☻♥☼*สมาธิ*☼♥☻



สมาธิ

14. เครื่องจำแนกระหว่างสมถะกับวิปัสสนา

ผู้ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างไม่รอบคอบ หลงเชื่อตามคัมภีร์รุ่นหลังว่ากรรมฐาน 40 เป็นอารมณ์ของสมถภาวนา ส่วนการกำหนดรู้รูปนามเป็นการเจริญวิปัสสนา ตัวอย่างของการเจริญกรรมฐาน 40 ได้แก่การเจริญอนุสติ 10 ประการ เช่นพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ อานานปานสติ และกายคตาสติ เป็นต้น หากย้อนไปศึกษาพระไตรปิฎกอย่างจริงจังจะพบว่า พระผู้เป็นดวงประทีปแก้วของโลกทรงประกาศธรรมอย่างชัดเจน ในพระสูตรชื่อ เอกธัมมาทิบาลี เอกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก (พระไตรปิฎกเล่มที่ 20 หัวข้อที่ 179 - 180) มีความว่าการเจริญพุทธานุสติ ฯลฯ ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อคลายความกำหนัด เป็นไปเพื่อความตรัสรู้ยิ่ง เป็นไปเพื่อพระนิพพาน

หากเราผู้เป็นสาวกจะเชื่อฟังพระพุทธเจ้ายิ่งกว่าตำราชั้นหลัง เราย่อมได้ข้อสรุปว่า อนุสติ 10 ย่อมเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาได้ และแท้ที่จริงอนุสติ 10 ก็ไม่ได้อยู่นอกเหนือจากรูปนามขันธ์ 5 เพราะอนุสติ 10 เป็นความคิด ซึ่งจัดอยู่ในสังขารขันธ์นั่นเอง ในชั้นนี้จึงอยากสรุปว่าเป็นความไม่ถูกต้อง ที่ไปจำแนกสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาด้วยอารมณ์กรรมฐาน

ถ้าเช่นนั้นเราจะจำแนกสมถภาวนากับวิปัสสนาภาวนาด้วยสิ่งใด? เราน่าจะจำแนกด้วย ลักษณะการดำเนินจิต ยิ่งกว่าด้วยอารมณ์กรรมฐาน จิตจะรู้สิ่งใดก็ได้ หากรู้ด้วยความมี สติ จดจ่อในอารมณ์อันเดียว นั่นคือการเจริญสมถภาวนา หากจิตรู้สิ่งใดด้วยความมี สติและสัมปชัญญะ นั่นคือการเจริญวิปัสสนา

ฉะนั้น ถ้าจิตมีสติอย่างเดียวจดจ่อกับพุทธานุสติ นั่นเป็นการเจริญสมถภาวนา หากจิตมีสติระลึกรู้พุทธานุสติโดยในขณะนั้นจิตมีความรู้ตัว ไม่ส่งกระแสออกนอก คือไม่หลงไปกับพุทธานุสติ นั่นคือการเจริญพุทธานุสติที่เป็นวิปัสสนาภาวนา

การเจริญสติอย่างเดียวเป็นสิ่งที่กระทำได้ แต่การเจริญสัมปชัญญะอย่างเดียวทำไม่ได้ ฉะนั้นการทำสมถภาวนาอย่างเดียวกระทำได้ เพราะเหตุใด ? เพราะการเจริญสติโดยระลึกรู้อารมณ์กระทำได้ แม้ในขณะที่จิตหลงเพลินอยู่กับอารมณ์กรรมฐานนั้น ส่วนการเจริญสัมปชัญญะคือการเจริญความไม่หลงของจิตนั้น

นอกจากจิตจะรู้ตัวแล้ว จิตย่อมต้องมีสติรู้ปัจจุบันอารมณ์ที่ปรากฏด้วย เนื่องจากจิตกับอารมณ์เป็นของคู่กัน เมื่อจิตไม่หลงเสียแล้วย่อมต้องรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง

15. หลักการของสมถภาวนา

หลักการเจริญสมถภาวนา คือการรู้อารมณ์อันใดอันหนึ่งโดยต่อเนื่อง เมื่อจิตจะรวมลงเป็นสมถะนั้นจิตย่อมปราศจากความตั้งใจที่จะให้จิตสงบ หากมีความอยากให้จิตสงบแม้เพียงเล็กน้อย จิตจะไม่สงบเลย

16. ประเภทของสมถภาวนา

ความสงบหรือสมถภาวนามี 2 ประเภท คือสมถภาวนานอกพระพุทธศาสนา ซึ่งหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี สมมุติเรียกว่า ฌาน และสมถภาวนาในพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านเรียกว่า สมาธิ ในที่นี้จะขอยืมศัพท์บัญญัติของหลวงปู่เทสก์มาใช้ เนื่องจากท่านจำแนกเรื่องนี้ไว้อย่างแจ่มชัดกว่าท่านผู้รู้อื่นในยุคนี้

การทำฌานนั้น ใช้การทำสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียว เมื่อจิตจะรวมเข้าเป็นฌานนั้น จิตจะมีความอ่อนแอท้อถอย จิตประกอบด้วยราคะ คือความอ้อยสร้อยอ้อยอิ่งถึงความสุขของความสงบ แล้วรวมเข้าไปพักอยู่เฉยๆ อาการเข้าพักของฌานมี 3 ลักษณะ อย่างแรกจิตรวมเข้าเพียงวูบเดียวแล้วถอนออก ในขณะที่จิตรวมลงนั้น จิตลืมตัวหายไปชั่วขณะ อย่างที่ 2 จิตรวมแล้วถอยออกมาเล็กน้อย จิตมีอาการส่ายไปมา คล้ายคนนอนหลับแล้วฝันไป อย่างที่ 3 จิตรวมแล้วหายเงียบไปเป็นเวลานานๆ

ฌานเป็นที่พักของจิต แต่เป็นที่พักที่ไม่เกื้อกูลต่อปัญญา ต่างจากสมาธิซึ่งก็รู้อารมณ์อันเดียวกับฌานนั่นเอง แต่สมาธิ ประกอบไปด้วยสัมปชัญญะคือความรู้ตัว เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการเจริญวิปัสสนา ควบคู่กับสติ

สมาธิก็จำแนกได้ 3 อย่างเช่นกัน อย่างแรกคือ ขณิกสมาธิ หรือสมาธิชั่วขณะ เป็นอาการที่จิตซึ่งกำลังเจริญวิปัสสนา (คือรับรู้ความเกิดดับของอารมณ์ที่กำลังปรากฏ ด้วยความไม่หลงไปตามอารมณ์) ได้วางอารมณ์ แล้วรวมสงบเข้ามาเหลือแต่ความรู้ตัวอันเดียว ในขณะนั้นจิตไม่สนใจอารมณ์ใดๆ จึงไม่ปรากฏกระทั่งโลกธาตุทั้งปวง แต่เป็นการรวมสงบเข้ามาเพียงชั่วขณะจิตเดียว

สมาธิอย่างที่ 2 คือ อุปจารสมาธิ มีผู้เข้าใจผิดว่า อุปจารสมาธิเป็นสภาวะที่จิตเฉียดๆ หรือใกล้จะเป็นสมาธิ ความเข้าใจนั้นไม่ถูกต้อง เพราะอุปจารสมาธินั้น จิตเป็นสมาธิแล้ว คำว่า “อุป” ไม่ได้แปลว่าใกล้ แต่แปลว่า “เข้าไป” ส่วน “จาระ” คือการประพฤติปฏิบัติ อุปจารสมาธิ คือสมาธิที่จิตเข้าไปประพฤติปฏิบัติ คือเจริญวิปัสสนานั่นเอง มีอาการที่จิตรับรู้อารมณ์อันเดียว โดยไม่ต้องควบคุมบังคับทั้งจิตและอารมณ์ มีความสงบสุข รักที่จะเรียนรู้ศึกษาค้นคว้าภายในกายในใจของตน จิตจะรู้อารมณ์ชัดเจนบ้าง จางลงบ้าง ธรรมใดมีกระทบจิต จิตจะหยั่งรู้ธรรมนั้นอย่างลึกซึ้ง เมื่อจิตถอนออกจากสมาธินั้นแล้ว จิตอาจจะจดจำข้อธรรมนั้นได้ หรือไม่จดจำก็ได้ ถ้าจิตไม่จดจำ เราจะนึกถึงความรู้ความเข้าใจภายในจิตไม่ได้เลย ความรู้นั้นจิตจะรับรู้อย่างลึกซึ้ง แต่เราไม่รู้เลยก็ได้

สมาธิอย่างที่ 3 คือ อัปปนาสมาธิ เป็นสภาวะที่จิตมีความรู้ตัว แต่ไม่ออกรู้อารมณ์ภายนอก เกิดขึ้นหลังจากที่จิตดำเนินวิปัสสนามาแล้วอย่างโชกโชน อัปปนาสมาธิเป็นอารมณ์เหมือนผู้ใหญ่ที่ทำงานเสร็จ แล้วหยุดพักผ่อนอย่างอิ่มใจ ไม่ใช่การพักอย่างเด็กที่เล่นจนเหนื่อย แล้วพักอย่างอาการของฌาน การพักในอัปปนาสมาธินั้น หากปัญญายังไม่แก่รอบ จะเป็นการพักเพื่อกลับมาทำวิปัสสนาต่อไป แต่หากจิตดำเนินวิปัสสนาจนปัญญาแก่รอบแล้ว จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเพื่อรวมกำลัง แล้วถอยออกมาบรรลุโลกุตรธรรมเลย

ที่กล่าวมานี้ เป็นการจำแนกเรื่องฌานกับสมาธิ ตามแนวของหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี อันจะมีประโยชน์ต่อไปเมื่อกล่าวถึงเรื่องนิมิต และวิปัสนูปกิเลส

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 11500เขียนเมื่อ 6 มกราคม 2006 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท