เอะอะ...ทหาร ก็อ้างกฎหมาย แต่รู้นะว่ากำลังคิดอะไร !


สมคบคิด

โดยหลักของ "กฎหมาย" เมื่อถูกบัญญัติขึ้น และบังคับใช้ ก็ย่อมก่อให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด เกิด "สิทธิ" ส่งผลให้ฝ่ายที่เหลือมี "หน้าที่" ต้องปฏิบัติต่อฝ่ายแรก ตัวอย่างเช่น เมื่อใดที่ลูกหนี้ผิดนัด กฎหมายก็ย่อมก่อสิทธิคุ้มครองให้เจ้าหนี้สามารถติดตามทวงถาม ไปจนถึง สามารถฟ้องร้องบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ขายทอดตลาด ให้ได้เงินไปชดใช้หนี้แก่ตน

เมื่อสถาบันทหาร "ดัน" (ไม่อยากใช้คำว่า ทะลึ่ง) ใช้ "กำลัง" เข้าจัดการ กับกลุ่มอำนาจเก่า เมื่อ 19 ก.ย. 49 จนหัวขบวนต้องถูกอัปเปหิออกไปจากบ้านจากเมือง ครั้นทหารจะอ้างสิทธิตามกฎหมายธรรมดาทั่ว ๆ ไป คงไม่เพียงพอที่จะสามารถจัดการ กับกลุ่มอำนาจเก่า เพราะในที่สุด เมื่อตนต้องลงจากหลังเสือ ก็อาจถูกทวงถามตามแก้แค้น หรือเช็คบิลล์ จากกลุ่มอำนาจเก่า ซึ่งมีโอกาสจะหวนคืนเข้ามาบริหารบ้านเมืองอีกครั้งหนึ่งได้ ในอีกไม่ช้าก็เร็ว จึงต้องหาทางให้ตนได้รับ "สิทธิพิเศษ" เพื่อป้องกันปัญหานี้ ดังนั้น จึงมีข่าวว่า พล.อ.สนธิ ฯ กำลังตัดสินใจจะลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะใกล้ปลดเกษียณ และมีสิทธิเป็นตัวเต็งตำแหน่งนายก ฯ และเกิดกระแสสังคม ทั้งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน ก็เกิดมีกระแสข่าวเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ อนุมัติหลักการของร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ถูกผลักดันอย่างเร่งรีบ เมื่อ 19 มิ.ย. 50 ตามข้อเสนอของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้ส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณา เพื่อเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากหลาย ๆ ฝ่าย รวมถึงฝ่ายที่เคยเห็นดีเห็นงาม กับการทำรัฐประหารเอง ก็ยังส่งสัญญาณว่า รัฐบาลไม่ควรดันทุรัง กระทำใด ๆ อันเป็นการสวนกระแส  เพราะอาจก่อให้เกิดผลบานปลายกลายเป็นปัญหา ที่กลุ่มอำนาจเก่าจะฉกฉวยหยิบยกเอาไปอ้าง เพื่อใช้ถล่มทำลายให้ต้องลงจากอำนาจอย่างไม่สง่างามด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อันประกอบไปด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาพันธ์นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักหนังสือพิมพ์ภูมิภาคแห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุ และโทรทัศน์ไทย สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วมคัดค้าน เพราะได้พิจารณาเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้ว มีความเห็นร่วมกันว่า รัฐบาลควรพิจารณายุติการเสนอร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
      
1. บทบัญญัติของกฎหมายฉบับนี้ มีความขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 มาตรา 3 รวมทั้ง ร่างรัฐธรรมนูญแห่ง พ.ศ.2550 ที่กำลังอยู่ระหว่างขั้นตอนการลงประชามติ ในหมวดว่าด้วยเสรีภาพของปวงชนชาวไทยอย่างชัดแจ้ง
      
2. กระบวนการในการบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งๆ ที่เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจบุคคลหรือคณะบุคคลที่ไม่ได้มาจากกระบวนการเลือกตั้ง จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจ อย่างกว้างขวางโดยปราศจากการตรวจสอบ ดังนั้น การตรากฎหมายลักษณะนี้ จึงควรกระทำในช่วงเวลาที่มีรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
      
3. เนื่องจากกฎหมายที่ให้อำนาจฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลในการดำเนินการ กรณีเกิดภัยคุกคามด้านความมั่นคงต่อประเทศนั้น อาทิ พ.ร.ก.การบริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือกฎอัยการศึก ย่อมเพียงพอต่อการนำมาใช้ควบคุม สถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามทางความมั่นคงได้อยู่แล้ว การพยายามออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าว ในช่วงที่ประเทศอยู่ระหว่างการมีรัฐบาลชั่วคราว อาจทำให้เกิดเงื่อนไขความไม่พอใจของกลุ่มที่ต้องการขัดขวางกระบวนการปฏิรูปการเมืองที่กำลังดำเนินไปได้ด้วยดี โดยการกล่าวหาว่ารัฐบาลนี้ สนับสนุนให้มีการสืบทอดอำนาจของกลุ่มเผด็จการทหารที่ยังคงอำนาจในการควบคุมสถานการณ์ด้านความมั่นคงของประเทศอยู่ในขณะนี้

หมายเหตุ รัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2549 มาตรา 3 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาค บรรดาที่ชนชาวไทยเคยได้รับความคุ้มครองตามประเพณีการปกครอง ประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และตามพันธกรณีแห่งประเทศ ที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว ย่อมได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้

ปรากฏการณ์เช่นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของสถาบันทหาร ที่ต้องการลงจากหลังเสือด้วยความสง่างาม และจะต้องป้องกันมิให้ตนต้องถูกเสือจับกิน ไม่ว่าในภายภาคหน้าเสือนั้นจะหิวโหยสักเพียงใดก็ตาม ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพิเคราะห์ให้ลึกซึ่งถึงเจตนารมณ์ เพราะอันโตนิโอ กรัมชี ได้เคยกล่าวไว้ว่า Optimist in our Heart, Pessimist in our Mind หรือ จงทำให้ "ใจ" มองสรรพสิ่งในแง่ดี แต่ในชั้น "จิตใจ" ควรฝึกต้องมองสรรพสิ่งนั้น ในแง่ร้ายไว้ด้วย

ลองมามองเรื่องนี้ ในแง่ร้าย ๆ กันบ้าง

1. ต้องการสืบทอดอำนาจ เหตุผลนี้พอจะยอมรับได้ เพราะประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้แล้วว่า อำนาจเก่า ย่อมต้องการแก้แค้นเอาคืน

2. ต้องการ "กอบกู้" อำนาจระบอบอำมาตยาธิปไตย (Bureaucratic Polity) ที่ถูกลัทธิทุนนิยม ยึดครองพื้นที่ นับแต่ที่ได้มีการทำรัฐประหารโดย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นต้นมา จนกระทั่ง ได้พัฒนากลายเป็นทุนนิยมสามานย์ ในยุค พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่ได้สวาปามทรัพย์สินของชาติ จน "ปากมันแผลบ"

3. เมื่อกอบกู้ได้ ก็ต้องพยายาม "รักษา" ให้มั่นคง โดยพยายามอ้างอิงหลักการจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช (Absolute Monarchy) ไปใช้ประกอบด้วย เพื่อให้มีความชอบธรรม (Legitimacy) ที่จะช่วงชิงพื้นที่คืนจากทุนนิยมได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่จะได้ยินข่าวทำนองว่า รัฐบาลทหารอ้างเบื้องสูง  หรืออ้างแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนยอมรับแนวทางของตนได้ง่ายยิ่งขึ้น

4. เมื่อรักษาได้มั่นคงได้แล้ว ก็ต้องพยายาม "ขยาย" ให้อำนาจนั้นแผ่สยายออกไปทั่วอาณาจักร เหมือนหนวดปลาหมึก ลักษณะเครือข่าย (Network) ครอบงำระบบราชการ แทนปลาหมึกตัวเก่าที่บริเวณหัวคือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ฯ เคยใช้ทั้งอำนาจ และทั้งเงิน ลำเลียงไปตามระบบเครือข่าย ซึ่งผลคือ สามารถยึดครองพื้นที่ได้สำเร็จเรียบร้อยเป็นตัวอย่างมาแล้ว

5. ช่องทางที่จะกอบกู้ รักษา และขยายอำนาจดังกล่าวนั้น นอกจากจะพึ่งพากฎหมายแล้ว ยังต้องพึงพา "ทุน" ปัญหานี้แก้ไขไม่ยาก เพราะอำนาจย่อมทำให้ทุนไหล่บ่าเข้ามาได้เป็นจำนวนมาก ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้อำนาจอันมิชอบ (Abuse Power) ซึ่งแนวโน้มปรากฏการณ์ "สมบัติผลัดกันชม" กำลังจะเกิดขึ้นแบบในยุคอำนาจเก่า ในอีกไม่ช้านี้แน่นอน ตามแนวคิดของ Lord Acton ที่กล่าวว่า Power tends to Corrupt, Absolute Power Corrupts Absolutely หรือแปลด้วยภาษาชาวบ้านได้ว่า เพียงแค่ "อำนาจ" ก็มีแนวโน้มจะทำให้เกิดการฉ้อราษฎร์บังหลวงแล้ว แต่ถ้าเป็นอำนาจ แบบ "เบ็ดเสร็จเด็ดขาด" ก็ฟันธงได้เลยว่า การฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้นต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนที่สุด ซึ่งการพยายามเสนอกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้ตนมีอำนาจนั่นเอง

ผู้เขียนรู้อย่างนี้ จึงอยากถามผู้อ่านว่า รู้แบบแปลกแตกต่าง หรือต่อยอด สิ่งใดจากตรงนี้บ้าง

หมายเลขบันทึก: 118587เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2007 11:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤษภาคม 2012 16:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท