉะนั้นจะให้หรือไม่ให้ก็ตามใจ   
       
ควรมีเงินให้พอดี เพื่อจะได้ไม่ต้องทอน 
       
บางรายใช้บัตรเครดิตจ่ายได้  แต่ระบุว่าบัตรของใคร  ฉะนั้นให้เช็คด้วยว่ารับบัตรใด

        เมื่ออาหารมาส่ง  ควรตรวจสอบให้เรียบร้อยว่าได้ของครบตามที่สั่ง
        หากส่ง
ช้าเกินกว่าเวลาที่กำหนด มีสิทธิไม่รับ  เช่น พิชช่า ไม่อร่อย ชืด  ก็คืนได้ หรือได้กินฟรี  
       
สั่งแล้วก็อย่าหนีไปไหน  พอของมาส่งไม่มีผู้รับซะนี่
 
       
เมื่อสั่งแล้ว ชื่อจะอยู่ในบัญชีของทางร้าน  สั่งครั้งต่อไปก็ง่ายขึ้น

        การสั่งทางคอมพิวเตอร์ก็เหมือนกัน แต่ต่างกันที่ใช้การคลิกเม้าส์ เพื่อบอกว่าต้องการอะไร ไม่ต้องการอะไร         

        บางร้านมีการรับสมาชิก สามารถสั่งแล้วคิดเงินเป็นรายเดือนได้อีก  มีใบเสร็จมาเก็บเหมือนค่าไฟฟ้า  เป็นความก้าวหน้าในการบริการอีกอย่าง  กินก่อนจ่ายทีหลังได้         

        อาหารเหล่านี้จะราคาแพงกว่าปกติ เพราะมีค่าอุปกรณ์เครื่องใช้ หีบห่อ ซึ่งเป็นวัสดุสิ้นเปลือง  ได้มาแล้ว  ส่วนใหญจะกินได้ทันที เพราะอุปกรณ์พร้อมให้  แต่บางอย่างต้องมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ในการกิน   เช่น สั่งสุกี้มาชุดหนึ่ง   ไม่มีหม้อสุกี้ให้มาด้วย  ต้องจัดเตรียมเอง

        อาหารออนไลน์เป็นธุรกิจที่เติบโตเร็ว เพราะคนไม่อยากออกจากบ้าน  อยากทำอะไรตามสบาย  อยากนอนกินหน้าทีวี  อยากใช้มือหยิบ อยากทำเลอะเทอะได้  เป็นเวลาส่วนตัว 

        ใครใคร่ทำเช่นนั้นก็ทำไป   เพราะตามสบายเป็นเรื่องหลักอยู่แล้ว  ก็ไม่ต้องล้างจานนี่  กินเสร็จก็ทิ้งไป 

        แต่ถ้ามองในมุมของคนที่กินอยู่อย่างงดงาม ไม่ใช่ทำอะไรไร้แบบแผนไปทุกอย่าง  ก็ทำให้เราแยกได้ระหว่างคนที่มีวัฒนธรรมกับไม่มี  ฉะนั้น บางครั้งก็ควรจัดบรรยากาศกันบ้าง  ยกมาตรฐานการกินอยู่ของตนเองซักนิด ก็น่าจะได้สัมผัสดีๆ เหมือนกัน 

        ศิลปะอย่างหนึ่งของการกินอาหารออนไลน์คือ นำอาหารนั้นมาจัดแต่งใหม่  แล้วเสริฟบนโต๊ะอาหาร ใช้จานชามช้อนส้อมชุดสวยๆ เพื่อให้บรรยากาศการกินดูดีขึ้นค่ะ

        อ้อ..สิ่งที่ต้องทำใจให้มากที่สุดในการสั่งอาหารแบบนี้คือ  สิ่งที่ได้จะไม่เหมือนในรูปโฆษณา  คือ ไม่ใหญ่เท่า ไม่เยอะเท่า ไม่สดเท่า และสีสันก็ไม่น่ากินเท่าสิ่งที่เห็นในภาพนะคะ

หมายเลขบันทึก: 120779เขียนเมื่อ 20 สิงหาคม 2007 13:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท