หะซัน อัลบันนาและทัศนะต่อซูฟีย์


น่าจะดีถ้าข้าพเจ้าจะได้บันทึกความรู้สึกในใจบางประการลงในบันทึกนี้  เกี่ยวกับตะเซาวุฟและตอรีเกาะต์ โดยจะกล่าวถึงความเป็นมา อิทธิพล  แนวโน้ม และการทำอย่างไรให้กลุ่มนี้สร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคมมุสลิม แต่ไม่ใช่งานเชิงวิจัยทางวิชาการ การศึกษาศาสตร์ด้านนี้ในเชิงลึก  หากเป็นเพียงการบันทึกความรู้สึกที่เกิดขึ้นในใจ หรือสิ่งที่โลดแล่นอยู่ในความรู้สึกนึกคิด  หากว่าถูกต้องก็มาจากอัลลอฮฺ อัลฮัมดุลิลลาฮฺ  หากไม่เป็นเช่นนั้น ข้าพเจ้าก็ทำไปด้วยความปรารถนาดี  การงานทุกอย่างล้วนมีเจตนามุ่งสู่อัลลอฮฺ

            เมื่อความรุ่งโรจน์แห่งอาณาจักรอิสลามแผ่ขยายออกไปในศตวรรษแรก มีชัยเหนืออาณาจักรน้อยใหญ่ คนในหล้าหันมาสนใจมุสลิม บรรณาการต่างๆทยอยมามอบให้กับพวกเขา

            ความยิ่งใหญ่นี้ทำให้พวกเขากล่าวกับท้องฟ้าทิศตะวันออกและตะวันตกว่า

            หยาดน้ำของท่าน                      ตกลง ณ แดนใดในหล้า

            ผลประโยชน์นานา                    จะกลับคืนมาสู่เรา

            พวกเขาเสพย์สุขกับลาภ   ดื่มด่ำในรสชาดและสีสันแห่งชีวิตทางโลก บ้างอยู่ในขอบเขต บ้างเลยเถิด   จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของสังคม จากความลำบากยากแค้นในยุคของความรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยศาสดา สู่ความหรูหราในยุคหลัง  ทำให้นักปราชญ์ในสังคมต้องเรียกร้องสู่ความมักน้อยต่อการเสพย์สุขในสีสันของดุนยา  ให้รำลึกถึงสิ่งบันดาลสุขในวันสุดท้ายอันนิรันดร์

            บุคคลแรกที่เรียกร้องคือ หะซันอัลบัศรีย์ ครูผู้นำ มีกัลยาณชนมากมายเจริญตามรอยท่าน จึงเกิดเป็นกลุ่มหนึ่งที่รู้จักกันในนามกลุ่มซูฟีย์  ที่เน้นการรำลึกถึงอัลลอฮฺและวันสุดท้าย  การถือสันโดษและการฝึกฝนจิตใจในการภักดีต่ออัลลอฮฺ  การประกอบศาสนกิจ  การรู้จักอัลลอฮฺ และการแสวงหาความพึงพอใจของพระองค์

            ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าลักษณะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งแห่งศาสตร์ที่เป็นสารัตถะแห่งอิสลาม

            ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่ามีชาวซูฟีย์ทั่วไป สามารถฝึกฝนและเยียวยาจิตใจ ถึงระดับที่ชนชั้นแนวหน้าของกลุ่มอื่นก็ไม่สามารถกระทำได้

            ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า พวกเขาสามารถปฏิบัติจริงให้คนเห็นได้ ทั้งด้านการมุ่งมั่นในการปฏิบัติศาสนกิจ ละทิ้งสิ่งต้องห้าม

            ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า กลุ่มซูฟีย์ ตะเซาวุฟและตอรีเกาะต์  เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อิสลามเผยแผ่ออกไปสู่ภูมิภาคและดินแดนอันไกลโพ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีของทวีปอัฟริกา และแถบทะเลทรายอันแห้งแล้งของมัน  และกรณีของภูมิภาคต่างๆของเอเชีย

            ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าการใช้หลักตะเซาวุฟในเรื่องมารยาทและพฤติกรรมมีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อใจคน  

            แม้ว่าหลายต่อหลายครั้งที่พวกเขารับเอาอิทธิพลของสังคมแห่งยุคสมัยเข้าไปด้วยบ้าง  เช่น การเลยเถิดในเรื่องการวางเฉย  การงดอาหาร  การงดนอนกลางคืนและการปลีกวิเวก แม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะมีหลักการเดิมของศาสนาอยู่ก็ตาม  ศาสนาถูกปนเปด้วยสิ่งแปลกปลอม

            สิ่งแปลกปลอมดังกล่าวจึงเข้าไปทำลายสิ่งดีๆเหล่านั้นจนแทบหมดสิ้น

            หน้าที่ของนักปฏิรูปคือการครุ่นคิดอย่างยาวนาน ในการเยียวยาความผิดพลาดในกลุ่มชนเหล่านั้น พวกเขามีความอย่างสมบูรณ์ต่อการแก้ไข และน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่พร้อมจะแก้ไขข้อผิดพลาดมากที่สุด หากได้รับการชี้นำที่ถูกต้อง ซึ่งไม่มากไปกว่าการให้มีนักวิชาการ และดาอีย์ที่มีความรู้และความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ  ทำการศึกษาสังคมของพวกเขา แยกแยะสิ่งแปลกปลอมออกไปและนำมรดกทงวิชาการเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์

            การประสานพลังทางวิชาการของนักวิชาการ  พลังทางจิตใจของกลุ่มซูฟีย์ และพลังกิจกรรมของกลุ่มองค์กรเคลื่อนไหวเพื่ออิสลาม ประชาชาติอิสลามก็จะไร้คู่ต่อกร    

    

หมายเลขบันทึก: 113720เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท