กินเลี้ยงขันโตก


ประเพณีการเลี้ยงขันโตก

ได้เข้าไปอ่านบล็อกของ อ.แป๋ว ได้เห็นภาพบรรยากาศของงาน KM ที่จ.เชียงใหม่ ก็รู้สึกประทับใจไปด้วยทั้งๆที่ไม่ได้ไปร่วมงาน ภาพในงานมีการเลี้ยงอาหารแบบขันโตก ซึ่งเป็นประเพณีของชาวล้านนาไทย มีแต่เมนูที่น่ารับประทานทั้งนั้น

พอพูดถึงขันโตก เลยทำให้อยากรู้ว่า ขันโตก คืออะไร ก็เลยหาข้อมูลเกี่ยวกับขันโตกซึ่งเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆ เป็นข้อมูลที่ไม่ละเอียดมากนักแต่ก็อยากนำเสนอให้เพื่อนๆชาวบล็อกได้อ่านกันค่ะ

ขันโตก หรือ โตก บ้างเรียกว่า สะโตก เป็นภาษาดั้งเดิมที่ชาวล้านนาไทยใช้เรียกภาชนะใส่อาหารที่ทำด้วยไม้ มีรูปทรงกลม โดยมากทำจากไม้สักท่อนใหญ่ๆ นำมาตัดให้พอเหมาะนำมากลึงกับเครื่องกลึงหรือเครื่องเคี่ยน เมื่อทำได้รูปแล้วจะทำเชิงหรือตีนเชิงเข้าไปลงรัก หรือทางหาง ซึ่งทางภาคกลางเรียกว่า ลงชาด เมื่อหางหรือรักแห้งแล้ว ก็นำมาใส่อาหารได้

ปัจจุบัน ขันโตก มีทั้ง ขั้นโตกไม้ และขันโตกหวาย การใช้งานขันโตก นอกจากจะใช้สำหรับวางถ้วยอาหารแล้ว ยังใช้เป็นภาชนะใส่ข้าวของอย่างอื่นด้วย เช่น ดอกไม้ธูปเทียน ผลไม้ เป็นต้น ทั้งนี้ภาชนะที่ใช้วางถ้วยอาหาร นอกจากจะใช้ขันโตกแล้วยังใช้กระด้งหรือถาดแบนแทน และเรียกว่า ขันเข้าขันโตก ถ้ายังไม่ได้วางถ้วยอาหารเรียกว่า ขันโตก เมื่อวางถ้วยอาหารแล้วก็มักจะเรียกว่า ขันเข้า หรือ สำรับอาหาร

มีผู้รู้ได้แบ่งขันโตกออกเป็น 3 ขนาด ดังนี้

ขันโตกหลวง หรือ สะโตกหลวง ทำด้วยไม้ขนาดใหญ่ มีความกว้างประมาณ 25 - 50 นิ้ว นิยมใช้การในราชสำนักในคุ้มในวังของเจ้านายฝ่ายเหนือทั่วไป รวมทั้งใช้ในวัดวาอารามด้วย ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับยศศักดิ์ และความยิ่งใหญ่ของชนชั้นปกครอง

ขันโตกฮาม หรือ สะโตกทะราม เป็นขันโตกขนาดกลาง ความกว้างประมาณ 17 - 24 นิ้ว ( คำว่า ฮาม หรือ ทะราม หมายถึงขนาดกลาง ) มีลักษณะการทำเหมือนขันโตกหลวง มักใช้ในครอบครัวขนาดใหญ่ มีอันจะกิน เช่น คหบดี

ขันโตกหน้อย เป็นขันโตกขนาดเล็ก ประมาณ 10 - 15 นิ้ว มีลักษณะการทำเหมือนขันโตกหลวง และขันโตกฮาม โดยมากมักใช้ในครอบครัวเล็ก หรือผู้ที่รับประทานคนเดียว

ประเพณีการเลี้ยงขันโตก เป็นวัฒนธรรมประเพณีการรับประทานอาหารแบบหนึ่งของชาวภาคเหนือ ซึ่งนิยมปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณ เป็นรูปแบบการรับประทานโดยการนั่งบนพื้นเรือน จัดสำรับอาหารใส่ภาชนะรองที่เรียกว่า ขันโตก หรือ โตก และมีการแสดงพื้นบ้านของชาวเหนือ เพื่อใช้ในการต้อนรับแขกคนสำคัญ เช่น การฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #ขันโตก
หมายเลขบันทึก: 119944เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2007 11:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 10:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ได้ความรู้เพิ่มเติมมากขึ้นค่ะ ขอบคุณค่ะ

ปกติรู้จักแต่ว่าขันโตกเฉยๆ ค่ะ

ถ้าเป็นอิสานบ้านเราน่าจะมี พาแลง ใช่มั้ยค่ะ

ขอบคุณ อ.แป๋ว มากค่ะ ที่มาเยี่ยมเยียนบล็อก

คำว่า พาแลง เคยได้ยินเหมือนกันค่ะ แต่รู้แค่ว่า เป็นประเพณีการเลี้ยงอาหารพื้นบ้านของชาวอีสาน มีการแสดงฟ้อนรำพื้นบ้าน

ถ้ามีข้อมูลมากกว่านี้จะนำมาลงในบล็อกให้เพื่อนๆได้อ่านเป็นความรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท