การบริหารความเสี่ยงแบบมีส่วนร่วม


ความเสียง . องค์กร . ส่วนร่วม

                  การบริหารความเสี่ยงแบบมีส่วนร่วม

                  ผู้เขียนกำลังศึกษารูปแบบการบริหารจัดการความเสียงที่เกิดขึ้นในองค์กรแบบมีส่วนร้วม ซึ่งเป็นงานวิจัยเล็ก ๆ ชิ้นหนึ่ง นอกจากงานประจำ เรามาเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับความเสี่ยงไปพร้อม ๆ กันนะครับ ใครมีอะไรแนะนำก็ช่วยแนะนำให้ด้วยนะครับ

                ความเสี่ยง เป็นสิ่งที่แอบแฝงอยู่ในทุกระบบของการทำงาน ถ้าไม่มีมาตรการในการป้องกันที่ดี ก็จะเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ขึ้นทำให้เกิดความสูญเสียต่าง ๆ ความเสี่ยงอาจแบ่งประเภทของความเสี่ยงออกได้อย่างกว่างขวง เช่น ความเสี่ยงด้านนโยบาย ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติเป็นต้น ดังนั้น

            การบริหารความเสี่ยงจึงไม่สามารถกำหนดให้คนใดคนหนึ่งรับผิดชอบได้ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของบุคลากรทุกคนในหน่วยงานร่วมกันกำหนดแนวทางลดและป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นโดยรูปแบบควรที่จะเน้นให้บุคลากรทุกคนในหน่วยงานได้มีส่วนร่วมการบริหารความเสี่ยง เป็นสิ่งที่ทุกคนในหน่วยงานจะต้องมีความส่วนร่วมในการรับผิดชอบ เนื่องจากทุกคนเปรียบเสมือนผู้จัดการความเสี่ยง ทุกคนในหน่วยงานจะต้องมีกระบวนการคิดร่วมกันในการทำงานภายใต้วัตถุประสงค์ขององค์กรที่ตั้งไว้ โดยที่ผู้บริหารจะมีการกระจายอำนาจให้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา และเป็นผู้ที่ผลักดันความสำเร็จผ่านผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาได้มีการตัดสินใจร่วมกันถึงแนวทางในการปฏิบัติงาน การกระทำดังกล่าวจะทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความอิสระในการทำงาน มีความรู้สึกที่เป็น เจ้าขององค์กร ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะทำงานให้สำเร็จ มีความก้าวหน้าในอาชีพการงาน มีขวัญกำลังใจในการทำงาน  การบริหารแบบมีส่วนร่วมนั้น เอื้อประโยชน์ทั้งต่อองค์กรบุคลากร และการบริหารจัดการ ที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน เพิ่มคุณภาพการบริการ ดังนั้นจึงควรที่จะนำแนวคิดการบริหารแบบมีส่วนร่วมมาใช้ร่วมกับการบริหารความเสี่ยง เพราะการบริหารความเสี่ยงนั้นจะต้องทำทั้งในระดับองค์กร และระดับหน่วยงาน เป็นกระบวนการที่จะต้องมีการกระทำเป็นวงจรที่ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดคุณภาพการให้บริการ เป็นการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้รับบริการ ทุกคนในหน่วยงานจึงต้องตกลงร่วมกันเพื่อกำหนดนโยบาย วัตถุประสงค์ กลยุทธ์ต่าง ๆ โดยกำหนดผู้ที่รับผิดชอบ และระยะเวลาในการติดตามงานที่ชัดเจน โดยกระบวนบริหารความเสี่ยงตามแนวคิดของ Wilson (1999) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน คือ

             1. การค้นหาความเสี่ยง (Risk identification) หมายถึง การค้นหาปัญหาต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดความเสี่ยงกับผู้ใช้บริการ ที่มีผลกระทบต่อทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสังคม รวมทั้งด้านจิตวิญญาณ โดยการค้นหานั้นสามารถที่จะหาข้อมูลได้จากคำร้องเรียนจากผู้ใช้บริการ การสัมภาษณ์ผู้ปฏิบัติงาน การออกแบบสอบถาม การศึกษาจากเอกสารและตำราต่าง ๆ เป็นต้น

              2. การวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk analysis) หมายถึง การวิเคราะห์ความถี่ ความรุนแรง และความสำคัญของเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีความถี่และรุนแรงมากน้อยเพียงใด

             3. วิธีการจัดการความเสี่ยง (Risk treatment) หมายถึง การหากลยุทธ์เพื่อนำมาใช้ในการจัดการกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่นำมาใช้ในการจัดการความเสี่ยงนั้นจะต้องสอดคล้องกับนโยบายและเป้าหมายขององค์กร      กลยุทธที่นำมาใช้ ได้แก่               

                     3.1 การป้องกันความเสี่ยง (Risk control) หมายถึง การป้องกันมิให้มีความเสี่ยงเกิดขึ้นหน่วยงานจึงต้องมีการสร้างมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงเกิดขึ้น

                    3.2 การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ( Risk avoidance) หมายถึง การงดปฏิบัติการเมื่อหน่วยงานมีศักยภาพไม่เพียงพอที่จะให้บริการ

                    3.3 การลดความเสี่ยง (Risk reduction) หมายถึง เมื่อไม่สามารถที่จะป้องกันความเสี่ยงมิให้เกิดขึ้นได้ หรือเกิดความเสี่ยงขึ้นแล้ว หน่วยงานจะใช้วิธีการลดความเสี่ยงเพื่อเข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดความสูญเสียหรือความรุนแรงน้อยที่สุด

                4. การประเมินผล (Risk evaluation) หมายถึง การประเมินผลการจัดการความเสี่ยงว่าสามารถลดอุบัติการณ์ หรือความเสี่ยงได้หรือไม่ โดยศึกษาถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นย้อนหลัง เพื่อดูผลสำเร็จของการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนพิจารณาว่าเหตุการณ์ใดยังคงอยู่เพื่อปรับมาตรการการป้องกันหรือลดความเสี่ยงขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับหน่วยงาน

แล้ววันหลังจะมาต่อนะครับ

หมายเลขบันทึก: 115096เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2007 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2015 01:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะเข้ามาทักทาย..เป็นสมาชิกใหม่...เรื่องความเสี่ยงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมากแต่องค์กรต่าง ๆ เพิ่งให้ความสนใจ..เขียนได้น่าสนใจจะติดตามตอนต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท