คาราโอเกะช่วยงานสอน


ทำนองเสนาะ

 ...ประพฤติดี  มีวินัย  ใฝ่ความรู้

เชิดชูสถาบัน  อันล้ำค่า

เด่นเด็ดเดี่ยวเกรียวกราวคราวกีฬา

สมค่า  สมญา  มหาธิคุณ...                

         ท่อนสุดท้ายของเพลงมาร์ชจบลงเมื่อไม่นานมานี้เอง  บรรยากาศเช้าวันใหม่แห่งการเล่าเรียนเริ่มขึ้นด้วยบรรยากาศแห่งความเย็นสดชื่นของปรอยฝนที่ปรายสายลงมา  ผมนั่งคิดถึงบทเพลงเมื่อครู่อย่างจับใจ  ครุ่นคิดถึงคำขวัญประจำโรงเรียนที่ว่า  ประพฤติดี  มีวินัย  ใฝ่ความรู้  เชิดชูสถาบัน  คิดไปถามตัวเองไปว่าจะทำอย่างไรให้เด็กนักเรียนเป็นผู้ที่มีคุณลักษณะดังคำขวัญนั้น 

สภาพปัญหาก่อนการพัฒนานวัตกรรม                โรงเรียนมหาธิคุณวิทยา  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสระแก้ว  เขต  1  เป็นโรงเรียนขยายโอกาสขนาดกลาง  ตั้งอยู่ที่  หมู่ที่  1  ตำบลเบญจขร  อำเภอคลองหาด  จังหวัดสระแก้ว  เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3  มีจำนวนนักเรียนในปีการศึกษา  2550  รวมทั้งสิ้น  308  คน  ครู  17  คน                เมื่อปีการศึกษา  2549  ที่ผ่านมา  ผู้อำนวยการโรงเรียน  นายวิมล  จันทนากร  ได้มีนโยบายส่งเสริมให้นักเรียนทุกห้อง  ทุกชั้น  ท่องสูตรคูณ  และบทอาขยานต่างๆ  อย่างเป็นจริงเป็นจังเป็นรูปธรรมที่เห็นชัดเจนที่สุด  โดยกำหนดให้ทุกชั้นเรียนต้องใช้เวลาหลังเสียงระฆังสัญญาณเลิกเรียน  15  นาที  ในการท่องสูตรคูณและบทอาขยานต่างๆ          ในระยะแรกๆเสียงที่ได้ยินจากแทบทุกชั้น  จะเป็นเสียงของการท่องสูตรคูณและท่องจำนวนต่างๆของเด็กนักเรียนชั้นเล็กๆ  เสียงท่องอาขยานเป็นทำนองเสนาะจะได้ยินเฉพาะห้องที่มีครูประจำชั้นเป็นครูเอกภาษาไทยเท่านั้น  มันเกิดอะไรขึ้น  ???   นั่นคงเป็นเพราะว่าครูแต่ละคนมีความถนัดและความสนใจกันแตกต่างกัน  คือคำตอบที่ผุดขึ้นมากลางสมองที่ชัดที่สุดในขณะนั้น                 ในเมื่อครูประจำชั้นส่วนใหญ่  ไม่ถนัดที่จะพานักเรียนท่องอาขยานเป็นทำนองเสนาะได้  จึงจำเป็นจะต้องหาวิธีที่จะทำให้ทุกชั้นท่องบทอาขยานเป็นทำนองเสนาะให้ได้  แล้วจะเริ่มจากจุดไหนดี  ??? 

การออกแบบนวัตกรรมเพื่อการพัฒนานวัตกรรม               

=  วิธีคิด               

 เมื่อเกิดคำถามที่ว่าจะทำอย่างไรให้นักเรียนท่องทำนองเสนาะอาขยานได้  และจะเริ่มจากจุดไหนดี  ผมจึงตอบตัวเองว่าควรเริ่มต้นจากตัวเราก่อน  ซึ่งขณะนั้นผมเป็นครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่  3  จึงพยายามฝึกหีดให้นักเรียนอ่านทำนองเสนาะให้ได้ก่อน....แต่จะสอนอย่างไรให้นักเรียนเป็นและเห็นผลเร็วที่สุด???                โดยสภาพทั่วไปของท้องถิ่นที่อยู่เท่าที่ผมสังเกตโดยสายตาปกติทั่วไปและจากการเยี่ยมบ้านนักเรียนจึงทำให้ผมทราบว่าแทบทุกครอบครัวจะมีสิ่งหนึ่งที่มีเหมือนกัน  นั่นก็คือ  เครื่องเล่นวีซีดี  ผมจึงได้ช่องทางในการที่จะให้นักเรียนได้ฝึกอ่านทำนองเสนาะที่บ้านของตนเองด้วยวิธีการทำเป็นคาราโอเกะ  และเพื่อเป็นการส่งเสริมการอ่านอันเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองแล้ว  ผมจึงได้จัดทำเอกสารประกอบกันขึ้นมาอีกหนึ่งฉบับ         

=  วิธีสร้าง                               

1.  การสร้างเอกสารประกอบ                               

-  ศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับบทอาขยาน                               

-  ศึกษาเอกสารเกี่ยวกับการอ่านทำนองเสนาะ                               

-  คัดเลือกบทอาขยานที่จะนำมาทดลองทำเป็นคาราโอเกะ                               

2.  การสร้างคาราโอเกะ                               

-  บันทึกเสียงการอ่านทำนองเสนาะโดยเลือกเอาบทดอกสร้อย  เด็กน้อย  ซึ่งเป็นอาขยานบทหลักของชั้นประถมศึกษาปีที่  3                               

-  ขอความอนุเคราะห์จากครูเสน่ห์  สุวรรณศรี  เจ้าหน้าที่ประจำห้องโสตฯของโรงเรียนผู้ผู้ดำเนินการตัดต่อ  เรียบเรียง  เป็นวีซีดีคาราโอเกะ 

ขั้นตอนการดำเนินการพัฒนานวัตกรรม               

หลังจากที่ดำเนินการสร้างเอกสาร  และวีซีดีคาราโอเกะเรียบร้อยแล้ว  ผมจึงทำการทดลองเครื่องมือ(นวัตกรรมที่สร้างขึ้นมา)  โดยให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  3  จำนวน  20  คน  เป็นกลุ่มตัวอย่าง  ซึ่งได้จากการสุ่มอย่างง่าย  และทำการสุ่มอย่างง่ายอีกเพื่อแบ่งออกเป็น  2  กลุ่ม  กลุ่มละ  10  คน  โดยให้กลุ่มที่  1  เป็นกลุ่มทดลอง  และ  กลุ่มที่  2  เป็นกลุ่มควบคุม  แล้วทดสอบการอ่านทำนองเสนาะก่อนการทดลอง                กลุ่มที่  1  ซึ่งเป็นกลุ่มทดลอง  ให้นำวีซีดีที่สร้างไปศึกษาเองที่บ้านพร้อมทั้งเอกสารที่จัดทำขึ้นประกอบกัน  โดยใช้เวลาศึกษา  2  สัปดาห์  ส่วนกลุ่มที่  2  ซึ่งเป็นกลุ่มควบคุมได้รับการสอนเฉพาะในห้องเท่านั้น  หลังการทดลองผลปรากฏว่า  กลุ่มทดลองมีผลสัมฤทธิ์หลังการทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ  .05                เมื่อเห็นผลว่าการให้นักเรียนไปศึกษาจากวีซีดีและเอกสารส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการอ่านสูงขึ้น  จึงได้ดำเนินการให้นักเรียนทั้งชั้นที่เหลือยืมวีซีดีไปศึกษาที่บ้าน 

ผลที่เกิดจากการดำเนินงานและสรุปผลการพัฒนานวัตกรรม                จากการทดลองและการใช้นวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบแล้วผลปรากฏว่า

1.    ผู้เรียนสามารถอ่านทำนองเสนาะ บทอาขยานได้ถูกต้องตามฉันทลักษณ์

2.    ผู้เรียนสามารถท่องจำบทอาขยานได้อย่างขึ้นใจ

3.    ผู้เรียนมีความสนุกสนานและชื่นชอบการเรียนรู้ในรูปแบบดังกล่าว

4.    โรงเรียนมีนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาผู้เรียนให้เข้าถึงสุนทรียของบทประพันธ์

5.    โรงเรียนมีนวัตกรรมตามโครงการหนึ่งโรงเรียนหนึ่งนวัตกรรม 

การขยายผลและการเผยแพร่นวัตกรรม               

=  การขยายผล               

ในปีการศึกษานี้  (2550)  ผมได้มีโอกาสขยับขึ้นไปสอนในระดับชั้นมัธยมศึกษา  ทำให้ผมได้รับรู้ความจริงอันร้ายกาจที่แสนเจ็บปวด  คือ  นักเรียนเกือบร้อยละ  90  ไม่สามารถอ่านทำนองเสนาะให้เป็นทำนองเสนาะได้  ดังนั้นผลการเรียนรู้ที่คาดหวังรายปีที่ว่า  นักเรียนสามารถอ่านทำนองเสนาะ , ท่องจำบทประพันธ์ได้  คงเป็นผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง(ลมๆแล้งๆ)ที่ไม่สัมฤทธิ์ผลแน่ๆ  ดังนั้นผมจึงมีแนวคิดที่จะทำคาราโอเกะทำนองเสนาะบทอาขยานสำหรับ  ช่วงชั้นที่  3  ขึ้นมาอี  1  ชุด  และจัดทำคาราโอเกะ  ทำนองสนุก  สำหรับ  ช่วงชั้นที่  2  ด้วย               

=  การเผยแพร่ผลงาน               

      เนื่องจากเป็นผลงานที่อ่อนด้อยหนึ่ง  เป็นผลงานที่ครูภาษาไทยบางท่านฟังแล้วบอกว่าก็งั้นๆหนึ่ง  ผมจึงไม่ค่อยกล้าที่จะนำเสนอต่อสาธารณชนเท่าใดนัก  แต่ถึงกระนั้นผมก็ยังแอบๆเอาไปตั้งหลบมุมร่วมงาน 80  พรรษามหาราชา  มหกรรมการศึกษา  บูรพาภิวัฒน์  และแอบเอาไปตั้งหลบแดดที่ใต้ร่มมะม่วง    โรงเรียนบ้านหินกอง  ในงาน  พัฒนาสมองประลองปัญญา  ในปีการศึกษาที่ผ่านมา               

              ไม่สำคัญจะมีงบประมาณหรือไม่  แต่ด้วยแรงใจที่อยากเห็นคุณค่าทางวัฒนธรรม  และภูมิปัญญาทางภาษาของไทยให้คงอยู่สืบไป  ผมพร้อมจะทำสิ่งที่ตนเองรักและถนัดเพราะเชื่อเสมอว่า  ครู  คือ  แม่พิมพ์                    

หมายเลขบันทึก: 117026เขียนเมื่อ 5 สิงหาคม 2007 11:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 13:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะอาจารย์

"เนื่องจากเป็นผลงานที่อ่อนด้อยหนึ่ง เป็นผลงานที่ครูภาษาไทยบางท่านฟังแล้วบอกว่าก็งั้นๆหนึ่ง ผมจึงไม่ค่อยกล้าที่จะนำเสนอต่อสาธารณชนเท่าใดนัก" อยากแลกเปลี่ยนแนวคิด เป็นความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งของคุณครูที่ว่าผลงานของเราไม่ดี กลัวว่าจะไม่มีคุณภาพเท่าคนอื่น และไม่ค่อยยอมเปิดเผยให้ใครได้รับรู้ แต่เชื่อเถอะว่า...เกือบทุกคนที่คิดอย่างนั้นแต่เขาก็ลองเปิดใจ เปิดตัว และมีความกล้าที่จะร่วมแลกเปลี่ยนทั้งสิ่งดี สิ่งด้อย สิ่งที่คิดว่าน่าจะมีหนทางปรับปรุงให้ดีขึ้น .....และผลงานนั้นเป็นสิ่งที่เราใช้เพื่อขจัดปัญหาที่เกิดได้ผลดี นั่นแสดงว่า...ผลงานคุณครูชั้นเยี่ยมแล้วค่ะเพราะแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น ตรงตามวัตถุประสงค์ น่าชื่นชมมากค่ะ และจะคอยติดตามอ่านอีกนะคะ ขอให้โชคดีปีใหม่ มีแรงและพลังใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่อีกนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท