จุดที่จะเกิดปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 จากมุมมองของชาวบ้าน


การเผยแพร่ให้ความรู้ จะทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น

ช่วงเวลานี้ หลายคนที่กาฬสินธุ์ได้รับหนังสือร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งมาทางไปีรษณีย์บ้างแล้ว  นายบอนได้ยินคนที่ติดตามการเมืองส่วนหนึ่ง พูดคุยในบางประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และได้ยินสิ่งที่พวกเขาได้วิเคราะห์จุดที่จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตแล้ว น่าคิดเช่นกัน

จึงนำประเด็นที่ได้ยินมาบันทึกไว้ครับ

ประเด็นจากร่างรัฐธรรมนูญ
1. ลดจำนวนประชาชนในการเข้าชื่อเสนอร่างกฏหมายจาก 50,000 ชื่อ เหลือเพียง 10,000 ชื่อ แลถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจาก 50,000 ชื่อ เหลือเพียง 20,000 ชื่อ

มุมมองของชาวบ้าน - น่าห่วงมาก ประชาชนอีกหลายส่วนที่ขาดความรู้ความเข้าใจ อาจจะถูกนักการเมืองใช้ช่องทางนี้ จัดตั้งกลุ่มประชาชน เสนอกฏหมายและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่ง ทั้งหวังผลการทำลายความน่าเชื่อถือ และกลั่นแกล้งทางการเมืองตามกติกานี้ ได้ง่ายกว่าเดิม

2. แนวนโยบายด้านที่ดิน ต้องกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อให้เกษตรกรมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินอย่างทั่วถึง

มุมมองของชาวบ้าน - น่าห่วงว่า การบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่ยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ จะกล้าแตะต้องผู้ที่ถือครองที่ดินเยอะๆที่หลายคนในจังหวัดรู้สึกเกรงใจหรือเปล่าล่ะ
(ประเด็นนี้ มีการวิจารณ์กันพอสมควร เพราะกลุ่มชาวบ้านเป็นเกษตรกรที่มีปัญหาเรื่องที่ดิน)

3.เปลี่ยนระบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จากการเลือกตั้งโดยตรงเพียงอย่างเดียว เป็นจากการเลือกตั้งและการสรรหาผู้เหมาะสมจากภาคส่วนต่างๆอย่างเป็นธรรม

มุมมองของชาวบ้าน- น่าห่วงอย่างยิ่ง ที่ สว.จะอยู่ใต้อิทธิพลของนักการเมืองได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เพราะเลือกตั้งมาจังหวัดละคน และจากการสรรหามา ก็จะถูกดึงให้มาอยู่ในฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ไม่ยาก

4. ให้สิทธิประชาชน 50,000 คน เข้าชื่อเพื่อเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เป็นครั้งแรก

มุมมองของชาวบ้าน  - ดูแล้ว การเมืองคงไม่นิ่ง รัฐธรรมนูญคงจะถูกแก้ไขกันบ่อยๆ ให้เป็นไปตามความต้องการของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มนั้น ส่วนภาคประชาชน หากไม่ได้รับผลกระทบ หรือเดือดร้อนจะไม่ลุกขึ้นมาขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแน่นอน แต่อาจจะมีกลุ่มคนชักชวนให้มาร่วมแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นที่เป็นประโยชน์เฉพาะกลุ่มการเมืองนั้น

นั่นคือ การจับประเด็นที่ได้ยินได้ฟังมา เห็นแล้ว เป็นสิ่งที่สะท้อนถึง การให้ความรู้ การศึกษาแก่ประชาชนยังน้อยเกินไป แค่การทำให้ประชาชนเข้าใจในสาระของร่างรัฐธรรมนูญก่อนลงประชามติ 19 ส.ค. ยังเกิดความเข้าใจที่แตกต่างกันไป หลายคนจึงต่างพูดคุยกันไปตามความรู้สึก ความเข้าใจ ตามสิ่งที่รับรู้มา และอีกหลายเรื่องๆ ยังรับรู้ไม่ชัดเจน

สรุป
- ความไม่รู้ของคน ทำให้ถูกคนที่รู้ ชักจูงได้
- คนที่รู้มาก ย่องมองเห็นช่องทาง เพื่อประโยชน์ของตนเองได้มากกว่า
- การเผยแพร่ให้ความรู้ จะทำให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้น แต่ยากในการดำเนินการ

 

หมายเลขบันทึก: 114336เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 12:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 พฤษภาคม 2012 13:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท