บริการด้วยหัวใจ..ที่รพ.ละงู


Humanized healthcare
ศึกษาดูงาน โครงการพัฒนาการบริการที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Healthcare)โรงพยาบาลละงู จังหวัดสตูล วันที่ 15 มิถุนายน 2550 จากการศึกษาดูงานจากมูลนิธิ ฉือจี้ ประเทศไต้หวัน ของโรงพยาบาลละงูร่วมกับพรพ.และโรงพยาบาลอีก 5 แห่ง โรงพยาบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ในการนำแนวคิด กิจกรรมการสร้างเสริมการดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ ให้แก่บุคลากร ประชาชนทั่วไป การสร้างจิตอาสาในการช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นการพัฒนาต่อยอดของระบบบริการสุขภาพแก่โรงพยาบาลให้เป็นโรงพยาบาลที่มีคุณภาพครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งด้านวิชาการ และ คุณธรรม ซึ่งโรงพยาบาลได้พัฒนาบนฐานเดิมของโรงพยาบาลที่ผ่านการรับรองคุณภาพ และโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพ (HA&HPH) โดยโรงพยาบาลมีความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชน มีคณะกรรมการบริหารโรงพยาบาลที่มาจากประชาชน

โรงพยาบาล ได้จัดทำโครงการการพัฒนาระบบบริการสุขภาพด้วยหัวใจที่มีหัวใจความเป็นมนุษย์และจิตอาสา โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีความสอดคล้องกับหลักการสร้างสุขภาพที่สำคัญ คือ การที่ประชาชนในอำเภอละงู สามารถดูแลและสร้างสุขภาพด้วยตนเอง ตามศักดิ์และสิทธิแห่งความเป็นมนุษย์ โดยเริ่มจากแนวคิดของการให้บริการแบบองค์รวม 4 มิติ การรักษา การส่งเสริม การป้องกัน การฟื้นฟูสภาพ และกาย ใจ สังคม จิตวิญญาณ โดยมีการพัฒนาในสองส่วนคือ อาสาสมัคร (ในรพ.และชุมชน) และเจ้าหน้าที่

มีการเปิดรับสมัครอาสาสมัครเข้ามาทำงานในรพ.โดยมี criteria ในการรับสมัคร มีสวัสดิการและสิ่งจูงใจ ให้อาสาสมัคร มีผู้ที่สนใจมาสมัครเป็นจำนวนมาก อาสาสมัครต่างๆที่เพิ่มเติมมา มาช่วยเติมเต็มในส่วนการบริการส่วนขาด ในส่วนที่ไม่จำเป็นต้องใช้วิชาชีพ เช่นมีอาสาสมัครมาร้องเพลง เล่นดนตรี ประจำที่ศูนย์เปล ห้องบัตร ประชาสัมพันธ์ หน่วยจ่ายกลาง โภชนาการและคลินิกพิเศษ ซึ่งโรงพยาบาลได้อบรมให้ความรู้และดูแลมอบหมายงานในส่วนที่อาสาสมัครสามารถทำได้ประกอบกับมีการติดตามประเมินผลโดยเจ้าหน้าที่ของรพ.อย่างต่อเนื่อง          

นอกจากนี้รพ.ยังมีกลุ่มอาสาสมัครที่รับผิดชอบในกลุ่มต่างๆ เช่นกลุ่มผู้ติดเชื้อ กลุ่มผู้พิการ กลุ่มสุขภาพจิต และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งได้มาเล่าประสบการณ์ในการทำงานที่ยาวนานในการร่วมช่วยเหลือชุมชนที่ตัวเองรับผิดชอบโดยได้การสนับสนุนในรพ.          

คำพูดของคุณลุงซึ่งเป็นอาสาสมัครกลุ่มผู้สูงอายุ แสดงความรู้สึกต่อท่านผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่รพ. ดังนี้ เมื่อเข้ามาในรพ.นี้ รู้สึกสดชื่นและมีความสุขด้วยรอยยิ้มของแพทย์ พยาบาล ประชาสัมพันธ์ จะมาเวลาไหนก็ได้ ท่านผู้อำนวยการไม่ได้แสดงว่าเป็นผอ. ไหว้คนไข้เสมอ รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่และชาวบ้านมีความเท่าเทียมกัน ผอ.มักเรียกว่า ว่า ลุงเสมอ เจ้าหน้าที่ที่นี่ไหว้สวย จึงนำไปบอกต่อที่โรงเรียน           

เราส่งข้อมูลการเจ็บป่วยของโรคติดเชื้อให้กับชุมชนเขา เราเป็นผู้สนับสนุนดูอยู่ห่างๆ และสนับสนุนให้กลุ่มผู้ติดเชื้อสามารถดูแลตัวเองได้ ปัจจุบันกลุ่มนี้สามารถดูแลตนเองได้ เขียนโครงการหารายได้ให้กลุ่มได้เอง ได้รับการช่วยเหลือจากมูลนิธิต่างๆเช่นศุภนิมิต ขอบริจาคข้าวสาร เป็นกองทุนข้าวสาร และมีแผนที่จะทำฟาร์มแพะกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการอยู่ เป็นคำพูดของพยาบาลผู้ดูแลคลินิกผู้ติดเชื้อซึ่งทำงานด้านนี้มา 15 ปี มีสัมพันธภาพที่ดีกับชุมชนและกลุ่มเพื่อนกันวันเสาร์

โรงพยาบาลได้มีการปรับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงาน Humanized healthcare เช่น

    - การมีเวทีเสวนาบอกเล่าความดี ทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เวลา 14.00 -1430 น.        

 -การรับประทานอาหารร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่

-          สนับสนุนห้องฝึกสมาธิ ห้องคลายเครียด

-          สร้างบรรยากาศผ่อนคลาย เช่นกิจกรรมดนตรี ทุกวันพฤหัสบดี

-          มีวัฒนธรรมในการต้อนรับที่อบอุ่น

-          มีวิทยุชุมชน เสียงตามสายในการบอกเล่าความดี และกิจกรรมดนตรี ต่างๆ

-          หนังสือ บทสวดมนตร์ สำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย

-          มีวัดและมัสยิดส่งเสริมสุขภาพ

-          จัดกล่องรับบริจาคทั่วบริเวณโรงพยาบาล

-          บอร์ด สื่อสารเรื่องเล่า ความดี เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่เป็นตัวอย่างในการทำความดี รวมทั้งมีต้นไม้แห่งความดีในเวทีเสวนาของโรงพยาบาลซึ่งจัดเป็นประจำทุกวันจันทร์ พุธ ศุกร์ ทางกลุ่มศึกษาดูงานได้ร่วมสัมผัสกับบรรยากาศนั้น ในกลุ่มประกอบด้วย พยาบาลคลินิกสุขภาพจิต นักกายภาพบำบัด พนักงานศูนย์เปล และประชาชนญาติที่ได้รับความช่วยเหลือจากโรงพยาบาลได้พูดถึงตัวอย่างของเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการผู้ป่วยด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์ ของแผนกกายภาพบำบัด จากการทำงานร่วมกันระหว่างรพ. และทีมอาสาสมัครในชุมชน โดยอสม.ในกลุ่มผู้พิการไปพบชายพิการคนหนึ่งชื่อเล่นว่า เด่น ที่บ้านมีฐานะยากจนไม่มีห้องน้ำ สภาพบ้านเพดานต่ำไม่สามารถยืนได้ อาศัยอยู่กับยายและแม่เลี้ยง เพราะพ่อและแม่แท้ๆของเด่นแยกทางกัน ยายจึงเกิดความสงสารเลี้ยงมาตั้งแต่อายุสองขวบครึ่ง ยายบอกว่าสงสารไม่เลี้ยงเขาเขาคงจะอยู่ไม่ได้และไม่เคยคิดที่จะต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ อยู่มาวันหนึ่งเด่นประสบอุบัติเหตุทำให้แขน ขาข้างซ้ายพิการ จึงเป็นภาระของยายในการดูแล เทอุจจาระ ปัสสาวะของเด่นซึ่งถ่ายในกะละมัง เด่นมีรถนั่ง 1 คันซึ่งมีแต่โครงล้อไม่มียาง เด่นไม่สามารถถีบรถไปข้างหน้าได้เนื่องจากขาไม่มีแรงพอจึงถีบถอยหลังเพื่อนำพาตัวเองไปบนรถนั่ง เมื่อ อสม. พบจึงได้ไปบอกกับเจ้าหน้าที่กายภาพบำบัดของโรงพยาบาลซึ่งรพ.มีโครงการกายภาพบำบัดสู่ชุมชนอยู่ ได้ไปพบเด่นที่บ้าน ให้คำแนะนำในการดูแลช่วยเหลือตนเอง ทำกายภาพบำบัดสนับสนุนรถเข็น รถโยก จนเด่นสามารถใช้ walker เดินได้ และหัวหน้าพยาบาลได้บริจาคเงินสร้างห้องน้ำให้เด่น ปัจจุบันเด่นศึกษาที่ กศน.กำลังจะจบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 ในเทอมนี้ ทางโรงพยาบาลได้จัดเวทีเสวนามีการบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าหน้าที่กายภาพในเรื่องของการช่วยเหลือเด่น ได้เชิญคุณยายของเด่นมาพูดคุยให้กับเจ้าหน้าที่และผู้รับบริการอื่นๆ ที่โรงพยาบาลเพื่อบอกเล่าขยายความดีต่อไป ดังคำพูดของพยาบาลท่านหนึ่ง ว่า การทำความดีไม่ใช่เรื่องยาก ทำ แค่เริ่มทำจากสิ่งเล็กๆน้อยๆ ที่คิดว่าไม่ยาก สิ่งที่ทำแล้วเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง เรามาช่วยกันขยายเมล็ดพันธ์แห่งความดีให้เจริญงอกงามต่อไปกันเถอะ

คำสำคัญ (Tags): #hhc
หมายเลขบันทึก: 116595เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2007 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท