บทบาทของพระ...


เรื่องของพระคร๊าบๆๆๆๆๆๆ
 ก่อนที่จะพูดถึงบทบาทของพระสงฆ์ในสังคมปัจจุบัน จำจะต้องพูดถึงสาระและบทบาทของพระพุทธศาสนาเสียก่อน ทั้งๆ ที่กล่าวกันว่า เมืองไทยเป็นเมืองพุทธ และคนไทยส่วนใหญ่ถือตนว่าเป็นพุทธศาสนิก แต่พูดกันจริงๆ แล้ว เราเข้าถึงเนื้อหาสาระของพุทธธรรมกันมากน้อยเพียงไร หรือเราติดกันอยู่เพียงที่เปลือกกระพี้ของพิธีกรรม จนบางครั้งกลายเป็นพุทธพาณิชย์ หรือลัทธิ ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ไปกันเอาเลย

          อาจพูดอย่างง่ายๆ ได้ว่า คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นคือแนวทางต่างๆ ที่ช่วยให้เราตื่นขึ้นจากความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตเรา เพื่อให้เราหลุดพ้นเสียได้จากความทุกข์ทั้งปวง

          รูปแบบของพุทธประเพณีอาจแตกต่างกันออกไปเป็นหลายลัทธิ หลายนิกาย จนกลายไปเป็นดังหนึ่งกับว่าพุทธศาสนิกต้องประพฤติตนตามแนวทางนั้นๆ จนแทบไม่มีการตั้งคำถามกันไปเอาเลยด้วยซ้ำ

          ทั้งนี้ก็เพราะพุทธศาสนาเติบโตขึ้นมาหลายต่อหลายศตวรรษแล้ว แนวทางของการสั่งสอนและการประพฤติปฏิบัติแตกแยกออกไป และขยายตัวไปในหลายต่อหลายประเทศ จนมีวัฒนธรรมประเพณีที่ต่างๆ กันออกไป และมีการอธิบายคำสอนของพระศาสดาที่ต่างๆ กันออกไป มีระเบียบวินัยและขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ทั้งสำหรับบรรพชิตและฆราวาส แม้จนมีการใช้รูปเคารพ และพิธีกรรมต่างๆ จนบางครั้งออกเป็นไปยังกับว่าเป็นศาสนาพราหมณ์ หรือปนเปไปกับไสยเวทวิทยา โดยเราต้องไม่ลืมว่ากำเนิดของพุทธศาสนาเมื่อกว่า ๒,๕๐๐ ปีมาแล้วในชมพูทวีปนั้น อิทธิพลของโลกทัศน์แบบพราหมณ์และของคนอินเดียในสมัยนั้น ย่อมมีส่วนเกี่ยวพันกับโลกทัศน์ของชาวพุทธอยู่มิใช่น้อย โดยที่ถ้าจับเนื้อหาของพุทธศาสนาผิดพลาดไป เราจะหลงอยู่กับประเพณีและพิธีกรรมนั้นๆ ดังที่พระพุทธองค์ทรงเตือนไว้ไม่ให้ติดในศีล หรือในพรต นอกไปจากนี้แล้ว เรายังต้องสามารถทำใจไว้ให้แยบคายได้ด้วยว่า จะนำความเป็นอกาลิโกของพุทธธรรมมาประยุกต์ใช้กับสังคมร่วมสมัยได้อย่างไร

          การที่จะทำเช่นนั้นได้ เราต้องตราไว้ให้ชัดเจนว่า สาระของพระพุทธศาสนานั้น คืออุบายวิธีที่ช่วยให้เราเกิดความตื่นจากความเห็นแก่ตัว เพื่อรับใช้สรรพสัตว์ โดยเราสามารถใช้พุทธวิธีมาช่วยให้เราอาจแปรสภาพจากความโลภที่มีอยู่ในใจของเรา ให้กลายไปเป็นทาน การให้ ตั้งแต่ให้วัสดุสิ่งของ ไปจนให้ธรรมเป็นทาน หรือการให้ความจริงกับสังคมที่เต็มไปด้วยความเท็จหรือเท็จปนจริง และการมอมเมาต่างๆ ไม่ว่าจะในนามของคำว่าชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หรืออะไรก็สุดแท้ และเราอาจฝึกปรือการให้ จนเอาชนะความกลัวเสียได้ ดังที่ท่านใช้คำว่า อภัยทาน กล่าวคือถ้าเราปราศจากความกลัวเสียแล้ว เราย่อมไม่แลเห็นศัตรูอีกต่อไป เราย่อมเข้าได้ถึงหลักชัยแห่งความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ นี้คือนัยวิธีแห่งทานมัย แม้ยังเข้าไม่ถึงขั้นสูงสุด เราก็อาจขยับตัวเราให้เบาบาง อย่างลดความเห็นแก่ตัวลงไปเรื่อยๆ

          นอกจากเปลี่ยนความโลภให้เป็นทาน การให้แล้ว เรายังอาจฝึกตนจนสามารถเปลี่ยนแปลงความโกรธหรือความรุนแรงในตัวเรา ให้กลายเป็นความเมตตากรุณา หรือความรักอย่างปราศจากความเห็นแก่ตัวอีกด้วย นี้คือนัยวิธีแห่งศีลมัย ซึ่งหมายถึงความเป็นปกติของแต่ละคน ที่ไม่เอารัดเอาเปรียบตนเองและผู้อื่น จนสังคมเป็นไปอย่างเรียบง่าย และบรรสานสอดคล้องกัน อย่างมีความยุติธรรมเป็นพื้นฐาน กล่าวคือพยายามหาทางปิดช่องทางในการเอารัดเอาเปรียบกันด้วยประการต่างๆ ซึ่งรวมถึงความสมดุล ตามสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติด้วย

          ประการสุดท้ายคืออุบายวิธีในการฝึกตนให้พ้นไปจากความหลง หรือความรู้อย่างผิดๆ จนเกิดความยึดมั่นถือมั่น ให้แปรสภาพดังกล่าวไปเป็นความเข้าใจในเรื่องตัวตนและสังคม ตลอดจนความเป็นจริงในโลกหรือการเข้าถึงกระแสแห่งธรรมนั่นเอง ดังท่านใช้คำว่าปัญญา ฉะนั้นที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ใช้คาถาภาษาบาลีเป็นคติพจน์ที่สำคัญว่า นัตถิ ปัญญา สมาอาภา นั้น คือเนื้อหาสาระที่เป็นแก่นของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ ภาวนามัยนั้นแล

          ถ้าตีประเด็นในเรื่องทาน ศีล และภาวนา ไม่แตกเสียแล้ว เนื้อหาสาระของพุทธศาสนาก็ย่อมกลายสภาพไปได้ง่ายๆ กล่าวคือการฝึกตนตามแนวทางของทาน ศีล และภาวนานั้น ต้องตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานที่ลดความเห็นแก่ตัวเป็นประการสำคัญ เพื่อให้เกิดการปล่อยวาง อย่างสะอาด อย่างสงบ และอย่างสว่าง หาไม่ทานก็อาจกลายเป็นเลศในการแสวงหาความเห็นแก่ตัวได้ไม่ยาก แม้ศีลก็กลายเป็นการอวดตัวว่า ตนเองดีกว่าผู้อื่น ยิ่งพระด้วยแล้ว ถ้าไม่ระวังตัวให้ดีๆ ก็จะนึกว่าตนมีศีลสูงส่งกว่าฆราวาส จนเกิดอาการพองขึ้นได้ง่ายๆ ยิ่งไปติดอยู่กับยศศักดิ์อัครฐาน และโลกธรรมต่างๆ ในทางบวกด้วยแล้ว นั่นคือหายนภัยที่สำคัญ แม้จนการภาวนา ถ้าไม่เป็นไปในทางสัมมาสมาธิเสียแล้ว ก็จะก่อให้เกิดความวิปริตต่างๆ ได้ไม่ยาก โดยไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงความเป็นไปของสำนักพระธรรมกาย แม้จนการเรี่ยไรเงินจากคนจนมาช่วยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้ซึ่งประกาศตนว่าเป็นพระอรหันต์นั้น เป็นไปตามเนื้อหาสาระของสัมมาสมาธิ หรือมิจฉาสมาธิ เกรงว่าความข้อนี้ ดูจะไม่มีการอภิปรายกันในทางธรรม อย่างปราศจากอคติกันเอาเลยก็ว่าได้ ดังพระอาจารย์เจ้าบางรูปที่ทำวัตถุมงคลออกจำหน่าย เพื่อหาเงินมาสร้างสถาบันการศึกษา และโรงพยาบาลต่างๆ นั้น เป็นกุศลจรรยาหรือว่าปนเปไปกับการหลอกลวงมอมเมารวมอยู่ด้วย ยังพระวิปัสสนาจารย์บางรูปที่ได้รับอภิสิทธิ์ต่างๆ จากทางกองทัพ ให้มีเครื่องเฮลิคอปเตอร์มารับ เพื่อเอาวัตถุมงคลไปแจกทหารนั้น สมควรหรือไม่ นี่ก็ไม่มีการตั้งปุจฉาวิสัชนากัน คือเรามักหลีกเลี่ยงประเด็นกัน จนเกิดความสับสนต่างๆ มิใช่หรือ

 

 

          ก่อนที่จะพูดถึงบทบาทของพระสงฆ์ คงต้องถามเสียก่อนว่า ใครคือพระสงฆ์ สำหรับคนไทยทั่วไป พระสงฆ์คงหมายถึงเพียงว่าพระภิกษุสงฆ์เท่านั้น หรือมิใช่ ถ้าจะรวมถึงภิกษุณีสงฆ์เข้าไปด้วยแล้ว โลกทัศน์ของคนไทยทั่วๆ ไปรับได้หรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าคนไทยคนนั้นเจริญภาวนามัยบ้างหรือไม่ สามารถเอาชนะอคติที่ครอบงำตนอยู่ได้มากน้อยเพียงไร ไม่ว่าอคตินั้นๆ จะครอบงำเราอยู่ในทางความรัก ความชัง ความกลัว หรือความหลง ยิ่งประเด็นหลังนี้ด้วยแล้ว ถ้าขาดมิติทางประวัติศาสตร์ และพระธรรมวินัยเสียแล้ว ก็ย่อมถูกครอบงำได้ง่ายๆ จากอิทธิพลอันเลวร้ายและคับแคบของสังคมร่วมสมัย

          สำหรับทางมหายานนั้น บริษัทสี่ประกอบไปด้วยภิกษุสงฆ์ ภิกษุณีสงฆ์ อุบาสกสงฆ์ และอุบาสิกาสงฆ์ โดยที่ภิกษุสงฆ์ไม่จำต้องมีสภาพที่สูงส่งกว่าสังฆบริษัทอื่นๆ ไม่ว่าจะในทางวัฒนธรรมหรืออื่นใดก็ตาม๑

          เราเคยถามกันบ้างไหมว่า การที่พระไทยมีสภาพทางวัฒนธรรมที่สูงส่งกว่าฆราวาสนั้น มาจากการบิดเบือนประวัติศาสตร์ในปลายสมัยกรุงธนบุรีได้หรือไม่ โดยที่เลศนัยดังกล่าว กลายเป็นการโค่นล้างพระเจ้าตากสิน โดยที่มีการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญ๒ และแต่นั้นมาโดยเฉพาะก็แต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา พระไทยได้รับการยกย่องอย่างมอมเมาในทางสมณศักดิ์ และอัครฐานอื่นๆ จนพระกลายไปเป็นผู้ซึ่งสยบยอมกับพระราชา และขัตติยาธิปไตย ดังที่ต่อมาก็ได้สยบยอมกับนักการเมือง นักการทหาร แม้จนสยบยอมกับนักวิชาการที่อ้างว่ามีความรู้ความสามารถในทางวิธีวิทยาจากตะวันตกอีกด้วย โดยมีใครบ้างที่กล้าถามว่าวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกระแสหลักจากตะวันตกนั้นเป็นมิจฉาทิฐิ ที่อุดหนุนความโลภโกรธหลง อย่างก่อให้เกิดความยึดมั่นในทางความเห็นแก่ตัว ยิ่งกว่าจะช่วยให้เกิดความสว่างในทางปัญญา อย่างมีความสะอาดใจและความสงบภายในเป็นเจ้าเรือน

          สำหรับพระสงฆ์นั้น เนื้อหาสาระอยู่ที่การเป็นสมณะ คือผู้ที่มีวิถีชีวิตอันเรียบง่าย อย่างรู้จักใช้ศีลบ่มเพาะ ให้เกิดความเป็นปกติภายในตนอย่างบรรสานสอดคล้องกันชนิดที่เป็นองค์รวม รวมถึงแผ่ขยายความเป็นธรรมชาติอันปราศจากความรุนแรงดังที่ว่านี้ให้ขยายออกไปภายในสังคมสงฆ์อีกด้วย โดยที่พระสงฆ์คือผู้ที่ทรงพรหมจรรย์ คือมีวิถีชีวิตอันประเสริฐ อย่างไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง หรือหมกมุ่นในกามคุณ เพื่อลดตัณหาราคะ อันเป็นต้นตอประการสำคัญของโลภจริต ซึ่งโยงไปถึงโทสจริตและโมหจริต

          วิถีชีวิตของพระสงฆ์ที่แท้นั้น ย่อมมีอิทธิพลไปถึงวิถีชีวิตของฆราวาส ซึ่งต้องการเอาอย่างพระ แม้จะเรียบง่ายไม่ได้ถึงขั้นของการทรงพรหมจรรย์อย่างพระ ฆราวาสก็พึงใช้ทานมัย ศีลมัย และภาวนามัย เป็นแนวทางของการลดความเห็นแก่ตัว โดยมองไปที่สังคมสงฆ์เป็นแบบอย่างและแนวทาง ยังฆราวาสที่ต้องการแปรสภาพของตนในทางลดความเห็นแก่ตัวลงไปให้ยิ่งขึ้นนั้น อย่างน้อยในวันพระของทุกสัปดาห์ เขาก็จะสมาทานอุโบสถศีลถึงขั้นพรหมจรรย์ แม้วันหนึ่งและคืนหนึ่งก็ยังดี เพื่อฝึกนิสัยปัจจัยไว้ในทางการปล่อยวางต่างๆ

          พระพุทธองค์ทรงตั้งคณะสงฆ์ขึ้น เพื่อให้เป็นสังคมนอกกระแสหลัก ที่มีความเสมอภาคเป็นพื้นฐาน ในขณะที่สังคมของชาวโลกในสมัยนั้น และสมัยนี้ มีการแบ่งชนชั้นวรรณะ เอาเปรียบกันทางเพศ ทางผิวและอื่นๆ โดยที่คณะสงฆ์มีภราดรภาพเป็นแกนกลาง เพื่อสังฆบริษัทจะได้มีความบรรสานสอดคล้องกันฉันพี่ฉันน้อง เพื่อช่วยกันใช้ไตรสิกขา หรือศีล สมาธิ ปัญญา ให้เกิดอิสรภาพที่แท้ คือหลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลง

          พระพุทธองค์ทรงเตือนพุทธสาวกในคณะสงฆ์ ให้ดำเนินชีวิตอย่างสมณะที่เรียบง่าย ทรงเตือนไม่ให้เป็นพราหมณ์ คือเจ้าพิธีต่างๆ ทรงเตือนให้พึ่งตนเอง ไม่ให้พึ่งเทวฤทธิ์ หรือไสยเวทวิทยา ซึ่งในสมัยนี้รวมถึงเทคโนโลยีต่างๆ ด้วย แต่พุทธสาวกเป็นอันมากพอใจในความเป็นพราหมณ์ จนตั้งตนเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ ประกอบไปด้วยฤทธิ์เดชต่างๆ จนเข้าไปพัวพันกับอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจ ถึงกับบางทีความเป็นลัชชี ที่มีความละอายใจเป็นพื้นฐาน อย่างที่มีหิริโอตตัปปะเป็นตัวกำหนดในทางมโนธรรมสำนึก ถึงกับปลาสนาการไป ในคราบของความเป็นพระ เพียงแค่มีผ้ากาสาวพัสตร์ที่ห่อหุ้มกาย อันเต็มไปด้วยความเน่าเหม็น ไม่แต่อสุภะของร่างกายเท่านั้น หากยังปิดบังความเป็นอลัชชีที่ไม่ละอายในทางต่างๆ เข้าไปด้วย นี้แลคือบทบาทอันเลวร้ายสุดของพระสงฆ์ในสังคมร่วมสมัย

          อนึ่งพระสงฆ์ในทางฝ่ายเถรวาทที่เป็นใหญ่อยู่ในเมืองไทยนั้น ความสำคัญอยู่ที่เถระ คือผู้ที่ทรงพรหมจรรย์มาแล้วไม่น้อยไปกว่า ๑๐ พรรษา ซึ่งสามารถเป็นอุปัชฌาย์ให้อุปสมบทแก่กุลบุตรได้ในท่ามกลางสงฆ์ เพื่อให้มีสมาชิกใหม่ได้ในคณะสงฆ์ แต่ถ้าอุปัชฌาย์เป็นอลัชชีเสียแล้ว และอุปสมบทกรรมเป็นเพียงพิธี ที่สงฆ์ผู้เข้าร่วมสังฆกรรมมุ่งเพียงเพื่ออามิส อย่างไม่ไยไพกับการอบรมบ่มนิสัยแก่นวกภิกขุ หรือการเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่พระใหม่ นั่นก็คือการล่มสลายของสงฆ์อีกเช่นกัน ทั้งนี้เพราะพระต้องได้รับบรรยากาศในทางภราดรภาพจากกัลยาณมิตรในแวดวงของคณะสงฆ์ คือบวชเพื่อเรียน ให้รู้ถึงเนื้อหาสาระของพระธรรมวินัย จะได้เอาตัวให้รอดพ้นไปได้จากอพรหมจริยา พระวินัยกำหนดไว้ว่าพระใหม่ต้องอยู่ภายใต้การดูแลอบรมสั่งสอนของอุปัชฌาย์อาจารย์อย่างน้อย ๕ พรรษา จึงจะถึงนิสัยมุตตกะคือพ้นนิสัยหรือดูแลตัวเองได้ และใช้เวลาอีกอย่างน้อย ๕ พรรษา จึงจะเข้าถึงเถรภูมิ คือสั่งสอนและดูแลยุวสงฆ์ได้ ทั้งในทางเป็นแบบอย่างแห่งการดำรงชีวิต และในทางสั่งสอนเถรธรรมที่ลึกซึ้งลงไป เพื่อการตื่นขึ้นได้จากอกุศลมูลทั้งสาม

          ถ้าบทบาทดังที่กล่าวมานี้ขาดไปเสียแล้วจากสังคมสงฆ์ จะให้พระภิกษุสงฆ์ไปมีบทบาทอื่นใดในทางสังคม ก็เท่ากับเป็นการเล่นละคร หรือไปเต้นแร้งเต้นกาแข่งกับฆราวาส ซึ่งอาจทำได้ดีกว่าเสียซ้ำ ถ้าฆราวาสนั้นๆ รู้จักเจริญสติ ให้เกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม อย่างรู้จักรับใช้สรรพสัตว์ ยิ่งกว่าทำอะไรๆ ในสังคม เพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง ไม่ว่าจะในนามของเศรษฐกิจ การเมือง หรือชื่อเสียงเกียรติยศ ก็สุดแท้

          การนับถือศาสนานั้น ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าบุคคลนั้นๆ ปฏิบัติธรรมจนมีประสบการณ์ทางศาสนาหรือหาไม่ ดังใครคนหนึ่งให้ข้อคิดอย่างน่ารับฟังไว้ว่า ประสบการณ์ทางศาสนา คือการเข้าถึงรหัสยนัยของชีวิตนั้น แสดงออกได้ ๓ ทางคือ ๑. การปฏิบัติธรรมที่ช่วยให้เข้าถึงความลึกลับอันมหัศจรรย์ของชีวิต ๒. แล้วนำเอาประสบการณ์ทางศาสนาที่ว่านั้นมาแสดงออก จน ๓. บังเกิดวิถีชีวิตทางศาสนาซึ่งเกิดจากความเข้าใจและรู้แจ้งเห็นจริง

          ๑. ซึ่งว่าด้วยการปฏิบัติธรรมกลายมาเป็นหลักธรรมคำสอนของแต่ละศาสนา ๒. การแสดงออกทางศาสนากลายมาเป็นศาสนพิธีต่างๆ และ ๓. วิถีชีวิตทางศาสนากลายมาเป็นแนวทางของจริยวัตรเพื่อนำศาสนิกไปในทางที่ถูกที่ควร

          เมื่อเวลาล่วงไปๆ วัฒนธรรมและประเพณีสั่งสมกันยิ่งๆ ขึ้นจน ๑. หลักธรรมคำสอนก็เลยกลายเป็นคำสั่งสอนที่ตายตัวอันใครๆ ไม่อาจปฏิเสธได้หรือตั้งคำถามได้ หมายความว่าศาสนิกจำต้องเชื่อตามคำสอนของศาสนาเสมอไป ๒. ศาสนพิธีกลายเป็นรูปแบบและพิธีกรรมอย่างปราศจากเนื้อหาสาระอันประเสริฐ สักแต่ทำๆ กัน หาไม่ก็เอาพิธีกรรมไปรับใช้อำนาจหรือเงินตรา ๓. แนวทางที่ชี้แนะไว้ให้ประพฤติปฏิบัติในทางธรรม ก็เลยกลายเป็นจารีตที่ตายตัว ซึ่งศาสนิกต้องกระทำตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

          ถ้าเราไม่ทำความเข้าใจในหัวข้อทั้งสามดังที่กล่าวมานี้ เราจะเป็นดังที่ว่ากันว่า "เข้าไพรไม่เห็นพฤกษ์"

 

 

          การที่พระภิกษุสงฆ์จะมีบทบาทใดๆ ได้ในสังคมปัจจุบัน จำจะต้องถามตัวเองก่อนว่าท่านคือใคร พูดกันอย่างไม่เกรงใจก็คงต้องพูดกันอย่างตรงๆ ว่า ที่คนส่วนใหญ่ไปบวชกันนั้น เพราะต้องการหนีไปให้พ้นจากความยากจนข้นแค้น และที่มาศึกษาเล่าเรียนกันนั้น ก็เชื่อว่านั่นคือบันไดแห่งการไต่เต้าไปเพื่อความก้าวหน้าในทางสังคม โดยมีผ้ากาสาวพัสตร์และสังคมสงฆ์เป็นตัวเอื้ออาทรที่สำคัญ คงมีน้อยท่านที่ต้องการปลุกตนเองให้ตื่นขึ้นจากความโลภ โกรธ หลง เพราะยิ่งบวชนานเข้าและมียศถาบรรดาศักดิ์สูงส่งขึ้น ดูความโลภ โกรธ หลงจะมีมากยิ่งๆ ขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยซ้ำไป และพระภิกษุสงฆ์ที่เห็นอานิสงส์ของชีวิตพรหมจรรย์ที่แท้จริงนั้น มีมากน้อยเพียงไร โดยเฉพาะก็ในสังคมที่มีลัทธิบริโภคนิยมเป็นตัวกำหนด ให้ใครๆ พากันสยบยอมกับสื่อกระแสหลัก ซึ่งแพร่เข้าไปถึงแทบทุกวัด ให้ใครๆ สยบยอมอยู่กับกินกามเกียรติ อย่างที่ว่ามือใครยาวสาวได้สาวเอา การแข่งขันกันในทางโลกๆ ก็เป็นสิ่งซึ่งแม้พระก็พากันพอใจ การสำรวมระวังหรือการเจริญสมาธิภาวนาเพื่อเข้าหาความตื่นจากราคจริต โลภจริต โทสจริต และโมหจริตนั้น แทบจะไม่มีเอาเลยในสำนักสงฆ์ทั่วๆ ไป ศีลสิกขาก็เป็นไปในทางรูปแบบ ยิ่งกว่าเพื่อความเป็นปกติ แม้พระทุศีลก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วๆ ไปอย่างไม่มีความละอายกันเอาเลย แล้วปัญญาจะเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเราต้องไม่ลืมว่าการศึกษาตามแบบของตะวันตกนั้นไม่ช่วยให้เกิดปัญญา อันเป็นแสงสว่างที่แท้จริง หากให้เกิดอวิชชาที่มีความรู้อย่างเป็นเสี่ยงๆ และอย่างปราศจากจุดยืนในทางจริยธรรม ทั้งการเรียนตามอย่างฝรั่งยังเพิ่มพูนอัตตวาทุปาทานอีกด้วย

          หากพระสงฆ์ต้องการมีบทบาทในสังคม จำต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นก่อน จากการครอบงำของสังคม ซึ่งมีโครงสร้างอันรุนแรงและอยุติธรรม ถ้าพระสงฆ์กล้าพอที่จะปฏิเสธการครอบงำทางโครงสร้างของสังคม ย่อมจะต้องกลับมาสำรวจตรวจดูตนเองและกำพืดของตน จนไม่มีความละอายในการที่เกิดมาเป็นคนจน และความจนของเราไม่ใช่วิบากกรรมจากอดีต หากเกิดจากการเอารัดเอาเปรียบของสังคมศักดินาและระบอบทุนนิยมร่วมสมัย ถ้าพระภิกษุแต่ละรูปเกิดมโนธรรมสำนึกขึ้น ย่อมพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับความยากจน ซึ่งเป็นตัวตนของทุกขสัจที่สำคัญยิ่ง

          จากการเป็นพระแม้จะยังไม่ต้องการอุทิศชีวิตทั้งหมดเพื่อพระศาสนา แต่ตราบที่ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ต้องมีบทบาทในการไม่หลอกลวงตัวเองและผู้อื่น อย่างมีความรู้ตัวทั่วพร้อมอยู่เสมอๆ โดยที่เมื่อหันไปเห็นทุกขสัจในสังคมมากเท่าไร แนวคิดที่จะไต่เต้าบันไดของสังคมอันจอมปลอมก็ย่อมจะเบาบางลง แล้วเกิดการอุทิศตนเพื่อสังคมขึ้น นี้แลคือก้าวแรกแห่งการอุทิศตนเพื่อพระศาส ผู้ทรงเป็นต้นตอที่มาแห่งการเอาชนะความทุกข์ยากทั้งปวง

          การที่ใครๆ จะทำเช่นนั้นได้ แม้ผู้ที่ไม่ได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์ ก็จำต้องมีเวลาเจริญจิตสิกขา ให้เกิดความสงบภายใน จนได้รู้จักใช้โยนิโสมนสิการ คือการลดความติดยึดในตัวตนลง โดยหันวิถีชีวิตไปในการรับใช้สรรพสัตว์ ยิ่งกว่าเพื่อความยิ่งใหญ่ของตนเอง ซึ่งมักเป็นไปกับความเครียด และความหยิ่งยโสโอหัง หากเป็นไปอย่างเรียบง่าย อย่างอ่อนน้อมถ่อมตน อย่างปล่อยวางและอย่างจริงใจ

          นอกไปจากนี้แล้วแต่ละคนจำต้องแสวงหากัลยาณมิตร ยิ่งในวงการสงฆ์ด้วยแล้ว ถ้ามีกัลยาณมิตรที่เห็นคุณค่าและสาระของชีวิตพรหมจรรย์ นั่นคือสิ่งซึ่งประเสริฐสุด กล่าวคือกัลยาณมิตรย่อมกล่าวเตือนสติไม่ให้หลงผิด ให้กล้าถอนความเห็นแก่ตัวออก ให้ยอมรับความผิดพลาด หมายความว่าการปลงอาบัติที่เนื้อหาสาระคือการยอมรับความผิดพลาด เพื่อสำรวมระวัง จนอาจแก้นิสัยสันดานได้ เรื่อยไปจนถึงทำตนให้พ้นไปได้จากความโลภ โกรธ หลง แม้จะยังไม่ได้ถึงขั้นนั้น ก็ย่อมเห็นโทษของกินกามเกียรติอย่างแท้จริง จนเห็นอานิสงส์ของความสะอาดอย่างสงบ อย่างมีสติวิจารณญาณ เพื่อเข้าถึงความสว่างในทางปัญญา

          ถ้าพระภิกษุสงฆ์เริ่มมีบทบาทกับตนเองได้เช่นนี้ จึงควรมองต่อไปให้เห็นสภาพของสังคม ให้ชัดเจนเป็นประเด็นๆ และรู้จักโยงประเด็นต่างๆ เข้ามาให้เป็นองค์รวม แล้วก็จะรู้ได้ว่าตนควรทำอะไรกับตนเองและสังคม โดยกล้าเดินออกนอกทางของกระแสหลัก แม้ในสถาบันสงฆ์เอง ซึ่งกะปลกกะเปลี้ยอย่างแทบถึงที่สุดแล้ว

          ถ้าพระฝึกตนให้มีความสงบอยู่ภายใน มีศีลาจารวัตรอันงดงามอย่างเห็นได้ทางภายนอก ก็น่าจะเริ่มมีบทบาทได้ด้วยการจัดวัดวาอารามให้เรียบง่ายและงดงาม ขจัดมลพิษออกไปจากวัด เริ่มแต่พระอลัชชีไปจนความอุจาดอื่นๆ เช่น เปลี่ยนลานจอดรถให้เป็นลานวัดอันร่มรื่น อนุรักษ์สถาปัตยกรรมและศิลปกรรมให้สมกับคุณค่า ไม่เห่อเหิมไปกับป่าคอนกรีตต่างๆ ภายในวัด แม้เมรุเผาศพก็ควรเป็นที่ตั้งแห่งการเจริญอสุภกรรมฐาน ไม่ใช่เป็นไปเพื่อพุทธพาณิชย์ โดยที่วัดควรลดความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิมลง เช่นเลิกรับโทรทัศน์จากทั่วโลก ซึ่งเต็มไปด้วยการกระตุ้นทางกามกิเลส และพระควรเอื้ออาทรถึงคนจนรอบๆ วัด และถ้าพระรูปใดมาจากชนบทที่ยากไร้ ควรเข้าหาคนยากคนจนในชนบทนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ถูกเอาเปรียบแรงงานอยู่ในเมืองกรุงนี้เอง ถ้าพระไม่ออกไปหาคนจนในสลัมและในบ้านเดิมของตน ก็จะหวังเพียงเข้าวัง หรือเข้าคฤหาสน์คนรวยเท่านั้นเอง ยังการถือพัดถือย่าม ก็ล้วนเป็นการโฆษณาชวนเชื่อให้บริษัทการค้าและแม่ทัพนายกองต่างๆ อย่างสำเหนียกกันแค่ไหนเพียงใด

          การพัฒนาสังคมหรือชนบทนั้น ไม่ใช่ไปช่วยชาวบ้านในทางวัสดุ หรือไปยุให้เขาเอาอย่างคนกรุง หรือชนชั้นกลาง หากควรช่วยกันปลุกมโนธรรมสำนึกให้ผู้คนภูมิใจในภูมิปัญญาของชาวบ้าน ให้เชื่อมั่นในคุณธรรมของบรรพชนในท้องถิ่นต่างๆ ให้หาทางยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการพึ่งตนเอง และพึ่งบรมธรรม อย่างไม่ถูกกลืนไปกับวัฒนธรรมบริโภคและทุนนิยมในระบบโลกาภิวัตน์

          สมัยก่อนพระมีบทบาทมากทางด้านศิลปวัฒนธรรม ทั้งทางจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม รวมทั้งคีตกรรม และอายุรเวท หากกิจกรรมพวกนี้ถูกสกัดกั้นและทำลายลง ด้วยเหตุผลว่าเป็นดิรัจฉานวิชา จนพระแทบหมดบทบาทต่างๆ เหล่านี้ไปเอาเลย หากสามารถฟื้นคืนสภาพทางศิลปวัฒนธรรมขึ้นมาได้ และปรับให้เหมาะกับสมัย รวมทั้งประเพณีและพิธีกรรมที่นำคนได้ในทางกุศลจรรยา อย่างไปพ้นขอบเขตอันจำกัดอย่างเดิมๆ มา นี่จะเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่ง

          พระกับวัดเคยเป็นแกนกลางในการเป็นแบบอย่างทางวิถีชีวิตของชาวพุทธ ซึ่งมีประเพณีและพิธีกรรมอย่างเหมาะสมกับสังคมกสิกรรมอันเรียบง่าย โดยที่ไทยเราเองมีความเชื่อที่ผูกติดอยู่กับเตภูมิกถามาก่อน กล่าวคือ ความเชื่อเรื่องวัฏสงสาร ตายแล้วเกิด นรกสวรรค์นั้น ไม่เป็นที่สงสัย หากบัดนี้สังคมซับซ้อนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะก็สังคมเมืองที่เป็นไปในทางอุตสาหกรรม ที่เดินตามกระแสความคิดอย่างฝรั่งยิ่งๆ ขึ้นไป การสอนพระศาสนาตามรูปแบบเดิมนั้นเกือบจะไร้ความหมายเอาเลยทีเดียว แม้การรับไตรสรณคมน์ และสมาทานเบญจศีล ก็เป็นเพียงรูปแบบไปเสียแล้ว ยังการทำบุญต่างๆ ก็มีการทำบาปควบคู่กันไปแทบทั้งนั้น เช่น ไปทอดกฐินแต่ละทีก็มักเมากัน แม้งานบวชนาคก็ฆ่างัวฆ่าควายกัน ใช้เงินทองกันอย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย โดยที่คณะสงฆ์แทบไม่มีคำเตือนในเรื่องเช่นนี้อย่างจริงจัง

          เราเคยมองเห็นบ้างไหมว่า เยาวชนแทบไม่สนใจพุทธศาสนาที่เนื้อหาสาระเอาเลย จึงถูกกลืนไปโดยกามสุขัลลิกานุโยคอย่างง่ายๆ รวมถึงการแสดงออกทางความรุนแรงต่างๆ ถ้าเราสื่อกับเยาวชนไม่ได้ พุทธศาสนาจะมีอนาคตได้อย่างไร

          ทั้งนี้หมายความว่าต้องกล้าพิจารณาอย่างแยบคายด้วยว่า โรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์นั้นเป็นของเล่นยิ่งกว่าของจริง การอบรมเยาวชน โดยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงกลาโหมนั้นสร้างความหายนะให้พระศาสนาเป็นอย่างยิ่ง๓ ถ้าเราไปได้ไม่พ้นวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ตลอดจนวัฒนธรรมแห่งความรุนแรงที่มีอยู่ทุกแห่งหน รวมทั้งการนับถือมิจฉาทิฐิอย่างฝรั่งจนแทบโงหัวไม่ขึ้นด้วยแล้ว เราจะสร้างวัฒนธรรมแห่งการตื่น ซึ่งก็คือเนื้อหาสาระของพุทธะ และเราจะสร้างอหิงสธรรมในสังคมปัจจุบันได้อย่างไร

          พระจะมีบทบาทในสังคมร่วมสมัยได้ต้องรู้เท่าทันโครงสร้างทางสังคม ซึ่งห่อหุ้มไว้โดยอกุศลมูลทั้งสามอย่างหนาแน่น แต่ก็ใช่ว่าเราจะเอาชนะมันไม่ได้ ถ้าเรารู้จักประยุกต์ใช้ทศบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ที่สรุปรวมลงที่เนื้อหาสาระของทาน ศีล และภาวนานั้นแล

 

 

          ขอเสริมเติมท้ายอีกนิดว่า การที่พระจะมีบทบาทในสังคมได้นั้น นอกจากรู้เท่าทันตนเอง และรู้เท่าทันสังคมปัจจุบันแล้ว ยังควรรู้ภูมิหลังทางด้านความเป็นมาของอดีตอีกด้วย เช่น

          ๑. บทบาทของสังฆราชปู่ครูและคณะสงฆ์ในสมัยสุโขทัยที่สมาทานลัทธิเถรวาทแบบลังกาวงศ์นั้น เกี่ยวข้องอย่างไรกับการที่เราปลดออกไปได้จากมหายานและไสยเวทวิทยาที่ครอบงำเราอยู่ โดยจักรวรรดิของขอมแห่งเมืองพระนคร

          ๒. สภาวะของสมเด็จพระวันรัต วัดป่าแก้ว กับพระมหาเถรคันฉ่อง ในสมัยพระนเรศวร แห่งกรุงศรีอยุธยานั้น มีบทบาททางสังคมและการเมืองอย่างไรหรือไม่ รวมถึงการจับพระสึกในสมัยพระนารายณ์ หรือการปฏิรูปคณะสงฆ์ครั้งสำคัญทางเมืองหงสาวดีของพระเจ้าธรรมเจดีย์ปิฎกธรนั้น มีบทเรียนอะไรให้พระไทยร่วมสมัยบ้างไหม

          ๓. การบังคับให้พระไหว้คฤหัสถ์ผู้เป็นพระโสดาบันในปลายสมัยกรุงธนบุรีนั้น มีบทบาททางการเมืองอย่างสำคัญขนาดไหนอย่างไร

          ๔. บทบาทของวชิรญาณภิกขุกับการตั้งคณะธรรมยุตและการละทิ้งความเชื่อตามแบบไตรภูมิพระร่วง โดยหันมาสมาทานวิธีวิทยาอย่างตะวันตก ก่อนการเสวยราชย์ของรัชกาลที่ ๔ เรื่อยมาจนถึงการที่รัฐเข้ามาบงการการพระศาสนายิ่งๆ ขึ้น ในรัชกาลที่ ๕ รวมถึงการใช้พระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ตลอดจนการออกพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ในปลายรัชกาลนั้น และการบริหารคณะสงฆ์ตามวิถีทางของขัตติยาธิปไตย แต่สมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส เป็นต้นมานั้น มีผลบวกผลลบอย่างไรกับสมัยปัจจุบัน

          ๕. บุคคลสำคัญของวงการคณะสงฆ์ไทยในอดีตอย่างสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังนั้น น่าจะมีอะไรที่ลึกซึ้งทางสังคมและการเมือง ยิ่งกว่าอภินิหารในทางไสยเวทวิทยา ดังเป็นที่เข้าใจกันกระมัง ควรที่เราจะศึกษาอย่างวิเคราะห์เจาะลึกลงไปกันไหม มหาวิทยาลัยสงฆ์มีสถาบันธรรมวิจัยอยู่ด้วยมิใช่หรือ๔

          ๖. อาสภเถระ ซึ่งมีชนมายุครบร้อยเมื่อปลายปี ๒๕๔๖ นี้เอง เราได้บทเรียนอะไรจากท่านบ้าง ความข้อนี้หาอ่านได้จาก หันกงจักรเป็นดอกบัว ของข้าพเจ้า ที่อุทิศน้ำพักน้ำแรงถวายพระคุณท่าน

          ๗. พุทธทาสภิกขุจะมีอายุครบร้อยในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า พระสงฆ์ในสมัยปัจจุบันควรทำอะไรถวายเป็นการบูชาบุคคลที่ควรบูชา แล้วนำเอาแบบอย่างของท่านมาประยุกต์ใช้ได้อย่างไรหรือไม่๕

          ๘. ในประเทศพม่า มีอนุสาวรีย์อยู่กลางกรุงย่างกุ้ง เพื่อเตือนคนให้รู้จักคุณค่าของพระมหาเถระ ผู้นำการต่อต้านอังกฤษที่ไปยึดครองประเทศเขา ในประเทศลังกา ก็มีมหาวิทยาลัยสำหรับทุกๆ คน ที่ตั้งขึ้นจากแรงผลักดันของพระมหาเถระในอดีต หากในเมืองไทย กว่าจะมีสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งตามนามของพระมหาเถระ ผู้เป็นประธานสังฆสภาองค์แรกของไทย ก็แทบเลือดตากระเด็น ทั้งๆ ที่สาธารณสถานจากเงินภาษีอากรของราษฎรนั้น ตั้งตามนามเจ้านายและนักการเมืองมากมายและหลายคนเป็นโสณทุจริตด้วย โดยการตั้งชื่อสะพานดังกล่าว พระภิกษุสงฆ์ร่วมสมัยแทบไม่ได้มีบทบาทร่วมเอาเลยก็ว่าได้

          ๙. เมื่อตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ นั้น ได้เกิดคณะปฏิสังขรณ์ขึ้น เพราะยุวสงฆ์แห่งสมัยไม่อาจทนความไม่เป็นธรรมของมหาเถรสมาคมได้ จึงมีบทบาทในทางการเคลื่อนไหวต่างๆ จนเกิดพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับใหม่ในปี ๒๔๘๔ ที่มีรูปแบบเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้น แต่แล้วพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ถูกจอมเผด็จการทำลายลง ด้วยความร่วมมือของพระผู้ใหญ่ที่อยู่ฝ่ายศักดินาและขัตติยาธิปไตย ยิ่งกว่าจะแลเห็นถึงสภาพของการกดขี่ข่มเหงทางโครงสร้างอันอยุติธรรมต่างๆ ทั้งแก่พระเณรและฆราวาสทั่วๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพวกยากไร้ บทเรียนดังกล่าวนี้ควรที่พระภิกษุร่วมสมัยจักใช้เป็นบรรทัดฐานในการรู้จักอดีตหรือไม่

          ๑๐. แม้ในสมัยปัจจุบัน กลุ่มเสขิยธรรม ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเจ้าคุณพระธรรมปิฎก (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) นั้น ก็ต้องการฟื้นฟูบทบาทของพระภิกษุร่วมสมัย โดยโยงใยไปถึงสามเณรและแม่ชี ให้เกิดกลุ่มกัลยาณมิตรขึ้น เพื่ออุดหนุนกันและกันในการเจริญสมณธรรมตามแนวทางของพรหมจรรย์ หรือชีวิตอันประเสริฐ สำหรับนำทางให้สังคมได้เป็นไปอย่างสงบ อย่างสะอาด และอย่างสว่าง ดังเสมสิกขาลัยก็รับใช้ในแนวทางนี้ ที่ประยุกต์ไตรสิกขามาให้เหมาะสมกับสังคมร่วมสมัย เพื่อไปพ้นการครอบงำของมิจฉาทิฐิ ที่ควบคู่ไปกับสถาบันกระแสหลัก ผู้ที่สนใจอาจหาเอกสารและหนังสือต่างๆ อ่านได้ ดังเอามาวางขายที่หน้าหอประชุมนี้ด้วยบ้างแล้ว และถ้าต้องการความทันสมัย ก็โปรดใช้เว็บไซต์ www.semsikkha.org เป็นแนวทางอีกอย่างหนึ่งด้วยก็ได้ และถ้าจะอ่านเรื่องพุทธศาสนาไทยในอนาคต แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต ของพระไพศาล วิสาโล ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งนัก

คำสำคัญ (Tags): #พระ
หมายเลขบันทึก: 114235เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2007 07:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท