ตั้งเป้าหมายอย่างไรให้สมาร์ท (SMART)


เราทุกคนต่างต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ที่แน่ๆ ก็คือก่อนที่เราจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เราจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่เราจะต้องบรรลุเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการ
คงไม่ปฏิเสธกันนะครับว่า เราทุกคนต่างต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งนิยามของการประสบความสำเร็จก็คงจะมีต่างๆ กันแล้วแต่พื้นเพ ความรู้สึกนึกคิด ประสบการณ์ และต้นทุนชีวิตของแต่บุคคล แต่ที่แน่ๆ ก็คือก่อนที่เราจะประสบความสำเร็จได้นั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ เราจำเป็นต้องมีเป้าหมายที่เราจะต้องบรรลุเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จที่ต้องการ 

ไม่ว่าเราอยากประสบความสำเร็จด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายๆ ด้านก็ตาม ก็จำเป็นต้องมีเป้าหมายที่จะนำพาตัวเราเข้าใกล้ความสำเร็จ โดยอาจเป็นเป้าหมายที่ค่อยๆ ก้าวไปทีละขั้นๆ เหมือนการก้าวขึ้นสู่ที่สูงไปเรื่อยๆ การบรรลุเป้าหมายแต่ละครั้งก็คือการเข้าใกล้ความสำเร็จเข้าไปทุกที เพราะฉะนั้นเป้าหมายก็มีได้ไม่จำกัดครับ เอาไว้คราวต่อๆ ไปอาจจะได้มาว่ากันให้ละเอียดถึงเป้าหมายชีวิตในแต่ละด้านกันนะครับ สำหรับครั้งนี้เราจะมาเรียนรู้ถึงวิธีการตั้งเป้าหมายให้ SMART กันก่อนดีกว่านะครับ

ถ้าท่านมีปากกากับกระดาษอยู่ใกล้ๆ ก็หยิบออกมาเลยครับ ถ้าไม่มี ผมให้เวลาหนึ่งนาทีครับ (ล้อเล่นครับ) ท่านอาจจะเปิดโปรแกรม Notepad ขึ้นมาก็ได้ครับ พร้อมหรือยังครับ ถ้าพร้อมแล้ว ให้ท่านลองนึกดูว่าท่านมีเป้าหมายอะไรที่ท่านอยากทำให้สำเร็จบ้าง แล้วลองเขียนออกมาเลยครับ อะไรก็ได้ ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่จะเป็นเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็ได้ครับ จดไว้เลยครับ ต่อไปลองดูกันที่เป้าหมายที่ท่านตั้งไว้ทีละอันนะครับแล้วลองประเมินมันดูว่ามันเข้ากับกฎที่ผมจะแนะนำต่อไปนี้หรือเปล่า อนุญาตให้ท่านปรับแก้ได้ตามสะดวกครับเมื่อท่านได้ปฏิบัติตามคำแนะนำไปทีละข้อ

กฎที่ว่าก็คือ SMART goals ครับ

S = Specific (มีความชัดเจน)
M = Measurable (สามารถวัดได้)
A = Attainable (สามารถบรรลุได้)
R = Realistic (อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของคุณ)
T = Timely (มีกำหนดเวลาแน่นอน)

ต่อไปเราลองมาดูรายละเอียดของแต่ละตัวกันครับ

Specific

เป้าหมายควรมีความชัดเจนเรียบง่าย ไม่สลับซับซ้อน และเน้นถึงสิ่งที่เราต้องการให้เกิดขึ้น Specific จะช่วยให้เราสามารถทุ่มเทความพยายามของเราลงไปได้อย่างเต็มที่และช่วยทำให้เราแจ้งชัดในสิ่งที่เรากำลังจะทำ เป้าหมายจะต้องชัดเจนว่าอะไรคือสิ่งที่เรากำลังจะทำ (what) ทำไมเราจึงต้องทำสิ่งนั้นในเวลานี้ (why) เราจะทำสิ่งนั้นได้โดยวิธีใด (how) ลองสำรวจเป้าหมายที่ท่านได้เขียนไว้สิครับว่าได้เป็นไปตามกฎนี้แล้วหรือยัง เป้าหมายของเรามีความชัดเจน แจ่มแจ้ง และเรียบง่ายแล้วหรือยัง ยกตัวอย่างนะครับ เช่นถ้าท่านได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่า "ฉันจะลดน้ำหนัก" หรือ "ฉันจะมีสุขภาพที่ดีกว่านี้" ลองเปลื่ยนมาเป็น "ฉันจะลดรอบเอวลงอีกสองเซ็นต์" หรือ "ฉันจะวิ่งวันละห้ากิโลเมตร" แทน หวังว่าท่านคงนำกฎข้อนี้ไปปรับใช้กับเป้าหมายของท่านได้นะครับ

Measurable

กฎข้อต่อไป เป้าหมายจะต้องวัดได้ครับ ถ้าเป้าหมายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถวัดได้ เราก็ไม่สามารถที่จะจัดการกับมันได้ อย่างที่ผมกล่าวไว้ในตอนต้นๆ นะครับ เป้าหมายแต่ละเป้าหมายก็คือตัวชี้วัดการประสบความสำเร็จของเรานั้นเอง ถ้าเราสามารถบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้นเท่าไหร่ ความสำเร็จก็ใกล้เข้ามาเท่านั้น การที่เราจะบรรลุเป้าหมายก็เฉกเช่นเดียวกัน จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดครับ เพราะฉะนั้นในการตั้งเป้าหมายจึงต้องตั้งให้สามารถวัดได้ แล้วเราจะสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ จึงจะสามารถทราบได้ว่าเราบรรลุเป้าหมายแล้วเมื่อถึงจุดกำหนดที่เราตั้งไว้ ลองดูเป้าหมายที่ท่านต้งไว้สิครับว่าเป็นไปตามกฎข้อนี้แล้วหรือยัง ถ้าท่านตั้งเป้าหมายว่า "ฉันต้องการเป็นนักอ่าน" ซึ่งไม่สามารถวัดได้ ลองเปลี่ยนมาเป็น "ฉันต้องการอ่านหนังสือ Harry Potter เล่มห้า ฉบับภาษาอังกฤษ จำนวน 896 หน้า ให้จบภายในหนึ่งเดือน" ซึ่งท่านสามารถติดตามผลได้ในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ ว่าท่านได้เข้าใกล้เป้าหมายได้เพียงใด 

Attainable

เป้าหมายต้องสามารถทำให้บรรลุได้ เมื่อคุณได้คิดตั้งเป้าหมายขึ้นมา คุณก็ต้องอยากที่จะทำมันให้สำเร็จใช่มั้ยล่ะครับ แต่ถ้าเป้าหมายที่คุณตั้งไว้นั้นไกลเกินไปเกินกว่าที่คุณจะทำให้สำเร็จได้ คุณก็ไม่สามารถที่จะบรรลุมันได้แม้ว่าคุณจะเริ่มต้นด้วยความตั้งใจดีก็ตาม แต่คุณก็จะเลิกล้มมันไปในที่สุด ผมยอมรับครับว่าเป้าหมายที่ดีต้องมีความท้าทายให้เราอยากทำ แต่ต้องอยู่ในวิสัยที่เราสามารถทำได้จริงครับ เช่นถ้าคุณตั้งเป้าหมายว่าจะลดน้ำหนักให้ได้สิบกิโลกรัมภายในหนึ่งอาทิตย์ ซึ่งเราก็ทราบว่ามันไม่มีทางเป็นไปได้ คุณคงไม่สามารถไปบังคับร่างกายของคุณได้ขนาดนั้น คุณควรตั้งเป้าหมายเสียใหม่ว่าจะลดน้ำหนักให้ได้หนึ่งกิโล เมื่อคุณทำสำเร็จแล้วก็ตั้งเป้าหมายต่อไปว่าจะลดน้ำหนักอีกหนึ่งกีโล ซึ่งมันจะทำให้คุณเห็นว่าคุณสามารถทำได้จริงๆ แล้วมันจะช่วยเป็นกำลังใจให้คุณก้าวต่อไปจนกว่าคุณจะบรรลุจุดมุ่งหมายที่คุณได้ตั้งใจไว้

Realistic

เป้าหมายต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของคุณ ถ้าหากเป้าหมายที่คุณตั้งไว้มันเป็นการปรับเปลี่ยนอย่างกะทันหันหรือเรียกว่าเป็นการหักดิบ ก็อาจทำให้คุณไม่สามารถบรรลุมันได้ เช่นคุณเป็นคนที่ชอบดูทีวีเอามากๆ แต่ละวันคุณอาจใช้เวลาในการดูทีวีมากกว่าสี่ชั่วโมง ก็อาจตั้งเป้าหมายว่าจะลดชั่วโมงดูทีวีลงหรือกำหนดรายการที่ต้องการดูไว้ล่วงหน้าแล้วใช้เวลาส่วนที่ลดการดูทีวีนั้นไปทำกิจกรรมที่มีประโยชน์มากกว่าเช่นอ่านหนังสือ จนกระทั่งคุณสามารถปรับตัวได้หรือควบคุมได้ว่าจะดูทีวีไม่เกินวันละหนึ่งหรือสองชั่วโมงหรือเลิกไปเลย

Timely

ต้องมีกรอบเวลาในการบรรลุเป้าหมาย เช่นคุณอาจตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุในอาทิตย์หน้า ในสามเดือน หรือเมื่อจบมหาวิทยาลัย ถ้าคุณตั้งเป้าหมายโดยไม่มีกรอบเวลา ความมุ่งมั่นที่จะทำให้สำเร็จอาจจะอ่อนลงไป เพราะคุณอาจจะคิดว่าคุณจะเริ่มทำเมื่อไหร่ก็ได้ ถ้าไม่มีเวลาจำกัด คุณก็คงไม่รีบร้อนที่จะทำมันตอนนี้ แต่ทั้งนี้กรอบเวลาที่ตั้งก็ต้องสามารถวัดได้ สามารถบรรลุได้ และอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของคุณด้วย

เป็นยังไงครับ ผมหวังว่าตอนนี้เป้าหมายที่ท่านได้จดไว้แต่แรกคงได้ปรับเปลี่ยนให้ SMART ตามกฎทั้งห้าข้อแล้วนะครับ แล้วคราวหน้าจะนำข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับการตั้งเป้าหมายมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมครับ
หมายเลขบันทึก: 113778เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 14:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท