สวัสดิการชุมชน...เราสร้างได้


                ปริญญาตรี ปริญญาชีวิต อาทิตย์ละ ๕ บาท เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนมาเรียนรู้และทำการออมทรัพย์ในหมู่บ้านสบยาว หมู่ที่ 7 ตำบลเมืองจัง กิ่งอำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งดำเนินงานมาตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2549  โดยเน้นการมีส่วนร่วมของคนในครอบครัวต้องจัดการการออมเงินของสมาชิกตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงระดับกลุ่ม การดำเนินงานมาระยะหนึ่งนั้นพบว่ามีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจในกระบวนการจัดทำการออม และหลายครอบครัวยังไม่ให้ความสนใจเรื่องการออมทรัพย์ในแต่ละเดือน วันนี้จึงเป็นโอกาสดีที่สมาชิกทั้งหมดจะได้มาทำความเข้าใจถึงกระบวนการจัดการกลุ่มร่วมกัน

 

                แกนนำครอบครัวเข้มแข็งบ้านสบยาว จึงใช้ประเด็นออมเงินมาเป็นเครื่องมือเชื้อเชิญให้คนมาเรียนรู้ร่วมกัน กระบวนการถกคิดเริ่มตั้งแต่เก้าโมง จนถึงเวลาประมาณ บ่ายสองโมง ใช้บริเวณวิหารวัดสบยาว เป็นสถานที่พูดคุย แกนนำเยาวชนครอบครัว นำเกมส์ง่าย ๆมาสร้างสีสันให้สมาชิกตื่นตา ตื่นใจและละลายพฤติกรรมสมาชิกต่างวัยที่มาร่วมเวที จากนั้นทีมก็เริ่มใช้กระบวนการกลุ่มโดยเริ่มจากถกคิดเรื่อง การจัดการการเงินในครอบครัว ว่ามีการจัดการเพื่อหาเงินออมอย่างไร มีอุปสรรค์ปัญหาอะไรบ้าง จากครอบครัวแล้วคิดถึงการจัดการระดับกลุ่ม มีกระบวนการอย่างไร พบอุปสรรค์ปัญหา และแนวทางที่จะร่วมกันพัฒนาให้กลุ่มยั่งยืนและเอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกได้อย่างไร  จากโจทย์และคำตอบที่ได้ในเวที พบว่า

 

                การจัดการในระดับครอบครัว    พบว่าส่วนใหญ่ แม่จะทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเรื่องการจัดสรรเงินออมแบ่งเป็นหลายๆกอง เพราะที่นี้มี หลายออม  เช่น กองออมกองทุนหมู่บ้าน กองออมสัจจะหมู่บ้าน ออมให้ลูกไปโรงเรียน แต่ออมที่กำลังคุยกันในวันนี้คือ ออมปริญญาตรี ปริญญาชีวิตอาทิตย์ละ 5 บาท หนึ่งในหลาย ๆ กองทุนที่ชุมชนสบยาวร่วมกันสร้างขึ้นมาเพื่ออนาคตของสมาชิกกลุ่ม 

 

                  เงินทุกบาทของแต่ละคนมีประวัติศาสตร์การได้มาที่แตกต่างกัน เช่น บางครอบครัวมาจากการเก็บของป่ามาขาย (เห็ด หน่อไม้ ผัก อาหารจากป่า) ใครหาปลาเก่งก็จะได้จากการขายปลา บ้างก็ได้จากการทำดอกไม้ส่งขายเป็นอาชีพเสริม บ้างก็ขายเศษกระดาษ เศษของเก่า พ่อ แม่ หาเงินมา ลูกทำหน้าที่เก็บเศษเงินเหรียญหยอดกระปุ๊กออมสินไว้ ถึงเวลาก็นำไปฝาก การนำเงินไปฝากนั้นส่วนใหญ่แล้ว ลูกจะทำหน้าที่นำเงินไปฝากกับกรรมการกลุ่ม

 

                การจัดการในระดับกลุ่ม      มีโครงสร้างคณะกรรมการที่ดำเนินงานกันเป็นฝ่ายงาน ซึ่งขณะนี้ฝ่ายที่ต้องทำงานกันทุกเดือนคือ ฝ่ายเก็บเงินออม  ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิก 53 คน มีเงินออมสะสมตั้งแต่แรกเข้าถึงเดือนมิถุนายน 2550 จำนวน 19,880 บาท มีเงินจากการระดมทุนภายนอกสะสมร่วมอีก เช่น เงินจากการบริจาคของคณะดูงาน (ที่นี่เป็นพื้นที่แหล่งเรียนรู้ด้านการจัดการทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า)เงินจากโครงการจัดการทรัพยากรในชุมชน รวมแล้วประมาณ 79,880 บาท เป็นทุนหมุนเวียนในกลุ่มบ้างก็นำไปเป็นทุนต่ออาชีพให้กับครอบครัว สร้างดอกผลกำไรให้เกิดขึ้นในกลุ่ม

                ในระยะยาวชุมชนสบยาวคาดหวังไว้ว่า เงินออมทรัพย์ที่ชาวบ้านร่วมกันสร้างขึ้นมานี้จะสามารถเติบโตเป็นกองทุนที่สามารถจัดสรรเป็นสวัสดิการแบ่งบันให้กับลูกหลานชาวบ้านได้จริง

 

                เราเชื่อว่าการสร้างกองทุนขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม แบ่งปันเป็นสวัสดิการได้นั้น ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วม ต้องไปมาหาสู่กันอย่างต่อเนื่อง มีคุณธรรม เกื้อหนุนซึ่งกันและกันและที่สำคัญการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการ เงิน   นั้นเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับชาวบ้าน คนทำงานต้องมีหลักฆาราวาสธรรม 4 ประการ จึงจะนำกลุ่มไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ

 หลักฆราวาสธรรม 4

สัจจะ คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความสัตย์ซื่อ ความสม่ำเสมอ

ทะมะ คือ การข่มใจ การระงับอารมณ์ ข่มความรู้สึก                

ขันติ คือ ความอดทน อดออม

จาคะ คือ ความเสียสละ แบ่งปันช่วยเหลือเอื้ออาทรต่อสังคม

 

ที่มา...พระครูพิทักษ์นันทคุณ ที่ปรึกษาอาวุโสมูลนิธิฮักเมืองน่าน

 

                และนี่...เป็นเพียงบทพิสูจน์หนึ่ง ท่ามกลางภาวะทุนนิยมกำลังถังโถมเข้ามาสู่ชุมชน หลายคนบอกว่า  จะเอาเงินที่ไหนมาออม ? ในหมู่บ้านมีตั้งหลายกองทุนที่ต้องออม ? ออมแล้วได้อะไร?  ออมทรัพย์ปริญญาตรี ปริญญาชีวิตอาทิตย์ละ ๕ บาท กำลังค่อย ๆ เติบโตขึ้นพร้อม ๆ กลุ่มเด็กตัวน้อยๆ ในชุมชนสบยาว ที่คอยทำหน้าที่กระตุ้นเตือนคุณพ่อ คุณแม่ จัดสรร รายได้ของครอบครัวตนเอง แบ่งส่วนหนึ่งไว้เป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว และแบ่งอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินออม เพื่ออนาคต..... ?

 

  

อนงค์  อินแสง......เก็บเรื่องมาเล่า

เจ้าหน้าที่สนามโครงการครอบครัวเข้มแข็ง จังหวัดน่าน

 2  มิถุนายน 2550
หมายเลขบันทึก: 113708เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2007 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 16:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท