คำสอนของครอบครัว


ภูมิปัญญาคำสอน

                คำสอนของครอบครัว เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ทางนักวิจัยชุมชน โครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่านใช้เป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อสืบค้นเรื่องราว คำสอน ดี ๆ ตลอดถึงหลักคิดคุณธรรมที่เราใช้ในการดำเนินชีวิต มาจนถึงทุกวันนี้ เราพบว่าการสอนลูกหรือคนในครอบครัวต้องใช้กระบวนการสอนแบบมีส่วนร่วมของคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย หรือ พระสงฆ์ ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน ก็ต้องเข้ามามีส่วนในการสั่งสอนลูกหลานคนในชุมชนให้มีหลักเพื่อยึดถือเป็นแนวปฏิบัติสืบทอด จากรุ่นสู่รุ่น จากการสืบค้นโดยใช้เครื่องมือดังกล่าวทำให้เราพบว่า การสอนของพ่อแม่หลายครั้งพ่อแม่มักจะสอนด้วยการพูด บอกกล่าวให้เราฟัง และหลายครั้งพ่อแม่มักจะพาเราลงมือปฏิบัติไปด้วย และหลายเรื่องทำให้เรารู้ และทำได้จริง และเปลี่ยนแปลงชีวิตให้เราเป็นคนดีได้จนถึงทุกวันนี้

 

                สอนด้วยการพูด บอกเล่า พ่อแม่มักจะพูดและย้ำบ่อย ๆ เพื่อต้องการให้ลูกซึมซับ และนำกลับไปคิด และเป็นแนวทางใช้ปฏิบัติในการดำเนินชีวิต  ซึ่งการสอนด้วยการพูดให้ฟังบ่อย ๆ พ่อแม่ก็จะใช้คำสอนที่เหมาะสมตามวัยของลูก เช่นวัยเด็ก จะหยิบยกนิทานมาเล่าให้ลูกฟัง แต่ในเนื้อหาของนิทานก็จะแฝงด้วยคำสอนอาจจะเป็นการสอนเรื่องความกตัญญูต่อพ่อแม่ หรือการน้อบน้อมต่อธรรมชาติ พอโตขึ้นเข้าสู่วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ต้องทำงานเตรียมสร้างฐานะครอบครัว พ่อแม่มักจะบอกเล่าถึงเรื่องราวความทุกข์ยากของครอบครัวในสมัยก่อนให้คนรุ่นลูกหลานได้ฟัง เพื่อต้องการให้ข้อคิดเรื่อง การสู้ชีวิตด้วยสติปัญญา ขยันทำมาหากิน รู้จักประหยัด อดทน อดออม มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ต่อสังคม มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน การสอนด้วยการพูดหรือบอกเล่าเรื่องเล่านี้ มักจะใช้โอกาสตอนกินข้าวมื้อเย็นหรือช่วงก่อนนอน เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ทุกคนว่างเว้นจากการทำงานและเป็นเวลาที่ทุกคนอยู่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตากัน

 

                หรือสอนด้วยการใช้ สุภาษิต คติสอนใจเช่น  คำว่าอยู่บ้านไหนให้เอาไม้บ้านนั่นเป็นตอก คำสอนนี้พ่อแม่มักจะใช้สอนลูกผู้ชาย เมื่อไปเป็นเขยบ้านอื่น ก็ต้องปฏิบัติตัวตามบ้านนั้น ส่วนคำสอนที่มักใช้สอนลูกผู้หญิง เช่น ลูกผู้หญิงต้องลักจดลักจำ มีความหมายว่า ลูกผู้หญิงต้องเป็นคนชอบสังเกต จด จำ ในเรื่องราวดี ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกิริยามารยาท การพูดจา การแต่งตัว  ดูแลร่างกาย ตลอดถึงการหุงหาอาหาร   นอนตื่นเช้าจะได้กินผักตั้งปลาย นอนตื่นสายจะได้กินผักตั้งเก้า  มีความหมายบอกถึงความขยันหมั่นเพียร ลูกผู้หญิงจะถูกปลูกฝังให้ตื่นแต่เช้าเพื่อทำหน้าที่งานบ้านงานครัว  ให้คนในครอบครัว ถ้ามัวแต่นอนตื่นสายจะไม่ทันคนอื่น ปลาตัวเดียวกินได้แปดส้า (ส้า =ตะกร้า)มีความหมายบอกถึงการปลูกฝังให้เป็นคนเอื้ออาทรต่อคนอื่น รู้จักแบ่งปันให้ญาติมิตร แบ่งปันเพื่อทำบุญ

 

                สอนด้วยการพูดและลงมือปฏิบัติ   ภาพที่เราเห็นจนชินตาเมื่อเดินเข้าสู่หมู่บ้านห้วยละเบ้ายา วิถีพี่น้องชนเผ่าเมี้ยน มักจะเห็น แม่ญิงเมี้ยนนั่งล้อมวงปักผ้าลวดลายเอกลักษณ์ประจำเผ่าที่ถือว่าเป็นงานที่แม่ญิงเมี้ยนเกือบทุกคนทำได้และได้รับการสอนผ่านการปฏิบัติจากผู้เป็นแม่ตั้งแต่วัยเยาว์  หรือแม้กระทั่งการออกไปทำงานในไร่ หลายครอบครัวจะเอาลูกไปด้วย ลูกที่สามารถใช้ทำงานได้ก็จะแบ่งหน้าที่เบา ๆ ให้ทำเช่น ดายหญ้าข้าวไร่ในที่ร่ม ๆ ใกล้ ๆ ที่พัก ลูกทำบ้างเล่นบ้างตามประสาพ่อแม่ก็ไม่ดุด่ามักจะสอนลูกด้วยวิธีการพาลูกทำ น้องตัวเล็กสุดในครอบครัวพ่อแม่ก็พาไปด้วย แม่เป๊อะลูกน้อยไว้หลัง แม่ก็ทำงานไปด้วยเลี้ยงลูกไปด้วย ผู้เป็นพ่อ-แม่ บอกว่าบรรพบุรุษได้บอกกลับเราว่า แม้เราจะมีความรู้จากภายนอก มีหน้าที่การงานทำที่ดีแล้วก็ตาม ซักวันหนึ่งเมื่อเรากลับมาบ้านเกิดเราต้องทำสิ่งที่เป็นวิถีชีวิตของเราได้

 

                การสอนลูกผู้หญิงให้รู้จักทำงานบ้าน ทำงานในครัว แม่มักจะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ผ่านการปฏิบัติให้ลูกเห็นอยู่เป็นประจำ เช่น วัฒนธรรมคนเหนือกินข้าวเหนียวเป็นหลัก แม่จะทำหน้าที่ตื่นแต่เช้าเพื่อนึ้งข้าว ลุกนึ้งข้าว ขณะที่แม่ตื่นแม่มักจะปลุกลูกให้ตื่นและใช้ลูกเป็นลูกมื้อในการนึ้งข้าว โดยเริ่มต้นตั้งแต่การก่อไฟ การใส่น้ำหม้อนึ้ง  การซาวข้าว การเอาข้าวใส่ไห จนถึงขบวนการสุดท้ายคือรอเข้าสุกเก็บข้าวใส่กระติ๊บข้าว  และแม่จะบอกทุกครั้ง  การปฏิบัติต่อข้าวต้องทำด้วยความสะอาด ระมัดระวัง ไม่ให้ข้าวตกหล่น และที่สำคัญต้องทำด้วยความเคารพ เพราะ ข้าวมีบุญคุณต่อชีวิตคนเรา

                 และนี่เป็นเพียงตัวอย่างคำสอนที่พวกเรานักวิจัยชุมชน โครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน ได้ใช้เวลาในการสืบค้นข้อมูลจนพบว่ามีเรื่องราวคำสอนดี ๆ อีกมากมายที่ทำให้เราได้ยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินชีวิตมาจนถึงทุกวันนี้  และมุ่งหวังเหลือเกินว่า พ่อแม่สมัยใหม่ควรให้โอกาสลูกในการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง โดยมีพ่อแม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นพี่เลี้ยงคอยโอบอุ้มและให้คำสั่งสอนที่ดี เป็นหลักธรรมในการใช้ดำเนินชีวิตข้างหน้าของพวกเขาเหล่านี้ 

อนงค์  อินแสง  คนเล่าเรื่อง๑๗ กรกฎาคม ๒๕๕๐

หมายเลขบันทึก: 119516เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2007 13:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท