เครือข่ายโซ่อุปทาน


เครือข่าย

เครือข่ายโซ่อุปทานอาหารภาคเหนือตอนล่าง กลุ่มที่ 1

 

การเปลี่ยนแปลงของสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จากเทคโนโลยีพื้นฐานในยุคเกษตรกรรมมาสู่ยุคอุตสาหกรรมและข้อมูลข่าวสารนั้น มีแนวโน้มว่าเศษรฐกิจโลกในอนาคตจะเคลื่อนเข้าสู่ยุคแห่งการแข่งขันเสรีภายใต้เงื่อนไขคุณภาพ ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม อันจะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะการตลาดสินค้าอาหารและเกษตรในประเทศที่เชื่อมโยงและผูกพันกับตลาดโลกจะทวีความรุนแรงในเงื่อนไขคุณภาพที่ต้องปฏิบัติตามประเทศคู่ค้ามากยิ่งขึ้น นับตั้งแต่เรื่องของการผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปไปจนถึงการกระจายสินค้าอาหารสู่ผู้บริโภคในรูปแบบของธุรกิจการค้ารูปแบบใหม่ (Modern Trade) และตลาดสินค้าอาหารตามความต้องการผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะ คุณภาพ และมาตรฐานเฉพาะอย่างที่แตกต่างจากผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งเรียกว่าเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ซึ่งกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในส่วนต่างๆ ของโลกซึ่งจะกลายเป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ในการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในตลาดเสรี ดังนั้นการเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของประเทศอย่างแท้จริงนั้น จะต้องมีการดำเนินงานเชิงระบบในภาพรวม โดยคำนึงถึงองค์ประกอบทั้งหมดในลักษณะสหสัมพันธ์ที่ส่งผลกระทบซึ่งกันและกันตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร (Food Chain) นับตั้งแต่ภาคการผลิตวัตถุดิบ การแปรรูป  การตลาด และการบริหารจัดการที่จะสามารถเสริมสร้างจุดแข็งของระบบอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ โดยมีกรอบแนวคิดที่สำคัญได้แก่

1. การพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารจะต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาอย่างมีพลวัตร (Dynamic) ตามการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก เพื่อสร้างความขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ  โดยพิจารณาใช้องค์ความรู้เป็นฐานในการเพิ่มมูลค่า (Value Added) การผลิตทั้งในระดับของการผลิตวัตถุดิบไปจนถึงระดับของอุตสาหกรรมที่มีมาตรฐานด้านสุขอนามัยเข้ามาเป็นตัวกำหนดเงื่อนไขที่สำคัญ  โดยแผนงานและกลยุทธ์ภายใต้ยุทธศาสตร์จะต้องให้ความสำคัญต่อการดำเนินการในเชิงรุก การเตรียมพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อรับมือกับมาตรการทางการค้าของโลกและการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเป็นต้น โดยเน้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นฐาน (Resource Bases) ซึ่งมีการผลิตจำนวนมากแต่ได้มูลค่าน้อย (More for Less) ไปสู่อุตสาหกรรมที่มีฐานความสามารถในการแข่งขันสูง (Competency Base) โดยผลิตจำนวนมากและได้มูลค่ามาก (More for more) ด้วย

2. ระบบการบริหารจัดการอุตสาหกรรมอาหาร จะต้องแก้ไขการบริหารงานแบบแยกส่วนของรัฐ การลดความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทบทวนและปฏิรูปทั้งระบบการบริหารจัดการ การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นองค์รวมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง มีแผนที่สามารถชี้นำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำงานในลักษณะเครือข่ายที่ส่งเสริมสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน มีพันธกิจที่ชัดเจน โปร่งใส ไม่ซ้ำซ้อน ตรวจสอบได้ ครอบคลุมตลอดวงจรอาหาร รวมทั้งมีมาตรการเสริมในการตรวจสอบ และติดตามผลการดำเนินงาน

3. หากต้องการให้อุตสาหกรรมอาหารยังคงเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องมีการพัฒนากระบวนการแปรรูปอาหารให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในห่วงโซ่คุณค่า(Value Chain)มากขึ้นให้ได้ โดยการส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา การปรับปรุงเทคโนโลยีกระบวนการผลิตให้ทันสมัย การพัฒนาสินค้าใหม่ และการพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารภายในประเทศ (Local Standard) ให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลก (Global Standard)

4. ด้านการตลาดและการเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน จะต้องสนับสนุนการรวมตัวของผู้ประกอบการโดยการเชื่อมต่อเป็นเครือข่าย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารในด้านการพัฒนาการผลิตและธุรกิจ ความรู้เท่าทันสถานการณ์ทางการค้า การเจรจาต่อรองกับธุรกิจคู่ค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าและการส่งออก

จากประเด็นกรอบแนวคิดที่สำคัญดังกล่าว กลุ่มผู้ก่อตั้งเครือข่ายได้นำมาจัดทำเป็นยุทธศาสตร์ แผนงาน และกลยุทธ์เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพบว่าภายใต้ศักยภาพความพร้อมและโอกาสดังกล่าว อุตสาหกรรมอาหารไทยก็ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคต่างๆ อยู่มาก ซึ่งหากรอให้ได้รับการแก้ไขและสนับสนุนจากภาครัฐเพียงลำพังจะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและอาจทำให้ประเทศสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในอนาคตได้ ภาคเอกชนที่เป็นด่านหน้าทางการค้าจะต้องร่วมมือกันและทำงานเชิงรุกเพื่อผลักดันให้ภาครัฐเกิดการขับเคลื่อนสู่การทำงานเชิงบูรณาการศักยภาพของแต่ละหน่วยงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในปัจจุบันที่มีลักษณะต่างคนต่างทำ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องยังมีการดำเนินงานที่ขาดการเชื่อมโยงและการประสานงานระหว่างกันอย่างเพียงพอ มีการกำหนดขั้นตอนและวิธีปฏิบัติที่แตกต่างกันโดยอาศัยอำนาจกฎหมาย/ระเบียบที่ตนเองมีอยู่ ทำให้ขาดนโยบายและทิศทางร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบและครบวงจรหรือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้นกลุ่มผู้ริเริ่มก่อตั้งเครือข่ายฯ จึงเห็นควรจัดตั้งเครือข่ายเครือข่ายโซ่อุปทานอาหารภาคเหนือตอนล่าง กลุ่มที่ 1ที่ทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อร่วมกันจัดตั้งระบบการจัดการโซ่อุปทานอาหารที่มีความเข้มแข็ง สร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์อาหารให้เป็นที่ยอมรับทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ เป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารปลอดภัย ที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีตามยุทธศาสตร์ของกลุ่มจังหวัดและจังหวัดพิษณุโลกต่อไป

หมายเลขบันทึก: 114465เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 16:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 21:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท