มีเรื่อง "เหล้า" มาเล่าให้ฟัง...


ทดสอบใจ...กินข้าว...เล่านิทาน...
                 ตอนแรก

               ''สุราเขาแปลว่าเหล้า  กินแล้วเมาฟ้อนเตอะฟ้อนเติง  เขาเรียกสุราลำเพลิน ๆ'' ครับ...คอสุราทั้งรุ่นเก่า-รุ่นใหม่ คงทราบดีถึงประสิทธิภาพของมัน  ที่แน่ๆกินเมื่อไรเป็นเมา  กินมากก็ขาดสติ ไม่กินก็ไม่ได้ "มันส่มแข่ว" ภาษาอีสานประมาณว่า มันเข็ดฟันหรือเปรี้ยวปากอะไรทำนองนี้  ก็ว่ากันไป  ผมได้ยินมาว่า"กรึ๊บก่อน" จะกินข้าวอร่อยนะ

               ทีนี้ไอ้คำว่า "สุรา" มันมีที่มาที่ไปอย่างไร ท่านทราบกันรึเปล่า...แต่คิดว่าหลายท่านที่อยู่ทางแถบ "อีสาน" อาจจะเคยได้ยินคนเฒ่าคนแก่เขาเล่าให้ฟังกันบ้าง...ตัวผมเองก็ได้ยินมาตั้งแต่สมัยอยู่ชั้น ป.3 แล้ว  สมัยนั้นชอบฟังนิทานมาก  หยุดเสาร์-อาทิตย์ก็ไปตกปลา โดยจะไปพร้อมๆกับลุงคนหนึ่ง แกชื่อ "ลุงดวง" ลุงดวงแกเป็นคนสุรินทร์มาลงหลักปักฐานที่อุดรใกล้ๆกับบ้านผม (สมัยนั้น) แกดื่มเหล้าเป็นประจำ (ทุกวัน) แต่ก็ทำมาหากินเก่งโดยเฉพาะถ้าอยากฟังนิทานลุงดวงมีให้ฟังตลอด แกเคยถามผมว่าอยากฟังเรื่องผีมั๊ย? ผมบอกไม่ฟังหรอกครับ(กลัวผีมากตอนเด็ก) แต่แกก็เล่าให้ผมฟังจนได้(เดี๋ยวจะเล่าเรื่องผีให้ฟังหลังจบเรื่องเหล้า)

              "บักหำน้อย" ไปโกยไส้เดือนมาทำเหยื่อหน่อย...แกใช้ผมไปโกยไส้เดือนที่อยู่ในนา เขาเรียกไส้เดือนน้ำหรือไส้เดือนนา   ไส้เดือนนา  ตัวเล็กๆ ปลาชอบมากทั้งปลาหมอ ปลาตะเพียนฯลฯ ตกปลาไปสัก 2 ชม. ลุงดวงแกก็ได้ปลาครึ่งตะฆ่อง ผมได้ 7-8 ตัว

               "เที่ยงแล้ว" แกมองขึ้นไปบนท้องฟ้าดูอาทิตย์ว่าตรงหัวรึยัง ถ้าตรงก็แสดงว่าเที่ยงแล้ว คนเฒ่าคนแก่ใช้วิธีนี้กันทั้งนั้น ถ้าอยากรู้เวลา...

                ไปกินข้าวกันก่อน เสียบคันเบ็ดกับคันนาไว้ ผมได้ยินยังกับเสียงสวรรค์(หิวข้าวจนตาลายแล้ว) อาการดีใจหลาย(ดีใจหลายภาษาอีสานแสดงอารมณ์ดีใจมาก) เดินไม่ระมัดระวังตกคันนาล้มลุกคลุกคลาน

                 ตอนที่สอง

                เดินไม่ระมัดระวังตกคันนาล้มลุกคลุกคลาน ต้องเสียเวลาไปอาบน้ำล้างเนื้อ ล้างตัว ลุงแกถามผมว่าเป็นอะไรบ้างรึเปล่า ผมบอกว่าไม่เป็นอะไรมากหรอกครับ...มันลื่น(กลัวเสียฟอร์ม) สมัยนั้นไม่รู้หรอกครับว่า "ฟอร์ม มันคืออะไร" มา...กินข้าวกันได้แล้ววันนี้ลุงห่อข้าวกับปลารดปิ้งและก็แจ่วบอง(ปลาร้าสับ) มาด้วย...

                ผมไม่สนใจคำพูดของลุงแกสักเท่าไรหรอกครับ เพราะแม่ห่อข้าวกับหมูปิ้งให้(สมัยนั้นอาหารประเภทนี้จะปิ้งกันซะมากกว่าทอด ถ้าอยากทอดก็วิ่งไปซื้อน้ำมันหมูแค่บาทเดียวก็ได้แล้ว)

               โอ้ว!ล่อหมูปิ้งเลยมึง! (นี่ขนาดกำลังจะกินข้าวนะครับ) แต่ก็ตอบแกไปพอแล้วๆว่า "แม่ห่อให้" (พอแล้วๆก็อีสานอีกนั่นแหละ ความหมายก็ประมาณว่า ให้มันลุล่วงไป)

                ผมก็ตั้งหน้าตั้งตากินข้าว เพราะเหลือเวลาอีกไม่มาก แม่บอกว่า บ่ายๆให้กลับบ้านมาดูน้องด้วย(มาช่วยแม่เลี้ยงน้อง) ลุงแกก็กินเอื่อยไปตามประสาคนแก่(เอื่อย ก็คือช้าๆ) ผมกินอิ่มก่อนแกอีกเพราะต้องรีบกิน(หมูปิ้งจะหมดก่อน)

                ผมเดินไปดูคันเบ็ด ยกคันเบ็ด ก็เห็นว่าเหยื่อหมดแล้ว ว่าจะเกี่ยวไส้เดือนใหม่...สักหน่อย

              "หำ" มาเอากระบอกไปหาตักน้ำมาให้ลุงหน่อยเร็ว...ได้ยินแบบนี้ผมอยากจะวิ่งกลับบ้านจังเลย ปลาก็ตกได้ไม่กี่ตัว แถมเวลาก็เหลือน้อยเต็มที มิหนำซ้ำนิทานก็ไม่ได้ฟัง ก็เพียงแค่คิดเท่านั้น ลึกๆก็ยังห่วงลุงอยู่...สงสารแก

                 ตอนที่สาม

                ผมเดินไปรับกระบอกไม้ไผ่จากลุงแก แล้วก็เดินไปหาแหล่งน้ำที่มันใสๆหน่อย ใช้ปากเป่าเศษหญ้าเศษผงที่มันลอยเหนือน้ำ เสร็จแล้วก็เอากระบอกไม้ไผ่ตักน้ำขึ้นมา(สมัยนั้นน้ำตามนา ตามหนอง กินได้ เพราะไม่มีสารเคมีเจือปนเหมือนสมัยนี้) ยื่นกระบอกไม้ที่มีน้ำใสเย็นอยู่ข้างในให้แก

                แกยกขึ้นดื่มพออิ่มแล้วก็วางกระบอกไว้ข้างๆขอนไม้แห้งที่นั่งพิง แก้ห่อผ้าขาวม้าออกหยิบห่อยาสูบขึ้นพัน ผมยืนอยู่สักพักแล้วก็กำลังจะเดินไปตกปลา...นั่งลงก่อนจะเล่านิทานให้ฟัง...เสียงแกร้องทักขึ้น

               ได้ยินลุงพูดแบบนี้ก็ค่อยมีกำลังใจขึ้นมาหน่อย...ผมนั่งลงใกล้ๆแก... วันนี้จะเล่าเรื่อง "เหล้า" ให้ฟัง... อยากฟังไหม?แกถาม... อยากฟังครับ...ผมตอบ

               นานมาแล้วรุ่นก่อนลุงอีก มีสองสามีภรรยาชื่อ  อีสูกับบักลา ได้ไปหาของป่าในป่ากัน  เดินๆไปก็ได้ยินเสียงนกร้องเจี๊ยวจ้าวไปหมด  บางตัวก็จิกตีกันบ้าง  บางตัวก็บินร่อนร้องเสียงใส สนุกสนานเฮฮา  นกเป็นร้อยๆมาชุมนุมอยู่ตรงนี้กันได้อย่างไร   แม้กระทั่งนกแร้ง (สมัยนั้นผมยังเห็นแร้งมากมายเวลามีสัตว์ตาย เราก็จะเห็นแร้งมาจิกกินซากสัตว์ตายแทบทุกครั้ง)  แล้วบางตัวก็บินขึ้นไปคาคบไม้ใหญ่ แล้วก็บินลงมา เปลี่ยนกันเข้า เปลี่ยนกันออกอยู่ไม่ขาดสาย  ฝ่ายบักลาผู้เป็นสามีก็ให้เกิดความสงสัย ก็เลยปีนขึ้นไปดูคาคบไม้ ก็ไปเห็นเมล็ดข้าวเปลือกเต็มคาคบไม้ไปหมด  และมีน้ำขังอยู่ด้วยแถมมีกลิ่นหอมแปลกๆ

                 ตอนที่สี่

                มีกลิ่นหอมแปลกๆ "บักลา" ก็ยิ่งสงสัยเข้าไปใหญ่ ก็เลยเอานิ้วจิ้มลงไปในน้ำที่ขังอยู่...แล้วก็เอามาชิมดู เอ!...รสชาดมันก็ไม่เลวนี่หว่า...บักลาก็เลยใช้ใบไม้ทำเป็นกรวยตักกิน และไม่ยอมลงจากคาคบไม้สักที...กินมากๆเข้าก็เมาสิครับ! เพราะเมล็ดข้าวที่นกคาบขึ้นไปไว้ ผสมกับน้ำเมื่อได้ที่มันก็คล้ายสาโทดีๆนี่เอง...(ก็เหมือนอุสาวภูไท เอามาให้หนุ่มย้อกินนั่นแหละ...พอหนุ่มย้อกินมากๆก็เมาสิครับ! พอเมาก็นอนยาว...ก็เสร็จหนุ่มอีสานละซิ(แถว ๆสารคาม...จีบสาวภูไทต่อ...555)

                ฝ่ายอีสูผู้เป็นภรรยา อดรนทนไม่ไหว ก็เลยปีนขึ้นไปตามบักลาผู้เป็นสามี ก็ขอลองกินบ้าง...ผล...ก็เมาสิครับ ทั้งอีสูและบักลาจนแทบจะพากันลงจากคาคบไม้ไม่ไหว

                พอลงมาได้ก็พากันฟ้อนเตอะฟ้อนเติง (ฟ้อนรำ) เมาฟ้อนรำพันกันนัวเนีย...ไม่รู้ใครเป็นผัว...ใครเป็นเมีย...

                 ตอนที่ห้า

               ฝ่ายชาวบ้านกลับจากไร่จากนา  เดินผ่านมาก็ให้นึกแปลกใจผัวเมียคู่นี้ว่า...ไปกินอะไรกันมาน้อ!  ถึงได้พากันสนุกสนานอย่างนี้ พอถามไถ่ได้ความ  ก็พากันขึ้นไปกินบ้าง... จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสิบ...จนพากันเมาทั้งหมู่บ้านนั่นแหละครับ!  ฮิ ๆ

               พอพากันส่างเมาก็เลยมาคุยกันว่า...เอ...!พวกเราจะตั้งชื่อไอ้น้ำที่พากันกินว่าอะไรดีนะ!  ต่างคนก็ต่างตั้งชื่อกันไปคนละแบบ  แต่ผลสุดท้ายก็เลยพากันตั้งชื่อให้เกียรติแก่คนที่ค้นพบก็คือ "อีสูกับบักลา" นั่นแหละเลยตั้งชื่อว่า... "สูลา" ... แต่ต่อมาก็ได้แผลงมาเป็น "สุรา"  มาจนถึงทุกวันนี้

               เป็นไงมึง! อยากฟังอีกมั๊ย? ลุงดวงแกถาม...ไว้วันหน้าลุง...ผมหัวเราะจนเจ็บท้องหมดแล้ว(ผมหัวเราะช่วงผัวเมียพากันเมาและก็พวกชาวบ้านพากันเมาทั้งหมู่บ้าน) ผมต้องรีบกลับบ้านไปช่วยแม่เลี้ยงน้อง...ผมบอกลุงไป

                เออ! ลุงก็จะกลับเหมือนกัน ชัก "ส่มแข่ว" ขึ้นมาแล้ว...ปากแกก็พูดไปมือแกก็เทปลาออกจากตะฆ่อง...แล้วเลือกตัวเขื่องๆไป 5-6 ตัวที่เหลือมึงเอาไป...ให้แม่กับน้องมึงกิน...

               เดินมาถึงทางเข้าหมู่บ้านผมและลุงต้องแยกกัน  ลุงจะถึงบ้านก่อน...

               ลุงครับ! ขอบคุณมากครับ...สวัสดีครับ!  ผมกล่าวลาแกเออ...ไหว้พระบักหำ...  เสาร์-อาทิตย์   มึงค่อยมาอีกเด้อ...ครับลุง  หลังจากแยกทางกับลุง  ผมต้องเดินไปอีกสัก 300 เมตรกว่าจะถึงบ้าน

               300เมตร เป็นระยะทางที่ผมมีความสุขมาก...ปลาก็ได้เยอะ...นิทานก็ได้ฟัง...เดินยิ้มแก้มบาน...อยากจะถึงบ้านเร็วๆ  เพราะจะได้ "โชว์" ผลงาน  จะได้อวดชาวบ้าน...อวดแม่...(ตามประสาเด็กๆ)  ว่า... "หากินหมาน" "หมาน" หมายถึงโชคดี...

                ผมก็บอกแม่ไปว่าลุงฝากปลามาให้ด้วย...ถ้าท่านเป็นผมจะบอกแม่ว่า  ลุงฝากปลามาให้กี่ตัวดีครับ?

                ก็เป็นเรื่องราวสมัยเด็กๆของผมในวิถีชีวิตแบบ "บ้านนอก" ที่เขาเรียกกัน  ถ้าถามผมว่า... "บ้านนอก" กับ "ในเมือง" อยากอยู่ที่ไหน? ผมตอบโดยไม่ต้องคิดเลยว่า... "อยากอยู่บ้านนอก" เพราะอะไร?

                ก็เพราะผมมีความสุข...อยู่กับธรรมชาติ...อยู่กับวิถีชีวิตแบบพอเพียง...อยากกลับไปหาลุงอีกครั้ง...แต่ก็ต้องเสียใจ...ท่านจากผมไปแล้ว...คงเหลือไว้ในความทรงจำของผมที่มีต่อลุง...

                เฮอ...! มีทั้งตลก...มีทั้งสลด...ยังไงกันนี่...

         วันนี้มีอะไรเป็นกับแกล้มบ้าง...ฮิ ๆ ๆ

                สวัสดีครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 118996เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2007 08:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 21:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่เหมือนอยู่ในบรรยากาศจริง    ภาษา ทางการจัดการความรู้ เรียกว่า   เรื่องเล่าเร้าพลัง 
  • ยอดเยี่ยมมาก  ธงชัย  
  • ขอชมเชยมา  ณ   ที่นี้
  • ขอบคุณครับจารย์ที่ให้เกียรติแนะนำ
  • รู้สึกมีกำลังใจอย่างยิ่ง
  • ก็จะขอ...  เดินตามท่านต่อไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท