นิสิตพิการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นิสิตพิการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิสิตพิการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม นิสิตพิการทุกประเภท เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ

ทัศนศึกษา


จากสุโขทัยสู่กรุงเก่า

          เมื่อวันที่ 12 ถึง 15กรกฎาคม ที่ผ่านมา  มดกับพี่เล็กได้มีโอกาสไปทัศนศึกษาที่จังหวัดสุโขทัย และ จังหวัด พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นจังหวัดที่เป็นราชธานีเก่าของสยามประเทศ  เราจึงได้เก็บความประทับใจจากการไปทัศนศึกษานอกสถานที่ในครั้งนี้มาฝาก  ทุกๆคน ค่ะ  แต่แหม... น่าเสียดายที่ทิพย์ จักร และน้องๆนิสิตพิการหลายคนไม่มีโอกาสได้ไปสัมผัสบรรยากาศดีๆของอดีตราชธานี  ไม่งั้นคงจะได้รู้สึกประทับใจจนไม่มีวันลืมเลยเชียวล่ะ.......

          ได้ออกนอกสถานที่ทั้งที่แบบนี้  มีหรือที่มดจะลืมบันทึกเรื่องราวต่างๆมาให้ทุกคนได้อ่านกัน  แต่ก่อนอื่นต้องขอบอกกับทุกคนก่อนว่า  บันทึกนี้อาจจะวิชาการไปนิด ยาวไปหน่อย อาจจะเหมือนกับรายการท่องเที่ยว  ยังไงก็พยายามอ่านให้จบนะคะ............

          แม่น้ำน่านไหลมาบรรจบกันที่จังหวัดพิษณุโลก  ที่เคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรในสมัยสุโขทัย  เมืองที่เคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักรมาก่อนจะมีการสร้างวัดมหาธาตุขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางอาณาจักร  และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช ฝ่ายคันธานุรักษ์  

          ภายในวัดมีพระปรางค์ทรงระฆังคว่ำ  เป็นปรางค์แบบเขมร  ศิลปะต้นกรุงศรีอยุธยา  พระอุโบสถหัวเสาเป็นรูปกลีบดอกบัว  แต่หลังคาเป็นศิลปะแบบล้านนาวัดมหาธาตุ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราช  ที่สร้างขึ้นในสมัยพระบรมไตรโลกนาถ     ใกล้ๆกับพระอุโบสถมีต้นโพธิ์  ใต้ต้นโพธิ์มีฐานชุกชี  ที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธชินราชก่อนที่จะย้ายไปประดิษฐานในพระอุโบสถ   พระพุทธชินราช   มีนิ้วพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน  ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่า  เป็นศิลปะในยุคเสื่อมของอาณาจักรสุโขทัยแล้ว 

          นอกจากนั้น ยัง มีพระพุทธรูปส่วนมากเป็นศิลปะแบบอยุธยา    วัดพระพายหลวง  เป็นวัดศิลปะสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 กรัขยาปรมิตตา  มารดาพระอวโลกิเตศวร  มีพระปรางค์ 3องค์  แต่ชำรุดไปเหลือเพียงองค์เดียว  มีลักษณะเด่นคือหน้าบัน  และประตูหลอกสร้างด้วยศิลาแลง  วัดนี้เคยเป็นค่ายทหารของพวกขอมมาก่อน  ก่อนที่พ่อขุนศรีเนานำถมจะเข้าโจมตี  

          วัดศรีชุม  เป็นวัดที่ประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีชื่อว่า  พระอัจณะ  เป็นพระพุทธรูปปางปารมาวิชัย  มีอุโมงค์ที่คนสามารถคลานขึ้นไปได้  จนถึงส่วนบนสุดของพระอุโบสถ    เคยมีเรื่องเล่าว่า  ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง  ก่อนที่พระองค์จะนำทหารออกทำศึกสงคราม  พระองค์ได้ขึ้นไปตามอุโมงค์  และแอบอยู่หลังพระ  ก่อนจะกล่าวให้พรแก่ทหาร  ทำให้คนเชื่อว่า  พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปที่พูดได้  

          วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ  เป็นที่ศูนย์กลางอาณาจักรสุโขทัย  ประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา  มีเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า  เจดีย์ธาตุของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  กับพระยาลิไท     เนินปราสาท  เป็นที่ที่คนเชื่อว่า  เป็นที่ตั้งของปราสาทราชวัง  แต่นักวิชาการกลับไม่แน่ใจว่า  ที่เนินปราสาทเป็นที่ตั้งปราสาทหรือเมรุเผาศพกันแน่  ถัดจากเนินปราสาทไม่ไกลนัก  มีพระที่นั่งมนังคศิลาบาตรจำลอง  อยู่ในที่ที่เป็นดงตาล  ที่พ่อขุนรามคำแหงจะเสด็จมาพบประชาชนอย่างใกล้ชิด 

          วัดในอาณาจักรสุโขทัย  แบ่งเป็น 2 ประเภท  คือ  วัดคามมวาศรี  เป็นวัดที่อยู่ในกำแพงเมืองและ วัดอรัญวาศรี  เป็นวัดที่อยู่นอกเขตเมือง  หรืออยู่ในป่า  อยู่บนเขา  วัดตะพังหิน  เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนเขา  ที่มีชั้นหินลดหลั่นกันลงมา  ในสมัยก่อนมีตำนานเล่าว่า  พ่อขุนรามคำแหงจะไสช้างขึ้นมาไหว้พระที่วัดนี้  ในทุกๆวันพระ

          วัดเจดีย์งาม  เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกขึ้นใหม่  เพราะเจดีย์ที่วัดนี้  ยังมีสภาพที่สมบูรณ์และเจดีย์มีสีขาวทั้งองค์ที่งดงาม     วัดเขาพระบาทน้อย  มีเจดีย์ทรงจอมแห 2 องค์ที่ผุพังไปแล้ว     ทำนบพระร่วง  หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  สหรีดพงค์  สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์  หรือพระร่วง  เนื่องจากอาณาจักรสุโขทัยตั้งอยู่บนที่ราบเชิงเขาทำให้ในหน้าฝนน้ำป่าไหลบ่าลงมาท่วมพระนคร  พระร่วงจึงมีพระดำริให้สร้างทำนบขึ้น  เพื่อกักเก็บน้ำ  และเป็นทางกั้นน้ำมิให้ไหลบ่าสู่พระนคร  

          พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติรามคำแหง  เป็นที่จัดแสดงและเก็บรักษา  พระพุทธรูป  และโบราณวัตถุต่างๆที่มีการขุดค้นพบจากเจดีย์ในแห่งต่างๆและหลุมขุดค้น  เป็นพิพิธภัณฑ์แบบเน้นวัตถุศรีสัชณาลัย  เป็นเมืองหลวงในอดีตที่สำคัญและเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของสุโขทัย  มีชื่อเรียกกันไปต่างๆหลายชื่อว่า  เมืองศรีสัชณาลัย  เมืองชมชื่น  เมืองเชลียง  และเมืองสวรรคโลก  เคยเป็นเมืองอิสระและเคยเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา  ก่อนจะถูกทิ้งร้างอยู่หลายร้อยปี  ก่อนจะมีการเข้ามาขุดค้นและบูรณะของกรมศิลปากร 

         มีวัดที่สำคัญหลายแห่ง คือ 

  • วัดนางพญา  เป็นวัดศิลปะสมัยสุโขทัยแบบศรีวิชัย   ที่รับมาจากพุกาม  และพุกามก็รับอารยธรรมการสร้างเจดีย์มาจากลังกา   มีตำนานเล่าว่า  พระธิดาของพระเจ้ากรุงจีน  เป็นคนสร้างวัดนี้ขึ้น  หลังจากที่มาอยู่ที่กรุงสุโขทัย  ในสมัยพ่อขุนรามคำแหงวัดสวนแก้วอุทยาน  ศิลปะแบบศรีวิชัย  พุกาม 
  • วัดช้างล้อม  มีการสร้างรูปปั้นช้างจำนวน  36 เชือก  ล้อมรอบเจดีย์  แต่น่าเสียดายที่รูปปั้นช้างพังไป  เพราะชาวบ้านแถบนั้นมาทำลาย  เนื่องจากเชื่อว่าวิญญาณของช้างมากินพืชผลของพวกเขา  และช้างส่งเสียงร้อง  เป็นที่รำคาญ    เจดีย์วัดช้างล้อม  เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  การปั้นช้างล้อมเจดีย์นั้น  นอกจากที่วัดนี้แล้ว  ยังมีที่วัดมเหยง  ซึ่งได้มาจาก  การสร้างตามแบบลังกา  ช้างในฐานเจดีย์นั้น  มีความเชื่อว่า  พญานาคได้แปลงกายเป็นช้างมาเพื่อปกปักษ์คุ้มครองเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ  
  • วัดเจดีย์เจ็ดแถว
  • วัดเขาพนมเพลิง
  • วัดสุวรรณคีรี
  • วัดตะพังทองหลาง  เป็นวัดศิลปะสมัยสุโขทัย  มีเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบินท์  แต่ผุพังมากแล้วมีรูปปูนปั้น  ตอนพระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงห์  ตอนกลับลงมา  พระอินทร์ได้บันดาลบันไดแก้วไว้ตรงกลางให้พระพุทธเจ้าเสด็จลงมา  และบันดาลบันไดเงิน บันไดทอง ให้พระองค์กับพระพรหมเสด็จลงมาส่งพระพุทธเจ้า  มีเหล่าเทวดามาร่วมส่งเสด็จด้วย  

พระนครศรีอยุธยา  

          ปราสาทนครหลวง  สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าปราสาททอง  โดยดัดแปลงมาจากปราสาทนครวัตรของเขมร  จึงมีศิลปะบางอย่างที่ออกมาในรูปการผสมผสานระหว่างศิลปะกรุงศรีอยุธยากับศิลปะแบบเขมร  มีเรื่องเล่าว่า  ในวันพระ  พระเจ้าปราสาททองจะทรงช้างมาไหว้พระและรอยพระพุทธบาทที่วัดนี้  

          หอศิลป์  เป็นที่แสดงงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวกรุงศรีอยุธยา  และงานศิลปะต่างๆ เช่น  ภาพเขียนสีน้ำมัน  ภาพถ่าย ที่มีความสวยงาม     วัดพระศรีสรรเพชรญ์  สร้างขึ้นในสมัยของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 3 ต่อมาเมื่อถึงคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 พม่าได้สุมไฟลอกเอาทองไปจนหมด  เหลือเพียง พระพุทธรูปสัมฤทธิ์   

          วัดใหญ่ชัยมงคล  เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง  แรกเริ่มเป็นวัดอรัญวาศรี  ที่สมเด็จพระพันรัตน์ประทับอยู่  ซึ่งสมเด็จพระนเรศวรจะทรงเสด็จไปปรึกษากับพระพันรัตน์  เรื่องการหาฤกษ์ไปออกศึกสงคราม  และมาปฏิบัติธรรม  ต่อมาได้มีการสร้างเจดีย์ขนาดใหญ่ขึ้น  โดยทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวร  เพื่อเป็นการไถ่โทษ  แทนการประหารชีวิต  

          วัดพนัญเชิง  เป็นวัดศิลปะแบบพุทธ  ผสมกับศิลปะแบบจีน  ตั้งอยู่บนที่ที่เคยเป็นชุมชนจีนมาตั้งรกรากมาก่อน  ดังนั้น  ลูกหลานที่เป็นชาวจีน  จึงมากราบไหว้บรรพบุรุษเป็นจำนวนมาก  วัดแห่งนี้  ตั้งอยู่บริเวณท่าที่แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำลพบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลมาบรรจบกัน  ในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปที่คนจีนเรียกว่า ซัมปอกงและคนไทยเรียกว่า  หลวงพ่อโต"  และมีศาลเจ้าแม่สร้อยดอกหมาก  ที่มีตำนานเกี่ยวกับความรักของพระเจ้าสายน้ำผึ้ง  กับธิดากรุงจีน  คือนางสร้อยดอกหมาก   

          วัดมเหยง  เป็นวัดที่เจ้าสามพระยาสร้างขึ้นเพิ่อพระองค์จะได้ใช้เสด็จไปทรงบาตรในตอนเช้า  โดยเสด็จทางชลมารก  วัดนี้เป็นศิลปะลังกาตามแบบสุโขทัย และในบริเวณนี้เคยเป็นชุมชนเก่าแก่ก่อนสมัยกรุงศรีอยุธยา  เรียกว่า อโยธยา   

          วัดสุวรรณดาราราม  เป็นวัดที่พระราชบิดาของรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์สร้างขึ้น  ภายหลังรัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างเจดีย์ศิลปะแบบรัตนโกสินทร์  และรัชกาลที่ 6 โปรดให้สร้างพระอุโบสถหลังใหม่  เขียนภาพจิตรกรรมเกี่ยวกับพระราชประวัติ สมเด็จพระนเรศวร  ส่วนพระอุโบสถหลังเดิมนั้น  เป็นภาพจิตรกรรมทศชาติของพระพุทธเจ้าก่อนจะมาตรัสรู้  ทั้งภาพสุวรรณสาม  พระเวตสันดร  พระนางธรณีบีบมวยผม  ภาพพระพุทธเจ้านั่งสมาธิใต้ต้นศรีมหาโพธิ์และมีมารมาผจญ    

          วัดหน้าพระเมรุ  สมเด็จพระมหาจักรพรรติและพระเจ้าบุเรงนองร่วมกันสร้างขึ้น  มีพระพุทธรูปทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 แล้ว  พม่าได้มาเผาวัด  และสุมไฟลอกเอาทอง  ภายหลังรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้โปรดให้มีการบูรณะขึ้นใหม่    

          วัดชัยวัฒนาราม  เป็นวัดที่มีมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอู่ทอง  แต่พระเจ้าปราสาททองได้ทรงสร้างเจดีย์ทรงปรางค์คล้ายฝักข้าวโพด  และวิหารขึ้นใหม่เพื่อถวายพระราชมารดา  เพราะ ที่บริเวณนี้  เป็นบ้านเกิดพระราชมารดาของพระองค์  และตั้งชื่อว่า  วัดชัยวัฒนาราม  หมายถึง ชัยชนะที่รุ่งเรือง  เนื่องจากพระองค์รบชนะเขมร  และทรงลอกแบบปราสาทในเขมรมาสร้าง  โดยให้ศูนย์กลางอาณาจักรและจักรวาลคือ พระพุทธเจ้า  นอกจากนี้  ยังมีเจดีย์บรรจุธาตุของเจ้าฟ้าธรรมมาธิเบศพระราชโอรส และสนมเอกของพระองค์  

          หมู่บ้านโปรตุเกส  เป็นหมู้บ้านที่ยังคงความเป็นคริสศาสนาอยู่  มีโบสถ์คริสอยู่ในบริเวณหมู่บ้าน  ชาวบ้านสืบเชื้อสายมาจากชาวโปตุเกสที่เข้ามาในสมัยกรุงศรีอยุธยา  ไม่ไกลจากหมู่บ้านนัก  มีสุสาน และหลุมขุดค้น  ที่มีการค้นพบโครงกระดูกของบรรพบุรุษชาวโปตุเกส   พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา  เป็นที่ที่รวบรวมวัตถุโบราณชิ้นสำคัญจากกรุงศรีอยุธยาและเจีย์ของเจ้าอ้ายกับเจ้ายี่  และเจดีย์ที่พังทลายลงมา 


 

หมายเลขบันทึก: 115565เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2007 22:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 พฤษภาคม 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

มดจ้ะ 

  • เล่าเรื่องได้ดีค่ะ  อยากเห็นภาพบ้างจังเลย
  • พี่เล็ก เป็นไงบ้างคะ  อยากฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับพี่เล็ก(ตาบอด)ออกทริป จังเลยเนอะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท