Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล
Hospital OS Hospital OS โปรแกรมบริหารระบบการจัดการสารสนเทศโรงพยาบาล ianalysis คลังข้อมูล Hospital OS (โปรแกรม โรงพยาบาล)

Episode VI : ปีที่สอง กับช่วงการเติบโต


"โครงการนี้ดี แต่......"

Episode VI : ปีที่สอง กับช่วงการเติบโต

โดย หมอก้อง

 


หลังจากงาน TMI แล้ว ก็พบว่ามีหลายโรงพยาบาล สนใจใช้ระบบของเรา เพิ่มมากขึ้น ช่วงหลังปีใหม่ ทีมงานออกเดินทางเพื่อไปติดตั้งอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะในแถบภาคเหนือ และภาคกลางตอนบน ผมไม่มีโอกาสไปร่วมด้วย เพราะงานประจำเข้า้มามากมาย ทีมงานก็ออกไปทำงานกันอย่างแข็งขัน

 ผมได้รับคำชมมาเป็นระยะในการทำงานของทีม ว่าสามารถทำงานได้ดี กินง่าย อยู่ง่าย ก็ต้องบอกว่าเป็นเพราะน้องๆเขาดีโดยพื้นฐานอยู่แล้ว

เมื่อความต้องการมากขึ้น ทีมงานที่ทำเริ่มทำไม่ทันแล้ว ก็มาคิดกันว่า จะทำอย่างไรดี และบางคนอยากไปเรียนต่อ ในที่สุดก็ต้องรับคนเพิ่ม จำได้ว่าตอนนั้นมีคนที่เข้ามาใหม่ เช่น โต้ง พี แอ้ม โอ๋ ประเสริฐและกวง โต้ง เป็นเพื่อนเหน่งกับเบะ ส่วนกวงเป็นเพื่อนรุ่ง และแอ้ม พี โอ๋ เป็นเพื่อนกันจบมาด้วยกัน มาสมัครพร้อมกัน เนื่องจากบริํษัทเล็ก พอมีน้องใหม่เข้ามา พี่ๆที่ยังไม่มีประสบการณ์ และบริษัท ที่ไม่มีระบบที่ดีในการบริหารงานบุคคล ได้สร้างความอึดอัด หาวเรอให้กับน้องใหม่เป็นอันมาก เพราะ ไม่มีใครสอนงาน ไม่มีคู่มือพนักงาน พี่จะตอบเมื่อถาม น้องไม่ถามก็ไม่ว่าอะไร บางครั้งน้องถามก็ไม่รู้จะสอนอย่างไร เพราะตัวเองก็เรียนรู้เอง ไม่มีใครสอน เลยสอนไม่ถูก ความเครียดก่อตัวบางๆขึ้นในบริษัทเล็กๆ ในความจริงผมต้องเป็นคนรับผิดชอบเรื่องนี้ เพราะมันเกิดจากค่านิยมของผมที่เชื่อว่า เราเรียนรู้ได้เอง ไม่ต้องมีใครสอน และเคยอ่านหนังสือของ Guy Kawasaki ที่เคยทำงานอยู่กับบริษัท Apple computer บอกว่า

"ที่ Apple เราไม่ค่อยสนใจว่าคุณเป็นใคร จบอะไรมา เราสนใจว่า คุณว่ายน้ำเข้าหาฝั่งได้อย่างไร เมื่อคุณถูกผลักตกน้ำ"

วิธีคิดแบบนี้ คือจับโยนลงไปในปัญหา และดูวิธีแก้ที่เขาคิดขึ้นมา ดูทารุนไปหน่อย แต่เรามักได้แนวทางที่แปลกๆและดี แต่มันขัดกับความคาดหวังของพนักงานที่เขามาใหม่ เพราะเขาจะคาดว่า

"บอกมาซิจะให้ทำอะไร"

"ให้คิดเอง แล้วถ้าทำผิด ทำไม่ได้ จะโดนด่าไหม"

เครียดครับ เพราะเขา "กลัวผิด" มากจริงๆ เลยทำให้ไม่สามารถทำอะไร คิดอะไรออก หนักไปกว่านั้น บางคนยอมนั่งมองจอเป็นวันๆเนื่องจากแก้ปัญหาไม่ได้ และไม่ถาม  หลายคนร้องห่ม ร้องไห้ (อยากรู้เป็นใครไปถามกันเอง) รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสามารถ ไม่มีค่า ไม่รู้จะอยู่ไปทำไม ไปหางานอื่นที่ "บอกให้ทำอะไร" ชัดเจนดีกว่า

ผมมักจะบอกกันน้องๆที่สับสนว่า "หากจะทำงานที่นี่ ผมต้องการอย่างเดียวคือ ใจที่อยากทำ ผมไม่สนใจว่าคุณจะมีความรู้มาก่อนหรือไม่ เรียนรู้เร็ว ช้า ก็รู้ได้สักวันหนึ่ง"

ผมไม่รู้ว่าเขาเข้าใจกันไหม แต่ก็เห็นเขาอยู่ต่อ บางคนวันนี้ก็ยังสับสนอยู่ แต่ก็ทำงานอยู่ด้วยกัน

น่าสนใจครับ ที่น้องๆมักกลัวผิด ทั้งๆที่บริษัทไม่มีระเบียบว่าทำผิดแล้วยึดทรัพย์ แต่คงเป็นเพราะเขามีความรับผิดชอบในงานของเขา และตั้งใจให้ออกมาดี ผมไม่รู้ว่าวิธีของผมนี้ถูกต้องไหม คงต้องให้น้องเขามาบอกครับ

ทีนี้พอคนมากขึ้น ค่าใช้จ่ายก็ตามมา เพราะโครงการวิจัยฯได้งบมาเป็นค่าตอบแทนแค่ 4 คน ตอนนี้มีนับสิบแล้ว ผมก็คิดหาทางที่จะทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างมั่นคง ตอนนั้นก็พยายามหางานนอกเข้ามา ไปรับจ้างทำเวปให้กับ crcn ซึ่งเป็นโครงการที่ทำการเก็บข้อมูลโรคต่างๆถึง 13 โรคเพื่อใช้ในการวิจัย เป็นโครงการที่ดีมากโครงการหนึ่งครับ เพราะทำให้เกิดการวิจัยร่วมสถาบันกันผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้เได้ข้อมูลปริมาณมากและมีความแม่นยำมาก น้องๆหลายคนก็ได้รู้เรื่องแพทย์กันคราวนี้เพราะอาจารย์ผู้ใหญ่หลายท่าน ที่เป็นผู้ทำวิจัยก็อดทนสอนให้พวกเราเข้าใจจนโครงการดำเนินมาได้ด้วยดี

แต่ก็ยังไม่พอครับ และช่วงนั้นคิดว่าอยากจะหาสำนักงานที่กทม. ไว้สักแห่งเพื่อให้น้องๆมีที่ทำงานเวลาขึ้นกรุงเทพ ก็ไปเวียนหาอยู่ ตึกชินฯ ที่ถ.วิภาวด ก็ไปดู แต่สู้ไม่ไหวครับตรม. ละ 400 ขึ้นไป ขอเช่าเขา 1 ตรม. ก็ไม่ได ให้เช่ากันเป็นร้อยตรม. เอาเงินที่ไหน โชคดี ได้มีโอกาสพบ ดร. รอม หิรัญพฤกษ์ ท่านเป็นผู้อำนวยการซอฟต์แวร์ปาร์ค  ไปคุยกับท่านเรื่องโครงการ  Hospital OS ว่าทำอะไรไปบ้าง ก็เกิดปวดปัสสาวะเดินไปห้องน้ำ พบห้องเก็บของหน้าห้องน้ำ ก็เกิดพุทธิปัญญา ว่าแค่นี้หละอยู่พอได้ และราคาค่าเช่าไม่น่าแพง (250 บาท/ตรม)  เนื้อที่ 11 ตรม. ก็เลยเรียนท่านว่า ท่านครับผมขอเช่าห้องเพื่อทำสำนักงานหน่อยครับ ท่าก็งง ให้พาไปดู แล้วก็ตกลงย้ายของรกๆในห้องออก ให้ผมเช่า เราก็ตกแต่งให้พอดและอยูู่ได้ ได้ทราบมาว่า ท่านชอบพาแขกไปดู ว่า "รู" ก็อยู่ได้

 กลับมาเรื่องความอยู่รอดต่อ ต้องเีรียนว่า ช่วงนั้นกดดันพอสมควร เพราะน้องๆเองก็เริ่มมีคำถามในใจว่า เราจะอยู่ต่ออย่างไร เพราะเมื่อเงินวิจัยหมดลง
เราจะแจกฟรีต่ออีกไหม
หรือเราจะขาย
หรือเราจะหาคนมาลงทุนเพิ่ม
หรือ เราจะเลิกแยกย้ายกันไป

    ทีมงานก็ช่วยกันออกความคิด โสทรก็ทำ CD linux ขายทางเวป คู่มือต่างๆก็ขายเพื่อได้เงินมาบ้าง แต่ดูยังไม่มีอนาคตเท่าไหร่ ประกอบกับกลุ่ม Linux ทั้งหลายพอได้ข่าว Hospital OS เป็นโปรแกรมแจกฟรี ก็เข้ามาตั้งกระทู้กันใหญ่ว่า

"ไม่ใช่ Open source จริง เพราะไม่ประกาศเรื่องลิขสิทธิ"

"ต้องเป็น GPL ไม่งั้นจะไม่มีใครอยากช่วยพัฒนาตามแนวทางของพวก Open source "

"หมอไม่กล้าจริง สงสัยจะแอบจิต พอติดตลาดก็ขายเอาเงินแน่"

สารพัด จนเบื่อจะตอบ สุดท้ายประกาศ GPL (อ่านได้ที่หน้าแรกของเวป www.hospital-os.com) แต่จนถึงวันนี้ก็ไม่้มีใครสักคนยื่นมือ อาสา มาช่วยเขียน code  แต่ก็เลิกบ่นไปได้

ผมคิดลองหาผู้ลงทุน (ตามตำราการเปิดธุรกิจใหม่ ต้องหาผู้ลงทุน ไม่ให้ใช้เงินตัวเอง เดี๋ยวหมดตัวคนเดียว) ได้มีโอกาสหิ้วกระเป๋าไปเดินหาบริษัทลงทุน (Venture capital) บรรยายให้เขาฟัง มีทั้งการวิเคราะห์ตลาด โอกาสต่างๆ แต่พอเขาถามกลับว่า

"เขาลงทุนเป็นเงินแล้วจะได้คืนกี่เท่า หรือกี่ % "

ก็บอกเขาไปว่า

"มันยังตอบไม่ได้ เพราะแนวคิดของธุรกิจแบบของผมนี้ เป็นการพึ่งพากันระยะยาว รายได้ได้มาจากการให้บริการหากเขาต้องการใช้บริการของเรา หากเขาไม่ต้องการเขาสามารถทำได้เองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย"


     เขาฟังแล้วก็อมยิ้ม (ไม่รู้ว่าปวดฟันหรือปวดหัว) และบอกว่า "โครงการน่าสนใจครับ แต่......."

ทางสกว. และมูลนิธิฯ อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านก็ห่วงว่าจะเอาอย่างไรต่อดี ทางสกว. ก็บอกว่าคงไม่สามารถสนับสนุนได้ต่อ เพราะไม่ใช่หน้าที่ ท่านก็ได้จัดประชุมร่วมกับผู้เกี่ยวข้องกระทรวงสาธารณสุขและสปสช. หลังจากที่ฟังผมบรรยายว่าเราไปทำอะไรมา และเชื่อว่าน่าจะเป็นประโยชน์ ก็ได้รับคำตอบว่า

 "โครงการน่าสนใจครับ แต่......."

 เคยเห็นคนเดินขายธูปตามบ้านไหมครับ ผมในช่วงนั้นและต่อจากนี้ก็ไม่ต่างกัน เดินไปนำเสนอ พร้อมความหวัง และคอตกกลับมา ไปมาทั่ว ไม่ว่าจะเป็น UNDP, AIT ทุกคนที่ฟังชื่นชม และพูดเหมือนกันว่า

"โครงการน่าสนใจครับ แต่......."

อยากรู้ไหมครับ แต่.... อะไร แน่นอนไม่ใช่ แต่ ช้า แต่ แน่นอน

แต่ขอไปหารือ หรือไปคิดดูก่อน

และทุกคนที่ผมไปพบ ท่าทางจะคิดช้าครับ เข้าใจว่า ณ วันนี้ ก็ยังคิดไม่อก ผมเลยยังไม่ทราบคำตอบเลย

สุดท้าย ผมก็คิดเองว่า

"ก็็หาเงินเอง ทำเอง สบายใจดี"


ติดตาม ตอนต่อไป กำเนิด iMed

 

คำสำคัญ (Tags): #hospital os
หมายเลขบันทึก: 120388เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2007 12:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อืม ผมนึกว่าจะไม่เขียนถึง iMed ซะอีก เพราะเป็น Blog ของ Hospital OS 

ไว้เดี๋ยวคราวหน้าผมจะส่งมาลงอีกครับ 555

ทำงานให้มีเงินเดือนมีกินมีใช้ ทำที่ไหนก็ทำได้ แต่ทำงานแล้วเกิดประโยชน์กับประเทศชาติบ้าง ที่นี่ทำได้คะ

นพ.พีรพงษ์ เต็งธนกิจ

ก่อนอื่น ต้องขอชื่นชมทีมงานของ หมอก้องที่ได้ทำอะไรเพื่อวงการสาธารณสุข  และประเทศไทยของเรา  ต้องยอมรับว่าเป็นทีมงาน ที่คงหาได้ยากในสังคมขณะนี้  ผมคงแสดงความคิดเห็นได้ไม่มากเพราะตัวเองประสบการณ์น้อย  เคยเป็นข้าราชการ(หมอ)ก็เป็นได้แค่12ปี  ไม่ได้ทนระบบราชการไม่ได้ แต่ที่ลาออกเพราะ คิดว่า อยากเป็นเจ้านายตัวเอง ทำในสิ่งที่ตัวเองและคนอื่นคิดว่าถูก  แต่พวกคุณรู้ไว้เถอะว่าบางครั้งสังคมก็ไม่ค่อยจะดูให้ละเอียดว่า ใครจะอยู่ยังไง  เราต้องดำรงชีวิตได้ พาครอบครัวให้อยู่รอด จุนเจื่อสังคม อยากทำความดีที่บางครั้งก็แสนยาก แต่ก็ต้องพยายาม  ท้อได้แต่อย่าถอย สักวันหนึ่งเราคงไปถึงสิ่งที่เราตั้งใจในชีวิต  วันนั้นเราก็จะภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ     ขอชื่นชมทีมงานอีกครั้ง

รออ่านตอนต่อไปอยู่นะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท