"บล็อก"ภัยแฝงที่ซีอีโอต้องระวัง


บทควาท it
เตือนซีอีโออย่าวางใจบล็อกมากเกินไป เนื่องจากขณะนี้เกิดกรณีที่ชี้ว่าการโพสต์ข้อความเกี่ยวกับแนวคิดการทำงานหรือชีวิตส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ตของผู้บริหารบางรายคือหลุมพรางที่ทำให้ซีอีโอต้องตกม้าตายด้วยมือตัวเอง
       
       ถือเป็นเรื่องชินตาในปัจจุบันที่เหล่าผู้บริหารองค์กรเดินทัพออกมาเขียนเว็บล็อกหรือบล็อก (Blog) เพื่อบอกเล่าถึงแนวคิดการทำงานหรือชีวิตส่วนตัวบนอินเทอร์เน็ต เนื่องจากทัศนคติที่หลายฝ่ายมีต่อการเขียนบล็อกนั้นหันเหไปทางแง่บวกมากกว่าแง่ลบ แต่กรณีของ จอห์น แมคกีย์ (John Mackey) ประธานบริษัทและประธานกรรมการบริหารของบริษัทโฮลฟูดส์มาร์เก็ต (Whole Foods Market Inc.) ที่เพิ่งเกิดขึ้น คือกรณีล่าสุดที่พิสูจน์ให้เห็นว่าบล็อกและอินเทอร์เน็ตสามารถเป็นพื้นที่อันตรายที่ซีอีโอไม่ควรตายใจ
       
       ซีอีโอแมคกีย์โพสต์ข้อความล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วยนามปากกา โดยโพสต์ไว้ในบอร์ดสนทนาที่เกี่ยวกับหุ้นของบริษัท ว่าบริษัทไวด์โอตส์มาร์เก็ตส์ (Wild Oats Markets Inc.) บริษัทคู่แข่งกำลังอยู่ระหว่างการเสนอขายกิจการในขณะนี้ บทความของแมคกีย์ชิ้นนี้เตะตาคณะกรรมการตรวจสอบการผูกขาดทางการค้าของสหรัฐฯเข้าอย่างจัง ทำให้แมคกีย์ตกอยู่ในความเสี่ยงถูกตรวจสอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
       
       ทุกอย่างคือเหรียญสองด้าน
       
       ไม่มีใครปฏิเสธว่าบล็อกไม่ใช่ช่องทางการสื่อสารชั้นเยี่ยม ที่ผ่านมา บล็อกช่วยให้ซีอีโอสามารถสื่อสารกับนักลงทุน พนักงาน และลูกค้าได้อย่างละมุนละม่อมแนบเนียน ส่งให้การออนไลน์ เขียนบล็อก หรือการสร้างเว็บไซต์ของซีอีโอมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
       
       เดบบี วีล (Debbie Weil) ที่ปรึกษาและผู้แต่งหนังสือเรื่องคัมภีร์การใช้บล็อกเพื่อองค์กรหรือ The Corporate Blogging Book ให้ความเห็นว่า การใช้บล็อกแทนคำพูดนั้นเป็นการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ แต่การเขียนบล็อก การแชต หรือการโพสต์ข้อความไว้บนเว็บบอร์ดหุ้นบริษัทล้วนมีความเสี่ยง ซึ่งหากซีอีโอขาดการไตร่ตรองที่รอบคอบแล้ว เท่ากับว่าเป็นการทำความผิดครั้งใหญ่หลวง
       
       นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ด้านมืดของบล็อกถูกเปิดเผย แม้ซีอีโอจำนวนไม่น้อยพากันเขียนบล็อกอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็มีซีอีโอกลุ่มหนึ่งที่ไม่แตะต้องบล็อกเพราะไม่อยากให้ตัวเองต้องเป็นข่าว ขณะที่หลายบริษัทเริ่มตรวจสอบบล็อกของผู้บริหารก่อนจะโพสต์เผยแพร่
       
       สำหรับกรณีของแมคกีย์ ซีอีโอรายหนึ่งที่มีบล็อกของตัวเองมองว่าถือเป็นความผิดยิ่งใหญ่ของซีอีโอเองที่ตัดสินใจโพสต์ข้อมูลลับ แถมการโพสต์ด้วยนามปากกาถือเป็นการผิดวิสัยของซีอีโอที่เขียนบล็อก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายออกมาให้ข้อมูลเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การโพสต์ข่าวลือว่าบริษัทคู่แข่งจะขายกิจการของแมคกีย์นั้นยังไม่สามารถตัดสินว่าเป็นการกระทำผิดกฏหมายด้านการรักษาความปลอดภัยองค์กรของสหรัฐฯ
       
       ที่ผ่านมา แมคกีย์เคยประกาศตัวเลขคาดการณ์ผลประกอบการของตัวเขาเองในบล็อก ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ตรงตามที่บริษัทออกแถลงการ บล็อกเหล่านี้ถูกเขียนโดยใช้นามปากกา "rahodeb" จากนั้นแมคกีย์หาทางออกให้ตัวเองไม่ถูกครหาว่าเป็นนักปั่นหุ้น เขาลงมือเขียนบล็อกโดยแก้ไขตัวเลขเสียใหม่ พร้อมให้เหตุผลว่าตัวเลขเดิมคือการคาดการณ์ตามอัตราเติบโตเฉลี่ยรายปี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นไปตามคาดหมายจึงแจ้งตัวเลขใหม่
       
       ยังคงความนิยม
       
       การสำรวจร่วมกันระหว่างนิตยสารฟอร์จูนและเว็บไซต์วิกิพีเดียในชื่อ Fortune 500 Blogging WiKi ระบุว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ใหญ่ที่สุด 500 อันดับแรกล้วนมีบล็อกองค์กร แน่นอนว่ามีแนวโน้มเพิ่มสัดส่วนขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต

       
       รายงานของวอลล์สตรีมเจอร์นอลยกตัวอย่าง 3 ซีอีโอชื่อดังที่ถือว่าเป็นเจ้าแห่งบล็อกบริษัทอเมริกัน หนึ่งคือโรเบิร์ต ลัตซ์ (Robert Lutz) เจ้าพ่อกลุ่มจีเอ็ม (General Motors) โดยประชาสัมพันธ์ของจีเอ็มระบุว่า บล็อกของบริษัทนั้นเป็นที่สนใจของทุกๆฝ่าย และจะพยายามรักษาขอบเขตของการเผยแพร่บล็อกบริษัทให้เหมาะสมตลอดไป
       
       สองคือโจนาธาน ชวาตซ์ (Jonathan schwartz) แม่ทัพซันไมโครซิสเต็มส์ (Sun Microsystems) โดยพนักงานกว่า 3,500 คนของบริษัทล้วนมีบล็อกเป็นของตัวเอง กฎเหล็กของการเขียนบล็อกในซันคือ "การใช้บล็อกเผยแพร่ความลับหรือให้ร้ายบริษัทไม่ใช่แค่ความผิด แต่ถือว่าเป็นความคิดที่โง่มาก"
       
       สามคือเจดับบลิว บิล แมริออต จูเนียร์ (J.W. Bill Marriott Jr.) ทายาทธุรกิจโรงแรมแมริออตอินเทอร์เนชันแนล (Marriott International) วัย 75 ปีที่ไม่ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์บล็อกเอง แต่อัดเป็นไฟล์เสียงก่อนจะส่งให้พนักงานพิมพ์ใหม่แล้วเผยแพร่บนเว็บล็อกบริษัท


บทความจาก : ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ : 20 กรกฎาคม 2550
คำสำคัญ (Tags): #ข่าว it
หมายเลขบันทึก: 114616เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท