สร้างคน สร้างงาน ผ่านนักวิจัยชุมชน


สร้างคน สร้างงาน ผ่านนักวิจัยชุมชน   

              ในอดีตที่ผ่านต้องยอมรับว่าถ้าจะพูดถึง งานวิจัย ทุกคนจะนึกถึงนักวิชาการหรืออาจารย์จากมหาวิทยาลัยผู้มีความรู้เท่านั้น เป็นหนักหัวซึ่งชาวบ้านอย่างเราๆท่านๆไม่ค่อยเข้าใจและยิ่งไปกว่านั้นผลงานวิจัยหลายๆเรื่องเป็นงานวิชาการ และคิดว่างานวิจัยเป็นเรื่องไกลตัว ยากที่ชาวบ้านจะเข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานวิจัยไม่ได้ใช่ให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร และที่สำคัญไปกว่านั้นชาวบ้านหรือคนในชุมชนเป็นเพียงผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น ความรู้สึกการเป็นเจ้าของจึงไม่เกิดขึ้น ผลของการวิจัยก็ไม่ได้กลับไปสู่ชุมชน ทำให้งานวิจัยและพัฒนาเป็นเรื่องที่ไม่น่าสนใจ         

        ภายหลังจึงมีการผลักดันงานวิจัยและพัฒนาออกสู่สาธารณชนมากขึ้น จึงเป็นโอกาสให้คนหลังเขาอย่างเราๆมีช่องทางในการพัฒนาตัวเองโดยการทำงานที่เป็นวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น ไม่ได้วัดกันที่ความรู้สึกนึกคิดหรือประสบการณ์เดิมๆเหมือนที่ผ่านมาในอดีต กว่า 3 ปีที่ดิฉันมีโอกาสได้ทำงานกับโครงการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยการสนับสนุนจากDANIDA ชี้ให้เห็นว่ากว่า การทำงานวิจัยสักเรื่องหนึ่งไม่ใช่เรื่องยาก แต่ที่ยากนั่นคือ การปรับเปลี่ยนวิธีคิดของคนในองค์กรให้ยอมรับว่าพี่น้องชาวบ้านก็เป็นนักวิจัยได้ ถ้าเขามีโอกาสแท้ที่จริงชาวบ้านวิจัยมาตลอดชีวิตเพียงแต่เขาขาดการบันทึกผลที่เป็นสากลและช่องทางการเผยแพร่เท่านั้นเอง  ดังนั้นในปี 2549จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ดิฉันและเพื่อนๆได้ทำงานวิจัยเล็กๆในลักษณะการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมกับกลุ่มชาวบ้านหรือภาษาวิชาการเรียกว่า วิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม ได้ถึง 13 เรื่อง โดยเน้นเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เกษตรและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญไม่ว่าจะเป็นโจทย์วิจัย การดำเนินงานใดๆต้องให้ชาวบ้านหรือชุมชนเป็นผู้กำหนด เราในฐานะคนนอกต้องเข้าไปเรียนร่วมกับชาวบ้านและเติมเต็มในส่วนที่ขาดเท่านั้น ซึ่งผลจากการทำงานร่วมหลายฝ่ายไม่ว่าจะเป็นทีมที่ปรึกษาโครงการเกษตรแบบยั่งยืนเพื่อสิ่งแวดล้อม/นักวิชาการและชาวบ้าน ทำให้ดิฉันคิดว่าเราจะหยุดอยู่กับที่หรือทำงานเฉพาะที่ในจังหวัดน่านไม่ได้ จำเป็นต้องหาพันธมิตรในการทำงานต่อไป ซึ่งก็ได้กัลยาณมิตรอย่าง Mr. Kevin Kampและดร.นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต นำเรื่องดีๆดังกล่าวไปบอกเล่ากับผู้บริหารของโครงการ BRT. จึงเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ คนน่านจะได้ทำงานวิจัยตามความตั้งใจ                         

       เป้าหมายในการทำงานยัง ยึดชาวบ้านเป็นหลัก โดยเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม จะเห็นได้ว่าที่ น่านบ้านเฮา จะเน้นการพัฒนาคนก่อนและกำหนดเป้าหมายร่วมกัน โดยในปี2550 ได้เสนองานวิจัยในหัวข้อเรื่อง การพัฒนาแผนอนุรักษ์และองค์ความรู้ท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เกษตรไปยังโครงการ BRT.รวม 4 กิจกรรมคือ

1.การสร้างนักวิจัยชุมชนและการจัดการองค์ความรู้ท้องถิ่น

2.การพัฒนาแผนอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่มีอยู่ในพื้นที่เกษตร 

3.การศึกษาความก้าวหน้าของการจัดทำแผนอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ เป้าหมายเดิม

4.การสร้างเครือข่ายด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่เกษตรและด้านการ สร้างองค์ความรู้ท้องถิ่นผ่านทางนักวิจัยชุมชน  

           และขณะนี้เรากำลังดำเนินการกิจกรรมที่1 ที่เสนอไปยังโครงการ BRT.แล้วและภายในทีมนักวิจัยมี 5 คนจะมีการแบ่งบทบาทหน้าที่เพื่อให้การจัดเวทีชุมชนไม่ให้สะดุด โดยมีคุณประพันธ์ พวงมณี ทำหน้าที่การบันทึกภาพกิจกรรมและการใช้เทคโนโลยี่ คุณเสวียน  บุญศรี บันทึกรายละเอียดทุกกิจกรรม คุณภาคภูมิ  พรมสาร เป็นผู้กระตุ้นการเรียนรู้ร่วมกับอาจารย์นิพนธ์ เอี่ยมสุภาษิต คุณสนิท ปัญญาวงค์ ทำหน้าที่ถอดบทเรียนเสนอเป็นบทความส่งเผยแพร่ทางWebsite BRT. สำหรับดิฉันทำหน้าที่บันทึกการเรียนรู้ด้วยเครื่องมือMind mapping /บัตรคำ/ตารางและเขียนบทความส่ง โครงการBRT.ด้วยเช่นกัน ในการบันทึกการเรียนรู้ที่จะเผยแพร่นั้นยังมิใช่ผลงานทางวิชาการ แต่จะเป็นเรื่องเล่าที่เป็นลักษณะของ "การจัดการความรู้ "โดยประเดิมเวทีแรกที่ตำบลไชยสถาน ซึ่งมีนักวิจัยชุมชนมาจากตำบลเรือง ตำบลกองควายและตำบลไชยสถานรวมทั้งสิ้น 45 คน ซึ่งนักวิจัยชุมชนกลุ่มนี้เป็นที่สมัครใจเข้ามาเรียนเอง  หลังผ่านขั้นตอนของการเรียนรู้หลักวิทยาศาสตร์และความเข้าใจกับการทดลองแล้วถึงจะลงปฏิบัติในชุมชนของตนเองต่อไป สำหรับรายละเอียดของเวทีเรียนรู้นั้นจะได้นำมาเล่าโอกาสต่อไป                                                                                                                                                                                                                                                                                                    

หมายเลขบันทึก: 115349เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2007 20:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท