ทีมงาน....ที่รู้ใจ


                หลังจากที่สรุปงานปี 49 ผ่านไปแล้ว โครงการครอบครัวเข้มแข็งจังหวัดน่าน มีการปรับบทบาทหน้าที่กันใหม่ โดยตัวฉันเองต้องพลิกบทบาทมาเป็นผู้ประสานงาน รับผิดชอบ 3 พื้นที่หลัก คือ ราษฎร์สามัคคี ปงพัฒนา และเขื่อนแก้ว ส่วนอรัญญาวาส เป็นพื้นที่ที่ร่วมกันทำกับพี่เบิ้ม และพี่อนงค์  มันน่าตื่นเต้น      และท้าทายพอสมควร ถือเป็นโอกาสในการเรียนรู้ใหม่เลยทีเดียว เพราะต้องผลักดันงานทั้งด้านการจัดเวทีเรียนรู้ การจัดการความรู้ และการเผยแพร่ขยายผลเรื่องราวดีดีที่เกิดขึ้นในชุมชนให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณะ ตอนแรกไม่ค่อยกังวลเพราะคิดว่าตัวเองผ่านเวทีมาพอสมควร จากการเปิดโอกาสให้ฝึกฝนจากพี่ใหญ่ทั้งหลาย (พี่รวย พี่หน่อง พี่ยอม พี่ถนัด ฯลฯ)  คิดว่าคงทำได้ไม่ยากนัก

 

                แต่หลังจากที่ผ่านเวทีเรียนรู้ครอบครัวไป 2 เวที ที่บ้านปงพัฒนา และบ้านดอนแก้ว ทำให้ได้รู้ค่า และความหมายของทีมงานมากขึ้นว่า ทีมงานที่รู้ใจกันนั้นไม่ได้หากันได้ง่ายตามริมทาง และข้างถนน  ทุกคนที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นทีมมีความสำคัญกันหมด เพียงแต่สำคัญกันคนละอย่าง ไม่ว่าคนที่เป็นวิทยากรหลัก วิทยากรรอง คนดูภาพรวม คนสรุป สันทนาการ หรือแม้แต่มือกลองอย่างพี่ขันทอง (ที่เพียงมองตากับ พี่เบิ้มก็รู้แล้วว่าจะร้องเพลงอะไร) ก็หาไม่ได้ง่ายๆ เคยมีเพื่อนจากหน่วยงานอื่นแลกเปลี่ยนว่า การจัดเวทีที่มีสันทนาการร้องรำทำเพลง เป็นกระบวนการจัดที่เชยแล้วในปัจจุบัน แต่เราก็ได้ข้อสรุปกันแล้วว่า สันทนาการจำเป็นต้องมีในเวที เพื่อเป็นการกระตุ้น และสร้างแรงบันดาลใจบางอย่างในการเรียนรู้ เพราะบางเวทีผู้เข้าร่วมมีความหลากหลาย ดังนั้นการสร้างความสัมพันธ์ให้เกิดความคุ้นเคยเป็นกันเองจะนำไปสู่การเปิดใจ เปิดสมองของผู้เข้าร่วม เพียงแต่เราจะออกแบบหลักสูตรอย่างไรให้เหมาะสม และมีความลงตัวในแต่ละเวทีเท่านั้นเอง

 

                อย่างเช่นกรณีการจัดเวทีครอบครัวเรียนรู้ อยู่อย่างพอเพียง  บ้านปงพัฒนาที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังเพื่อให้มองเห็นภาพของการจัดเวทีที่ต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม

 

                วันที่ 7  เมษายน  2550 ฉันและน้องนักศึกษาฝึกงาน อีก 4 คน เดินทางเข้าบ้านปงพัฒนา ตั้งแต่เที่ยงวัน เพื่อเข้าไปเตรียมงานก่อนจัดเวทีครอบครัว ในตอนห้าโมงเย็นตามกำหนดการ อุ่นใจขึ้นมานิดนึงเมื่อพี่อนงค์รับปากว่าจะไปช่วยอีกแรงหนึ่ง ในครั้งนี้ถือว่ามีทีมงานที่มากพอการช่วยจัดเวที ระหว่างที่นั่งไปในรถ ได้ถามน้องทั้ง 4 คนว่าใครที่ถนัดสันทนาการบ้าง เพราะในเวทีนี้ไม่ได้เตรียมคนที่จะมานำสันทนาการเลย    พี่เบิ้มไม่ว่าง อ.เกษร ก็ติดงานศพที่ต่างจังหวัดแต่ก็รับปากว่าหากมาทันจะมาช่วยแน่นอน  ปรากฏว่าน้องฝึกงานไม่มีใครถนัดเลย แต่ก็คิดว่าคงไม่เป็นไร เวทีนี้สันทนาการอาจจะไม่จำเป็น ขอเพียงมีทีมเนื้อหา ซึ่งตัวเองก็เตรียมข้อมูลไว้บ้างแล้วบางส่วน สำหรับพี่อนงค์ ให้ช่วยสรุปภาพรวมด้วย Mind Map ส่วนทีมวิทยากรหลักก็มีแกนนำอย่างพี่ค่าย สุชาติ และพี่วาสนา อยู่แล้วคงหายห่วง ส่วนน้องฝึกงานก็เป็นวิทยากรกลุ่มย่อยได้

 

                หลังจากเวทีเริ่มไปได้เพียงเล็กน้อย ก็สังเกตและรู้ว่า ผู้เข้าร่วมในขณะนั้น ต้องมีการสร้างความคุ้นเคยเพื่อให้เกิดการพูดคุยกันมากขึ้น ถึงแม้ผู้เข้าร่วมจะเป็นคนในบ้านเดียวกัน แต่มีหลากหลายวัย ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ  จึงให้น้องฝึกงานคิดเกมส์ และเล่นกับผู้เข้าร่วม แต่เกมส์ที่เล่นนั้นยากเกินไป ประกอบกับเวลาในการเตรียมเกมส์น้อย ทำให้เกมส์ไม่ลื่นไหล ติดขัด วินาทีนั้นคิดถึงพี่เบิ้มเป็นที่สุด แต่ในที่สุด อ.เกษร ก็มาช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้ทัน

               กลับจากเวทีแล้วก็มานั่งครุ่นคิด และทำ AAR กับตัวเอง ไม่แปลกใจเลยว่าทำไมทีมสถาบันรักลูก และทีมคณะทำงานจังหวัด ถึงได้ให้ความสำคัญในการ เตรียมทีม เตรียมเนื้อหา และทำการบ้าน เป็นอย่างมากก่อนที่จะจัดเวทีในแต่ละครั้ง

 

                เตรียมทีม คือ  ต้องรู้ว่าใครบ้างที่จะเข้ามาช่วยในเวที และแต่ละคนถนัด หรือต้องการทำหน้าที่ด้านใดบ้าง ต้องแบ่งบทบาทกันให้ชัดเจน

 

                เตรียมเนื้อหา คือ การเตรียมหลักสูตรของเวที ให้เหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา และเนื้อหาแต่ละช่วงจะเชื่อมต่อกันอย่างไร

              ทำการบ้าน คือ การเตรียมตัวของเราเอง พี่หน่องเคยพูดกับเราเสมอๆ ว่าการเป็นวิทยากรกระบวนการนอกเหนือจากการสรุปข้อมูลที่ได้จากการระดม แลกเปลี่ยนความคิดกันในเวทีแล้ว ต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมให้กับผู้เข้าร่วมเพื่อเป็นการเสริมความรู้ทางด้านวิชาการ ทฤษฎี ควบคู่กันไปด้วย ดังนั้น การทำการบ้านก่อนจัดเวทีเป็นสิ่งสำคัญที่วิทยากรกระบวนการต้องทำเสมอ

บันทึกจากภาคสนาม

บัวตอง  จิณะหล้า

 23  พฤษภาคม  2550

หมายเลขบันทึก: 113712เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 11:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท