รับมือน้ำท่วม ดินถล่ม


ภัยพิบัติ

            พอย่างเข้าฤดูฝน ชาวนาก็ดีใจที่ฝนฟ้ามาตามปกติ ถึงฤดูแห่งการปลูกข้าว ที่รอคอยกันมาทั้งปี หลังจากที่ปีที่แล้วชาวนาหลายพื้นที่ต้องเผชิญชะตากรรมน้ำท่วม ดินถล่ม ไร่นาเสียหายเป็นอันมาก บางส่วนกอบกู้ผืนนาได้บ้าง บ้างก็สูญเสียทั้งหมด เป็นความสูญเสียทุนชีวิตที่สำคัญ ปีนี้ก็ได้แต่หวังว่าน้ำท่าจะพอดี ไม่มากไม่น้อยเกินไป พออุ้มชูชาวนาไร่ให้ได้ปลูกข้าวได้พอมีพอกินไปตลอดปี

            แต่ก็อย่างว่าแหละครับ ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปมาก ไม่แน่ว่าจะมีน้ำมาก น้ำน้อยขนาดไหน ขอเพียงอย่าให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปีกลายก็แล้วกัน ปีนี้ชาวบ้านเตรียมตัวขนานใหญ่เพื่อรับมือกับน้ำท่วมและดินถล่ม มีการวางแผนสำหรับตัวเองและชุมชนไว้พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นระบบเตือนภัยของชุมชน เส้นทางอพยพ จุดพักพิงปลอดภัย ถุงยังชีพ การอบรมอปพร. อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์ขนย้าย เรือ รวมทั้งกองทุนสำหรับช่วยเหลือตัวเองเบื้องต้น เป็นการสร้างความพร้อมของชุมชนในการรับมือกับน้ำท่วมและดินถล่ม

            การซ้อมแผนรองรับน้ำท่วม จึงเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการวางแผนรองรับภัยพิบัติ โดยสสส.ได้สนับสนุนงบประมาณในการจัดซ้อมแผนผ่านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการในพื้นที่ ๕ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง เวียงสา ท่าวังผา ปัว และกิ่งอำเภอภูเพียง โดยเป็นการซ้อมแผนร่วมกันของหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สาธารณสุข โรงพยาบาล ปกครอง ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อปพร. หน่วยกู้ชีพกู้ภัย ผู้นำชุมชน และชาวบ้าน ถือว่าเป็นซักซ้อมเตรียมความพร้อมร่วมกันหลายฝ่าย โดยได้จัดขึ้นทั้งหมด 5 จุดหลักได้แก่

            กิ่งอำเภอภูเพียง จัดในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ณ โรงเรียนน่านนคร ต.นาปัง

            อำเภอปัว จัดในวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ณ อบต.แงงอำเภอเวียงสา จัดในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอเวียงสา 

           อำเภอท่าวังผา จัดในวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ณ หอประชุมบ้านดอนตัน ต.ศรีภูมิ

            อำเภอเมืองน่าน จัดในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๐ ณ หอประชุมบ้านดอนมูลพัฒนา ต.ดู่ใต้

            นอกจากนี้ในส่วนของเครือข่ายชุมชนป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด มูลนิธิฮักเมืองน่าน ก็ได้จัดประชุมเตรียมความพร้อมของระบบเครือข่ายการเตือนภัยและดูแลช่วยเหลือกันเองของชาวบ้าน โดยมีวิทยากรจาก ปภ.มาให้ความรู้เบื้องต้น หลังจากนั้นเครือข่ายชุมชนก็ได้ร่วมกันวางแผนระบบการเตือนภัยและช่วยเหลือกันเองของเครือข่าย ตั้งแต่ต้นน้ำเรื่อยลงมาจนถึงปลายน้ำ

             การวางแผนและซักซ้อมแผนครั้งเป็นการสร้างความตื่นตัวและซักซ้อมความเข้าใจร่วมกัน เมื่อเกิดสถานการณ์จริงจะได้ไม่สับสน และรับมือได้อย่างมีสติ แต่เหนืออื่นใดเราก็ภาวนาว่าอย่าให้เกิดจะเป็นดีที่สุด เราจะได้มีข้าว มีปลากินอย่างเต็มอิ่ม นอนอย่างสบายไม่ต้องผวาอย่างปีกลาย              

หมายเลขบันทึก: 116625เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 19:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท