กลุ่มรวมมิตร ศูนย์การเรียนรู้ดอกคำใต้-ศรีวิราช อำเภอดอกคำใต้
กลุ่มรวมมิตร ศูนย์การเรียนรู้ดอกคำใต้-ศรีวิราช อำเภอดอกคำใต้ จังหวัดพะเยา

เป็นอะไรไปเศรษฐกิจเมืองไทย


ฟองสบู่กำลังจะแตก

advertisement

ตลาดหุ้นปักหัว น้ำมันราคาพุ่ง ความเชื่อมั่นประชาชนหด สัญญาณบอกอะไร

ภาวะตลาดหุ้นขณะนี้ ต้องถือว่าเข้าขั้นวิกฤต และเป็นวิกฤตเกิดจากความเชื่อมั่น ในแนวโน้มทางเศรษฐกิจและการลงทุน นักลงทุนจึงพากันเทขายหุ้นทิ้ง ความตกต่ำของตลาดหุ้น ไม่เพียงแต่สร้างความเสียหาย จำกัดเฉพาะนักลงทุนจำนวน 2-3 แสนคนเท่านั้น แต่จะส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อนักธุรกิจ นักลงทุนและประชาชนในวงกว้าง เพราะตลาดหุ้นเป็นดัชนีชี้วัดตัวหนึ่งทางเศรษฐกิจ

การปักหัวลงของเส้นกราฟดัชนีหุ้น กำลังสะท้อนสถานการณ์ความเลวร้ายในหลายๆ ด้าน และอาจนับเป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้าทางเศรษฐกิจก็ว่าได้

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฟื้นตัวขึ้นสู่ความคึกคัก ควบคู่กับภาวะเศรษฐกิจที่สดใสขึ้น โดยการประมาณอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยตัวเลขที่สวยหรู ปลุกเร้าให้ประชาชนแห่กันขนเงินเข้ามาทุ่มใส่ตลาดหุ้น

จนการพุ่งขึ้นของดัชนีหุ้นเป็นไปอย่างร้อนแรง ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ ก่อนที่ดัชนีหุ้นจะเปลี่ยนทิศสู่ช่วงขาลงเต็มตัว โดยลงม้วนเดียวตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากถูกปัจจัยลบกระหน่ำ

ปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นทรุดโทรมอย่างหนักหน่วง ไม่ได้มีเฉพาะปัจจัยภายนอก หรือราคาน้ำมันและการขยับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐเท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยลบจากภายใน

ทิศทางเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ปัญหาในบางภาคธุรกิจ ซึ่งเริ่มจะลักษณะฟองสบู่แตก จนนำไปสู่ความวิตกกังวลในปัญหาสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของธนาคารพาณิชย์ ล้วนเป็นปัจจัยร้ายที่ฉุดตลาดหุ้นดิ่งสู่เหวลึก

ความสดใสของตลาดหุ้นถูกทำลายไปแล้ว และกำลังออกอาการย่ำแย่ เพราะผลกระทบราคาน้ำมัน ผลกระทบจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจที่กำลังตกสะเก็ด และภาวะฟองสบู่แตกในบางภาคธุรกิจ

แต่คำถามที่ตามมาคือ วิกฤตจะเกิดขึ้นเฉพาะตลาดหุ้นเท่านั้นหรือ และระบบเศรษฐกิจยังจะมีแนวโน้มที่สดใสเหมือนเดิมหรือไม่

การสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ผลที่ประเมินออกมา ระบุชัดว่า ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลงติดต่อกันมาหลายเดือนแล้ว ซึ่งผลสำรวจไม่น่าจะผิดเพี้ยนจากข้อเท็จจริง

เพราะทุกคนกำลังถูกครอบงำด้วยความกลัว ทุกคนกำลังมองโลกในแง่ร้าย ไม่มั่นใจว่าประเทศไทยจะรับแรงกระแทกจากราคาน้ำมันได้เพียงได้ ไม่รู้ว่า ในภาวะที่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังมีความเปราะบาง เมื่อดอกเบี้ยขยับขึ้น ภาคธุรกิจจะต้องมีอันเป็นไป และจะเกิดปัญหาหนี้เสียครั้งใหญ่หรือไม่

น้ำมันและดอกเบี้ย อาจไม่เป็นเพียงปัจจัยที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวเท่านั้น แต่จะเป็นตัวเร่งให้ปัญหาในหลายภาคธุรกิจผุดขึ้นมา หรือทำให้ขยะที่ซุกอยู่ใต้พรมโผล่ออกมา

และเป็นตัวเร่งให้ฟองสบู่แตกเร็วขึ้น

4 เดือนเศษที่เหลือของปีนี้ เศรษฐกิจและการลงทุน ถูกปกคลุมด้วยความมืด จนไม่อาจประมาณการอะไรได้มากนัก เพราะคาดหมายไม่ได้ว่า ราคาน้ำมันจะพุ่งไปอีกเท่าไหร่ และเมื่อดอกเบี้ยในประเทศกลับสู่ขาขึ้นเต็มตัวแล้ว จะส่งผลกระทบรุนแรงขนาดไหน

ผลกระทบจากราคาน้ำมันและดอกเบี้ย เพียงเริ่มต้นขึ้น และทำให้เศรษฐกิจเกิดภาวะชะลอตัวเท่านั้น

แต่เพียงแค่ภาวะการชะลอตัว เศรษฐกิจก็เกิดพลิกผัน สถานการณ์ต่างๆ เลวร้ายหนัก โดยตลาดหุ้นถล่มทลาย ขณะภาคธุรกิจเริ่มปรากฏสัญญาณฟองสบู่แตก

ถ้าราคาน้ำมันทรงตัวในระดับเกินกว่า 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลต่อไป และถ้าสหรัฐขยับดอกเบี้ยระลอก ใครประเมินได้ว่า จะเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจ

วิกฤตเศรษฐกิจรอบใหม่จะเกิดหรือไม่ กลายเป็นประเด็นคำถามของผู้คนจำนวนมากไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก เพราะสะท้อนว่า ความวิตกกังวลในจุดเสี่ยงของประเทศไทยกำลังปะทุขึ้น

ความไม่เชื่อมั่นในแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุน กำลังกระจายไปสู่คนกลุ่มต่างๆ โดยนักลงทุนอาจจะเป็นกลุ่มที่ตื่นตัวต่อการแสดงปฏิกิริยา และระบายหุ้นทิ้ง ทยอยถอยออกจากตลาดหุ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะความผันผวน

ส่วนคนกลุ่มอื่นๆ แม้อยู่ระหว่างการเฝ้ารอดูสัญญาณความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน แต่เริ่มชะลอความเสี่ยงกันแล้ว โดยหันมารัดเข็มขัด ควบคุมรายจ่าย ไม่ขยายการลงทุนหรือบริโภคกันอย่างระมัดระวัง

นักธุรกิจส่วนหนึ่งเตรียมตัวกันแล้ว เพื่อรับมือกับภาวะความซบเซาที่คืบคลานเข้ามา เพราะประเมินแล้วว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจทรุดตัวลง และมีความเป็นไปได้ที่จะตกอยู่ในภาวะซึมยาว

การถล่มทลายของตลาดหุ้น ปัญหาน้ำลดตอผุด สินเชื่อภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กำลังถูกมองว่าเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจมีความไม่น่าสบายใจนัก

ใครจะมั่นใจว่า เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง มีภูมิคุ้มกันดี โดยราคาน้ำมันและดอกเบี้ยจะไม่ก่อชนวนวิกฤตก็ว่ากันไป

แต่มีกลุ่มคนจำนวนไม่น้อย ไม่ขอมั่นใจด้วยและกำลังหาที่กำบัง เพื่อป้องกันแรงกระแทกจากเศรษฐกิจขาลงอยู่

เพราะขาลงครั้งใหม่เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ผลกระทบมีแนวโน้มหนักกว่าวิกฤตปี 2540 เยอะ

หมายเลขบันทึก: 118263เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2007 09:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท