เทคนิคการปรับปรุงบำรุงดิน ให้พืชผักงาม ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมี ของ นายขันติ หนูแดง



เริ่มต้นจากการปลูกผักโดยพัฒนาที่ดินรอบแรกด้วยการไถพรวนให้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร จัดการดินให้ร่วนซุยมากที่สุดแล้วหว่านปุ๋ยหมักที่ผลิตจากสารเร่ง พด.1 ของกรมพัฒนาที่ดินเพื่อเพิ่มจุลินทรีย์ให้กับดินประมาณไร่ละ 1 ตัน และหว่านเมล็ดปุ๋ยพืชสด (ปอเทือง) โดยหว่านให้กระจายทั่วแปลงด้วยอัตราเมล็ดพันธุ์ 8 กิโลกรัมต่อไร่ ให้น้ำทุกวัน

เมื่อปอเทืองออกดอกก็ไถกลบต้นลงดินและให้น้ำทุกวันเป็นเวลา 6 วัน หลังจากนั้นไถครั้งที่ 2 เพื่อช่วยให้มีการย่อยสลายได้ดีขึ้น ทิ้งไว้ 15 วัน จึงเริ่มปลูกพืชผัก

การปลูกผักนอกจากจะต้องมีการจัดการดินที่ดีแล้ว หลักของการปลูกคือ ให้มีผลผลิตออกไล่เรียงอายุการเก็บเกี่ยวเป็นรุ่นๆไป และต้องให้มีพื้นที่เหลือให้วัชพืชขึ้นบ้างเพื่อให้แมลงศัตรูพืชได้อพยพไปอาศัยอยู่ในช่วงเวลาที่ไถกลบซากต้นผัก มิฉะนั้นแล้วแมลงศัตรูพืชจะไม่มีที่อาศัยและอาหาร ทำให้ต้องเข้าทำลายกัดกินพืชที่ปลูกไว้แทน

ในฤดูหนาว
- เริ่มต้นการปลูกพืชผักด้วยผักที่ชอบอากาศเย็นทุกชนิด เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก มะเขือเทศ

ในฤดูร้อน
- บริเวณหน้าดินจะมีอุณหภูมิสูงมาก หากหว่านเมล็ดผักในช่วงนี้เลยจะทำให้เมล็ดที่งอกออกมาถูกอากาศร้อนก็จะเหี่ยวเฉา จึงได้ปลูกปอเทืองไว้เป็นแถวเพื่อพรางแสง โดยหว่านห่างกันแถวละ 50 เซนติเมตร แล้วหว่านเมล็ดผักในระหว่างแถวของปอเทืองแทนเมื่อผักที่ปลูกไว้โตขึ้นก็ให้ตัดต้นปอเทืองทิ้งนำมาคลุมหน้าดินโดยไม่ต้องไถพรวนดิน

ในฤดูฝน
- ความร้อนจะลดลงเนื่องจากความชื้นในอากาศมีมากแต่พระอาทิตย์อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรหรือพื้นที่ประเทศไทยมากที่สุดในช่วงเดือนกรกฏาคมถึงสิงหาคม ทำให้แดดหลังฝนตกนั้นร้อนมาก และฝนที่ตกในช่วงนี้เป็นฝนเม็ดใหญ่ตามฤดูมรสุม ทำให้เม็ดฝนกระแทกใบผักรุนแรงมากที่สุด การปลูกผักในช่วงนี้ถ้าเป็นผักใบ ใบจะช้ำ และเมื่อใบสัมผัสกับผิวดิน จะทำให้ใบเป็นโรคเน่าได้ง่าย ดังนั้นจึงต้องปกคลุมดินด้วยต้นปอเทืองเพื่อไม่ให้ใบสัมผัสกับดิน

การจัดการอีกวิธีโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยหมัก ก็คือ การปลูกพืชตระกูลถั่วก่อนการเก็บเกี่ยวผัก โดยให้เริ่มโรยเมล็ดปอเทืองเป็นแถวในที่ว่างๆ ระยะห่างประมาณ 60 เซนติเมตรระหว่างแถวผัก เมื่อเก็บเกี่ยวซากต้นผักแล้วประมาณ ระยะเวลาให้พอดีกับที่ปอเทืองจะออกดอก แล้วไถกลบเป็นพืชบำรุงดินต่อไป และในการรดน้ำให้ผสมน้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสารเร่ง พด.2 ของกรมพัฒนาที่ดินด้วยทุกครั้งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตได้

เพิ่มเติม

นายขันติ หนูแดง
หมอดินอาสาประจำตำบลหนองแขม
19 หมู่ 8 ตำบลหนองแขม อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี
โทร. 08-9538-7012 และ 0-3644-0521

แหล่งที่มา ; หนังสือ "ภูมิปัญญาเกษตรอินทรีย์ ตามวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
จัดทำโดย กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กันยายน 2549

 

หมายเลขบันทึก: 115409เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2007 00:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท